กฎแห่งการ กักตัว ใครบ้างต้องกักตัว ต้องปฏิบัติอย่างไรตลอด14 วัน เพื่อหยุดเชื้อโควิด-19
- คู่มือการกักตัวอยู่บ้าน รวมวิธีการแยกตัวออกห่างจากคนอื่นเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19
- ใครบ้างต้องกักตัว คนที่ยังไม่ติดเชื้อโควิด-19 และคนติดเชื้อโควิด-19 มีวิธีการกักตัวที่แตกต่างกันอย่างไร
- ยุโรป และอเมริกา เราจะเห็นผู้ป่วยที่มีตรวจโควิด-19 เป็นบวก แต่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไอ เจ็บคอ เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว จะต้องแยกกัวตัวเองและรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) จนกว่าจะหาย
แม้เราจะผ่านบทเรียนเกี่ยวกับโควิด-19 มาหนึ่งปีเต็มนับตั้งแต่ พ.ศ. 2563 ที่เริ่มมีการระบาด ทว่าหลายคนก็อาจจะยังสับสนอยู่บ้างว่า ฉันคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้อง กักตัว แยกตัวออกห่างจากคนอื่นเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 หรือไม่ การกักตัวเองตลอด 14 วันแม้จะยังไม่ติดเชื้อจะต้องเคร่งครัดขนาดไหน และหากอยู่บ้านในครอบครัวขยายที่มีพ่อแม่ เด็ก ผู้สูงอายุ เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อไม่ให้บ้านเป็นแหล่งแพร่เชื้อโควิด-19
Sarakadee Lite ขอรวมกฎแห่งการ กักตัว และคู่มือปฏิบัติระหว่างการ กักตัว ตลอด 14 วัน เพื่อเป็นอีกแนวทางในการร่วมหยุดเชื้อโควิด-19 พร้อมทิ้งท้ายด้วยข้อมูลการกักตัวสำหรับคนที่ติดเชื้อแล้วที่เรียกว่า Home Isolation รวมทั้งการกักตัวในโรงพยาบาลสนาม และ Hostpitel ที่ใช้ปฏิบัติในประเทศไทย
ใครบ้างต้องกักตัว
- ผู้ที่เดินทางไปเที่ยว หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ หรือ สัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้คำว่า “ผู้สัมผัสใกล้ชิด” นอกจากจะหมายถึงเพียงแพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาล ผู้ที่ไปเยี่ยมผู้ป่วย หรือพบเจอกับญาติที่ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 ยังหมายถึงผู้ที่ร่วมเรียน ร่วมทำงาน หรือโดยสารยานพาหนะร่วมกันกับผู้ป่วย ซึ่งหากทำงานในห้องเดียวกันกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะติดเชื้อโควิด-19 เสมอไป คนที่มีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่สัมผัส พูดคุย มีความใกล้ชิด
- ในกรณีที่เรามีความเสี่ยงในการเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือ ผู้ที่ต้องสงสัยว่าติดเชื้อ การกักตัวเองเป็นอีกวิธีการที่จะช่วยกันหยุดเชื้อได้
กฎเหล็กของการ กักตัวอยู่บ้าน ที่ต้องปฏิบัติตลอด 14 วัน
- การจัดสภาพแวดล้อมในบ้านสำคัญที่สุดในการป้องกันการแพร่เชื้อ ใครรู้ตัวว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัว ควรอยู่ในห้องแยกต่างหากที่อากาศถ่ายเท ไม่ใช้พื้นที่ส่วนรวม เช่น ครัว ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ร่วมกับผู้อื่นในบ้าน
- หากไม่สามารถแยกการใช้พื้นที่ส่วนรวมได้ ควรรักษานะยะห่างจากคนอื่นในครอบครัวอย่างน้อย 1 เมตร และสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
- เลี่ยงการกินอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะภาชนะกินอาหารควรใช้ของใครของมัน
- ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน แม้แต่ผ้าห่ม และถ้าเลือกได้ไม่ควรใช้ห้องน้ำร่วมกัน
- ผู้กักตัวควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และถ้าต้องออกมาในพื้นที่ส่วนรวมก็ควรจะให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันใส่หน้ากากด้วยเช่นกัน
- ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบทำความสะอาดเครื่องใช้และห้องต่างๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะห้องน้ำ หากมีการใช้ร่วมกันก็ควรทำความสะอาดทุกวันด้วยเช่นกัน
- ถ้าเป็นไปได้ควรใช้น้ำร้อน 60-90 องศาเซลเซียส ร่วมกับน้ำยาซักผ้าปกติในการซักผ้า และเครื่องนอนของผู้ที่ต้องกักตัว และอย่าให้เสื้อผ้า เครื่องนอนที่ใช้แล้วของผู้ที่กักตัวสัมผัสกับผ้าอื่นๆ ที่สะอาด
- ควรสวมถุงมือทุกครั้งในการทำความสะอาด และล้างมือทั้งก่อนและหลังทำความสะอาด ถ้าเลือกได้แนะนำถุงมือประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง
- ถ้าต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ควรปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกดน้ำชำระ
- ถ้าไอหรือจาม แม้แต่ไอแห้งเบาๆ ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือแขนเสื้อปิดปาก หลังไอจามเสร็จควรล้างมือทุกครั้ง
- แยกขยะ เช่น ถุงมือ กระดาษชำระ หน้ากากอนามัย และทำเครื่องหมายติดป้ายไว้ว่าขยะติดเชื้อ และแม้ตอนนี้ตามท้องถนนจะยังไม่มีถังขยะแยกสำหรับขยะติดเชื้อเหล่านี้โดยเฉพาะ แต่ก็เป็นการดีกว่าที่เราจะได้บอกเจ้าหน้าที่เก็บขยะให้เพิ่มความระมัดระวัง
- หากไม่สะดวกที่จะกักตัวเองอยู่บ้านหรือคอนโด ในขณะนี้มีโรงแรมที่เปิดเป็น สถานที่กักตัวทางเลือก หรือ ASQ (Alternative State Quarantine) ซึ่งมีตั้งแต่โรงแรมระดับ 3 ดาวไปถึง 5 ดาว ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พ่วงแพ็คเกจอาหารครบ 3 มื้อ ซึ่งแต่ละโรงแรมก็จะจับมือกับทีมแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ คอยให้คำแนะนำระหว่าง กักตัว หรือถ้ามีอาการรุนแรงระหว่างนั้นก็สามารถประสานกับทางโรงพยาบาลได้ทันที
นานแค่ไหนถึงเลิกกักตัว
- ถ้าไม่มีอาการไอ จาม น้ำมูก ไข้ขึ้น เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ หลังกักตัวอยู่บ้านเป็นเวลา 14 วันแล้วก็สามารถออกมาใช้พื้นที่ส่วนรวมในบ้านได้ แต่ต้องมั่นใจว่าคุณจะอยู่บ้าน ไม่ออกไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออีก
- สำหรับหลายอาชีพที่ยังคงทำงานในพื้นที่เสี่ยงต่อการพบเจอผู้ที่ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ โควิด-19 อยู่ทุกวัน เช่น แพทย์ พยาบาล พนักงานขับรถโดยสาร เมื่อกลับเข้าบ้านก็ควรจะแยกตัวเองออกจากสมาชิกในครอบครัวอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของทุกคน
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงต้องกักตัวที่ไหน อย่างไร
- ในหลายประเทศ โดยเฉพาะยุโรป และอเมริกา เราจะเห็นผู้ป่วยที่มีตรวจโควิด-19 เป็นบวก แต่มีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไอ เจ็บคอ เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว จะต้องแยกกัวตัวเองและรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) จนกว่าจะหาย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลเต็ม โดยระหว่างนั้นภาครัฐจะมีคู่มือสำหรับการดูแลตัวเองว่าต้องทำอย่างไรบ้างเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น อย่างไรคือาการหนักที่เข้าข่ายควรเรียกรถพยาบาล
- สำหรับในประเทศไทย อัพเดทกลางเดือนเมษายน 2563 ระบบกักตัวเองที่บ้าน Home Isolation ยังไม่ถูกนำมาใช้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคน ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์จะถูกส่งไปยังโรงพยาบาล ในห้องที่มีการควบคุมการระบาดโควิด-19 ส่วนในเคสคนไข้ที่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่หนัก อาจจะเพียงไอ เจ็บคอ เป็นไข้ เอ็กซ์เรย์แล้วพบว่าเชื้อไม่ลงปอด หรือบางรายอาจจะยังไม่มีอาการ จะถูกส่งไปโรงพยาบาลสนาม หรือโรงแรมที่อยู่ในระบบ Hospitel โดยจะต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ตามแนวทางการรักษาที่ประทรวงสาธารณสุขกำหนด
- สำหรับการปฏิบัติตนในโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ผู้ป่วยจะต้องเตรียมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า ปลั๊กไฟ ยาประจำตัว บัตรประชาชน ข้อมูลประกันสุขภาพไปให้พร้อม โดยเฉาะเสื้อผ้า ของใช้ต้องครบตลอดการ กักตัว 10 วัน ระหว่างนั้นก็จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น กินยาลดไข้ ยาแก้เจ็บคอ ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่หากมีอาการหนักขึ้นจะต้องถูกส่งไปรักษาในโรงพยาบาลทันที
อ้างอิง
- คู่มือเอาตัวรอดจาก COVID-19 เขียนโดย นายแพทย์จาง เหวินหง แปลโดย รำพรรณ รักศรีอักษร สำนักพิมพ์ AMARIN