AMA Hostel ที่พักลับๆ ในตรอกสะพานหัน ยิ่งเดินหลงทางก็จะยิ่งหลงรัก
Brand Story

AMA Hostel ที่พักลับๆ ในตรอกสะพานหัน ยิ่งเดินหลงทางก็จะยิ่งหลงรัก

Focus
  • จากคลังสินค้าหลังเก่าของครอบครัวขายส่งผ้า ปัจจุบันตึกเก่าสถาปัตยกรรมจีนที่เรียกว่า ซี้เตี๋ยมกิม หลังนี้ได้เปลี่ยนบทบาทมาสู่โฮสเทลในชื่อ AMA Hostel
  • AMA Hostel โฮสเทลในบ้านจีนเก่าแก่อายุอานามร่วม 200 ปี ปลายทางของนักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ที่ต้องการนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปยังยุคแรกเริ่มของการตั้งชุมชนชาวจีนในต้นรัตนโกสินทร์

หากนึกถึง “อาม่า” ภาพจำเกือบร้อยละร้อยต้องเกี่ยวเนื่องกับคนเชื้อสายจีน หรือไม่ก็หญิงชราชาวจีน แต่ที่ย่านสะพานหันเรื่อยมาถึงคลองโอ่งอ่าง หากคุณเอ่ยชื่อ “อาม่า” คนย่านถิ่นนี้จะพร้อมใจกันชี้ไปยังตรอกเล็กๆ ที่รถยนต์เข้าไม่ถึง มอเตอร์ไซค์เองยังลำบาก ต้องเดินเท้าไปเรื่อยๆ จนเจอซอยขนาดพอดีสองคนเดินสวนกัน มีโคมไฟแบบจีนโบราณสีแดงประดับอยู่… นั่นแหละ อาม่า ที่หมายถึง AMA Hostel โฮสเทลในบ้านจีนเก่าแก่อายุอานามร่วม 200 ปี ปลายทางของนักท่องเที่ยวสายประวัติศาสตร์ที่ต้องการนั่งไทม์แมชชีนย้อนไปยังยุคแรกเริ่มของการตั้งชุมชนชาวจีนในต้นรัตนโกสินทร์ ตรงกับยุคแห่งความรุ่งเรืองของคลองโอ่งอ่าง และความจอแจของชุมชนพาณิชย์ริมน้ำอย่างสะพานหัน

 AMA Hostel
 AMA Hostel

 “พูดถึงอาม่า อันนี้รู้เลยว่าเป็นคนจีน มีความเป็นจีนปนอยู่ และอาม่าก็ยังสื่อถึงผู้สูงอายุ ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวบ้านหลังนี้ที่อยู่มานานร่วม 200 ปี เมื่อต้องเปลี่ยนบ้านมาเป็นโฮสเทล ผมเลยนึกถึงชื่ออาม่าเป็นสิ่งแรก”

นกุล พรวณิช เจ้าของผู้ก่อตั้ง AMA Hostel ให้ความหมายถึงคำว่า อาม่า ที่ไม่ใช่แค่การเรียกผู้สูงอายุเชื่อสายจีน แต่ยังหมายถึงโฮสเทลหลังนี้ที่เคยเป็นเหมือนอพาร์ตเมนต์สำหรับชาวจีนหลายครอบครัว และตกทอดมาเป็นคลังสินค้าสำหรับใช้เก็บผ้า ก่อนที่นกุลจะตัดสินใจเข้ามาปรับเปลี่ยนเป็นโฮสเทลและคาเฟ่ พร้อมมทั้งตั้งใจคงเอกลักษณ์โครงสร้างของบ้านชาวจีนยุคเก่าที่เรียกว่า “ซี้เตี๋ยมกิม” หมายถึงสถาปัตยกรรมที่มีการเปิดช่องตรงกลางของบ้านให้แสงสว่างและสายลมได้ไหลเวียน ซึ่งบ้านในลักษณะนี้แทบจะไม่เหลืออยู่แล้วในชุมชนชาวจีนกรุงเทพฯ

 AMA Hostel
นกุล พรวณิช

อย่างที่บอกไปว่าโฮสเทลแห่งนี้ซ่อนตัวอยู่ในตรอกเล็กๆ ที่ต้องเดินลึก (หรือหลง) เข้าไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเปิดประตูไม้สีเขียวบานใหญ่เข้าไปด้านใน ที่นี่กลับกลายเป็นโอเอซิสที่ตัดความจอแจของย่านการค้าสำคัญในพระนครแล้วหยุดเวลาไว้กับสถาปัตยกรรมจีนโบราณ โดยชั้นล่างสุดเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆ ผ่านประตูโค้งครึ่งวงกลมเข้าไปคือโถงล็อบบี้สำหรับแขกโฮสเทลซึ่งเป็นช่องกลางบ้านสี่เหลี่ยมทะลุไปยังเพดาน ในสมัยก่อนช่องกลางบ้านแบบนี้ไม่มีหลังคากั้น เพื่อให้แสงแดดและลมหมุนเวียนในอาคารได้ แต่เมื่อมีการปรับเปลี่ยนเป็นโฮสเทลจึงมีการครอบหลังคาเพิ่มเติมเพื่อกันฝน แต่เป็นหลังคาที่ไม่ได้ปิดทึบ ยังคงให้ลมและแสงแดดสามารถหมุนเวียนเป็นพลังงานของบ้านหลังนี้ได้

 AMA Hostel

ชั้นถัดไปเป็นส่วนของห้องพักซึ่งอยู่รอบช่องสี่เหลี่ยมกลางบ้าน มีราวระเบียงและพื้นกระเบื้องเป็นลายจีนดั้งเดิม แต่ละห้องยังคงประตูบานพับบานเก่าและมีหน้าต่างถ่ายเท นกุลเล่าว่าห้องเล็กๆ ที่มากมายเหล่านี้เป็นฟังก์ชันของบ้านตึกจีนยุคเก่า ซึ่งในตรอกเดียวกันก็มีอาคารเป็นตึกและมีหลายๆ ห้องแบบนี้เช่นกัน แต่ละห้องก็จะอยู่อาศัยกันหนึ่งครอบครัวคล้ายอพาร์ทเมนต์ในยุคปัจจุบันอย่างไรอย่างนั้น

“เรียกได้ว่า 95 เปอร์เซนต์ของการปรับปรุงยังคงลักษณะเดิมของบ้าน เราปรับปรุงเรื่องระบบน้ำ ไฟ ปรับมูดและโทนของบ้านให้เหมาะกับยุคสมัยมากกว่า โดยใช้สไตล์จีนคอนเทมเป็นดีไซน์หลัก แบ่งอารมณ์ของห้องพักเป็น 3 สี สื่อถึง 3 ฤดูกาล สีเขียวคือสปริง สีแดงคือซัมเมอร์ และสีฟ้าคือฤดูฝน”

สำหรับห้องพักก็มีให้เลือกทั้งเตียงเดี่ยว เตียงคู่ และแบบห้องนอนรวม (เตียงสองชั้น) ขนาด 4 เตียง 6 เตียง และ 8 เตียง โดยห้องน้ำและห้องอาบน้ำเป็นห้องรวม ในแต่ละห้องก็ใส่งานดีไซน์กลิ่นอายความเป็นจีนสอดคล้องกับประวัติศาสตร์บ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นกระเบื้อง ภาพประดับ โคมไฟจีน ลายฉลุจีน และแม้ AMA Hostel จะเป็นโฮสเทล แต่เครื่องนอน ความสะอาด บอกเลยว่าเกินเบอร์โฮสเทลไปมาก และอีกสิ่งที่เป็นความพิเศษของที่นี่จริงๆ คือบรรยากาศชุมชนจีนยุคก่อน ที่สามารถเปิดประตูมานั่งบริเวณระเบียงแล้วชิลไปกับอาคารเก่าๆ ของเพื่อนบ้านที่รายรอบ รวมทั้งกลิ่นหอมเครื่องยาจีนที่พัดผ่านมาจากชุมชนเครื่องเทศสมุนไพรในตรอก

 AMA Hostel

“ที่ผมตัดสินใจทำโฮสเทลที่มันอาจจะเข้ามาถึงไม่ง่าย เล็ก แคบ เพราะผมถือว่าผมเป็นลูกหลานย่านนี้ ก็อยากให้ย่านเรามันเจริญ เรามีศักยภาพด้านไหนเราก็พัฒนาในส่วนนั้น เรามีบ้านที่มีศักยภาพที่สามารถทำอะไรได้มากกว่าปล่อยไว้เป็นโกดังเก็บของเราก็อยากจะทำ แทนที่จะไปเช่าอาคารโซนอื่นๆ ทำซึ่งอาจจะเข้ามาง่ายกว่าอาม่าด้วยซ้ำ สำหรับผมเสน่ห์ของอาม่าคือ ประสบการณ์ บางคนก็อยู่กรุงเทพฯ นี่แหละ มาเช็คอินเย็นวันเสาร์ เที่ยวเยาวราช คลองโอ่งอ่าง วันอาทิตย์สายๆ เช็คเอาท์ วันจันทร์ก็กลับไปทำงานต่อ ส่วนต่างชาติต่อให้รถเข้าไม่ถึงก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะเขาคิดว่านี่คือประสบการณ์ที่ต้องเดินเข้ามาถึงจะเจอ”

Fact File


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์