ถอดรหัสดีไซน์ “ชะลอม” จากรากไทยสู่โลโก้ APEC 2022 Thailand
Brand Story

ถอดรหัสดีไซน์ “ชะลอม” จากรากไทยสู่โลโก้ APEC 2022 Thailand

Focus
  • ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) เวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565
  • โลโก้ APEC 2022 Thailand ครั้งนี้น่าสนใจตรงที่นำ “ชะลอม” เครื่องสานแบบไทยที่ใช้แต่โบราณถึงปัจจุบันมาสื่อความหมายใหม่ทางเศรษฐกิจ

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วสำหรับ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) เวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 และสำหรับสัญลักษณ์โลโก้ APEC 2022 Thailand ครั้งนี้ก็น่าสนใจตรงที่นำ ชะลอม เครื่องสานแบบไทยที่ใช้แต่โบราณถึงปัจจุบันมาสื่อความหมายงานดีไซน์ใหม่ครบทั้งมุมด้านวัฒนธรรม ด้านควมร่วมมือกันของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน และความหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่มาพร้อมการเติบโตด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน Sarakaee Lite ชวนไปถอดรหัสความหมายงานดีไซน์จากชะลอมพื้นบ้านสู่โลโก้ APEC 2022 Thailand 

APEC 2022 Thailand

ผู้ออกแบบ : ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดีไซน์ : ชะลอม เครื่องจักสานชนิดหนึ่งทำจากตอกไม้ไผ่ ใช้สำหรับเป็นภาชนะใส่ของต่าง ๆ ลักษณะของชะลอมมีปากกลม ก้นหกเหลี่ยม สานด้วยตอกไผ่บาง ๆ สานเป็นลวดลายเฉลวหรือลายตาเข่งห่างแล้วแต่ว่าจะสานเพื่อใส่อะไร ที่ที่ต้องเหมือนกันคือชะลอมต้องสานแบบเหลือตอกยืนที่ปากไว้เพื่อรวบมัดหรือผูกเข้าหากันเพื่อเป็นหูหิ้วหรือกันสิ่งของที่ใสไว้ภายในตกหล่น ชะลอม เป็นภาชนะจักสานที่ใช้แต่โบราณและใช้กันทั่วไปทุกภาคในไทย

ชะลอมเป็นภาชนะสำหรับบรรจุสิ่งของเป็นการชั่วคราวสำหรับเดินทางไกล หรือใส่สิ่งของที่เป็นของฝาก การสานชะลอมจึงเป็นการสานแบบง่ายๆ ใช้เวลาไม่นาน แค่เพียงพอต่อการบรรจุสิ่งของที่ต้องการเท่านั้น ชะลอมมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เชนติเมตร สูง 10 เซนติเมตรจนถึงขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งของที่ใช้บรรจุ

สี : สีของโลโก้ APEC 2022 Thailand อ้างอิงจากคีย์หลักของการประชุม โดยเส้นตอกที่สอดประสานกันเหมือนกับการร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจ ใช้เพียง 3 สี คือ น้ำเงิน ชมพู และเขียว โดย น้ำเงิน สื่อถึง Open การเปิดกว้าง การเปิดการค้า, ชมพู สื่อถึง Connect การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และเขียว สื่อถึง Balance ความสมดุล การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและสมดุล

บันทึกประวัติศาสตร์ เจ้าภาพการประชุม APEC 2022 บนแสตมป์ที่ระลึก

ความหมาย : ผู้ออกแบบได้ให้นิยามโลโก้ชะลอมผ่านคีย์เวิร์ดสำคัญ 3 คำ ได้แก่ “OPEN” มากจากรูปลักษณ์ของชะลอมที่เป็นเครื่องสานมีลักษณะปลายเปิด ฟังก์ชันหน้าที่คือใช้ใส่สิ่งของต่าง ๆ ตั้งแต่ของหนักไปจนถึงของเบาและเป็นสิ่งที่คนไทยโบราณใช้ใส่ของไปค้าขาย เชื่อมโยงถึงการค้าการลงทุนที่เปิดกว้าง คำต่อมาคือ “CONNECT” เหตุเพราะชะลอมมีไว้ใส่สิ่งของเพื่อขนส่ง จึงเปรียบได้กับความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค และคำสุดท้ายคือ “BALANCE” ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติที่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น ใช้งานได้นาน ที่สำคัญเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจ BCG (การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม คือ Bio, Circular,Green Economy) ที่เป็นวาระสำคัญของไทยและกำลังผลักดันในเวทีเอเปค 2565 นี้


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite