ถอดรหัส เกาหลีใต้ จากประเทศล้าหลังแห่งเอเชียสู่ผู้นำด้านนวัตกรรมใน 1 ชั่วอายุคน
Better Living

ถอดรหัส เกาหลีใต้ จากประเทศล้าหลังแห่งเอเชียสู่ผู้นำด้านนวัตกรรมใน 1 ชั่วอายุคน

Focus
  • ปี 2016 เกาหลีใต้มีนวัตกรรมติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แซงหน้าเยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนจะต่ขึ้นอันดับ 1ใน 5 ในปีถัดไป จนขึ้นสู่อันดับ 2 เป็นรองแค่สิงคโปร์ในปี ค.ศ. 2020 แล้วก็ขึ้นสู่อันดับ 1 ในปี ค.ศ. 2021
  • ค.ศ. 1960 เกาหลีใต้ คือหนึ่งในประเทศที่ยากจนล้าหลังที่สุดในเอเชีย ทว่าในเวลาเพียงแค่ช่วงอายุของคน 1 รุ่น เกาหลีใต้กลับกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชีย

ปี 2016 เกาหลีใต้ ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกด้านนวัตกรรม แล้วก็ไต่ขึ้นสู่อันดับ 1 ในปี ค.ศ. 2021 อย่างรวดเร็วราวติดจรวดไปดวงจันทร์ ซึ่งการขึ้นแท่นผู้นำด้านนวัตกรรมโลกของเกาหลีใต้ไม่ใช่แค่เพียงการชี้วัดจาก Bloomberg Innovation Index ฝั่งเดียว แต่เปิดต้นปี 2021 มา เกาหลีใต้ ก็ประกาศตัวชัดเจนถึงความพร้อมในการก้าวเข้ามาเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี แห่งภูมิภาคและของโลกผ่านภาพยนตร์และซีรีส์ไซไฟที่อัดแน่นด้วยข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เช่นภาพยนตร์อวกาศเรื่องแรกของเกาหลี Space Sweepers ที่ไม่ได้โชว์แค่ความล้ำของเทคโนโลยีการถ่ายทำ แต่ยังย้ำชัดว่าประชากรเกาหลีใต้ในทุกอุตสาหกรรมต่างก็สนใจเรื่องการบุกเบิกอวกาศ มีความรู้พื้นฐานด้านนวัตกรรมอย่างเต็มเปี่ยม

อวกาศในจินตนาการจากซีรีส์ Space Sweepers

ทำไม “เกาหลีใต้” ต้องไปอวกาศ

อาจเป็นคำถามเรียบง่ายที่ใครหลายคนอดคิดไม่ได้ว่าคำถามนี้จะมีประโยชน์อะไร ก็ในเมื่อหลายประเทศส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ (รวมทั้งไทย) ต่างหาหนทางที่จะเดินทางท่องไปในอวกาศ หรืออย่างน้อยก็ให้ไกลกว่า “ดวงจันทร์” เลย “ดาวอังคาร” ไปสักเล็กน้อยก็ยังดี และเป็นสิ่งที่คิดกันมานานหลายปีดีดักแล้ว

ถ้าจะให้พูดรวบรัดตัดความเอาแบบสรุปให้ได้ใจความก็ต้องบอกว่า เพื่อแสดงให้เห็นเป้าหมายที่แท้จริงในทิศทางการพัฒนาประเทศของเกาหลีใต้ในปัจจุบันว่าช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และนับต่อจากนี้เป็นต้นไป สิ่งที่เกาหลีใต้จะให้ความสำคัญก็คือ “นวัตกรรม” “เทคโนโลยี” และ “อวกาศ” คือหนึ่งในรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดในการสะท้อนให้เห็นความพยายามสร้างประเทศที่ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่โลกต้องยอมรับ เป็นการพลิกสถานะจาก “ผู้ตามลมกรด” หรือ Fast Follower” สู่การเป็น “ผู้นำชั้นหนึ่ง” หรือFirst Mover”

สถาปัตยกรรมโมเดิร์นในกรุงโซล

นวัตกรรมกุญแจสู่การพลิกฟื้นและเปลี่ยนแปลง

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี ค.ศ. 1960 หรือกว่า 60 ปีที่แล้ว เกาหลีใต้ คือหนึ่งในประเทศที่ยากจนล้าหลังที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เพราะความบอบช้ำเสียหายที่ได้รับจากสงครามเกาหลี ทว่าในเวลาเพียงแค่ช่วงอายุของคน 1 รุ่น เกาหลีใต้กลับวิ่งไล่ยกระดับประเทศขึ้นมาจนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของภูมิภาคเอเชีย และอันดับที่ 13 ของโลกตามรายงานของ World Bank เมื่อปี ค.ศ. 2014

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ที่ติดตามการเติบโตของเกาหลีใต้มาอย่างต่อเนื่องต่างลงความเห็นว่า รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเกาหลีใต้อาจไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ รวมถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างจีนและญี่ปุ่น แต่สิ่งหนึ่งที่เกาหลีใต้มีมากกว่าใคร หรืออาจจะมีเหนือกว่าก็คือ Passion หรือความใส่ใจทุ่มเทให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจนเข้าขั้นบ้าคลั่ง

Rajiv Biswas หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แห่ง IHS บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลชั้นนำ กล่าวว่า ด้วยนวัตกรรม เกาหลีใต้ได้แปลงประเทศจากสังคมเกษตรกรรมแสนแร้นแค้นหลังสงครามเกาหลี ไปสู่เศรษฐกิจเทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีแรงงานทักษะฝีมือเลิศมากมาย

ด้าน David Swinbanks ผู้ก่อตั้ง Nature Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดผลงานวิจัยของแต่ละประเทศเพื่อบ่งชี้ความก้าวหน้าด้านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี แสดงความเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้สามารถกลายเป็นชาติแนวหน้าด้านนวัตกรรมก็คือ การวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบจากบนลงล่าง (top-down planning) ที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิชาการ และอุตสาหกรรมเอกชนอย่างเหนียวแน่น และทำให้ประเทศมีความพร้อมทั้งในแง่ของเงินทุน คน และความรู้ที่จะก้าวเข้าสู่นวัตกรรม

เกาหลีใต้
แดจังกึม ซีรีส์ที่เปิดโลกวัฒนธรรมอาหารของเกาหลีใต้

เกาหลีใต้ = โสม อาหาร K-Pop และนวัตกรรม

เมื่อเอ่ยถึงเกาหลีใต้นึกถึงอะไร

หากถามคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าก็น่าจะเป็น “โสม” เพราะคือสินค้าส่งออกเลื่องชื่อ หากถามคนรุ่นพี่น้องเพื่อนพ้อง “อาหาร” กับ “K-Pop” ที่พ่วงด้วยสารพัดซีรีส์ความบันเทิงคือที่สุด แต่หากถามเด็กรุ่นหลานเหลนในอนาคต “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” อาจจะเป็นสิ่งแรกที่ต้องนึกถึงก็เป็นได้ หรืออาจเป็นไปแล้วในปัจจุบัน

ทั้งนี้ในปี ค.ศ. 2016 Bloomberg Innovation Index ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจนวัตกรรม (innovative economy) ของแต่ละประเทศ พบว่า เกาหลีใต้มีนวัตกรรมติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แซงหน้าเยอรมนี สวีเดน ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ โดยเกาหลีใต้ได้คะแนนสูงสุดในความสามารถในการเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แก่ภาคการผลิต และการให้การศึกษาแก่ประชากรในระดับอุดมศึกษาจนมีนักศึกษาที่จบสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เป็นจำนวนมาก

จาก 1 ใน 10 ไต่ขึ้นอันดับ 1ใน 5 ในปีถัดไป จนขึ้นสู่อันดับ 2 เป็นรองแค่สิงคโปร์ในปี ค.ศ. 2020 แล้วก็ขึ้นสู่อันดับ 1 ในปี ค.ศ. 2021 ตามรายงานของ Bloomberg Innovation Index ที่เปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ รายงานระบุอีกว่า อันดับของแต่ละประเทศในรายงานฉบับล่าสุดนี้ ยังเป็นตัวสะท้อนให้เห็นอย่างดีว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีคืออาวุธสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

“เป็นสิ่งที่รัฐบาลนำมาใช้เป็นแนวหน้าในการช่วยควบคุมสกัดกั้นการระบาด ไปจนถึงการเป็นเปลี่ยนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้หลอมรวมกับระบบดิจิทัลเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ และกลายเป็นการแข่งขันที่ดันให้เกิด ‘วัคซีน’ ขึ้นมากำราบไวรัสตัวร้ายในที่สุด”

Catherine Mann หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Citigroup Global กล่าวว่า ท่ามกลางโลกที่ต้องผจญกับโควิด-19 ยืนหยัดกับภาวะโลกร้อน และรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและสารพัดมลพิษสิ่งแวดล้อม ความสำคัญของนวัตกรรมจึงมีแต่เพิ่มไม่มีลด และแม้นวัตกรรมมักจะประเมินจากแนวความคิดใหม่ๆ บริการใหม่ๆ หรือสินค้าตัวใหม่ แต่ตัวชี้วัดที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สำคัญคือ ความสามารถในการนำไปประยุกต์ใช้ และการใช้ได้อย่างแพร่หลายต่างหาก

ซึ่งหากวัดจากความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ข้างต้น ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เกาหลีใต้จะยืนหนึ่งขึ้นแท่นด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีของโลก ก็ไม่ใช่ “ซัมซุง” หรอกหรือ ที่มียอดขายมากที่สุดในโลกอยู่ในเวลานี้

ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากองค์การเพื่อร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ยังพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเมื่อเทียบงบประมาณที่ใช้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และมากกว่าประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วบางประเทศเสียด้วยซ้ำ คือ จาก 2.1% ในปี ค.ศ. 2000 มาอยู่ที่ 4.5% ในปี ค.ศ. 2018 ขับเคี่ยวสูสีกับอิสราเอลและญี่ปุ่น

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายอดที่จะยอมรับไม่ได้ว่า ด้วยความ “ทุ่มเท” และ “ทุ่มทุน” เช่นนี้ เป้าหมายไปเยือนอวกาศจึงเป็นความจริงที่เป็นไปได้ มากกว่า ความฝันเกินเอื้อมถึงของเกาหลีใต้

เกาหลีใต้
ห้องสมุดและร้านหนังสือดีๆ มีให้เลือกเยอะมากในเกาหลีใต้

เพราะนวัตกรรมคือกุญแจสู่การพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน

ความมุ่งมั่นกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีของเกาหลีใต้จนเข้าขั้น “บ้าคลั่ง” ทำให้นักวิชาการจากซีกโลกตะวันตกส่วนหนึ่งพยายามหาคำตอบ จนพบว่าทั้งหมดก็เพื่อสร้างแท่นยืนบนเวทีโลกให้แก่ประเทศเกาหลีใต้อย่างยั่งยืนและมั่นคง

ทั้งนี้ หลังพยายามพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้ สิ่งที่เกาหลีใต้ต้องเผชิญมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ปัจจัยภายนอกอย่างการแข่งขันกับต่างประเทศก็เช่น การต่อกรกับอิทธิพลของจีน การสู้กับค่าแรงราคาถูกในอาเซียน หรือการดวลกับคู่ค้าเก๋าเกมอย่างญี่ปุ่น ในขณะที่เกาหลีใต้แทบไม่มีอะไรจะไปสู้ได้เลย ดังนั้น การสร้างสิ่งใหม่ที่ล้ำกว่าจึงเป็นทางออก ซึ่งเกาหลีใต้ก็ทำได้ดีถึงขั้นยอดเยี่ยม

Kyle Ferrier ผู้อำนวยการด้านกิจกรรมวิชาการและงานวิจัยของ Korea Economic Institute of America (KEI) กล่าวว่า นวัตกรรมทำให้เกาหลีใต้ค้นพบทางสร้างเศรษฐกิจของตนเองในการแข่งขันกับนานาประเทศ และการทุ่มเงินมากมายไปกับการวิจัยและพัฒนาไม่เพียงบ่งชี้ว่าคนในประเทศต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงจุดประสงค์ของรัฐบาลในการสร้างเศรษฐกิจที่เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์

“นวัตกรรมที่แฝงอยู่ในเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เป็นผลผลิตที่เกิดจากความจำเป็น (Product of necessity)”Kyle Ferrier กล่าว

ในส่วนของปัจจัยภายใน ก็คือการต่อกรกับความเหลื่อมล้ำในเชิงโครงสร้าง หลังธุรกิจผูกขาดอยู่ในกลุ่มคนเพียงไม่กี่ตระกูล หรือที่เรียกกันว่า “แชโบล” (Chaebols) แม้การที่ธุรกิจใหญ่เหล่านี้จะช่วยให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจนมีส่วนทำให้นวัตกรรมของเกาหลีใต้ก้าวหน้า แต่ท้ายสุดแล้ว กลับขัดขวางไม่ให้เกิด “คลื่นลูกใหม่” ที่จะทำให้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของเกาหลีใต้เบ่งบานหลากหลายอย่างเต็มที่ ต่อให้จัดสรรทุ่มเทสนับสนุนในด้านอื่นๆ เช่น การศึกษา มากแค่ไหนก็ตาม

นักวิเคราะห์ระบุว่า นวัตกรรมที่หมายรวมถึงแนวคิด กระบวนการ และวิถีทาง ใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ จึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้ ทั้งผลักดัน ทั้งคาดหวัง ที่จะเข้ามาจัดการคลี่คลายปัญหา และเปิดหนทางให้เกาหลีใต้ได้เดินต่อไปข้างหน้าได้เรื่อยๆ

เกาหลีใต้
ซีรีส์ “สตาร์ทอัพ” ใน ค.ศ. 2020

ใช้ความบันเทิง สร้าง “คน” เพื่อสร้าง “นวัตกรรม”

ทั้งนี้ หนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดของการสร้างนวัตกรรมก็คือการสร้าง “คน” แน่นอนว่า การให้ทุนสนับสนุนด้านการศึกษาก็เป็นทางหนึ่ง แต่ถ้า “คน” หรือ “ประชากร” ในประเทศไม่สนใจ หรือเกิดความต้องการที่จะทำ จะเป็น ก็ย่อมไม่อาจทำให้ประเทศเกิดนวัตกรรมได้อย่างเต็มที่

ดังนั้น การใช้ทักษะในการสร้างคอนเทนต์บันเทิงจึงเข้ามามีบทบาทอีกครั้ง

หลายคนอาจหัวเราะ แต่ลองย้อนนึกไปในปี ค.ศ. 2003 กระแสแดจังกึมฟีเวอร์ ทำให้อาหารและประเทศเกาหลีใต้ ปักหมุดบนแผนที่โลกได้ภายในเวลาไม่ถึงปีขณะที่บอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปจากเกาหลีใต้กลายเป็นขวัญใจทรงอิทธิพลของผู้ชมทั่วโลก โดยเฉพาะวง BTS บอยแบนด์ที่กำลังโด่งดังในเวลานี้เพราะถึงขั้นที่ UNICEF มอบรางวัล Inspire Award เพราะการรณรงค์ “Love Myself” ที่ช่วยต่อต้านการใช้ความรุนแรงในเด็กและเยาวชนในปี ค.ศ. 2020

และล่าสุดกับ ซีรีส์ “สตาร์ทอัพ” ในปี ค.ศ. 2020 ที่ปลุกให้คนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้และอีกหลายประเทศทั่วโลก สนใจและเห็นความสำคัญของการสร้างสตาร์ทอัพ

เกาหลีใต้
เบื้องหลังการถ่ายทำ Space Sweepers

ครั้งนี้ ในปี ค.ศ.2021 จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่จะมีคอนเทนต์เนื้อหาแนววิทยาศาสตร์ไซ-ไฟ และอวกาศ เข้ามาตีตลาด ตั้งแต่ต้นปี นำโดย Space Sweepers ภาพยนตร์แนวไซไฟที่กำลังเป็นกระแสไม่เล็กที่มีการพูดถึงอยู่ในเวลานี้

หลายฝ่ายมองว่า นอกจากความบันเทิงสนุกสนานที่จะได้รับแล้ว ภาพอวกาศที่เห็น เทคโนโลยีนวัตกรรมสุดล้ำที่นำมาใช้ อาจกระตุ้นให้เด็กและเยาวชนเกาหลีใต้ส่วนหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างนวัตกรรมขึ้นมา

ก็เหมือนที่ครั้งหนึ่งเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว ที่เด็กชายวัย 9 ขวบคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้อ่านนิยายแนววิทยาศาสตร์ไซไฟ จนถึงขั้นตั้งเป้าที่จะสร้างจรวดเพื่อเดินทางในอวกาศ ในวันนี้ เด็กคนนั้นคือเจ้าของ Space X เอกชนผู้ผลิตจรวดและกระสวยอวกาศให้องค์กรนาซา นาม อีลอน มัสก์

Fact File

ดัชนี Bloomberg Innovation Indexเก็บข้อมูลและประเมินจาก 7 ปัจจัยหลัก คือ

1) ความเข้มข้นของการวิจัยและพัฒนาวัดจากการให้ทุนค่าใช้จ่าย (R&Dintensity)

2) ความหนาแน่นของเทคโนโลยีระดับสูงวัดจากจำนวนบริษัท (High-tech density)

3)การเพิ่มมูลค่าการผลิต (Manufacturingvalue-add)

4)จำนวนนักวิจัย (Research personnel/Research concentration)

5) สิทธิบัตร (Patent activity)

6) การศึกษาระดับอุดมศึกษาสายวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (Tertiary efficiency/Education)

7) ผลผลิต หรือสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากรผู้มีงานทำ (Productivity)

อ้างอิง


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน