Sustainable Tourism Innovation 2024 อพท. เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมพัฒนา เกาะยอ ไฮไลต์แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
- ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเกาะยอที่หลอมรวมทั้งเรื่องระบบนิเวศและวิถีท้องถิ่นดั้งเดิม เกาะแห่งนี้จึงมีเสน่ห์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งไทยและต่างชาติโดยเฉพาะจากจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศตะวันตกให้มาเยือนเกาะยอเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี
- Sustainable Tourism Innovation 2024 เฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”
จบลงไปแล้วสำหรับกิจกรรมแข่งขันระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024 เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมเพื่อการยกระดับการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” จัดโดย องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาขีดความสามารถด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ซึ่ง เกาะยอ จังหวัดสงขลา ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่พิเศษภายใต้การดูแลของ อพท. ด้วยเช่นกัน
เกาะยอ เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์บนพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดดเด่นด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย อาหารพื้นถิ่นอันเลิศรส วัฒนธรรมร่วมสมัยที่หลอมรวมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เกาะยอจึงเปรียบเสมือนอัญมณีที่รอการเจียระไนเพื่อส่องแสงในเวทีการท่องเที่ยวระดับโลก โดยที่ผ่านมาเกาะยอสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และกลุ่มประเทศตะวันตก ให้มาเยือนเกาะยอเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการท่องเที่ยวบนเกาะยอจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ก็ย่อมต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนั่นจึงเป็นที่มาของการตามหาไอเดียเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ และพัฒนาขีดความสามารถด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเกาะยอ ผ่านกิจกรรมแข่งขันระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024
สำหรับทีมชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนักเรียน/นักศึกษา ได้แก่ ผลงาน นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) “I LAN YOR” จาก ทีม I LAN YOR และประเภทประชาชนทั่วไป ได้แก่ ผลงาน “กล่องนวัตกรรมสายน้ำแห่งวัฒนธรรมเกาะยอ” จาก ทีมเกาะยอทอวิถี โดยทาง อพท.ได้นำผลงานนวัตกรรมชนะเลิศทั้ง 2 ประเภท ไปทดสอบการใช้งานจริงในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยเลือกตำบลเกาะยอ และโรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ในอำเภอเมืองสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงทั้งด้านธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต ทั้งนี้ผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจของทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งระบุว่าผลงานมีศักยภาพที่จะประยุกต์ใช้ในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
“กล่องนวัตกรรมนี้ใช้ต้นทุนในการผลิตไม่สูงมาก สามารถพัฒนาให้เป็นสื่อการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ สร้างความสนุกให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจวัฒนธรรม และช่วยชูเอกลักษณ์ชุมชนในเทศกาลต่างๆ หรือจัดทำเป็นของที่ระลึกเชิงนวัตกรรมจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวได้ และในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเทคนิคใหม่ เช่น การเพิ่ม Augmented Reality (AR) หรือ Virtual Reality (VR) เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น การชมความเคลื่อนไหวของปลากะพงในกล่องนวัตกรรม หรือการนำ AR มาแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวบนเกาะยอ”
ดร.เกรียงศักดิ์ รักษาเดช อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จากทีมเกาะยอทอวิถี ทีมชนะเลิศประเภทประชาชน อธิบายถึงคอนเซ็ปต์ “กล่องนวัตกรรมสายน้ำแห่งวัฒนธรรมเกาะยอ” มีที่มาจากแนวคิดที่ต้องการฟื้นฟูประเพณีท้องถิ่น เช่น ลอยแพสะเดาะเคราะห์ ลากพระสรงน้ำ และแข่งเรือยาวมาสร้างสรรค์ผลงานกล่องนวัตกรรมสายน้ำแห่งวัฒนธรรมเกาะยอ นวัตกรรมนี้ผสานเทคนิคภาพลวงตา Pepper Ghost และกล้อง สเตริโอสโคป สื่อสารวัฒนธรรมผ่านรูปแบบที่สร้างสรรค์ เรียบง่าย แต่ทรงพลัง ซึ่งกล่องนวัตกรรมดังกล่าวไม่เพียงนำเสนอเรื่องราวของอดีต หากแต่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชม พร้อมกระตุ้นความภาคภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมของชุมชน
ด้านทีม I LAN YOR ได้ครีเอต นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) I LAN YOR ในรูปแบบเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น และวิถีชีวิตชุมชนเกาะยอเข้าด้วยกัน โดย นางสาวกันยากร คำพิทูล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนทีม I LAN YOR บอกถึงคอนเซ็ปต์ของนวัตกรรมนี้ที่ประกอบด้วย 3 แนวคิดหลัก ได้แก่ อยู่แต่สวน นำนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนผลไม้ของชาวบ้าน เรียนรู้กระบวนการปลูก บ่ม และแปรรูปผลไม้ กวนในร่ม กิจกรรมเวิร์กช็อปภายในสวนให้นักท่องเที่ยวสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ร่วมกับชาวบ้าน พร้อมนำกลับเป็นของฝาก และ ห่มกลับบ้าน การผสานการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับการนำผ้าทอเกาะยอลายประจำถิ่นที่โด่งดังอย่างลาย “ราชวัตถ์” มารังสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่น่าสนใจให้นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของที่ระลึกกลับไป
นายสรยุทธ หวังโส๊ะ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อีกหนึ่งตัวแทนของทีม I LAN YOR กล่าวเสริมว่า เกาะยอขึ้นชื่อด้านผลไม้และหัตถกรรมท้องถิ่น เช่น จำปาดะ ไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญ ออกผลตลอดปีและแปรรูปได้หลากหลาย เช่น เค้กจำปาดะ คุกกี้จำปาดะ ช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ส่วน สวาหรือละมุดลูกใหญ่ แม้มีข้อจำกัดด้านฤดูกาลแต่ก็เหมาะสำหรับการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้เช่นกัน ด้านหัตถกรรมผ้าทอเกาะยอโดยเฉพาะลาย “ราชวัตถ์” ที่สะท้อนความประณีตและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน เช่น เสื้อผ้า กรอบรูป ผ้าคลุมไหล่ หรือถ้านำไปเคลือบสารนาโนให้มีความแข็งแรงคงทน ก็สามารถนำมาผลิตเป็นผ้ากันเปื้อนได้
ขณะที่ นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายสรวงษ์ เทียนทอง) ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ มีภารกิจสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย อพท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ และการพัฒนานวัตกรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงได้จัดกิจกรรมแข่งขันระดับชาติเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้านนวัตกรรม และยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในมิติการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับผลิตภัณฑ์และการบริการของชุมชนในพื้นที่พิเศษของ อพท. อีกด้วย
“การจัดการแข่งขันนวัตกรรมระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024 เป็นหนึ่งในภารกิจของ อพท. ในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนให้กับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ เพื่อสร้างสรรค์เครื่องมือและพัฒนากลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษต่อไป” ผอ. อพท. กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำเร็จของการแข่งขันนวัตกรรมระดับชาติ Sustainable Tourism Innovation 2024
Fact File
ติดตามบรรยากาศกิจกรรมแข่งขันระดับชาติเพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปี 2567 (Sustainable Tourism Innovation 2024) และการนำผลงานนวัตกรรมลงทดสอบจริงในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ของ อพท. ได้ที่ https://www.dasta.or.th/th/article/4662