Biblio สำนักพิมพ์น้องใหม่ที่เชื่อว่า “หนังสือ” เป็นมากกว่าการอ่าน
- Biblio สำนักพิมพ์ที่สามารถเข้าไปอยู่ในใจของผู้อ่านได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึงขวบปี โดยที่ยังเชื่อในพลังของคนอ่านและเชื่ออีกว่าหนังสือเป็นมากกว่าหนังสือ
- ก้าวต่อไปของ Biblio นอกจากตั้งใจให้มีหนังสือที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว เขายังตั้งใจว่าจะต่อยอดเนื้อหาไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงหนังสือได้จากช่องทางที่มากขึ้นด้วย
“มันน่าจะถึงเวลาแล้วนะ ที่เราจะออกมาทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง” จี-จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหาร สำนักพิมพ์ Biblio เล่าย้อนถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญเมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง
ย้อนความกันอีกหน่อย สำนักพิมพ์ Biblio เปิดทำการมาเมื่อราวเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 จากการชักชวนกันของ จี และ บิ๊ก-วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร บรรณาธิการ สองผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Biblio ที่อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์มาก่อนหน้านี้นับสิบปี แต่ถึงคราวที่บริษัทซึ่งทำงานอยู่ต้องปิดตัวลงไป ทำให้ทั้งคู่เริ่มชักชวนกันก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง ซึ่งในช่วงเวลาไม่ถึงขวบปีของการเริ่มต้น สำนักพิมพ์ Biblio ถือว่าได้รับการตอบรับและเข้าไปอยู่ในใจของผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากลิสต์ Top Seller ของร้านหนังสือที่มักมีหนังสือจาก Biblio อยู่ไม่ขาด ซึ่งจีรู้สึกว่าการตัดสินใจในวันนั้นคือสิ่งที่ถูกต้อง แต่นั่นก็ไม่ใช่สมรภูมิที่ง่าย
เมื่อการทำหนังสือคือทางที่เลือก
“พูดตรง ๆ เลยคือเราก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอะไรเหมือนกัน (หัวเราะ) อันนี้ตอบเล่น ๆ นะ ตอบดี ๆ คือผมเชื่อว่าคนยังอ่านหนังสือกันอยู่ ตอนที่ผมเริ่มฟอร์มทีม คนมาพูดกับผมเยอะมากว่าทำสำนักพิมพ์ในยุคนี้จะดีเหรอ จะรอดหรือเปล่า ผมก็รับฟังทุกคนไว้แต่โดยประสบการณ์ที่ผมทำงานสายนี้มาเกือบ 10 ปี ผมรู้ว่าคนอ่านซื้อหนังสืออยู่แล้ว ถามว่าลดลงไหมก็ลดลงแต่ไม่ถึงกับทำให้คนทำหนังสืออยู่ไม่ได้ เพียงแค่เขาต้องเข้มข้นขึ้นในการทำโปรดักชันทุก ๆ อย่าง”
“ผมรู้สึกว่าคนอ่านยังคงสนับสนุนเพราะว่าอย่างไรก็ตามหนังสือเล่มยังคงเป็นการสื่อสารของมนุษย์ในรูปแบบที่สื่ออื่นให้ไม่ได้อยู่แล้ว เป็นประสบการณ์ที่ตัดเราออกจากเทคโนโลยีทุกอย่าง ระหว่างอ่านคุณอาจจะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นบ้างในบางครั้ง แต่ถ้าคุณอ่านจนถึงจุดที่นิ่งแล้ว ความสนใจจะอยู่ที่การพลิกหน้ากระดาษต่อไป แล้วก็จะอยู่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างที่อ่านแค่นั้น ตรงนี้แหละที่ผมมองว่าอย่างไรหนังสือก็สำคัญ และยังอยู่คู่กับบ้านเราไปอีกนาน เอาตรง ๆ เราก็ไม่ได้ดันทุรังทำนะ ทุกอย่างเรามีการวางแผนมาหมดแล้วว่าผู้อ่านของเราจะเป็นใคร เทรนด์หนังสือที่น่าสนใจจะเป็นอย่างไร เราค่อนข้างเชื่อในคนอ่านมากกว่าว่าเขายังมีพลังอยู่”
Biblio ที่แปลว่า หนังสือ
“พอตั้งไข่ได้แล้วว่าเราจะทำสำนักพิมพ์กันเอง เราก็เริ่มมองว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราจะทำสำนักพิมพ์อะไรกันดี เรากลับมาหาส่วนสำคัญที่สุดของหนังสือนั่นก็คือ การทำหนังสือ ชื่อ Biblio ที่แปลว่าหนังสือ เลยน่าจะเป็นชื่อที่เรียบง่ายและสะท้อนภาพความเป็นคนทำหนังสือของเรามาโดยตลอดได้”
“ในช่วงปีแรกเราแบ่งออกเป็น 2 สำนักพิมพ์ย่อย ซึ่งก็คือ Bibli ที่เป็นนิยายแปลจากเอเชียไม่ว่าจะญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวันหรือจีนในอนาคต แล้วก็ Being ที่เป็นหนังสือนอนฟิกชัน หมวดประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ ความรู้ที่น่าสนใจหรือวิทยาศาสตร์ที่อ่านแล้วสนุกเพลิดเพลิน” จีกล่าวถึงการแบ่งสำนักพิมพ์ย่อยจากประเภทหนังสือและกลุ่มผู้อ่านที่ต่างกันเพื่อความชัดเจน แต่ยังคงเป็นทีมเดียวกันในพาร์ตของการทำงาน
สำนักพิมพ์น้องใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
“เปิดออฟฟิศมาได้เดือนเดียวก็มี โควิด-19 เข้ามา เราเปิดตัวด้วยหนังสือ Last Letter จดหมายรักฉบับสุดท้าย (เขียนโดย อิวาอิ ชุนจิ) ที่เป็นเล่มแรกของสำนักพิมพ์ ช่วงพรีออเดอร์กำลังไปได้ดี แต่พอหนังสือกำลังจะส่งเข้าร้านหนังสือทั่วไปก็เจอล็อกดาวน์เลย ตอนนั้นก็คิดว่าจะเอาอย่างไรดี แต่พอเราเห็นยอดพรีออเดอร์ เห็นกระแสจากคนอ่านก็คิดว่าถ้าคนอยู่บ้านเขาจะทำอะไรกัน เราเลยมองว่า โอเค เราอย่าชะงักดีกว่า ทำหนังสือต่อไป เราเวิร์กฟอร์มโฮมกันแต่ว่าพยายามไม่หยุดชะงัก เราทำโปรดักชันหนังสือไว้เยอะมาก พอเริ่มคลายล็อกดาวน์ปุ๊บ เราเลยมีหนังสือออกมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เราเป็นน้องใหม่ เราหยุดไม่ได้ ต้องเดินหน้าต่อ กลายเป็นว่าจังหวะนั้นผู้อ่านก็เห็นเราได้ชัดเจนขึ้น”
“ตอนแรกเราไม่ได้คิดเลยว่าผู้อ่านจะให้การตอบรับเราเยอะ คิดว่าอาจจะต้องใช้เวลาสัก 2 ปีกว่าชื่อเราจะเริ่มเป็นที่รู้จัก เพราะเราเคยทำหนังสือมาก่อน เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่สมรภูมิที่ง่ายในการทำธุรกิจสำนักพิมพ์ในยุคนี้ แต่มันเป็นจังหวะและโอกาสที่ผู้อ่านมอบให้เราด้วย พอเราตัดสินใจที่จะเดินหน้าเต็มตัว เราเปิดไลน์อัปหนังสือให้คนอ่านได้รู้เลยว่าปีนี้เราจะออกหนังสือเล่มไหนบ้าง ซึ่งกลายเป็นว่าสิ่งนั้นได้สร้างอิมแพ็กบางอย่างกลับมาหาเรา”
“ในขณะที่คนยังไม่เคยเห็นหนังสือเราเลย เห็นมาแค่เล่มแรกเล่มเดียว ก็เริ่มมาติดตามว่าเราจะออกหนังสือเล่มที่ประกาศไปในไลน์อัปเมื่อไร เรียกว่าโดนทวงทุกวัน (หัวเราะ) ทุกวันนี้ยังโดนทวงอยู่เลยว่าเล่มนี้จะออกหรือยัง มันเป็นการพลิกล็อกเล็ก ๆ สำหรับเราเหมือนกันว่า คนอ่านก็ไม่ได้ทอดทิ้งคนทำหนังสือนะ เพียงแต่ถ้าเราชัดเจนว่าจะทำหนังสือให้เขาอ่าน เขาก็ชัดเจนเหมือนกันว่าเขาจะรออ่านหนังสือของเรา”
โจทย์ของสิ่งพิมพ์ที่เปลี่ยนไปตลอด
แม้สั่งสมประสบการณ์อยู่ในวงการสิ่งพิมพ์มายาวนาน แต่สิ่งที่ยังคงยากสำหรับจี คือการตีโจทย์รสนิยมและความสนใจของคนอ่านที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ และเขาต้องตามให้ทัน
“หนังสือที่ผมเคยเลือกมาสักประมาณ 5-10 ปีที่แล้ว บางทีก็ไม่สามารถเอามาใช้เป็นเกณฑ์การคัดเลือกในยุคนี้ได้ เพราะว่าคนอ่านเปลี่ยนไป คนอ่านอีกเจเนอเรชันหนึ่งโตขึ้นมา คนในเจเนอเรชันเดิมก็โตขึ้นไปอีก วิธีการคัดเลือกหนังสือของเราก็เลยต้องปรับเปลี่ยนไปตามรสนิยมของคนอ่าน ซึ่งตรงนี้แหละเป็นส่วนที่ยาก เราต้องคอยเช็กผู้อ่านอยู่ตลอดเวลาว่าตอนนี้เขานิยมอะไร กำลังชอบอะไรอยู่ แล้วบางทีอาจจะต้องคิดเผื่อไปถึงอนาคตว่ามีเรื่องราวแบบไหนที่คนอ่านน่าจะสนใจในอีก 5-6 เดือนข้างหน้าด้วย เพราะว่าการทำหนังสือจะต่างจากการทำคอนเทนต์หรือนิตยสารแบบเดือนต่อเดือน สิ่งที่เราคิดจะทำวันนี้มันจะไปปรากฏอีกทีในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า เพราะฉะนั้นเราต้องกะเกณฑ์ความสนใจของคนอ่านล่วงหน้าได้ด้วย”
“ในการทำงาน การสื่อสารระหว่างทีมก็สำคัญ ผมเป็นไดเร็กเตอร์ แต่จะคอยให้ทุก ๆ คนในทีมได้ทำงานตามศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เราคอยบาลานซ์ให้เข้าที่เข้าทางเท่านั้นเอง เพราะทุกคนมีแพสชันที่อยากจะทำหนังสือกันอยู่แล้ว เราจะพยายามแชร์ไอเดียกันให้มากที่สุด แม้สุดท้ายแล้วผมจะเป็นคนตัดสินใจ แต่หลาย ๆ ไอเดียก็มาจากน้อง ๆ ในทีมที่บางเรื่องเขาเก่งกว่าผมอีก”
เริ่มต้นจากเนื้อหาที่ดี เข้าถึงง่าย
เมื่อถามถึงการคัดเลือกหนังสือในแบบของ Biblio จีได้เล่าว่า คาแรกเตอร์ของหนังสือที่น่าสนใจมีส่วนสำคัญต่อการคัดเลือก แม้จะเป็นหนังสือที่ไม่ได้อยู่ในกระแสของตลาด เพราะผู้อ่านในปัจจุบันค่อนข้างเปิดกว้าง อย่างไรก็ตามส่วนสำคัญแรกสุดที่ต้องคำนึงถึงคือ เนื้อหา ที่สามารถให้แง่คิดแก่ผู้อ่านได้
“ผมว่าอันดับแรกต้องเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาดีก่อน หนังสือมีหลากหลายแต่หนังสือที่มีคาแรกเตอร์ของตัวเอง มีเสน่ห์ของตัวเองและมีเมสเสจที่มีประโยชน์กับคนอ่านมีอยู่แล้วแต่ไม่ใช่ทุกเล่มแน่นอน Biblio จะพยายามเลือกหนังสือที่คนเข้าถึงไม่ยากเกินไป แล้วก็มีข้อคิดดี ๆ แทรกอยู่ในนั้น ซึ่งต้องเป็นข้อคิดที่เรารู้สึกว่ามีประโยชน์จริง ๆ เช่นเล่ม Actually, I’m an Introvert ที่จริงแล้ว ฉันเป็นคนเก็บตัวนะ (เขียนโดย นัมอินซุก) บางคนอาจจะมองว่าเป็นเล่มที่ทำสำหรับคนอินโทรเวิร์ตแต่พอผมเห็นต้นฉบับภาพรวมทั้งหมดแล้ว ผมรู้สึกว่าเล่มนี้ได้สอดแทรกการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างของคนเอาไว้ และยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนกำลังอยู่บนพื้นฐานความแตกต่างร่วมกัน ผมมองว่าหนังสือที่เราพยายามเลือกมามันจะต้องมีเนื้อหาที่พอจะให้แง่คิดอะไรบางอย่างแก่ผู้คนในสังคมได้
“ฝั่ง Being ที่เป็นนอนฟิกชันเราหนักมือได้หน่อย แต่ไอเดียของเราคือยังคงเลือกหนังสือที่เป็นความหนักแบบเอนเตอร์เทนคนได้ อย่างเล่ม เลโอนาร์โด ดา วินชี (เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซกสัน) กระแสตอบรับจากคนอ่านในช่วงพรีออเดอร์ค่อนข้างดีมาก เป็นหนังสืออัตชีวประวัติ 760 หน้าที่ทั้งหนาและหนัก ถ้ามองในมุมหนึ่งคนก็อาจจะมองว่าเป็นเท็กซ์บุ๊กวางไว้ก่อนดีกว่า แต่ฟีดแบ็กที่เราได้จากคนอ่านคือบางคนอ่านรวดเดียวจบเลย ซึ่งเราคิดว่าหลายคนก็น่าจะเป็นแบบนั้นเพราะว่าเรื่องที่เราเลือกมาค่อนข้างเข้าถึงง่าย ถึงแม้จะมีข้อมูลค่อนข้างเยอะ แต่เราก็เลือกจากผู้เขียนที่เล่าเรื่องเก่ง สามารถถ่ายทอดเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่ายได้ พูดง่าย ๆ คือทำให้ความซับซ้อนของหนังสือคลี่คลายลง”
โปรยเสน่ห์ผ่านหน้าปก
แรกพบคือปกหนังสือที่เรียกว่า Biblio สามารถซื้อใจผู้อ่านอย่างเราได้ตั้งแต่แรกเจอ แบบที่เห็นแล้วต้องขอหยิบขึ้นมาดูกันสักนิด โดยที่จีได้เล่าให้ฟังว่าส่วนใหญ่ปกนิยายแปลของ Biblio ที่ออกมาในสไตล์อ่อนหวาน ดูน่ารักน่าหยิบ เพราะกลุ่มคนอ่านส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้หญิง ในการดีไซน์ภาพปกจึงใส่มุมมองของความเป็นผู้หญิงลงไป แต่อีกส่วนที่สำคัญคือความเหมาะสมกับเนื้อหาของเรื่อง
“การออกแบบปกเป็นเหมือนกับการโปรยเสน่ห์บางอย่างออกไปให้คนอ่านรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ต้องมีอะไรน่าสนใจอยู่ เราพยายามทำงานกับปกให้มากขึ้น ให้ออกมาดูดึงดูดและชวนให้เห็นว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในเรื่องราวของคนบนปกเหล่านั้น เช่น ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน (เขียนโดย คิซาระ อิซึมิ) ที่บนปกมีรูปขนมปัง คนอ่านก็จะรู้ว่าขนมปังทำไมถึงต้องมาอยู่คู่กับตัวละครทั้ง 4 ตัวบนหน้าปก พอได้อ่านก็จะรู้ว่านี่แหละคือคีย์เวิร์ด ที่สำคัญคือหน้าปกต้องทำงานกับความรู้สึกของคนก่อน…แค่ได้เห็นแล้วคนมองว่าสวยหรือไปทำงานกับความรู้สึก ความชอบของเขา ก็มีโอกาสสูงที่เขาจะหยิบขึ้นมาแล้วอ่านเรื่องย่อ ทุกสำนักพิมพ์ตอนนี้ผมว่าให้ความสำคัญกับความสวยงามของการออกแบบทั้งนั้นเลย
“กลยุทธ์อีกอย่างคือเรามีของที่ระลึกให้ด้วย พอเราทำหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาเรารู้สึกว่าบางทีแค่รูปเล่ม อาจจะยังไม่พอ น่าจะมีของอะไรบางอย่างที่ให้ไปกับหนังสือแล้วช่วยให้คนอ่านเกิดความรู้สึกร่วมกับหนังสือได้มากขึ้น หรือเขาอ่านหนังสือแล้วนึกถึงของที่เราให้ไป ซึ่งสิ่งที่เราแถมไปให้ไม่ใช่อะไรก็ได้ แต่เป็นเมสเสจบางอย่างที่อยู่ในหนังสือ ที่พออ่านหนังสือจบแล้วเขากลับมาดูอีกรอบก็จะเข้าใจว่าเราให้สิ่งนี้เพราะอะไร อย่างเล่มขนมปัง เป็นกระดาษห่อหนังสือ ซึ่งคือกระดาษที่ใช้ห่อขนมปังจริง ๆ เหมือนคนอ่านได้เปิดห่อหนังสือที่เสมือนเป็นห่อขนมปัง คนอ่านก็จะชอบ รู้สึกเหมือนเป็นงานคราฟต์เล็ก ๆ”
การสื่อสารระหว่างคนทำหนังสือ หนังสือ และคนอ่าน
“ปัญหาของผมคือทำอย่างไรให้คนอ่านเข้าถึงหนังสือได้ง่ายที่สุด เราต้องคิดว่าเราต้องถือหนังสือไปให้คนอ่านเอื้อมถึง เหมือนกับว่าถ้าเราจะจัดงานที่ไหน คนก็ต้องเข้าถึงงานได้ง่าย อย่าไปเพิ่มภาระให้เขาเพราะว่าชีวิตทุกวันนี้ทุกคนมีภาระเยอะมากแล้ว ทั้งในการเดินทางหรือการทำงาน ถ้าบุ๊กแฟร์จะทำให้คนอ่านได้ผ่อนคลายจริง ๆ ก็ควรจะอยู่ใกล้ เดินทางสะดวก ผมมองว่ายิ่งงานอยู่ใกล้และมีกิมมิกที่ดี คนอ่านก็จะยิ่งเข้าหาหนังสือมากกว่าเดิม”
“ผมรู้สึกว่าถ้าเรายังอยากทำหนังสืออยู่ เราอยู่ได้ เราพอจะหาเลี้ยงชีพจากการทำหนังสือขายได้เพียงแต่ว่าเราจะเติบโตและยั่งยืนในวงการนี้ เราก็ต้องทำอะไรที่มากขึ้น ต้องคิดงานส่วนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทำหนังสืออย่างเดียวด้วย ไม่ว่าจะการพัฒนาแบรนด์หรือขยายขอบเขตของคอนเทนต์ที่เรามีอยู่แล้วไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อดึงกลับมาสู่หนังสือของเรา”
ก้าวต่อไปของ Biblio
“เราอยากมีหนังสือที่หลากหลายขึ้น แพลนว่าจะมีสำนักพิมพ์หัวใหม่ ที่จะพิมพ์นิยายแปลจากตะวันตกด้วย เป็นกลุ่มนิยายฝรั่งหรือแถบสแกนดิเนเวียหรือสเปน ซึ่งเรามองว่ามีอะไรที่น่าสนใจเยอะ แพลนไว้อยู่หลายเล่ม แล้วก็มองว่าตอนนี้อยากหาคอนเทนต์ที่คนสามารถเข้าถึงหนังสือได้ในหลายช่องทางมากขึ้น ผมมองว่าบางทีมันไม่ได้จำกัดอยู่ที่รูปแบบการอ่านเท่านั้น เป็นการฟังหรือการชมวิดีโอก็ได้ที่จะดึงคนเข้าสู่หนังสือของเรา
“เรามีแพลนที่จะทำร่วมกับ Storytel เป็นแอปพลิเคชันออดิโอบุ๊กจากสวีเดนที่เข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทยแล้ว ซึ่งหนังสือเล่มแรกของ Being คือ วะบิ ซะบิ: แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต (เขียนโดย เบท เคมป์ตัน) เราจะเอาไปทำในรูปแบบออดิโอบุ๊ก ซึ่งเรามองว่าหนังสือเล่มนี้ที่เป็นปรัชญาญี่ปุ่นแบบเข้าถึงง่าย ถ้าทำเป็นออดิโอบุ๊กจะน่าสนใจมาก เพราะคนอ่านชอบเนื้อหาอยู่แล้วตั้งแต่เป็นหนังสือเล่ม การได้ฟังเป็นออดิโอบุ๊กก็น่าจะชอบไม่แพ้กัน”
“แผนในปีหน้าของเราคือ การต่อยอดคอนเทนต์จากหนังสือเล่มไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วทุกคนก็จะอยากกลับมาอ่านหนังสือ วันหนึ่งคุณอาจจะเปิด Spotify ฟังออดิโอบุ๊กของเราระหว่างวิ่ง ซึ่งกลับมาแล้ว อาจจะอยากอ่านหนังสือเล่มนี้จริง ๆ ก็ได้ เรามองว่าให้สิ่งเหล่านั้นพาคนอ่านมาสู่หนังสือของเราอีกที ไม่ว่าคุณจะเริ่มต้นรู้จักหนังสือเล่มนี้ในแบบไหน สุดท้ายปลายทางคือการที่คุณกับหนังสือได้อยู่เพียงลำพังกันสองคน มันเป็นปลายทางที่สวยงามแล้ว” จีเล่าถึงแพลนที่คาดว่าผู้อ่านที่คอยติดตาม Biblio น่าจะได้เห็นสิ่งใหม่ ๆ เหล่านี้กันในปีที่กำลังจะมาถึง
Biblio Recommended
ผู้พิทักษ์ต้นการบูร, ฮิงาชิโนะ เคโงะ
“ตอนนี้นักอ่านหลายคนรีวิวเล่มนี้ให้เยอะมาก เพราะมีอะไรบางอย่างที่เข้ากับสังคมไทยค่อนข้างเยอะ เป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งที่ชีวิตล้มเหลวทำอะไรก็ผิดพลาดไปหมด เขาเป็นเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่กำพร้า เรียนไม่จบ ไปทำงานใช้แรงงานก็ถูกไล่ออก สุดท้ายเขาไปก่อคดีขึ้นจนทำให้เกือบจะต้องติดคุก ชีวิตเขากำลังจะสิ้นหวัง แต่อยู่ดี ๆ ก็มีโอกาสหนึ่งที่หยิบยื่นมาให้ว่าถ้าเขาไม่อยากติดคุก จะต้องไปอยู่ที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่งคอยเฝ้าดูแลต้นการบูรเอาไว้”
“ถ้าเราอ่านไปเรื่อย ๆ จะรู้สึกว่าชีวิตของผู้ชายคนนี้ที่เหมือนไร้เป้าหมายมาตลอด พอมามีต้นการบูรเป็นเป้าหมายหนึ่งให้เขายึดเหนี่ยวก็เหมือนได้ช่วยตั้งหลักชีวิตให้เขา เขาไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เฝ้าอย่างเดียว แต่ต้นการบูรได้ช่วยปักหลักชีวิตและเป้าหมายของเขาใหม่ ช่วยเปลี่ยนแปลงให้เขาเป็นคนใหม่ได้ ทำให้เขารู้สึกว่าจริง ๆ แล้ว กิ่งก้านสาขาเหล่านี้เหมือนสายสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เชื่อมโยงถึงกันอยู่ วันใดที่เขาไม่มีกิ่งก้านสาขาเหล่านี้แล้ว ชีวิตของเขาอาจจะไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์เลยก็ได้ เขาถึงได้เติมเต็มความเป็นมนุษย์ของตัวเองจริง ๆ จากการรู้จักต้นการบูรต้นนี้”
“เราอยากให้คนได้อ่าน เพราะรู้สึกว่าไม่ใช่แค่ความสนุกของการสืบสวนอย่างเดียวว่าต้นการบูรต้นนี้คืออะไร แต่จริง ๆ แล้วคือการเติมเต็มความเป็นมนุษย์ของเราหรือเติมเต็มความผิดพลาดในชีวิตที่เราเสียไป มีตัวละครอีกหลายตัวเลยในเรื่องนี้ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราเคยให้เหตุการณ์เล็ก ๆ มาพังชีวิตเราแค่ไหน เหมือนได้สะท้อนให้เห็นอดีตที่ผ่านมาของตัวเอง ผมว่าเป็นเล่มที่เหมาะจะอ่านช่วงปลายปี ขณะที่เรากำลังทบทวนอะไรที่ผ่านมา”
ขนมปังของพรุ่งนี้ แกงกะหรี่เมื่อวันวาน, คิซาระ อิซึมิ
“เล่มนี้ผมชอบส่วนตัวเป็นพิเศษ เป็นเรื่องของคนที่ต้องสูญเสียคนรักในครอบครัวไป ซึ่งเขาพยายามใช้ชีวิตอย่างปกติธรรมดามากที่สุด เพื่อที่จะผ่านพ้นความเจ็บปวดในความทรงจำได้ สิ่งที่ผมชอบในนิยายเรื่องนี้คือการไม่มีความฟูมฟายอะไรใด ๆ เลย เหมือนชีวิตของคนทั่วไปที่เราสูญเสียคนที่รัก แต่พรุ่งนี้เราก็ต้องตื่นไปทำงาน ยังต้องหาเงิน มีคนที่ต้องดูแล มีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบอยู่เต็มไปหมด แต่ความเจ็บปวดจากการสูญเสียยังเกาะกินใจเราอยู่ แล้วก็จะคอยผลุบโผล่อยู่เป็นระยะ ในเวลาที่เราเผอเรอกับชีวิต และสุดท้ายเราก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน เพียงแต่ว่าแต่ละคนมีวิธีเผชิญหน้าที่แตกต่างกัน นิยายเรื่องนี้เหมือนค่อย ๆ กัดเซาะเข้าไปในความรู้สึกของเราว่าที่ผ่านมาเราเคยเจ็บปวดกับการสูญเสียคนที่รักไหม แล้วเราก้าวข้ามมันไปได้หรือยัง มันค่อนข้างลึกซึ้งมากซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับที่ผู้อ่านหลายคนฟีดแบ็กกลับมาหาเรา”
“ผมว่าปีนี้เป็นปีที่โหดนะ สำหรับสังคมในทุกวันนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเราเจออะไรที่ทำให้เราต้องพรากจากอะไรบางอย่างไปเสมอ เราสูญเสียอะไรไปเยอะมาก นิยายเรื่องนี้จะช่วยทำให้เราได้กลับมาทบทวนชีวิตว่า สิ่งที่เสียไปแล้วมันเอากลับคืนมาไม่ได้ เรารักษาอะไรไว้ได้บ้าง แล้วจะก้าวผ่านต่อไปได้อย่างไร”
“ผมว่าหนังสือทุกเล่มให้แง่มุมกับชีวิตอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะจำเพาะไปว่าเป็นลักษณะไหน อีกอย่างหนึ่งคือจริง ๆ แล้วความซับซ้อนของคนเรามันเยอะมาก ผมรู้สึกว่าข้อดีของนิยายคือสามารถที่จะเดินทางไปในทางที่ซับซ้อนในใจเราได้ พอเราอ่านนิยายเราได้ปล่อยให้เรื่องนั้นเข้าสู่จิตใจเรา เพราะมีเรื่องราวบางอย่างที่สามารถเดินทางไปในใจคนได้ และสุดท้ายพอมาพบกันในจุดที่พอดี คุณจะรู้แล้วว่าเมสเสจของหนังสือเล่มที่อ่านอยู่คืออะไร แล้วจะเข้าถึงมันได้มากกว่าที่เคยคิด”
Fact File
● Facebook : Biblio
● Instagram : @i_am_biblio
● Twitter : @Biblio_books
● เว็บไซต์ : https://www.biblio-store.com/