สยามพิวรรธน์ เดินหน้า Net Positive Impact ศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
- สยามพิวรรธน์ เตรียมประกาศความร่วมมือกับร้านค้าปลีก กรุงเทพมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่แนวคิดการสร้างสรรค์เมืองให้เป็นย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ
- กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีก ตอกย้ำผู้นำการพัฒนาจุดหมายปลายทางระดับโลกสู่ความยั่งยืน เดินหน้า Net Positive Impact ศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
นึกถึงศูนย์กลางแห่งไลฟ์สไตล์ที่ครบวงจร แน่นอนว่าทุกคนย่อมนึกถึง ย่านปทุมวัน หรือที่คนในทุกยุคสมัยต่างเรียกติดปากกันว่า สยาม แต่มาในทศวรรษนี้ย่านสยามกำลังจะเปลี่ยนไปโดยมีความยั่งยืนเป็นหัวใจที่เพิ่มเติมเข้ามา เพราะ กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีก เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ได้ออกมาประกาศแผนพัฒนาและนำร่องสร้างสรรค์ย่านปทุมวัน หรือ สยาม สู่ ย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ พร้อมลงนามความร่วมมือด้านความยั่งยืนกับแบรนด์ดังระดับโลกในต้นปี 2024 เดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2050 และเป็นศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100%
สู่เป้าหมาย Net Zero 2050
“สยามพิวรรธน์ใช้แนวคิดและมาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนจนได้รับการยอมรับจากแบรนด์ชั้นนำของโลกมาอย่างยาวนาน สำหรับในพื้นที่ปทุมวันนั้น สยามพิวรรธน์ เราเป็นผู้ผลักดันย่านนี้ให้กลายเป็นย่านค้าปลีกระดับโลกมาตั้งแต่ 60 ปีที่แล้ว ซึ่งนอกจากการผลักดันย่านธุรกิจให้เกิดความเข้มแข็งแล้ว อีกคีย์สำคัญที่เราคำนึงถึงมาตลอดคือคุณภาพชีวิตของผู้คนที่เข้ามาในย่าน และที่จะขาดไม่ได้คือการสร้างอิมแพคด้านสิ่งแวดล้อม”
นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวถึงการประกาศความร่วมมือระหว่าง สยามพิวรรธน์ กับพันธมิตรทุกภาคส่วนในการเชื่อมธุรกิจไปสู่ผู้คน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม นำร่องเร่งเครื่องการดำเนินธุรกิจด้วยพลังงานสะอาด การบริหารจัดการขยะแบบ 360 องศา และร่วมพัฒนาย่านปทุมวันสู่ต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ โดยในส่วนของสิ่งแวดล้อมนั้นได้เริ่มวางแผนงานและตั้งเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์การค้าปลีกแบบ Net Zero ภายในปี 2050
สำหรับตัวอย่าง eco-projects ที่สยามพิวรรธน์ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อนก็เช่นการร่วมมือกับ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ที่ปรึกษาด้าน sustainability เปลี่ยนศูนย์การค้าเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านความยั่งยืน “เขียวสยาม” สร้าง Eco Community ผ่านแบรนด์ไลฟ์สไตล์ ECOTOPIA รวบรวมไลฟ์สไตล์แบบอีโค่แห่งแรกและใหญ่ที่สุดในเอเชีย นอกจากนี้ยังมีการนำเรื่องการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจในกลุ่มสยามพิวรรธน์ เช่น การเปลี่ยนหลอดไฟ LED ประหยัดพลังงาน การใช้ระบบ AI ในการควบคุมการทำงานของระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคาร การใช้พลังงานสะอาดนำนวัตกรรมโซลาร์รูฟท็อปมาติดตั้งที่ไอคอนสยาม สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อ/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 550 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ต่อปี รวมทั้งโซลาร์รูฟท็อปบนพื้นที่สยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ กว่า 20,000 ตารางเมตร ให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้กว่าปีละ 4,800,000 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 4,300 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายองค์กรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
ส่วนในห้างสรรพสินค้าเองยังเปิดจุดบริการรับขยะ (Recycle Collection Center ; RCC) ให้ประชาชนนำขยะมาทิ้งเพื่อส่งต่อเข้ากระบวนการรีไซเคิล (Recycle) นำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือนำมาเข้าสู่กระบวนการอัพไซเคิล (Upcycle) เพื่อเพิ่มมูลค่า ร่วมสนับสนุน Synnex ในโครงการ ทิ้งให้ถูกที่่กับ Trusted By Synnex E-Waste โดยเปิดจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ Electronic Waste (E-waste) ณ บริเวณ NextTech สยามพารากอน
“ครั้งหนึ่งขยะถูกมองว่าเป็นตัวร้าย แต่ความจริงแล้วเราสามารถใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าจากขยะได้หากมีการจัดการที่ดี โดยทางสยามพิวรรธน์มีเป้าหมายลดปริมาณการฝังกลบของขยะจากการดำเนินงาน 50% ภายในปี 2030 และในส่วนของสยามพารากอนเองที่แม้จะดำเนินงานมากว่า 20 ปีก็จะเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดจากโซลาร์รูฟท็อปในปีหน้าอย่างแน่นอน”
นำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่ “ย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ”
นอกจากการเป็นต้นแบบที่ใช้มาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาผสานกับการสร้างศูนย์การค้าปลีกที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าคือ ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการยกระดับย่านปทุมวันสู่ “ย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ” ขยายพื้นที่จากใจกลางสี่แยกปทุมวันสู่ชุมชนรอบข้าง โดยเบื้องต้นได้ประสานกับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ในการศึกษาย่านปทุมวันเพื่อเชื่อมชุมชนที่เป็นองค์ประกอบของย่าน สร้างศักยภาพของย่านให้โตไปพร้อมกับการเป็นศูนย์กลางการค้าระดับโลก
“ปทุมวันเป็นศูนย์กลาง Shopping Destination สำหรับชาวไทย ชาวต่างประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย โดยมี ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ทั้งแนวดิ่งและแนวราบหลากหลายให้เลือกเดินตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน และพื้นที่แห่งนี้ยังมีสถานศึกษา สถาบันกวดวิชา สำนักงาน อาคารมิกซ์ยูส และอื่นๆ อีกมากมาย การที่สยามพิวรรธน์เป็นหัวหอกในการนำร่องยกระดับย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบอัจฉริยะภายใต้แนวคิด SMART ECO-DISTRICT จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรักษาบทบาทการเป็นผู้นำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป”
รศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง กล่าวถึงความสำคัญของย่านปทุมวัน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นย่านที่มี Smart Mobility รองรับมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าทั้งใต้ดิน บนดิน รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าของทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรือในคลองแสนแสบ ทั้งยังมีจุดให้บริการชาร์จรถไฟฟ้าทั้งในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้าครบครัน ไม่นับรวมทางเชื่อมต่างๆ เพื่อกระจายคนไปยังชุมชนและจุดต่างๆ ของย่าน ดังนั้นย่านปทุมวันหรือสยามจึงมีศักยภาพในการเป็น ย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ ที่สามารถผสานเรื่องสิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของคนเมืองให้สอดคล้องไปด้วยกันได้ โดยมีสยามพิวรรธน์เป็นเอกชนที่ขออาสาเข้ามาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนนี้
“เราคิดว่าย่านปทุมวันมีความพร้อม และสยามพิวรรธน์ก็ยกมือขึ้นว่าเราอยากจะเป็นตัวแทนที่จะทำให้ย่านนี้เป็นย่านที่มีคุณภาพขีวิตที่ดีขึ้นไปพร้อมกับการผลักดันให้เป็นย่านค้าปลีกระดับโลก และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก็มีเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ขณะนี้เรากำลังทำการศึกษาไปพร้อมๆ กับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง คาดว่าประมาณ 3 เดือนจะสามารถนำผลการศึกษามาร่วมวางแผนการผลักดันย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะต่อไปได้” นราทิพย์ กล่าวถึงแผนงานการผลักดันย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ
ร่วมมือด้านความยั่งยืนกับแบรนด์ดังระดับโลกต้นปี 2024
นอกจากความร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UddC-CEUS) ในการยกระดับย่านปทุมวันสู่ย่านต้นแบบนิเวศอัจฉริยะ แล้ว ทางสยามพิวรรธน์ ยังประกาศเดินหน้าสู่ Net Positive Impact ตั้งเป้าศูนย์การค้าแรกในไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2030 โดยร่วมมือกับแบรนด์ดังระดับโลกด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานในต้นปี 2024 อาทิ บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด, บริษัทในเครือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น โดยมุ่งเพื่อให้ทุกศูนย์การค้าภายในกลุ่มสยามพิวรรธน์ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy (RE)
สำหรับจุดประสงค์ในการร่วมมือกับองค์กรชั้นนำก็เพื่อการวางแผนการจัดหาพลังงานหมุนเวียน ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในพื้นที่ศูนย์การค้าต่างๆ โดยมีเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 30% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ที่สยามพิวรรธน์บริหารจัดการเอง ภายในปี 2026 และ 100% ภายในปี 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อโลกที่ดีขึ้นของทุกคน