บ้านตึกดิน : โปรเจ็กต์บูรณะบ้านเก่าต้นตระกูลแสง-ชูโต เป็นโรงแรมเล่าประวัติศาสตร์ย่านตึกดินและถนนดินสอ
Brand Story

บ้านตึกดิน : โปรเจ็กต์บูรณะบ้านเก่าต้นตระกูลแสง-ชูโต เป็นโรงแรมเล่าประวัติศาสตร์ย่านตึกดินและถนนดินสอ

Focus
  • ทายาทของตระกูลแสง-ชูโต นำโดย บุรณี รัชไชยบุญ และ ราจิต แสง-ชูโต ได้ใช้เวลาร่วม 10 ปีเพื่อบูรณะบ้านหลังเก่าอายุกว่า 100 ปีของคุณชวดให้กลายมาเป็นโรงแรมบ้านตึกดิน
  • เรือนคุณย่าซึ่งเป็นเรือนไม้ผสมปูนยกใต้ถุนสูงได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงเป็นอาคารหลักของโรงแรม ส่วนตึกแถว 5 คูหาอายุกว่า 80 ปีที่อยู่ด้านหน้าอาคารได้ปรับโฉมให้เป็นร้านอาหาร คาเฟ่และห้องพัก
  • การบูรณะบ้านและอาคารเก่านอกจากจะบอกเล่าประวัติศาสตร์ของย่านตึกดินและถนนดินสอแล้ว ยังสะท้อนเหตุการณ์การเมืองในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ทายาทของตระกูลแสง-ชูโต นำโดย บุรณี รัชไชยบุญ และ ราจิต แสง-ชูโต สองผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาและออแกไนเซอร์ชื่อดัง ได้ใช้เวลาร่วม 10 ปีเพื่อพลิกฟื้นบ้านหลังเก่าอายุกว่า 100 ปีของคุณชวดที่ทรุดโทรมจากการปล่อยให้ผู้อื่นเช่าและถูกดัดแปลงเป็นโรงแรมระดับล่างมาเป็นเวลานานกว่า 60 ปี ให้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของย่านตึกดินและถนนดินสอ กรุงเทพฯ ในนาม โรงแรมบ้านตึกดิน (Baan Tuk Din Hotel) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า บ้านตึกดิน

บ้านตึกดิน
ตึกแถวเก่า 5 คูหาริมถนนดินสอได้รับการปรับโฉมให้เป็นร้านอาหาร คาเฟ่และห้องพัก

บ้านเก่าของตระกูลซึ่งลูกหลานเรียกกันว่า “เรือนคุณย่า” เป็นเรือนไม้ผสมปูนยกใต้ถุนสูงและหลังคาทรงมะนิลาได้รับการบูรณะให้คงโครงสร้างของอาคารเดิมและเสริมความแข็งแรงเพื่อใช้เป็นอาคารหลักของ โรงแรมบ้านตึกดิน พร้อมห้องพักจำนวน 9 ห้อง ส่วนตึกแถว 2 ชั้นจำนวน 5 คูหาอายุกว่า 80 ปีที่อยู่ด้านหน้าอาคารและอยู่ติดถนนได้ปรับโฉมชั้นล่างให้เป็น ดิน เรสเตอรอง แอนด์ แจซ บาร์ (Din Restaurant & Jazz Bar) และ ชโลบา บูติค คาเฟ (Shaloba Boutique Café) ส่วนชั้นบนเป็นห้องพักอีกจำนวน 9 ห้อง

บ้านตึกดิน
เรือนคุณย่าได้รับการบูรณะให้เป็นอาคารหลักของโรงแรมบ้านตึกดิน

“สมัยเด็กๆ เราเคยมาเก็บค่าเช่าแถวนี้กับคุณแม่ (ปราศรัย รัชไชยบุญ-สกุลเดิม ‘แสง-ชูโต’) และเมื่อมาเห็นสภาพบ้านที่ผู้เช่าทำเป็นโรงแรมและกั้นเป็นห้องเล็กๆ กว่า 20 ห้องให้เช่ารายวันและรายชั่วโมง เราน้ำตาไหลเลยและไม่อยากให้สภาพเหล่านี้มาอยู่ในบ้านเรา เมื่อเราและราจิต (ลูกพี่ลูกน้องและทายาทผู้ถือครองกรรมสิทธิ์) พร้อมจึงค่อยๆ ให้ผู้เช่าบ้านและเช่าตึกแถวค่อยๆ ย้ายออกไปและใช้เวลากว่า 2 ปีศึกษาวิจัยพื้นที่และทำรังวัด และอีกกว่า 7 ปีในการรีโนเวตจนกระทั่งเปิดให้บริการได้ในเดือนมีนาคม ปี 2566” บุรณี รัชไชยบุญ หรือที่คนในวงการภาพยนตร์โฆษณาเรียกว่า “พี่หนูเล็ก” กล่าว

บ้านตึกดิน
ภาพสันนิษฐานตึกฝรั่ง (ด้านซ้าย) และเรือนคุณย่า

จุดกำเนิดตึกฝรั่งและเรือนคุณย่า

ต้นตระกูลแสง-ชูโต คือ พลโท พระยาสุรเสนา (กลิ่น แสง-ชูโต) ซึ่งเป็นราชองครักษ์ของรัชกาลที่ 5 ได้รับพระราชทานที่ดินผืนหนึ่ง (คาดว่าหลังปี พ.ศ. 2440) ณ บริเวณถนนดินสอและได้ก่อสร้างอาคาร 2 หลังประกอบด้วยอาคารหลักที่เป็นตึกก่ออิฐถือปูนสไตล์ยุโรปเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเองและบุตรชายคือ พันตรี หลวงสรสิทธยานุการ (สิทธิ แสง-ชูโต) ซึ่งปัจจุบันได้ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว และเรือนไม้ผสมปูนหลังคาทรงมะนิลาสำหรับน้องสาวทั้ง 3 คนหรือที่เรียกกันว่า เรือนคุณย่า โดยปัจจุบันได้รับการปรับโฉมให้เป็นอาคารหลักของโรงแรมบ้านตึกดิน

ต่อมา พันตรี หลวงสรสิทธยานุการ ได้แต่งงานกับ ประมัย แสง-ชูโต และมีบุตรสาวคนแรกคือ ปราศรัย รัชไชยบุญ (คุณแม่ของบุรณี และคุณป้าของราจิต) ซึ่งเกิดและเติบโตที่ตึกใหญ่นี้ จนกระทั่งพ.ศ. 2475 ที่เกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ทําให้ พันตรี หลวงสรสิทธยานุการ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันที่จังหวัดเพชรบุรีและทหารราชองครักษ์ ถูกจําคุกข้อหากบฏเป็นเวลาร่วม 4 ปี 7 เดือน ในช่วงเวลานั้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายทำให้ประมัย (คุณยายของบุรณีและราจิต) จึงตัดสินใจย้ายครอบครัวจากตึกใหญ่มาอาศัยร่วมกันในเรือนคุณย่าโดยกั้นห้องใต้ถุนชั้นล่าง และให้สมาคมชาวปักษ์ใต้เช่าตึกใหญ่เป็นสํานักงานและหอพัก

บ้านตึกดิน
ภาพตึกใหญ่ในช่วงที่ให้เช่าเป็นสํานักงานใหญ่แห่งแรกของบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย
(ภาพ : บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จํากัด)

 “ตึกใหญ่ที่เราเรียกว่า ‘ตึกฝรั่ง’ นั้น คุณชวด (พลโท พระยาสุรเสนา) ซึ่งเคยรับราชการเป็นทูตทหารประจำอยู่ที่ประเทศออสเตรียได้ทาเป็นสีเหลืองมัสตาร์ด คล้ายกับสีของพระราชวังเชินบรุนน์ (ในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย) และในช่วงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณตา (พันตรี หลวงสรสิทธยานุการ) ได้แบ่งโฉนดที่ดินระหว่างตึกฝรั่งและเรือนคุณย่า และถวายคืนตึกฝรั่งแด่รัชกาลที่ 7 เนื่องจากคุณตาต้องโทษเพราะอยู่คนละฝั่งกับคณะราษฎรจึงถวายคืนไปก่อนจะได้ไม่โดนยึดและให้กลายเป็นพระราชมรดก พระองค์ท่านพระราชทานเงินตอบแทนมา แต่เรายังไม่ทันไถ่ถอนเนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน” บุรณีบอกเล่าประวัติความเป็นมาของบ้าน

บ้านตึกดิน
โมเดลรูปสันนิษฐานเรือนคุณย่า
(ภาพ : บริษัทสถาปนิก ทาวา)

ปราศรัย (คุณแม่ของบุรณี) เป็นนักเขียน/นักแปลชื่อดังในนามปากกาว่า “นิดา” เคยเขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับบ้านและครอบครัวของเธอในนิตยสาร ลลนา เมื่อ พ.ศ.2526 และพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือชื่อครั้งหนึ่ง…ยังจำได้ โดยสำนักพิมพ์หมึกจีน

ในหนังสือที่นิดาเขียนระบุว่า คุณพ่อของเธอ (พันตรี หลวงสรสิทธยานุการ) บอกให้ขายตึกใหญ่ถวายรัชกาลที่ 7 และพระองค์พระราชทานเงิน 4 หมื่นบาทเป็นราคาค่าตึกและที่ดินโดยไม่มีการโอนหรืออะไรทั้งสิ้น (ขณะนั้นพระองค์ประทับที่ประเทศอังกฤษ) ทั้งนี้ยังได้มีผู้อัญเชิญพระราชกระแสมาถึงครอบครัวว่าเมื่อใดที่เสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยอีกครั้งจะพระราชทานกลับคืนให้เป็นสิทธิ์ แต่คุณพ่อของเธอได้ให้คุณแม่ไปติดต่อกับสำนักผู้ดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อทำการโอนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ในหนังสือตอน “บ้านแตก” นิดาเขียนว่า “แม้เราจะเฝ้ารอคอยสักเพียงไหน ก็ไม่ปรากฏข่าวเสด็จนิวัติสู่พระมหานครเช่นที่แอบหวังไว้ ในที่สุดข่าวร้ายก็มาถึงแทน นั่นคือข่าว ‘สวรรคต’ ความหวังที่มีอยู่เพียงริบหรี่ที่จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณก็ดับวูบหายไป แต่พ่อไม่ได้คิดอะไรเลยเกี่ยวกับ ‘บ้านแตก’ ของเรา พ่อว่า ‘ลูกเอ๋ย อนิจจังไม่เที่ยง’ ที่ทำลายหัวใจพ่อจนแทบจะภินท์พังคือข่าวการสวรรคตต่างหาก”

ต่อมาราว พ.ศ.2495 ผู้รับมรดกจากรัชทายาทได้ให้สํานักงานบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย เช่าตึกใหญ่เป็นสํานักงานแห่งแรก ก่อนที่จะเปลี่ยนผู้เช่าและกลายเป็นโรงแรมชื่อ โรงแรมเฉลิมชัย ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2507 จนตึกใหญ่ได้ถูกรื้อถอนไปเมื่อราวพ.ศ. 2535-2537 และปัจจุบันเป็นลานโล่งให้เช่าเป็นที่จอดรถ

บ้านตึกดิน
ตึกแถวริมถนนดินสอก่อนการบูรณะเป็น โรงแรมบ้านตึกดิน
(ภาพ : บริษัทสถาปนิก ทาวา)

ในช่วงที่คุณตาโดนจำคุก บุรณีเล่าว่าคุณยายกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวดูแลคนในบ้านจำนวนมากและได้ใช้ทักษะฝีมือการทำอาหารแบบชาววังเปิดศาลาหน้าบ้านเป็นที่ขายขนมและผลไม้ที่เก็บจากสวนรอบบ้านและต่อมาเปิดเป็นร้านอาหารชื่อร้านทิพย์รส จนกระทั่ง พ.ศ. 2496 จึงได้เลิกกิจการและย้ายมาอยู่บ้านในซอยเพชรบุรี 5 เรือนคุณย่าจึงถูกปล่อยให้เช่าเป็นโรงแรมชื่อไทยวารีเมื่อ พ.ศ.2497 และประมาณ พ.ศ. 2505 ทางครอบครัวได้สร้างตึกแถว 5 คูหาริมถนนให้เช่าในบริเวณที่เคยเป็นร้านทิพย์รส

“สมัยนั้นไม่มีการเซ็นสัญญาระยะเวลาเช่าจึงให้เช่าต่อเนื่องมาเรื่อย เมื่อคิดจะบูรณะก็ใช้วิธีเกริ่นกับผู้เช่าก่อนเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งทีมสถาปนิกถือตลับเมตรเข้าไปสำรวจพื้นที่เป็นการบอกอย่างสุภาพว่ากำลังจะมีโปรเจกต์และให้เตรียมย้ายออก” เธอกล่าว

โรงแรมบ้านตึกดิน
ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ.2489 มองเห็นตึกใหญ่ทรงยุโรปและเรือนคุณย่าซึ่งเป็นเรือนไม้มีมุขหกเหลี่ยม (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สืบค้นความหมายของถนนดินสอและย่านตึกดิน

“พี่สาวคนโตคือพี่ดาว (นิดา สุทัศน์ ณ อยุธยา) กล่าวก่อนจากไปว่าอยากให้ทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นบ้าน หรือโรงแรม หรือร้านอาหาร เพื่อคืนชีวิตให้บ้านของชวด ของตากับยายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5-รัชกาลที่ 7 เราไม่ควรปล่อยให้ประวัติศาสตร์เล็กๆ ของครอบครัวสูญหายไปกับบางสิ่ง ถ้าเราหยุดความสูญเสียได้ เราก็ควรหยุด พี่สาวเป็นผู้จุดประกายและราจิตบอกว่าทำเถอะ” บุรณีกล่าว

โรงแรมบ้านตึกดิน
บุรณี รัชไชยบุญ

บริษัทสถาปนิก ทาวา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการรีโนเวตโดยได้สืบค้นเอกสารข้อมูลประวัติศาสตร์ ภาพถ่ายทางอากาศ รูปแบบสันนิษฐาน และสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่อาศัยในย่านนี้มาเป็นเวลานานรวมถึงปราศรัย ผู้ที่เกิดและโตในพื้นที่แห่งนี้ด้วย

จากการสืบค้นของทีมสถาปนิกพบว่า ที่มาของชื่อถนนดินสอนี้ยังเป็นข้อถกเถียงของผู้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่อ้างอิงจากบทความของ ปราณี กล่ำส้ม เรื่อง “เมื่อวันวาน ที่ย่านถนนดินสอ” ในวารสาร เมืองโบราณ ฉบับมกราคม-มิถุนายน 2544 ได้กล่าวถึงย่านนี้ว่า คําว่าดินสอ น่าจะเป็นดินสอที่ใช้ในการเขียน ทําจากดินดานผสมดินสอพองและขมิ้นผง ใช้เขียนบนสมุดไทย หรือกระดานชนวน โดยอ้างอิงถึงความทรงจําของ “เสฐียรโกเศศ” ที่เขียนไว้ในหนังสือฟื้นความหลัง ความว่า “หากต้องการซื้อดินสอก็ต้องไปแถวตําบลเสาชิงช้า” นอกจากนี้ยังมีคํายืนยันของคนเฒ่าคนแก่ในบริเวณย่านดินสอว่า บ้านดินสอที่เคยอยู่ตรงข้ามกับโบสถ์พราหมณ์นั้นเป็นแหล่งผลิตดินสอพองเก่าแก่

โรงแรมบ้านตึกดิน
ราจิต แสง-ชูโต

ส่วนเรื่องของ “ตรอกตึกดิน” นั้นมีบันทึกไว้ในหนังสือ สมุดภาพ 100 ปีสตรีวิทยา ว่าเมื่อก่อนมีตึกที่ใช้เก็บดินปืนเป็นอาคารก่ออิฐผนังหนามากเนื่องจากบริเวณนี้ใกล้พอที่จะขนย้ายดินปืนไปยังกระทรวงกลาโหมหรือป้อมปราการโดยรอบได้สะดวกจึงเรียกบริเวณแถวนี้ว่า “ตึกดิน” เช่น มัสยิดบ้านตึกดิน นั่นจึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อว่า โรงแรมบ้านตึกดิน เพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของย่านนี้

โรงแรมบ้านตึกดิน

ฟื้นคืนชีวิตให้เรือนคุณย่าเป็นโรงแรมบ้านตึกดิน

ในการบูรณะและฟื้นคืนชีวิตให้กับเรือนคุณย่านั้น ทางทีมสถาปนิกได้รื้อสิ่งที่เติมและรกออกไป เช่น ผนังที่ต่อเติมเป็นห้องพักกว่า 20 ห้องพร้อมห้องน้ำในตัวเมื่อครั้งที่บ้านปล่อยให้เช่าเป็นโรงแรมไทยวารีทำให้พื้นไม้ของบ้านเสียหายเป็นอย่างมาก

โรงแรมบ้านตึกดิน
สภาพเรือนคุณย่าก่อนและหลังการบูรณะซ่อมแซม

“เสาทั้งหมดของบ้านเป็นอิฐหุ้มไม้ แต่ไม้ผุหมดแล้ว เราอยากเก็บไว้จึงทำเหมือนกระดองปูโดยทำฐานรากใหม่และตั้งเสาคอนกรีตขนาบและรัดเป็นเข็มขัด โครงหลังคาเป็นไม้เนื้อแข็งยังมีสภาพดีแม้ผ่านเวลามากว่า 100 ปี เราได้รื้อฝ้าออกหมดเพื่อเปิดให้เห็นโครงสร้าง ส่วนกระเบื้องว่าวของเดิมนั้นบางกรอบและชำรุดจึงได้เปลี่ยนใหม่โดยใช้กระเบื้องว่าวที่ผลิตขึ้นใหม่และมีลักษณะคล้ายเดิมมากที่สุด มีการเสริมพื้นไม้ เสริมคานคอนกรีตและคานเหล็กให้มั่นคงแข็งแรงเพื่อความปลอดภัย” ทรงยศ เสมะกนิษฐ์ สถาปนิกแห่งบริษัททาวา กล่าว

โรงแรมบ้านตึกดิน
อนุรักษ์และเสริมความแข็งแรงของเสากลางบ้านที่เป็นเสาหลักในการรับน้ำหนัก

จุดเด่นของ บ้านตึกดิน คือเสาตรงกลางบ้านที่เป็นเสาหลักในการรับน้ำหนักโดยทีมสถาปนิกได้สกัดให้เหลือแต่แกนหลักเป็นเสากลมและหุ้มคอนกรีตให้แข็งแรงขึ้น จากนั้นทำบันไดเหล็กโค้งเพื่อรับเสากลมจนกลายมาเป็นเอกลักษณ์ของบ้านตึกดิน ส่วนสีของบ้านเป็นสีเขียวมะกอกโดยอ้างอิงจากสีฝ้าเพดานเดิมและจากความทรงจำของปราศรัย

โรงแรมบ้านตึกดิน
สภาพเรือนคุณย่าก่อนและหลังการบูรณะซ่อมแซม
โรงแรมบ้านตึกดิน

“จิตวิญญาณของบ้านเป็นส่วนผสมความเป็นไทยกับยุโรป ความเป็นไทยคือบ้านคนไทยที่มีชีวิตมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และยังอยู่ในสังคมไทยที่เรายังมีโอกาสได้ดูแลและเปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้ามาสัมผัสในประวัติศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ของเรา เราเริ่มต้นจากความตั้งใจที่ไม่ได้ยิ่งใหญ่จนเกินไป จากสติปัญญาและกำลังทรัพย์ของเราซึ่งโชคดีว่าแมตช์กับทีมสถาปนิกและทีมที่ปรึกษา” บุรณีกล่าว

โรงแรมบ้านตึกดิน นับเป็นโครงการอนุรักษ์งานแรกของ บริษัทสถาปนิก ทาวา และได้รับการยอมรับจนทำให้บริษัทมีโครงการอื่นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การบูรณะบ้านศาลาแดงของตระกูลจิราธิวัฒน์ การปรับโฉมครั้งใหญ่ของศูนย์การค้า ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า และงานอนุรักษ์มัสยิดหลวงโกชาอิศหาก ในย่านทรงวาด

ตกแต่งสไตล์วินเทจจากคอลเลกชันของสะสมส่วนตัวของทายาท

เรือนคุณย่าได้รับการปรับปรุงให้เป็นโรงแรมพร้อมห้องพักจำนวน 9 ห้อง และมีการปรับชานบ้านให้เป็นห้องสมุดส่วนกลางที่ตกแต่งด้วยเขากวางเรซินและเครื่องเรือนสไตล์ยุโรป

“คุณราจิตอยากนำเสนอความเป็นสุภาพบุรุษของคุณชวดและคุณตาผสมกับความเอ็กโซติกจากโครงกระดูกสัตว์ของยีราฟ ม้า และกวาง ซึ่งคุณราจิตสะสมไว้อย่างถูกกฎหมายและมีใบอนุญาต ห้องพักแต่ละห้องมีการตกแต่งไม่เหมือนกันเพื่อให้ประสบการณ์ที่เซอร์ไพรส์คาดไม่ถึง แต่ยังแฝงโทนอบอุ่น” ทรงยศกล่าว

ห้องรอยัลสวีต

สำหรับห้องพักของโรงแรมบ้านตึกดินแบ่งเป็น 5 ประเภท แต่สิ่งที่เหมือนกันทุกห้องคือเตียงที่ถูกสั่งทำขึ้นมาโดยเฉพาะ ห้องรอยัลสวีต (royal suite) มีขนาด 36 ตารางเมตร โดดเด่นที่การเผยให้เห็นเสาเดิมของบ้านโดยหุ้มด้วยกระจกใสและตกแต่งซุ้มเพดานโค้งใหม่ให้มีลักษณะคล้ายกับเสาอิฐเดิมของบ้านโบราณ

ห้องดูเพล็กซ์

ห้องดูเพล็กซ์ (duplex) ของ บ้านตึกดิน เป็นห้องพัก 2 ชั้นขนาด 40 ตารางเมตรที่มีบันไดเวียนเหล็กโบราณจากคอลเลกชันสะสมของราจิตใช้เชื่อมระหว่างห้องนอนชั้นบนกับห้องนั่งเล่นชั้นล่าง ส่วนห้องจูเนียร์สวีต (junior suite) เป็นห้อง 6 เหลี่ยมขนาดพื้นที่ 27 ตารางเมตร และห้องพรีเมียร์ (premier) กับ ห้องเดอลุกซ์ (deluxe) มีขนาดเท่ากันคือ 23 ตารางเมตร แต่ต่างกันที่ห้องพรีเมียร์มีห้องอาบน้ำและห้องน้ำแยกฝั่งกัน

บ้านตึกดิน

“คอนเซปต์ในการออกแบบตกแต่ง โรงแรมบ้านตึกดิน มาจากการสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงของสะสมจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์แนววินเทจ โครงกระดูกสัตว์ ตู้ โต๊ะ ตั่ง เตียง เก้าอี้ฮันติงแบบโบราณ และอื่นๆ ที่นำมาตกแต่งในบริเวณโรงแรมและห้องพักเพื่อให้แขกได้ชื่นชมกับบรรยากาศราวกับอยู่ในแกลเลอรีของนักสะสม” ราจิตกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการตกแต่ง

บ้านตึกดิน
ดิน เรสเตอรอง แอนด์ แจซ บาร์
บ้านตึกดิน
แซลมอนเวลลิงตัน

ส่วนร้านอาหาร ดิน เรสเตอรอง แอนด์ แจซ บาร์ ตกแต่งด้วยของสะสมสไตล์วินเทจพร้อมเสิร์ฟอาหารไทยและยุโรปในสไตล์โฮมคุกกิง โดยเชฟณมน จรุงกลิ่น อาทิ แกงรัญจวนหมูตุ๋น กุ้งแม่น้ำทอดเกลือกับข้าวผัดมันกุ้ง เนื้อและแซลมอนเวลลิงตัน และสตูลิ้นวัว โดยราคาอาหารเฉลี่ยประมาณ 350-700 บาทต่อเมนู พร้อมรองรับแขกจำนวน 60 ที่นั่ง และพบกับดนตรีแจซเล่นสดทุกวันพฤหัสบดี ศุกร์ และเสาร์ ตั้งแต่เวลา 20.00- 23.00 น.

บ้านตึกดิน
ชโลบา บูติค คาเฟ

สำหรับคาเฟ่ฮอปเปอร์ไม่ควรพลาดเช็กอินที่ ชโลบา บูติค คาเฟ ซึ่งเป็นร้านกาแฟสไตล์ slow bar (ชื่อชโลบาตั้งเพื่อล้อกับคำว่า ชะลอ และ slow bar) และตกแต่งแนววินเทจที่ชูจุดเด่นด้วยการนำเสนอการชงกาแฟสไตล์ตุรกีที่เรียกว่า Turkish sand coffee มาปรับให้ร่วมสมัยมากขึ้นโดยนำกาแฟระดับคั่วอ่อน-กลางที่บดละเอียดแล้วมาผสมกับน้ำร้อนในหม้อต้มใบเล็กด้ามจับยาวที่เรียกว่า เชสเว (cezve) จากนั้นนำหม้อต้มมาวนในกระบะทรายที่มีอุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียสจนกาแฟฟูจึงนำมากรองและเสิร์ฟโดยใช้เวลาประมาณ 3-4 นาทีต่อการชง 1 แก้ว

บ้านตึกดิน
Turkish sand coffee

“เราหาความยุติธรรมให้กับสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ และไม่ใช่แค่ประวัติศาสตร์ของบ้าน แต่เป็นของย่านด้วย เราอาจเป็นแค่ส่วนเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ถือว่าเราได้ดูแลมรดกที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณา ถ้าบ้านตึกดินจะเติบโตเบิกบาน อยากให้เติบโตเบิกบานในที่ที่เราอยู่และให้คนได้มีโอกาสเข้ามามีประสบการณ์ร่วม” บุรณีกล่าวทิ้งท้าย

Fact File

  • โรงแรมบ้านตึกดิน ตั้งอยู่บนถนนดินสอ เขตพระนคร กรุงเทพฯ สำรองห้องพัก โทร. 06-2468-8644 และสำรองที่นั่งร้านอาหาร โทร. 09-8634-2666
  • รายละเอียดเพิ่มเติม : www.baantukdinhotel.com, Facebook : Baan Tuk Din Hotel

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์