10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ไซยาไนด์ สารเคมีอันตรายที่ถูกค้นพบในต้นศตวรรษที่ 18
Better Living

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ ไซยาไนด์ สารเคมีอันตรายที่ถูกค้นพบในต้นศตวรรษที่ 18

Focus
  • ไซยาไนด์ (Cyanide) หลายคนรู้จักชื่อนี้ดีในฐานะสารพิษชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว ไซยาไนด์ ถูกใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น การผลิตสแตนเลส การถลุงเงินหรือทอง การชุบโลหะ
  • มีสัตว์จำพวกแมลงหลายชนิดที่สามารถสร้างไซยาไนด์ได้ โดยหน้าที่ของไซยาไนด์ธรรมชาติเหล่านั้นก็เพื่อปล่อยออกมาเพื่อป้องกันภัยจากศัตรู
  • มีพืชอย่างน้อย 1,000 ชนิด และจุลินทรีย์มากกว่า 90 สายพันธุ์ที่สามารถสังเคราะห์ไซยาไนด์ตามกลไกธรรมชาติได้

ไซยาไนด์ (Cyanide) หลายคนรู้จักชื่อนี้ดีในฐานะสารพิษชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว ไซยาไนด์ ถูกใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แม้แต่ในพืชและสัตว์ก็สามารถผลิตไซยาไนด์ตามธรรมชาติได้ Sarakadee Lite พาไปรู้จักประวัติศาสตร์ ไซยาไนด์ สารเคมีอันตรายที่ถูกค้นพบมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 18

ไซยาไนด์

01 ส่วนประกอบทางเคมี : ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ มีโครงสร้างทางเคมีประกอบด้วย คาร์บอน (Carbon: C) 1  อะตอม และ ไนโตรเจน (Nitrogen: N) 1 อะตอม อาจพบได้ทั้ง 3 สถานะ คือของแข็ง เช่น เกลือไซยาไนด์, สารละลาย เช่น โพแทสเซียม ไซยาไนด์ (potassium cyanide) โซเดียม ไซยาไนด์ (sodium cyanide) และในรูปของแก๊ส เช่น ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ (hydrogen cyanide) เป็นต้น

02 ความหมาย : Cyanide มาจากภาษากรีกคำว่า Kyanos หมายถึง สีนํ้าเงิน หรือ สีฟ้า

03 การใช้งาน : แม้ไซยาไนด์จะเป็นสารเคมีที่เป็นพิษ แต่ก็ยังคงถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายทั่วโลกแต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น การผลิตสแตนเลส การถลุงเงินหรือทอง การชุบโลหะ อุตสาหกรรมปิโตร เคมี การผลิตยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู และนำมาใช้ในการเตรียมบ่อเพื่อเพาะเลี้ยงกุ้งและสัตว์น้ำอื่นๆ อีกด้วย

04 การค้นพบ : จุดเริ่มต้นของการกำเนิดไซยาไนด์อยู่ในช่วง ต้นศตวรรษที่ 18 เมื่อ J.C.Dippel และ H.Diesbach ได้ทำการทดลองโดยให้ความร้อนกับเลือดด้วย Potassium Carbonate และ Green Vitrol (Iron Sulfate) จนได้สารสีนํ้าเงิน เรียกสารดังกล่าวว่า Berlin Blue หรือ Prussian Blue ต่อมาปี ค.ศ. 1782 นักเคมีชาวเยอรมัน-สวีเดน ชื่อ  Carl Wilhelm Scheele (หรือสะกด Karl) ได้ทำการทดลองโดยให้ความร้อนกับ Prussian Blue ด้วยกรดซัลฟูริกเจือจางจนได้ก๊าซติดไฟที่ละลายน้ำได้และให้ฤทธิ์เป็นกรด ชื่อ Berlin Blue acid หรือ Prussian acid หรือชื่อในปัจจุบันก็คือ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ นับได้ว่า Carl Wilhelm Scheele เป็นนักเคมีคนแรกที่สามารถสังเคราะห์ไฮโดรเจนไซยาไนด์ได้สำเร็จ ซึ่ง Carl Wilhelm Scheele เป็นนักเคมีคนสำคัญของโลกที่ค้นพบทั้งคลอรีน ออกซิเจน และแมงกานีส

ไซยาไนด์
Carl Wilhelm Scheele นักเคมีชาวเยอรมัน-สวีเดน

05 ไซยาไนด์ในพืช : อันที่จริงแล้วไซยาไนด์สามารถเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ มีพืชอย่างน้อย 1,000 ชนิด และจุลินทรีย์มากกว่า 90 สายพันธุ์ที่สามารถสังเคราะห์ไซยาไนด์ตามกลไกธรรมชาติได้ นอกจากนี้ยังมีพืชผลทางการเกษตรที่เราคุ้นเคยกันดีแต่อาจจะไม่รู้ว่ามีไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบ (Cyanogenic) เช่น มันสําปะหลัง ข้าวฟ่าง ข้าวโพด อัลมอนด์ ต้นไผ่ และฝ้าย ดังนั้นเวลานำมารับประทานจึงต้องกินอย่างถูกวิธีเพื่อลดค่าไซยาไนด์ เช่น  มันสำปะหลัง หากกินดิบทั้งในส่วนหัว ราก ใบ จะมีพิษทำให้ถึงตายได้ เนื่องจากมี cytochrome glycosides ที่มีฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและทางเดินโลหิต ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่เซลล์สมองน้อยลง อาเจียน หายใจขัด ชักกระตุก กล้ามเนื้อไม่มีแรง หายใจลำบาก อาการรุนแรงมาก ลมหายใจมีกลิ่นไซยาไนด์ ร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต หรือเป็นอัมพาตเฉียบพลันได้

06 ไซยาไนด์ในสัตว์ : มีสัตว์จำพวกแมลงหลายชนิดที่สามารถสร้างไซยาไนด์ได้ โดยหน้าที่ของไซยาไนด์ธรรมชาติเหล่านั้นก็เพื่อปล่อยออกมาเพื่อป้องกันภัยจากศัตรู เช่น ตะขาบ กิ้งกือ แมลงปีกแข็ง ผีเสื้อราตรี เป็นต้น

07 ร่างกายมนุษย์มีไซยาไนด์ : นอกจากสัตว์และพืชแล้ว ในร่างกายของมนุษย์ก็มีไซยาไนด์อยู่ด้วย เช่น ในน้ำลายมีไทโอไซยาเนท 0.217 กรัมต่อลิตร ในปัสสาวะมีไทโอไซยาเนท 0.006 กรัมต่อลิตร ส่วนน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไทโอไซยาเนท 0.006 กรัมต่อลิตร

08 ไซยาไนด์ในอุตสาหกรรม: ไซยาไนด์และไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม เช่น  การผลิตพลาสติก กาว สารทนไฟ เครื่องสําอาง ยารักษาโรค อุตสาหกรรมเหล็ก การผลิตทองคำ หรือในสมัยสงครามโลกก็เคยนำความเป็นพิษของไซยาไนด์มาเป็นอาวุธ หรือใช้ในการประหารนักโทษก็เคยมี

ไซยาไนด์

09 พิษของไซยาไนด์ : แม้ไซยาไนด์จะมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมหลายชนิด แต่ก็มีอันตรายได้ทั้งพิษเฉียบพลันและเรื้อรัง ปัจจุบันในประเทศไทย ไซยาไนด์ถูกจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย แปลว่าบุคคลทั่วไปไม่สามารถซื้อหาหรือผลิตได้หากไม่ได้รับใบอนุญาต

มนุษย์สามารถรับพิษไซยาไนด์ได้ทั้งจากการสัมผัส ทางปาก และทางลมหายใจ ส่วนพิษของไซยาไนด์นั้นมีทั้งทำให้ความดันเลือดต่ำ การเต้นของหัวใจผิดปกติ หายใจขัดข้อง ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาททำให้มึนงง ขาดสติ ประสิทธิภาพการมองเห็นลดลง เรียกว่าเป็นอันตรายต่อระบบสมองและหัวใจจนทำให้ถึงตายได้

นอกจากพิเษแบบเฉียบพลันจากการได้รับไซยาไนด์ในความเข้มข้นสูงแล้ว ไซยาไนด์ยังมีความเป็นพิษแบบเรื้อรังอันเนื่องจากการได้รับไซยาไนด์ในปริมาณต่ำแต่ได้รับเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อระบบหายใจ ทำให้หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ อาเจียน ต่อมไทรอยด์โต และสำหรับกลุ่มไซยาไนด์ที่มีระดับความเป็นพิษสูง ได้แก่ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen Cyanide: HCN) โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium Cyanide: NaCN) โพแทสไซยาไนด์ (Potassium Cyanide:KCN)  และแคลเซยมไซยาไนด์  (Calcium Cyanide:CaCN)

10 การช่วยเหลือเมื่อได้รับพิษไซยาไนด์ : หลักการเบื้องต้นในการรักษาช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับไซยาไนด์ เริ่มจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีการปนเปื้อนพิษไซยาไนด์ หากได้รับพิษทางร่างกายสัมผัสให้ทำความสะอาดร่างกาย ด้านการปฐมพยาบาลเบื้องต้นต้องรีบสังเกตว่าผู้ป่วยหมดสติหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยมีภาวะการหายใจล้มเหลวต้องรีบช่วยหายใจ หากได้รับพิษโดยการกินและผู้ป่วยยังไม่หมดสติให้ทำให้อาเจียนแล้วค่อยให้ออกซิเจน 100% แต่หากผู้ป่วยหมดสติต้องช่วยหวยใจ หรือใช้เครื่องช่วยหายใจแล้วรีบพบแพทย์โดยด่วน

อ้างอิง

  • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไซยาไนด์ โดย จุฑารัตน์ อาชวรัตน์ถาวร สำนักอุตสาหกรรมพื้นฐาน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (2546)
  • https://www.britannica.com/science/hydrogen-cyanide

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite