ภูกระดึง ตำนานแห่งการปีนเขาที่บ่มเพาะหัวใจ “นักอนุรักษ์”
- ภูกระดึง ตั้งอยู่ใน ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภูกระดึงนั้นเป็นภูเขาหินทราย ซึ่งถ้ามองให้ชัดจากภาพทางอากาศก็จะเห็นว่าภูเขายอดตัดนั้นเป็นรูปหัวใจ
- เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เกิดเหตุไฟไหม้ป่าที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โดยไฟได้ลุกไหม้บริเวณยอดภูพื้นที่ป่าสนเป็นบริเวณกว้าง คาดว่าความเสียหายขณะนี้อยู่ประมาณ 2,000 ไร่ ถือเป็นไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นบนยอดภูกระดึง โดยเฉพาะต้นสนอายุกว่าร้อยปี
“ถามผมว่า ภูกระดึง ให้ประโยชน์อะไรแก่การอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย? สำหรับผม ภูกระดึงน่าจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการเดินปีนเขา (trekking) ที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ ใช่หรือไม่? คำว่า “ดีที่สุด” นี้ผมประเมินจากระยะที่พอวัดใจกันได้ ขนาดไม่ไกล ไม่ใกล้ ถ้าใครฟิตร่างกาย ใจถึงๆ ส่วนใหญ่ก็ไปถึงได้โดยไม่อันตรายอะไร … ที่สำคัญคือบนยอดภูมีจุดท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย สวยงามพอจะดึงดูดให้คนขึ้นไปรู้สึก “คุ้มค่าเหนื่อย”
“เปรียบเทียบกับเส้นทางไกลมากๆ อย่างการเดินขึ้นยอดโมโกจู ดอยหลวงเชียงดาว ภูสอยดาว เขาพะเนินทุ่ง ที่ต้องใช้พลังและเวลา รวมถึงการเตรียมการมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่ใครก็ไปได้เหมือนภูกระดึง หรือเมื่อเทียบกับเส้นทางระยะใกล้ๆ ของภูอื่นๆ ความงดงามบน ภูกระดึงก็แสนจะคุ้มค่า ที่ว่ามาทำให้ความรู้สึกความผูกพันและอยากปกปักรักษาธรรมชาติเกิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องอ่านป้ายสื่อความหมาย ไม่ต้องเรียนรู้เรื่องพรรณไม้ สัตว์ป่า ระบบนิเวศ ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นภายในจิตวิญญาณโดยอัตโนมัติ เมื่อฝ่าความไกลมาใกล้ความงาม”
ศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวไว้ในคอลัมน์จากป่าสู่เมือง นิตยสารสารคดี ถึงความสำคัญของ ภูกระดึง ยอดเขาที่เป็นหนึ่งในตำนานที่นักปีนเขาไทยไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือโปรต้องเคยมาพิชิต
“เราควรเก็บภูกระดึงไว้บ่มเพาะหัวใจให้ผู้คนรู้จักความงามและรู้สึกอยากรักษาความงาม ในความหมายที่ภูกระดึงเป็นโรงงานสร้างหัวใจอนุรักษ์ให้คนมารุ่นแล้วรุ่นเล่าราว 50 ปีมาแล้วและผ่านไปก็จะมีแต่มากขึ้น”
ภูกระดึง ตั้งอยู่ใน ต.ศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย และเป็นพื้นที่ป่าบนภูเขาแห่งที่ 2 ในเมืองไทย ที่ได้รับการประกาศเป็น อุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 ของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2505 ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของภูกระดึงนั้นเป็นภูเขาหินทราย ซึ่งถ้ามองให้ชัดจากภาพทางอากาศก็จะเห็นว่าภูเขายอดตัดนั้นเป็นรูปหัวใจ
ใครไปถึงยอดภูกระดึง คือ ผู้พิชิต จากลักษณะที่มียอดตัดด้านบนเกือบแบนราบ ทางขึ้นลาดชันรอบด้าน การเดินทางไม่ง่าย ระยะทางจากเชิงเขาขึ้นทาง ต.ศรีฐาน ผ่าน “ซำ” ต่างๆ 8 ซำ ที่เผยให้เห็นป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา สู่ป่าสนเขา และทุ่งหญ้าที่บนยอดภู รวมระยะทางกว่า 6 กิโลเมตร บางช่วงเป็นไหล่เขาที่ตั้งชันเกือบ 90 องศา จนจะต้องเรียกหน้าผาเลยก็ได้
เมื่อผ่านซำต่างๆ มาถึงทุ่งหญ้าพื้นราบบนยอดภูแล้ว นักปีนเขายังต้องเดินเท้าต่อไปอีก 3 กิโลเมตร จึงจะไปถึงที่ทำการอุทยานฯ และลานกางเต็นท์ การไปพิชิต ภูกระดึง ด้วยการเดินเท้าเท่านั้น สำหรับคนแข็งแรงคนหนึ่ง ต้องใช้เวลาทั้งหมดราว 5-6 ชั่วโมง หรือราวครึ่งค่อนวัน และเมื่อขึ้นไปถึงยอดภูการเดินกลับก็ใช้เวลาเท่ากัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงต้องพักแรมบนยอดภู และต่อด้วยโปรแกรมเดินป่าไปชมพระอาทิตย์ขึ้น และพระอาทิตย์ตกในวันถัดไป
เหตุผลที่ผู้คนดั้นด้นไปยอดภูกระดึง ก็เพื่อชื่นชมความงามธรรมชาติ จุดท่องเที่ยวบนภูกระดึงมีมากมาย รวมถึง จุดชมวิวพระอาทิตย์ขึ้น (ที่ผานกแอ่น) และ พระอาทิตย์ตก (ผาหล่มสัก) รวมถึง น้ำตก หน้าผาหิน และดงสนเป็นทิวทัศน์ป่าสนและไม้พุ่มหนาตา อยู่ไกลจากที่พักมาก และต้องเดินเท้าเท่านั้น สำหรับจุดท่องเที่ยวที่โด่งดังอย่าง ผาหล่มสัก ซึ่งเป็นจุดไฮไลต์ชมวิว พระอาทิตย์ตก มีระยะทาง 9 กิโลเมตรจากที่พัก
ภูกระดึงเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นเฉพาะเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคม และปิดบริการช่วงหน้าฝนเพราะขึ้นลงลำบากเสี่ยงอันตรายต่อนักปีนเขา และต้องการให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว แม้นักท่องเที่ยวที่มาภูกระดึงส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว แต่ก็มีบันทึกว่า คนแก่อายุถึง 82 ปี หรือ เด็ก 6-7 ขวบ ที่สามารถพิชิตภูกระดึงได้
ต้นเรื่อง: นิตยสาร สารคดี ฉบับกุมภาพันธ์ 2558 และ มิถุนายน 2559