1 ธันวาคม วันเอดส์โลก เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ไม่ตีตรา
- การแพร่ระบาดของเชื้อโรคเอดส์จากกาฬทวีปเริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบๆ ใน พ.ศ.2521 และกระจายต่อไปยังทวีปอเมริกาเหนือ ลุกลามไปถึงทวีปยุโรป ก่อนจะขยายมาสู่เอเชีย
- สำหรับประเทศไทยมีการค้นพบผู้ป่วยโรคเอดส์คนแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2527 แต่อันที่จริงเริ่มมีการระบาดตั้งแต่ปี พ.ศ.2524
1 ธันวาคมของทุกปีตรงกับ วันเอดส์โลก เป็นวันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดขึ้นเพื่อให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคเอดส์ หรือ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส HIV (Human Immuno Deficiency Virus) โดย AIDS ย่อมาจาก Acquired Immunodeficiency Syndrome ทั้งนี้วันเอดส์โลกไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ประชากรโลกตระหนักถึงอันตรายของโรคนี้ แต่ วันเอดส์โลก นี้ขึ้นเพื่อเปิดช่องทางการสื่อสาร ให้สังคมเข้าใจว่าผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์สามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคม
การแพร่ระบาดของเชื้อโรคเอดส์จากกาฬทวีปเริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบๆ ใน พ.ศ.2521 และกระจายต่อไปยังทวีปอเมริกาเหนือ ลุกลามไปถึงทวีปยุโรป ก่อนจะขยายมาสู่เอเชียและเข้าสู่ไทยในปี พ.ศ. 2524 ทั้งนี้โลกได้เริ่มรู้จักโรคติดต่อร้ายแรงจากเชื้อไวรัสเอชไอวีเป็นครั้งแรกจากผู้ป่วยรายแรกๆ ในสหรัฐอเมริกา โดยในช่วงต้นของการระบาดนั้นมีความเชื่อว่า เชื้อไวรัส HIV ระบาดอยู่ในกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน และติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์เป็นหลักเท่านั้น ต่อมาภายหลังจึงพบว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถติดต่อทางเลือดและสารคัดหลั่งของร่างกาย รวมทั้งติดต่อจากมารดาสู่ทารกได้ด้วย
ประชากรโลกเริ่มรู้สึกว่าเอดส์เป็นสิ่งใกล้ตัวเมื่อ “ร็อค ฮัตสัน” ดาราดังยุค 50s ตกเป็นเหยื่อของโรคร้ายชนิดนี้และจบชีวิตลง ซึ่งว่า ร็อค ฮัตสัน ถือเป็นดาราฮอลลีวูดรายแรกๆ ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ สำหรับประเทศไทยมีการค้นพบผู้ป่วยโรคเอดส์คนแรกเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2527 สื่อทุกสื่อ แม้แต่นิตยสารสารคดีเองในยุคนั้นก็ยังมีการรายงานสถานการณ์โรคเอดส์แบบรายเดือน
ในช่วงปลายปี 2529 มีคนอเมริกันเสียชีวิตจากโรคเอดส์ถึงกว่า 16,000 คน แต่รัฐบาลของประธานาธิบดี โรนัลด์ รีแกน แห่งพรรครีพับลิกันกลับไม่ได้ให้ความใส่ใจเท่าที่ควร จนทำให้ภาคประชาสังคมและนักเคลื่อนไหวออกมาผลักดันให้ภาครัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยเฉพาะองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หันมาเร่งรัดหาลู่ทางพัฒนายาเพื่อบำบัดผู้ป่วยโรคเอดส์
ตลอดระยะเวลา 39 ปีที่ผ่านมา โรคเอดส์ยังไม่มีวิธีหรือยาใดรักษาให้หายขาดได้ แต่พัฒนาการทางการแพทย์ได้ค้นพบวิธีป้องกันการแพร่เชื้อ การติดเชื้อ และการสัมผัสเชื้อ รวมถึงผลงานของทีมวิจัยด้านโรคเอดส์ของไทยที่ค้นพบการใช้ยาต้านเชื้อไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อในระยะแรกที่หากได้รับทันท่วงทีจะสามารถยับยั้งอาการโดยลดจำนวนของไวรัสในร่างกายให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
ในปี 2538 สหรัฐมีผู้เสียชีวิตสะสม จากโรคเอดส์รวมถึง 300,000 คน (อ้างจาก www.voathai.com) แต่ในความเลวร้ายนั้นก็ยังมีการค้นพบ “ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี “ แต่ยานี้ช่วยบำบัดอาการของผู้ติดเชื้อ ช่วยให้ดำเนินชีวิตต่อไปเท่านั้น แต่ไม่ใช่การรักษาให้หายขาด เพราะยาเหล่านี้ช่วยลดจำนวนของไวรัสในร่างกายให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย และผู้ป่วยเองต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่อง
ปี พ.ศ. 2539 WHO ประกาศให้ไทยเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ที่สามารถลดจำนวนการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ได้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 คณะนักวิจัย ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย นำโดย ศ.ดร.พญ.จินตนาถ อนันต์วรณิชย์ หัวหน้าคณะวิจัย ได้สร้างความหวังให้ชาวโลกกับผลวิจัยที่การรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรกให้ มีโอกาสหายขาด ได้จากโครงการวิจัยการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลัน ซึ่งใช้วิธีตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวีแบบ NAT (Nucleic Acid Amplification Testing) ถือเป็นนวัตกรรมล่าสุดในยุคนั้นที่มีความปลอดภัยและแม่นยำ รู้ผลเร็วภายในเวลา 1-2 วัน ใช้หลักการตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวีจากสารพันธุกรรม สำหรับผู้สงสัยว่าได้รับเชื้อเอดส์มา 5 วันขึ้นไป และการรู้ผลติดเชื้อเร็ว ได้รับยาต้านไวรัสเร็วนี่เองที่สามารถหยุดการแพร่เชื้อภายในร่างกาย และยังป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้เร็วขึ้นอีกด้วย
ด้านการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรกให้มีโอกาสหายขาดได้ งานวิจัยของแพทย์หญิงไทยเกี่ยวกับการทดลอง ตรวจเชื้อเอชไอวีแล้วพบในระยะเริ่มแรกไม่เกิน 1 อาทิตย์ หลังจากรับเชื้อแล้วให้กินยาสูตรเบื้องต้นทันที ผลปรากฏว่าแทบจะไม่พบเชื้อหลงเหลืออยู่ในร่างกายหรือพบบางส่วนที่น้อยมาก ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของผู้ติดเชื้อเอดส์รายใหม่ โดยผลงานวิจัยนี้ ถูกนำเสนอในการประชุมแพทย์และนักวิจัยเกี่ยวกับโรคเอดส์และโรคติดเชื้อฉวยโอกาสระดับโลก หรือ CROI 2013 (The Conference on Retroviruses and Opportunistic Infections) เมื่อวันที่ 3-5 มีนาคม 2554 ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
ปี พ.ศ.2560 โครงการวิจัยเอชไอวีกองทัพสหรัฐอเมริกา (MHRP) นำโดยนักวิจัยโรคเอดส์ชาวไทย ศ.ดร.พญ.จินตนาถ อนันต์วรณิชย์ ได้ทำการทดลองฉีดสารภูมิคุ้มกัน พบว่าช่วยคุมเชื้อไวรัสเอชไอวีไม่ให้เติบโตได้ และมีชายคนหนึ่งที่สามารถควบคุมเชื้อไว้ได้นาน 10 เดือนโดยไม่ต้องรับยาต้านไวรัส เป็นการเพิ่มความหวังในการควบคุมเชื้อโดยการฉีดสารภูมิต้านทานปีละ 2-3 ครั้ง แทนการกินยาต้านไวรัสทุกวัน ผลงานวิจัยนี้ถูกนำเสนอในการประชุมสมาคมเอดส์สากลว่าด้วยวิทยาศาสตร์เอชไอวีครั้งที่ 9 (International Aids Society Conference on HIV Science) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปีเดียวกัน โดยผลการทดลองนี้สร้างความหวังให้กับการรักษาโรคเอดส์ ซึ่งต้องสู้กับเชื้อไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองเสมอ แต่มีข้อจำกัดในด้านการผลิต และต้นทุนที่แพง เพราะว่าเป็นสารชีวภาพและมีความซับซ้อนในการผลิตมากกว่าโมเลกุลขนาดเล็ก
สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ก่อตั้งเมื่อ 31 ปีที่แล้ว โดยทางศูนย์ฯ ยังเดินหน้าตามยุทธศาสตร์มุ่งเป้ายุติปัญหาโรคเอดส์ในประเทศไทยให้ได้ภายในปี พ.ศ.2573 ด้วยมาตรการเชิงรุก รวมถึงการตรวจหาเชื้อได้ตั้งแต่ระยะแรก ได้รับยาต้านเชื้อไวรัสได้ทันท่วงที และต่อเนื่องซึ่งไทยมี คลีนิกนิรนาม รับตรวจเชื้อโรคเอดส์ และการณรงค์ป้องกันเอดส์ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจของคนในสังคม สร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันได้ และลดการตีตรา ภายใต้สโลแกนที่ว่า “เอดส์อยู่ร่วมกันได้ ไม่ตีตรา”
อ้างอิง
- นิตยสารสารคดี ฉบับธันวาคม 2556
- https://www.bbc.com/thai/international-40740363
- facebook.com/ThaiRedCross