ยาสมีน ลาริ สถาปนิกหญิงคนแรกของปากีสถาน นักออกแบบบ้านเพื่อผู้ประสบภัย
Better Living

ยาสมีน ลาริ สถาปนิกหญิงคนแรกของปากีสถาน นักออกแบบบ้านเพื่อผู้ประสบภัย

Focus
  • ยาสมีน ลาริ (Yasmeen Lari) สถาปนิกหญิงคนแรกของประเทศปากีสถาน และเป็นสถาปนิกที่ทำงานสร้างบ้านเพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ และผู้ประสบภัย
  • บ้านเพื่อผู้ประสบภัยที่ ลาริ ออกแบบนอกจากจะสร้างจากโจทย์เรื่องภัยพิบัติแล้ว ยังต้องราคาถูก และลดปริมาณคาร์บอนเป็นศูนย์อีกด้วย

ย้อนกลับไปประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา บทบาทของผู้หญิงในฟากฝั่งเอเชียยังถูกจำกัดและไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมโดยเฉพาะในดินแดนเอเชียใต้อย่างอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ และโดยเฉพาะในวงการสถาปนิกนั้นแทบจะเรียกว่าเป็นงานเฉพาะทางของเพศชายเลยก็ว่าได้ จนกระทั่งปรากฏชื่อของ ยาสมีน ลาริ (Yasmeen Lari) สถาปนิกหญิงคนแรกของประเทศปากีสถาน และเป็นสถาปนิกที่ดึงเอกลักษณ์งานก่อสร้างบ้านดั้งเดิมของปากีสถานมาช่วยเหลือผู้ยากไร้ และผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดในปี 2005

ยาสมีน ลาริ (Yasmeen Lari)

ยาสมีน ลาริ  เกิดที่เมืองเดรากาซีข่าน (Dera Ghazi Khan) ทางตอนกลางของปากีสถาน ก่อนจะย้ายตามครอบครัวไปอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร หลังจบการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมจากโรงเรียนสถาปัตยกรรมออกซฟอร์ด (Oxford School of Architecture) 

ใน ค.ศ. 1964 ลาริ ในวัย 23 ปี เลือกกลับมาทำงานที่ปากีสถานอีกครั้งพร้อมกับสามี ซูเฮล ซาเฮียร์ ลาริ (Suhail Zaheer Lari) ทั้งคู่เปิดสำนักงาน สถาปัตยกรรมในนาม Lari Associates ที่กรุงการาจี (Karachi) เมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมรับงานออกแบบอาคารแลนด์มาร์กสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น Finance and Trade Centre และ Pakistan State Oil House แน่นอนว่าในประเทศที่เคร่งครัดเรื่องวัฒนธรรมประเพณีที่ค่อนข้างจำกัดสิทธิ์ของผู้หญิง ยาสมีน ลาริ จึงกลายเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกและคนเดียวของปากีสถานที่โด่งดังมากๆ ในช่วงนั้น และทำให้เธอได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกปากีสถาน 

แม้ว่าสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ที่เธอออกแบบจะเป็นอาคารสมัยใหม่ในเมือง แต่ ลาริ เองก็ยังสนใจศึกษาเรื่องการอนุรักษ์อาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ดังนั้นเธอและสามีจึงก่อตั้งองค์กรที่ไม่แสวง ผลกำไร Heritage Foundation of Pakistan ขึ้นใน ค.ศ.1980 และในอีก 2 ถัดมา เธอก็เกษียณตัวเองจากการเป็นสถาปนิกในบริษัท หันมาทำงานด้านการ อนุรักษ์และสถาปัตยกรรมเพื่อผู้มีรายได้น้อย ในนามขององค์กรนี้อย่างเต็มตัว

ใน ค.ศ. 2005 เป็นปีที่ชีวิตของเธอกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างที่เธอเองก็ไม่คาดคิดเมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคฮาซารา และแคชเมียร์ ตอนเหนือของประเทศ ทำให้มีผู้ประสบภัยจำนวนมาก เกือบทั้งหมดล้วนมีรายได้น้อย ไม่สามารถช่วยเหลือ ตนเองได้ และกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเพียงข้ามคืน และนั่นทำให้ Heritage Foundation of Pakistan เข้ามามีบทบาทสำคัญในการออกแบบสถาปัตยกรรมและฟื้นฟูชุมชนของผู้ประสบภัย ซึ่งโจทย์คือแข็งแรง ราคาถูก และกองสร้างได้ง่ายโดยคนในชุมชน ผลลัพธ์จึงเป็นการนำเทคนิคการก่อสร้างบ้านของคนพื้นเมืองมาประยุกต์กับสถาปัตยกรรมในรูปแบบใหม่ และกลายเป็นต้นแบบของการทำงานด้านบ้านพักฉุกเฉินยามภัยพิบัติ

ยาสมีน ลาริ 

ค.ศ. 2010 หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ ภูมิภาคสินธ์ (Sindh region) ลาริ มีโอกาสออกแบบบ้านเรือนสำหรับผู้ประสบภัยอีกครั้ง ร่วมกับองค์กรสถาปัตยกรรมระดับโลกอย่าง Architecture for Humanity เธอได้ประยุกต์เทคนิคการก่อสร้างจากอาคารพื้นถิ่น เน้นการใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายอย่างไม้ ดิน โคลน และ ไม้ไผ่ ซึ่งดินนั้นสามารถนำมารีไซเคิลได้ และมีอยู่ทุกที่ ส่วนไม้ไผ่ก็มีความแข็งแรงมากและปลูกใหม่ขึ้นทดแทนได้ทุก ๆ 2 ปี โดยอาคารโครงสร้างไม้ไผ่ในครั้งนี้มีรูปแบบพิเศษซึ่งประยุกต์จากอาคารแบบกระโจม ทำให้เกิดโครงสร้างที่แข็งแรงสามารถรับน้ำหนักได้มาก และสามารถสร้างเป็นอาคารที่สูงสองชั้นได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถทนต่อแรงปะทะจากน้ำได้ และยังยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำหากเกิดน้ำท่วมซ้ำอีกครั้งที่สำคัญยังสามารถป้องกันเหตุแผ่นดินไหวได้ดี  

ยาสมีน ลาริ 

ครั้งนั้นลาริ และทีมงานได้ออกแบบ ที่พักอาศัยให้ผู้ประสบภัยเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,600 หลัง ทำให้ชื่อของเธอเป็นที่รู้จักใน วงกว้างในฐานะสถาปนิกหญิงผู้ออกแบบ สถาปัตยกรรมสำหรับผู้ประสบภัย และหลังจากนั้นเธอก็ทำงานด้านนี้มาตลอด โดยโครงสร้างอาคารเพื่อผู้ประสบภัยส่วนใหญ่มีคาแรกเตอร์ชัดเจนคือ นำวัสดุท้องถิ่น เทคนิคการก่อสร้างดั้งเดิมของชุมชนมาผสมผสานกับความรู้เรื่องภูมิประเทศ ภูมิอากาศ บนพื้นฐานการพึ่งพาตนเองจากวัสดุภายในท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอให้ความสำคัญที่สุด 

ยาสมีน ลาริ 

“คุณไม่อาจออกมาจากความยากจนได้ ถ้าคุณจะต้องกลับมาสร้างใหม่ในทุก ๆ ปี ทางเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้า คือ การสร้างให้คนในชุมชนสามารถดูแลตัวเอง และรับมือกับภัยพิบัติได้ หากมันเกิดขึ้นอีกครั้ง”

ล่าสุดต้นปี 2020 ลาริ ในวัย 79 ปี ได้รับรางวัล Jane Drew Prize 2020 ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลกที่มอบให้กับสถาปนิกผู้หญิง และเธอยังคงทำงานออกแบบบ้านเพื่อผู้ยากไร้ในนามของ Heritage Foundation of Pakistan ต่อไป ซึ่งนอกจากการใช้วัสดุพื้นบ้าน วัสดุจากในชุมชนแล้ว เธอยังมุ่งเน้นเรื่องการสร้างบ้านที่ให้ค่าคาร์บอนเป็นศูนย์อีกด้วย  

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับ พฤศจิกายน 2559