คุยกับ CJ MAJOR Entertainment ค่ายหนังเกาหลีที่ปักหมุดผลิตภาพยนตร์ไทย
- CJ MAJOR Entertainment คือ สตูดิโอภาพยนตร์ที่แตกหน่อมาจาก 1 ในบริษัทท็อป 4 ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ CJ Entertainment ซึ่งดังทะลุพิกัดไปกับ เจ้าของงานสร้าง Parasite ร่วมทุนกับ เมเจอร์ กรุ๊ป ในฝั่งไทย
- การเลือกภาพยนตร์มารีเมคนั้น CJ MAJOR Entertainment จะเลือกจากภาพยนตร์เกาหลีในเครือ CJ Entertainment ที่เน้นธีมเป็นสากล ทุกชาติทุกภาษาจะรู้สึกร่วมไม่ยาก เช่น ความรัก ครอบครัวแนวโรแมนติก คอมเมดี้นำ ไม่เน้นหนังแนวไซไฟที่ใช้ทุนสร้างสูง
- ดิว ไปด้วยกันนะ คืออีกความสำเร็จของ CJ MAJOR Entertainment ที่ตอนนี้สามารถรับชมได้ทาง Netflix
เปิดปี 2563 ชื่อของ CJ ENTERTAINMENT สตูดิโอภาพยนตร์หนึ่งในเบอร์ท็อปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ก็ดังทะลุพิกัด ไปกับการส่ง Parasite (กำกับโดย บงจุนโฮ) สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลครั้งที่ 92 แต่ CJ ENTERTAINMENT ไม่ได้มีฐานผลิตภาพยนตร์ที่เกาหลีใต้เท่านั้น ทว่ายังได้ขยายฐานการผลิตภาพยนตร์มายังประเทศไทยในชื่อ CJ MAJOR Entertainment
หลังจากเปิดตัวด้วย “20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น (Suddenly Twenty)” ต่อด้วยความสำเร็จของ “ดิว ไปด้วยกันนะ(Dew)” เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ตามมาติด ๆ ด้วย “จดหมาย สายฝน ร่มวิเศษ(Classic Again)” ผู้ชมภาพยนตร์ในไทยก็เริ่มรู้จักชื่อของ CJ MAJOR Entertainment กันมากขึ้น ชื่อนี้หมายถึงการจับมือระหว่างบริษัทเบอร์ท็อปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้ CJ Entertainment นำภาพยนตร์จากฝั่งเกาหลีมาดัดแปลงหรือรีเมคใหม่ เป็นภาพยนตร์ในอรรถรสไทยภายใต้การควบคุมคุณภาพของฝั่งเกาหลี
Sarakadee Lite ได้มีโอกาสพูดคุยกับ โยนู ชเว (Yeonu Choi)Managing Director, Chief Producer CJ MAJOR Entertainment ผู้บริหาร CJ สาขาประเทศไทยถึงเบื้องหลังแนวคิดและศักยภาพของภาพยนตร์รีเมคจากต้นฉบับเกาหลี สู่ภาพยนตร์ไทยเต็มตัวที่แสดงโดยคนไทย และกำกับโดยคนไทย
หนังเกาหลีเรื่องไหนที่เหมาะกับการรีเมคฉบับไทย
อันดับแรกเลย เราเลือกเฉพาะภาพยนตร์เกาหลีที่ค่าย CJ ENTERTAINMENT ทำไว้ มีประมาณ 400 เรื่อง และดูว่าภาพยนตร์แนวไหนที่สามารถออกสู่ตลาดผู้ชมนอกเกาหลีได้บ้าง เน้นธีมเรื่องที่เป็นสากลคนทุกประเทศสามารถเข้าถึงได้เช่น ครอบครัว ความรัก คอมเมดี้ โรแมนติก หรือสยองขวัญ จากนั้นก็มาพิจารณาต้นทุนการสร้าง
ในส่วนของประเทศไทย แนวภาพยนตร์ที่ไม่น่าจะรอดเลยก็คือ แนวไซไฟ (Sci-Fi) ฉันคิดว่าหนึ่งในเหตุผลที่ไม่ค่อยมีภาพยนตร์ไทยแนวไซไฟ เพราะต้นทุนการสร้าง ต้นทุนทางเทคนิค เราจึงตัดแนวไซไฟออกไปก่อน แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำงานของเราคือ ต้องหาผู้กำกับและคนเขียนบทที่ต้องรักโปรเจกต์นั้นจริง ๆ อยากจะมาทำงานรีเมคเรื่องนี้กับเราและเราก็ได้ผลลัพธ์เป็นภาพยนตร์เรื่อง “ดิว ไปด้วยกันนะ” และ “Classic Again” รวมทั้ง “My Suddenly 20 ” เป็นแนวดรามาครอบครัว (Family Drama) เกี่ยวกับความเสียสละ ซึ่งเป็นธีมสากลของครอบครัว โดยเฉพาะชาวเอเชีย เมื่อคุณยายพยายามแลกชีวิตส่วนตัวของเธอเองเพื่อครอบครัวเพื่อลูกชายคนเดียว เพื่อหลานชาย และเพื่อทุกอย่างในชีวิตเธอ
การรีเมคภาพยนตร์ที่มีคนรักต้นฉบับมาก ๆ เป็นความท้าทาย อย่าง “ดิว ไปด้วยกันนะ” ก็มีเสียงตอบรับที่ทั้งชอบไม่ชอบ
ต้นฉบับภาพยนตร์เกาหลีของ ดิว ไปด้วยกันนะ ชื่อเรื่อง Bungee Jumping on Their Own ซึ่งเก่ามาก ออกฉายเมื่อ 15 กว่าปีแล้ว เป็นภาพยนตร์เรื่องโปรดของฉันเลย แต่ในตอนที่ออกฉายคนตอบรับไม่ดีนัก เพราะสมัยนั้นประเด็นเกี่ยวกับโฮโมเซ็กชวล ในเกาหลีช่วงต้นปี 2003 เป็นเรื่องต้องห้ามแบบห้ามแตะเลยทีเดียว
ส่วนธีมเรื่องการกลับชาติมาเกิดเป็นอีกคนก็เป็นเรื่องใหม่ในเกาหลี ดังนั้นตอนจบของต้นฉบับจึงค่อนข้างช็อกผู้ชมเกาหลีในสมัยนั้นนะ ไม่ใช่แนวแฮปปี้เอนดิ้งแบบฮอลลีวูดที่คนดูคุ้นเคย แต่เป็นการจบแบบปลายเปิด ทิ้งไว้ให้คนคิดต่อเองว่าอะไรเกิดขึ้นกับตัวละครหลังจาก (กระโดดบันจีจัมป์) จริง ๆ ก็เป็นตอนจบแฮปปี้เอนดิ้งในอีกแบบ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับคนดูแต่ละคนว่าจะตีความอย่างไรการมีตอนจบแบบนั้น ทุกคนตีความเรื่องได้ต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งมันก็เป็นเสน่ห์ที่สุดของภาพยนตร์ และมันเป็นเหตุผลที่ฉันอยากรีเมคภาพยนตร์เกาหลีมาเป็นไทย เพราะมันมีภาพยนตร์อิสระของไทยหลายเรื่องมากที่เป็นสไตล์นั้น แต่ภาพยนตร์ในกระแสหลัก มันยังมีจำกัดเฉพาะแนวคอมเมดี้ หรือสยองขวัญ แบบตลาดมันค่อนข้างจำกัดไม่กี่แนว
บางครั้งภาพยนตร์ไทยแนวแอ็กชันคอมเมดี้เองก็จะไปในแนวตลกบู๊ตีหัวเข้าบ้านซะส่วนใหญ่ ฉันก็เลยคิดว่า มันน่าจะยังมีตลาดผู้ชมที่อยากดูภาพยนตร์เรื่องราวจริงจังตัวละครที่มีเรื่องความเป็นความตายอยู่ด้วย ฉันจึงเลือกรีเมค ดิว ไปด้วยกันนะ
ส่วนที่คนดูชาวไทยตอบรับหลากหลายมุมมอง อาจเป็นเพราะคนที่เคยดูเวอร์ชั่นเกาหลีมาแล้วอาจจะรู้สึกแปลก ๆ แต่จริง ๆ ประเทศไทยค่อนข้างเปิดกว้าง ในแง่ของเพศสภาพและการยอมรับคนรักเพศเดียวกัน เราก็เลยไม่เอาคอนเซปต์และธีมของตัวละครรักเพศเดียวกันมาใช้ในเวอร์ชันไทย เพราะมันไม่ใช่ประเด็นแล้วว่า แฟนสาวคนนี้เคยเป็นคนรักเก่าที่เคยเกิดเป็นเพศชายในชาติก่อน แล้วมันไม่ผิดเลยที่จะตกหลุมรักกันแบบชายรักชาย
เราก็เลยมุ่งไปที่ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง “ครูกับนักเรียน” ซึ่งมันเกิดขึ้นทุกประเทศ เรื่องระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย (เยาวชน) เราเห็นว่ามันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ผู้ชมบางคนอาจจะรู้สึกผิดหวังกับเวอร์ชันไทย ที่มันเบี่ยงประเด็นไปในทางนั้นมากกว่าต้นฉบับ แต่เราก็คิดว่าเรามีเนื้อหาที่เป็นรากฐานเดิม คือ อะไรคือสิ่งสำคัญในรักนิรันดร์สำหรับคุณ เมื่อครั้งหนึ่งคุณเคยพบคนที่คุณรักสุดชีวิต แต่ต้องเสียมันไป เพราะเหตุใดก็ตามแต่ แล้ววันหนึ่งหากเขาหรือเธอก็กลับมา คุณจะทำอย่างไรและนั่นคือคำถามที่เป็นสากล
ภาพยนตร์เกาหลี มักจะมีองค์ประกอบที่หยิบมุมมืดจริง ๆ มาเล่าแต่พอรีเมคมาเป็นไทยดูเหมือนจะมีการลดทอนความดาร์กลงไป
ต้องบอกว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมของเกาหลีและไทยต่างกันเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก ความหนาแน่นประชากรสูงมาก ประมาณ 55 ล้านคน ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับไทย ที่มีประมาณ 60 กว่าล้านคน แต่พื้นที่ของเกาหลีเล็กกว่าไทยมาก
อาจจะเรียกว่าเป็นความโชคดีที่เราผ่านสงครามและต้องดิ้นรนกันมาพอสมควรในช่วงปี ค.ศ. 1980-1990 และต่อมาเศรษฐกิจเกาหลีก็เติบโตแบบก้าวกระโดดมาก ๆ มันจึงมีแนวโน้มว่าเราจะมีความดาร์กอยู่ข้างใน โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวเกาหลีรุ่นปัจจุบัน ที่มักมีความรู้สึกว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในความสะพรึง กับสงครามเย็นระหว่างเกาหลีเหนือเกาหลีใต้ ที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อความรู้สึกที่ไม่มั่นคงกับอนาคตจึงมีอยู่ตลอดเวลา ว่าอาจจะเกิดสงครามอีก หรืออาจจะมีภัยพิบัติในสังคมเกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ดังนั้น คนที่เป็นพ่อแม่จึงพยายามให้ทุกอย่างกับลูก ให้มีการศึกษาสูง ๆ และตั้งมาตรฐานสังคมที่สูง จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนเกาหลีจำนวนมากค่อนข้างเครียดกับการใช้ชีวิต ในการเล่าเรื่องราวผ่านภาพยนตร์จึงเน้นด้านมืดของชีวิตโดยภาพรวม
ความเห็นส่วนตัวจากการได้ทำงานให้ CJ MAJOR Entertainment มา 4 ปี ก็รู้สึกว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็จริงจังเหมือนคนเกาหลี และมีความเครียดเหมือนกัน แต่เพราะสภาพภูมิประเทศ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์กว่าเมื่อเทียบกับเกาหลีคนไทยก็เลยจะเครียดน้อยกว่าคนเกาหลี ในเรื่องการหาเลี้ยงชีพ อีกอย่างค่าครองชีพในเกาหลีสูงกว่าไทย คนก็เลยกดดันมากกว่าในการทำมาหากิน แค่เพื่อเอาตัวรอด คนไทยก็เลยค่อนข้างสบาย ๆ กว่า
ภาพยนตร์เรื่องไหนของ CJ MAJOR Entertainment ที่ขายดีที่สุด
เราโชคร้ายตรงที่ช่วงเวลาที่เราปล่อยฉายภาพยนตร์ มักจะเจอสถานการณ์ไม่เอื้อตลอด ก็เลยจะบอกเป็นตัวเลขคงได้ไม่สวยเท่าไรเริ่มจากภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก “My Suddenly 20” ช่วงเปิดตัวฉายก็ตรงกับสัปดาห์หลังจาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต เป็นช่วงคนไทยโศกเศร้า และทุกงานต้องใช้สีขาวดำเท่านั้น ซึ่งเราเข้าใจอารมณ์คนไทยและบรรยากาศช่วงนั้นนะ แต่สำหรับงานภาพยนตร์ เราจะเลื่อนกำหนดวันฉายก็ลำบาก ยังไงก็ต้องปล่อยออกมาจนได้ ก็เลยเป็นจังหวะไม่ดีนัก
พอมาถึงเรื่องที่ 2 Love Battle (ออกฉาย มิถุนายน 2562) ก็มีเรื่องก่อนออกฉายไม่กี่วัน นักแสดงหลักของเรื่องคนหนึ่งมีปัญหาเรื่องโพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียอีก ซึ่งเคสนี้ฉันไม่รู้ว่าจะรับมือยังไง แต่เรื่องมันเกิดแล้ว ก็เลยเป็นโชคร้ายของหนังเรื่องนี้อีก สวนเรื่องที่ 3 คือ ดิว ไปด้วยกันนะ ก็ถึงได้กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับคู่แข่งภาพยนตร์ไทยในตลาด
จริงไหมที่ CJ MAJOR Entertainment เป็นสตูดิโอที่ทำหนังค่อนข้างอินดี้
เราไม่ใช่สตูดิโออินดี้หรอกนะ เพราะเราทำหนังเจาะตลาดกระแสหลัก เราพยายามทำหนังคุณภาพ งานดี สำหรับตลาดใหญ่ปกติ แต่เราอาจจะพยายามทำแนวที่หลากหลาย เพื่อให้คนดูมีตัวเลือกแนวภาพยนตร์ที่หลากหลายขึ้น ถ้าลองดูรายชื่อภาพยนตร์ที่ทำเรามา มันไม่มีหน้าตาเป็นอินดี้เลย เป็นภาพยนตร์ตลาดชัดเจน แต่ตัวเรื่องอาจจะแปลก ทำให้ดูมีเนื้อหาหนัก เราพยายามจะมอบประสบการณ์ให้ผู้ชม ได้รับชมเรื่องราวที่ดี คุณภาพงานเข้มข้น และบันเทิงด้วย
ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เกาหลีใช้พลังดาราขับเคลื่อน ในการรีเมคฉบับไทย ซีเจฯ ยังคงดึงพลังของดาราดังไหม
อันที่จริงวงการภาพยนตร์เกาหลี ถูกขับเคลื่อนโดยสตูดิโอผู้สร้างภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นถือว่าโปรดิวเซอร์มีพลังขับเคลื่อนวงการมากกว่าดารา แต่แน่นอนว่าการมีดาราดังมาร่วมงานแสดงก็เป็นปัจจัยที่เราคิดเพื่อให้หนังเข้าถึงคนดูได้ง่าย เพราะเราทำหนังเพื่อเจาะตลาดหลัก แต่ดาราดังไม่ใช่ปัจจัยหลักเวลาคัดเลือกนักแสดงในแต่ละเรื่องสิ่งสำคัญที่สุดในการเลือกนักแสดงนำคือ ถ้าดาราดังคนนั้นมีความเหมาะสมกับบทบาทตัวละคร และถ้าดารามีคิวให้กับการทำหนัง ในเคสของใหม่ ดาวิกา ฉันคิดว่าเธอคงอยากลองทำอะไรที่แปลกไปจากที่เคยทำ เพราะบทบาทของใหม่ใน“20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น”มันไม่ง่ายเลย สำหรับนักแสดงอายุแค่ 20 กว่า จะมาเล่นเป็นคนแก่วัยคุณยาย ก็เลยท้าทายสำหรับเธอ และเธอก็ทำได้ค่อนข้างดี
สำหรับ เวียร์ ที่มาเล่นเรื่อง “ดิว ไปด้วยกันนะ” เขาเป็นคนที่ค่อนข้างเลือกงานภาพยนตร์เขาชอบตัวเนื้อเรื่องของดิวมาก ก็เลยอยากมาร่วมงานกับเราในการเล่าเรื่องนี้ ในการทำภาพยนตร์จริง ๆ เรื่องพลังดาราดังไม่ใช่เรื่องหลักสักเท่าไร เพราะบางเรื่องมีดาราใหญ่แต่หนังไม่ทำรายได้ก็มี หรือบางเรื่องดาราไม่ดังแต่หนังไปได้ดีก็มี
นักแสดงแบบไหนที่ใช่สำหรับค่าย
จากที่ทำงานมา ดารานักแสดงไทยก็ค่อนข้างมีฝีมือ ฝึกมือกันมาดีอยู่แล้ว แต่เราจะมองหานักแสดงที่มีวินัยในการทำงานเป็นหลัก เพราะตารางทำงานค่อนข้างแน่น และนักแสดงต้องมีสมาธิกับงานมากเหมือนกัน เราต้องการความทุ่มเทของตัวนักแสดง นี่เป็นหัวใจหลักในการพิจารณา
วางแผนจะปั้นนักแสดงดาราในสังกัดไหม
ก็อาจจะทำนะ เพราะเรามีบริษัทในเครือซีเจเกาหลีฝ่ายที่เป็น ทาเลนต์ เมเนจเมนต์ (บริหารศิลปิน)เหมือนกัน แต่ตอนนี้ซีเจไทยยังโฟกัสหลักไปที่การนำเสนอตัวเรื่อง เราผลิตภาพยนตร์แค่ปีละ 2-3 เรื่อง ก็เหมือนมีเด็กใหม่เกิดมาอีก 2-3 คนให้ดูแล และเราก็ยังมีงานสร้างในเวียดนาม อินโดนีเซีย จีน และสหรัฐอเมริกาด้วย ฉะนั้นเรื่องของงานปั้นหรือบริหารนักแสดงในสังกัดเองยังคงเป็นเรื่องในอนาคต
วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ของคนไทยเป็นอย่างไร
คนไทยไม่ค่อยมีแนวโน้มที่จะไปดูหนังในโรงภาพยนตร์มากเมื่อเทียบกับผู้ชมในเกาหลี ซึ่งนี่บ่งบอกถึงขนาดของตลาดผู้ชมภาพยนตร์อย่างการเทียบตัวเลขรายได้จากการขายบัตรชมภาพยนตร์โดยรวมแล้ว(ทุกเรื่องตลอดปี) รายได้ของไทยทั้งหมดคือ 1 ใน 10 ของรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศเกาหลี มันก็เลยยากมากสำหรับผู้สร้างที่จะลงทุน แต่ฉันคิดว่าอีกสักพักตลาดมันจะโตขึ้น แค่ไม่รู้ว่าเมื่อไร แต่เรื่องที่น่าเป็นห่วง คือคนดูรุ่นใหม่ ๆ วัยรุ่น เริ่มหันเหไปดูทางโทรศัพท์มือถือ ดูออนไลน์ ดิจิทัล พฤติกรรมการเสพบันเทิงจะขึ้นอยู่กับการได้บันเทิงราคาถูกจนถึงฟรี ทางอินเทอร์เน็ต คนก็ไม่อยากมาเสียเงินดูในโรงภาพยนตร์แล้ว นั่นเป็นคำถามที่เราต้องเอามาขบคิดว่าจะต้องรับมืออย่างไรต่อไป
ข้อดีของการมีดิจิทัลแพลตฟอร์ม คือเปิดช่องให้คนทำหนังได้สร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์บางอย่างขึ้นมาได้เพิ่มขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพยนตร์ หรือซีรีส์ และยังมีงานเก่า ๆ ที่สามารถออกมาฉายได้อีกในรูปแบบดิจิทัล ฉันก็เลยถือว่าในอีกแง่สตรีมมิงออนไลน์มันเพิ่มช่องทางให้กับเรา แต่ไม่แน่ใจเลยว่ามันมีผลกับยอดผู้ชมในโรงภาพยนตร์มากขึ้นหรือน้อยลง เพราะที่ผ่านมายอดผู้ชมในบ็อกซ์ออฟฟิศไทยมีตัวเลขที่ต่ำอยู่แล้ว
การโตของตลาดสตรีมมิงมีผลต่อสไตล์การสร้างงานภาพยนตร์ไหม
แน่นอนอยู่แล้วโดยเฉพาะในเรื่องของกรอบเวลา เพราะถ้าคนดูหนังทางโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต เขาคงไม่นั่งยาว 2 ชั่วโมงติดต่อกัน ต้องพยายามจะตัดเรื่องภายใน 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง และโดยรวมหนังทั้งเรื่องก็จะสั้นลงกว่าเมื่อก่อน หรือซีรีส์ที่เล่าเรื่องเป็นตอน ๆ เวลาต่อตอนก็จะสั้นกว่าสมัยก่อน แต่ถ้าเป็นสตรีมมิงที่ทำแบบขายทั่วโลก อย่าง เน็ตฟลิกซ์ ก็หันมาเน้นคุณภาพของงานสร้าง ที่เป็นภาพยนตร์ออริจินัลของเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งเน็ตฟลิกซ์ลงทุนสร้างและควบคุมงานสร้างเอง ถ้ามันไปในทางนั้นมากขึ้น ก็มีโอกาสที่คนทำหนังสตรีมมิงจะทำงานคุณภาพออกมาเท่าภาพยนตร์ที่สร้างเพื่อฉายในโรงได้ ซึ่งตอนนี้แค่รอเวลาเหมาะสมที่สตรีมมิงจะเติบโตไปถึงจุดนั้น
ภาพยนตร์ไทยสร้างโดยCJ MAJOR Entertainmentขายดีไหมนอกประเทศไทย
Love Battle ค่อนข้างไปได้ดีในเวียดนาม เพราะมันเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ มีความฮิปและเดินเรื่องกระชับฉับไวแต่ในประเทศอื่นอาจมีเรื่องความต่างศาสนา อย่างอินโดนีเซีย เป็นมุสลิมมีค่านิยมในการใช้ชีวิตต่างกันอยู่ก็เลยบอกยากว่า หนังไทยจะทำรายได้ดีไหมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถ้าเป็นในจีนงานบันเทิงจากไทยได้รับความนิยม อย่างLove Battle ก็มีบริษัทจีนซื้อลิขสิทธิ์ไปรีเมคเป็นเวอร์ชั่นจีน และเรื่อง Classic Again ก็มีคนซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในจีน
อะไรคือความท้าทายในการทำภาพยนตร์ไทย
ตลาดผู้ชม เพราะผู้ชมในโรงภาพยนตร์ไทยมีน้อยมาก ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์ไทยนะ แต่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดก็มีรายได้ต่ำเหมือนกัน มีเพียงบางเรื่องที่ฮิตอย่าง Fast and Furious แฟรนไชส์ หรือ Avengers อาจทำรายได้เกิน 200 ล้านบาท แต่พอวัดเป็นจำนวนคนซื้อตั๋ว มันน้อยมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อย่างอินโดนีเซีย ดังนั้นแม้แต่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องดัง ๆ ที่คนพูดถึงกัน แต่จำนวนคนไปชมในไทยก็ยังน้อยมากฉันจึงอยากให้คนไทยช่วยสนับสนุนภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ไทย เพราะถ้าไม่มีมวลชนสนับสนุน มันก็ยากสำหรับผู้สร้างที่จะดำเนินงานสร้างต่อเนื่องไปได้ การทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตคือความท้าทายที่ใหญ่มากสำหรับเรา
Fact File
- CJ MAJOR Entertainment เป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยก่อตั้งปี พ.ศ.2559 โดยความร่วมทุนระหว่าง CJ ENTERTAINMENT KOREA และ Major Cineplex Group Thailand เน้นรีเมคจากภาพยนตร์เกาหลีมาเป็นฉบับไทย
- สำหรับบริษัทแม่ CJ ENTERTAINMENT เป็นสตูดิโอภาพยนตร์หรือบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ 1 ในท็อป 4 ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี อยู่ในเครือของบริษัท CJ E&M จำกัด ผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้เจ้าของงานสร้าง Parasite ภาพยนตร์โดยผู้กำกับ บงจุนโฮ ที่สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานประกาศรางวัลครั้งที่ 92 มาครอง
- ผลงานภาพยนตร์ไทยสร้างโดย CJ MAJOR Entertainment ออกฉายแล้ว 4 เรื่อง ได้แก่ 20 ใหม่ ยูเทิร์นวัย หัวใจรีเทิร์น (My Suddenly 20) , รัก 2 ปียินดีคืนเงิน (Love Battle), ดิว ไปด้วยกันนะ (Dew), จดหมาย สายฝน ร่มวิเศษ (Classic Again)