เส้นใยโปรตีนจากพืช อีกความหวังของแฟชั่นและงานออกแบบที่ห่วงใยโลก
- การย่อยสลายได้เองในทะเลเทียบเท่าหรือมากกว่าวัสดุจำพวกฝ้ายหรือคอตตอน ถือเป็นจุดเด่นของเส้นใยโปรตีนจากพืช เพราะปกติเส้นใยประเภทโพลีเอสเตอร์ หรือไนลอนที่มีใช้อยู่ในตลาดตอนนี้ ต้องใช้เวลากว่า 100 ปี ถึงจะย่อยสลายตัวเองได้ในทะเล
- บริษัท สไปเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ต่อยอดงานวิจัยจากห้องทดลองในญี่ปุ่นสู่การผลิตเส้นใยโปรตีนพืช ที่เข้ามาตั้งโรงงานการผลิตในไทย
จากห้องทดลองในญี่ปุ่น สู่ความหวังของโลกแฟชั่นและการออกแบบกับสตาร์ทอัพสายกรีน บริษัท สไปเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (Spiber (Thailand) Ltd.) ที่ต่อยอดงานวิจัยสู่ผลิต เส้นใยโปรตีนจากพืช หรือ Brewed Protein™ สำหรับงานสิ่งทอที่แบรนด์เสื้อผ้าระดับโลก รวมทั้งแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำกำลังจับตามองและเข้ามาจับมือร่วมพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมรักษ์โลก ซึ่งแน่นอนว่าเทรนด์สายกรีนที่ลงรายละเอียดลึกไปถึงวัตถุดิบกำลังจะกลายเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคในอนาคต
เคอิสุเกะ โมริตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สไปเบอร์ (ไทยแลนด์) จำกัดที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิต เส้นใยโปรตีนจากพืช ในประเทศไทยให้ความคิดเห็นว่า นวัตกรรม เส้นใยโปรตีนจากพืช ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เนื่องจากเป็นเส้นใยที่ผลิตได้จากธรรมชาติ มีคุณสมบัติเด่นตรงที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเองในทะเล และใช้ระยะเวลาย่อยสลายตัวเองในช่วงสั้นๆ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเส้นใยโปรตีนจากพืชนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดผลิตได้ ซึ่งเส้นใยที่ผลิตขึ้นจะต่างจากเส้นใยที่ผลิตจากเซลลูโลสที่มีการเรียงตัวของเส้นใยเป็นแบบเดียว แต่เส้นใยโปรตีนของสไปเบอร์ที่ผลิตจากพืชได้พัฒนาให้มีการเรียงตัวของเส้นใยแตกต่างกันตามกรดอะมิโน นั่นแปลว่าผู้ออกแบบสามารถออกแบบการเรียงตัวของเส้นใยได้ตามที่ต้องการ
“การย่อยสลายได้เองในทะเลถือเป็นจุดเด่นที่แตกต่าง เพราะปกติเส้นใยประเภทโพลีเอสเตอร์ หรือไนลอนที่มีใช้อยู่ในตลาดตอนนี้ ต้องใช้เวลากว่า 100 ปี ถึงจะย่อยสลายตัวเองได้ในทะเล แต่เส้นใยของเรามีสารตั้งต้นในการผลิตมาจากโปรตีนแบบเดียวกับที่มีอยู่ในพืชและสัตว์ ดังนั้นเส้นใยจากพืชของสไปเบอร์จึงมีคุณสมบัติด้านการย่อยสลายตัวเองในทะเลเทียบเท่าหรือมากกว่าวัสดุจำพวกฝ้ายหรือคอตตอน ขณะเดียวกันถ้าเส้นใยอยู่ในดินหรือใต้ดินก็สามารถย่อยสลายได้เร็วกว่าในทะเล แต่ที่ผ่านมาเราพยายามยกตัวอย่างการย่อยสลายได้ในทะเล เนื่องจากมีการตื่นตัวต่อกระแสไมโครพลาสติกที่มีการปนเปื้อนจากสัตว์น้ำที่มนุษย์รับประทาน”
“สำหรับการที่เรามาตั้งโรงงานผลิตเส้นใยโปรตีนในไทย เพราะเห็นถึงศักยภาพว่า ไทยมีวัตถุดิบที่เป็นสารตั้งต้นคือ น้ำตาลที่ใช้เป็นหัวเชื้อในการหมักแบคทีเรีย เพื่อสร้างผงโปรตีน เพราะประเทศไทยผลิตน้ำตาลได้เองในปริมาณมาก จึงมีศักยภาพการผลิตสารตั้งต้นรวมถึงสิทธิประโยชน์ส่งเสริมในการลงทุนของ BOI ทำให้เราหันมาตั้งโรงงานผลิต และไทยยังมีความพร้อมในด้านบุคลากรด้านไบโอเทคโนโลยี”
สำหรับกระบวนการสร้าง เส้นใยโปรตีนจากพืช เริ่มจากการผลิตผงโปรตีนด้วยการเลี้ยงเชื้อแบคทีเรีย แต่การจะผลิตโปรตีนขึ้นมาได้นั้นต้องมีการออกแบบจัดการโครงสร้าง ดีเอ็นเอ แล้วใช้ ออริจินอล ดีเอ็นเอ มาผสมรวมกันกับแบคทีเรียที่เตรียมไว้ จากนั้นจะนำไปหมักเพื่อเพิ่มปริมาณของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งกระบวนการนี้คล้ายกับกระบวนการหมักเบียร์
เมื่อหมักได้ที่แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการสกัดเอาเฉพาะโปรตีนที่ใช้ได้ออกมา และคัดแยกแบคทีเรียที่หมักออก ซึ่งกระบวนการนี้จะมีเครื่องจักรในการทำงานหลายชนิด เช่น เครื่องจักรที่บีบอัดเพื่อสร้างผงโปรตีน หรือการใส่สารเคมีเพิ่มเข้าไปเพื่อทำการล้างให้สะอาดขึ้น และจากนั้นต้องนำมาเป่าให้แห้ง ซึ่งกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตรงนี้ใช้เวลาเฉลี่ย 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน
กระบวนการต่อไปเป็นขั้นตอนการสร้างเส้นใย ที่ต้องเพิ่มสารที่ช่วยให้ผงโปรตีนหลอมละลายได้ดีมากขึ้น หลังจากนั้นจึงนำไปผ่านเครื่องจักรที่บีบอัดออกมาให้เป็นเส้นใย ซึ่งกระบวนการผลิตเส้นใยจากโปรตีนพืชนี้มีความยากและซับซ้อนมากกว่าการผลิตเส้นใยประเภทอื่นๆ แต่ในระยะยาวก็ให้ผลลัพธ์ต่อการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่ง
“ก่อนหน้านี้เราเคยทำโปรเจกต์ร่วมกับ The North Face ซึ่งคุณสมบัติของเสื้อผ้าที่ออกแบบร่วมกันจะมุ่งเน้นถึงความมีคุณภาพและฟังก์ชันการใช้งาน ดังนั้นเนื้อผ้าที่ออกแบบมาจะคล้ายกับผ้าแคชเมียร์ที่มีลักษณะเป็นขนสัตว์ โดยการออกแบบเนื้อผ้าจากโปรตีนสามารถดีไซน์โครงสร้างของเส้นใยที่มีลักษณะโดดเด่นออกมาได้ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน” เคอิสุเกะ โมริตะ ให้ข้อมูลถึงคุณสมบัติของ เส้นใยจากโปรตีนพืช
“การสร้างวัตถุดิบจากโปรตีนสังเคราะห์จากพืชในเวทีโลก การวิจัยยังไม่แพร่หลาย แต่ประเทศไทยมีน้ำตาลที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเยอะมากๆ ซึ่งความท้าทายต่อจากนี้คือ จะต้องพยายามพัฒนาเพื่อนำน้ำตาลที่กินไม่ได้มาเป็นวัตถุดิบหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่า และทางเราก็อยากพัฒนาร่วมกับนักวิจัยไทย ในการสำรวจและค้นคว้าหาพืชวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเป็นน้ำตาลที่ใช้ในการหมักให้เกิดเส้นใยที่มีความหลากหลายมากขึ้น เพราะจะเป็นองค์ความรู้ที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ร่วมกัน” เคอิสุเกะ โมริตะ กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ : Spiber (Thailand) Ltd.
Fact File
- Brewed Protein™ เป็น วัสดุโปรตีนสังเคราะห์ที่ผลิตจากชีวมวลที่ได้จากพืชโดยใช้กระบวนการหมักจุลินทรีย์
แบบเฉพาะของสไปเบอร์ ซึ่ง Brewed Protein™ สามารถนำไปแปรรูปได้อย่างหลากหลาย อาทิ เส้นใยสั้น
(Filament fiber) ที่นุ่มละเอียด หรือจะเป็นเส้นใยยาว (Spun yarn) - สำหรับกระบวนการผลิต Brewed Protein™ ทั้งหมดได้ถูกออกแบบให้ใช้หลักไม่พึ่งพาทรัพยากรปิโตรเคมี รวมถึงจะต้องไม่สร้างหรือสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ทำลายสิ่งแวดล้อม