กลิ่นเหงื่อ สามารถบอกภาวะ เครียด และ ซึมเศร้า ผลแม่นยำถึง 90 เปอร์เซ็นต์
- นับเป็นครั้งแรกในไทยที่พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อที่สามารถบ่งชี้สภาวะความเครียดของกลุ่มประชากรในกรุงเทพได้
- คนไทยราว 1.5 ล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิตและแนวโน้มดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดย 49.36% หรือครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวมีภาวะเครียดและซึมเศร้า
ทราบหรือไม่ว่าคนไทยราว 1.5 ล้านคนกำลังมีปัญหาสุขภาพจิตและดูเหมือนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย 49.36% หรือครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวมีภาวะ เครียด และ ซึมเศร้า อันเกิดมาจาก การทำงาน ซึ่งความเครียดและซึมเศร้าที่มาพร้อมงานที่ถาโถมมักมาเยือนโดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และหลายคนก็แทบไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้าจนจิตใจเกินจะรับไหวแล้ว
ข้อมูลล่าสุดจากทีมนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ยิ่งใครที่ทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงสูง ต้องรับผิดชอบความปลอดภัยของสาธารณะ หรือต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดันและความเร่งด่วน ก็จะมีภาวะเครียดและซึมเศร้ามากขึ้น เช่น ตำรวจ ทหาร นักผจญเพลิง ฯลฯ แต่ปัญหาคือการที่ทุกคนจะเข้าถึงและพบจิตแพทย์ได้ก็ยังเป็นเรื่องยากในเมืองไทย เนื่องจากข้อจำกัดด้านจำนวนบุคลากรด้านจิตเวชในประเทศไทย นอกจากนี้แนวทางการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยด้วยการสัมภาษณ์ยังขึ้นกับดุลยพินิจของจิตแพทย์และนักจิตวิทยา อาจทำให้ผลการวินิจฉัยที่ไม่อาจสรุปได้อย่างแม่นยำและนั่นทำให้เกิดการวิจัยเพื่อแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนซึ่งก็คือ การวิจัยหาสารเคมีความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ
“เราพยายามหาวิธีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง เพื่อใช้ในการคัดกรองสภาวะทางจิตก่อนพบจิตแพทย์ ซึ่งเราพบว่าวิธีการตรวจหาสารเคมีจากกลิ่นเหงื่อเป็นวิธีที่น่าสนใจศึกษา เพราะเป็นวิธีที่ไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดให้เจ็บตัว และสามารถวัดผลจากสิ่งที่จับต้องได้จริง ๆ มีความคลาดเคลื่อนน้อย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และทีมวิจัยจากทั้งภายในจุฬาฯ และภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นสารเคมีในเหงื่อ ให้ข้อมูลถึงจุดเริ่มต้นงานวิจัย
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้นำร่องวิจัยกับนักผจญเพลิง 1,084 คนจากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ซี่งเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบกลุ่มสารเคมีความเครียด (แบบระเหยง่าย) ในเหงื่อของคนกลุ่มใหญ่ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน และเป็นความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการทำงานและในชีวิตประจำวันจริง ๆ ไม่ได้เป็นความเครียดที่เกิดจากการควบคุมหรือจำลองสถานการณ์ขึ้นเหมือนการศึกษาอื่น ๆ ที่ผ่านมา ส่วนความแม่นยำอยู่ที่ประมาณ 90%
ด้านขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเหงื่อนั้นใช้ก้านสำลีที่สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้าน เหน็บใต้รักแร้ซ้าย-ขวา ทิ้งไว้ 10-15 นาที จากนั้นนำก้านสำลีที่มีเหงื่อไปใส่ในขวดปลอดเชื้อส่งตัวอย่างมาห้องแล็บเพื่อตรวจด้วยเครื่องวิเคราะห์กลิ่นสารเคมี โดยฉีดอากาศในขวดเข้าไปในเครื่อง แล้วรอเครื่องวิเคราะห์ผลประมาณ 10-20 นาที ซึ่งผลจะแสดงออกมาในลักษณะบาร์โค้ดของสารเคมีในแต่ละตัวอย่างซึ่งถือเป็นการคัดกรองเบื้องต้นซึ่งในรายที่มีความเครียดสูงก็สามารถพบจิตแพทย์ต่อได้เลย
“ต่อไปเราจะขยายการตรวจคัดกรองความเครียดไปในกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องทำงานภายใต้ความกดดันสูง มีความเสี่ยงต่อปัญหาภาวะสุขภาพจิต เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตให้รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้ที่มีภาวะเครียดจัดหรืออาจมีอาการซึมเศร้า ได้รับการดูแลบำบัดทันท่วงที” ผศ.ดร. ชฎิล กล่าวถึงงานวิจัยที่เราก็หวังว่าต่อไปจะสามารถขยายผลไปสู่นวัตกรรมที่ให้เราสามารถเช็คระดับความเครียดของเราได้เองก่อนที่เครียด ซึมเศร้า จะถาโถมจนเกินจะรับไหว
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม : นักวิจัยจุฬาฯ พบสารเคมีในกลิ่นเหงื่อเผย “เครียดจัด-ซึมเศร้า” นำร่องคัดกรองสุขภาพจิตนักผจญเพลิงสำเร็จครั้งแรก!