เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” สำรวจป่าถิ่นอีสาน หินร้อยล้านปี แลนด์มาร์คแห่งใหม่ชัยภูมิ
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” โดดเด่นด้วยโลกธรณีวิทยาที่จะพาย้อนเวลาไปกว่า 125 ล้านปี พร้อมรู้จักนิเวศของป่าอีสานดั้งเดิมที่สลับระหว่างลานหินทราย ทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง และพืชอิงอาศัย
- ด้วยระยะทางไป-กลับเพียง 2.66 กิโลเมตร ใช้เวลาการเดินเท้าประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง ทำให้เส้นทางนี้เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแบบครอบครัว และมือใหม่ที่ต้องการใกล้ชิดธรรมชาติ
ไปเที่ยวป่าอีสานกันไหม? เมื่อเอ่ยถึงโปรแกรมเที่ยวป่าศึกษาธรรมชาติ แน่นอนว่าป่าภาคเหนือคือเบอร์หนึ่ง กับภาพของผืนป่าที่มีความเขียวชอุ่ม มาพร้อมกับสายหมอกลมหนาว แต่พอเป็นป่าฝั่งอีสาน จุดหมายอาจจะเป็นอุทยานแห่งชาติชื่อดังเพียงไม่กี่แห่ง โดยเฉพาะเมื่อป่าอีสานดั้งเดิมผลัดใบแห้งโกร๋นพร้อมรับฤดูแล้ง ยิ่งแทบจะไม่ได้อยู่เช็คลิสต์ของนักเดินทางสักเท่าไหร่ แต่ทริปนี้เราอยากจะชวนมาเปิดใจให้กับป่าอีสานใน เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ เส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งใหม่ที่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลที่ EGCO Group ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศมากว่า 22 ปีได้สำรวจและพัฒนาขึ้นร่วมกับ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา ภายใต้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” โดดเด่นด้วยโลกธรณีวิทยาที่จะพาย้อนเวลาไปกว่า 125 ล้านปี พร้อมรู้จักนิเวศของป่าอีสานดั้งเดิมที่สลับระหว่างลานหินทราย ทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง และพืชอิงอาศัยบนผนังหินที่ทนต่อความร้อนแห้งแล้ง ที่สำคัญเป็นเส้นทางที่นักเดินป่ามือใหม่ก็เดินได้ เดินง่าย แบบสาย Family Outing ก็ยังไหว ด้วยระยะทางไป-กลับเพียง 2.66 กิโลเมตร ใช้เวลาการเดินเท้าประมาณ 1.5-2 ชั่วโมงเท่านั้น
“แม้มูลนิธิไทยรักษ์ป่าจะพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติมาหลายแห่ง แต่นี่เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งแรกของเราในภาคอีสาน และเป็นเส้นทางฯ ที่เราเริ่มต้นสำรวจใหม่ทั้งเส้นทาง ไม่ใช่เพียงการปรับปรุงจากเส้นทางเดิมที่ทางอุทยานฯ ได้ทำไว้ จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้าถึง เข้าใจ เรียนรู้ธรรมชาติและสภาพภูมิศาสตร์ที่หลากหลายและมีคุณค่าเฉพาะตัวอย่างใกล้ชิด ตลอดแนวเส้นทางฯ ผาหัวนาค 2.66 กิโลเมตร โดยได้จัดทำ Trail Head บริเวณทางเข้าเส้นทางเพื่อให้เดินเที่ยวได้ด้วยตัวเอง พร้อมป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ 14 จุด และป้ายให้ความรู้เรื่องพืชพรรณอีก 5 จุด รวมถึงได้สร้างศาลาเฮือนเบิ่งตะเว็น จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเส้นทาง และเป็นที่พักปลายทางให้นักท่องเที่ยว ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของพื้นที่ราบเกษตรสมบูรณ์และภูเขียวที่เคยเป็นผืนดินเดียวกับผาหัวนาคเมื่อกว่าร้อยล้านปีอีกด้วย”
จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เล่าถึงความโดดเด่นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” ซึ่งเดิมทีทางอุทยานแห่งชาติภูแลนคามีเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะทาง 12 กิโลเมตรอยู่แล้ว แต่อาจจะเหมาะสำหรับนักเดินป่าผู้ชำนาญ ทว่าด้วยจุดหมายของมูลนิธิฯ ที่ต้องการปลูกเมล็ดพันธุ์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในใจทุกคน จึงมีการบุกเบิกเส้นทางใหม่ที่เดินง่าย ไม่ว่าใครก็สามารถค้นพบเสน่ห์ของป่าอีสานได้ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” จึงเกิดขึ้นโดยใช้ระยะเวลาสำรวจและพัฒนาเส้นทางฯ กว่า 1 ปี
“การฟื้นฟูธรรมชาติอาจไม่ได้ยั่งยืนเท่ากับการสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนรักษ์ธรรมชาติตั้งแต่แรก ดังนั้นงานของมูลนิธิไทยรักษ์ป่าจึงขยับออกไปเป็นการสร้างจิตสำนึกผ่านการพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โจทย์ของการออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ผาหัวนาค คือ การสื่อสารว่าธรรมชาติแต่ละพื้นที่ก็มีคุณค่าในตัวเอง ธรรมชาติสีเขียวก็มีคุณค่าแบบหนึ่ง ป่าอีสานผลัดใบที่หน้าแล้งใบร่วงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศ ก็มีความสำคัญอีกแบบ ป่าที่ดูเหมือนแล้งของฝั่งอีสานก็สามารถทำหน้าที่เป็นป่าต้นน้ำ เป็นแหล่งทรัพยากรให้กับชุมชน อีกทั้งมีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยาที่สามารถย้อนเวลาไปได้กว่า 125 ล้านปี ไหนจะความสวยงามของลานหินทรายขนาดใหญ่ ที่มีพืชอิงอาศัยเล็ก ๆ แทรกขึ้นมากลางรอยแตกของหินเพื่อสร้างระบบนิเวศเฉพาะตัว ถ้านักท่องเที่ยวได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ก็จะทำให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่าอีสานยิ่งขึ้น”
มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ชี้ให้เห็นถึงระบบนิเวศเฉพาะตัวของป่าอีสานที่จะได้เห็นตลอดระยะทาง 2.66 กิโลเมตร ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค ที่เริ่มต้นจากความสูง 860 เมตรจากระดับน้ำทะเล สามารถมองเห็นวิว ภูเขียวได้อย่างชัดเจน ก่อนจะค่อย ๆ ไต่ระดับลงมาสู่ลานหินทรายเบื้องล่าง และไต่ระดับความสูงกลับขึ้นไปบนยอดเขาอีกครั้ง โดยรูปแบบเส้นทางมีการสลับระหว่างบันไดปูนซีเมนต์และทางดินที่มีเสานำทาง นักท่องเที่ยวสามารถเดินเองได้ง่าย รวมทั้งมีจุด SOS สำหรับขอความช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างทาง ส่วนจะมีจุดไหนเป็นไฮไลต์บ้างนั้น ปักหมุดแล้วออกเดินทางตามมาที่ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ ได้เลย
เปลี่ยนแนวกันไฟ เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ยั่งยืน”
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” พัฒนาขึ้นตามแนวกันไฟเดิม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับป่าอีสานที่ฤดูร้อนต้นไม้ในป่าเต็งรังจะผลัดใบร่วงหล่น และอุณหภูมิที่ร้อนแล้งก็อาจจะทำให้เกิดไฟป่าตามมาได้ง่าย ดังนั้น การออกแบบเส้นทางจึงเลือกใช้วัสดุที่ค่อนข้างทนไฟอย่างเสาเหล็ก ปูนซีเมนต์ แต่ก็ไม่ลืมที่จะทำให้กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมของป่าหินทราย ด้วยการผสมหินทราย หินกรวดลงไป สลับกับทางเดินที่เป็นทางดิน ข้อดีของการสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปตามแนวกันไฟเดิมก็เพื่อให้เส้นทางท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวย่ำเดินได้ทำหน้าที่เป็นแนวกันไฟไปในตัว ซึ่งช่วยลดภาระในการสร้างแนวป้องกันไฟป่าที่ทางอุทยานฯ ต้องทำในทุกปีอีกด้วย
ระบบนิเวศ “ป่าอีสาน”
ที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” เราจะได้เห็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ สลับกับพื้นที่ของผืนป่า ซึ่งถ้าย้อนไปในอดีตทุ่งหญ้าบริเวณนี้เคยเป็นป่าสมบูรณ์ก่อนที่จะถูกบุกรุกแผ้วทาง กระทั่งเมื่อปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าคลี่คลาย ธรรมชาติเริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นป่าที่มีระบบนิเวศแบบป่าอีสานที่มีพืชพรรณดั้งเดิมให้ได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นหญ้าคา เอนอ้า โคลงเคลง ปอเต่าไห้ หรือไม้เถา อย่างขามเครือเล็ก ประดู่ ติ้ว รวมทั้งมีดอกไม้เล็ก ๆ ที่พยายามแทรกตัวขึ้นตามรอยแตกของหินทราย และถ้าโชคดีเราอาจจะได้เจอกับ “หมูป่า” นักพรวนดินธรรมชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้กระจายเมล็ดพันธุ์ให้กับผืนป่าแห่งนี้ พวกมันมักทิ้งรอยกีบไว้ในยามกลางวัน และออกหากินตามพุ่มไม้ ปลักตม ในยามค่ำคืน
สำรวจหินอายุกว่า 100 ล้านปี
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” เป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อกับมอหินขาว กับกลุ่มหินโขลงช้าง ในอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ซึ่งมีความโดดเด่นด้านธรณีวิทยากับหินรูปร่างแปลกตาที่ย้อนอายุไปได้กว่า 100 ล้านปี โดยเฉพาะลานหินในเส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” สามารถพิสูจน์อายุได้ไกลถึง 125 ล้านปี จากการค้นพบ “ละอองเรณู” ที่บ่งบอกยุคช่วงครีเทเซียสตอนต้น (125-145 ล้านปีก่อน) ตรงกับหินทรายในหมวดหินพระวิหารในกลุ่มหินโคราช และสามารถบอกได้ชัดเจนว่าบริเวณนี้เคยเป็นภูเขาหินทรายขนาดใหญ่ อีกทั้งร่องรอยของหินแต่ละชั้นยังสามารถบ่งบอกถึงเส้นทางน้ำโบราณที่พัดผ่านและกัดกร่อน และชี้ชัดได้ว่าภูเขียวที่มองเห็นอยู่ฝากตรงข้ามไกลลิบเคยเป็นผืนดินเดียวกับบริเวณนี้
เดินง่าย ท่องเที่ยวป่าได้ทั้ง “ครอบครัว”
เดิมทีอุทยานแห่งชาติภูแลนคามีเส้นทางเดินป่า “สันพญานาค” ระยะทาง 12 กิโลเมตร แต่เป็นเส้นทางเดินป่าที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีประสบการณ์เดินป่ามาบ้างแล้ว เพราะต้องพักแรมกลางป่าหนึ่งคืนและต้องแบกสัมภาระส่วนตัวทั้งหมดเอง การสร้างเส้นทางใหม่ คือ เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” ทางทีมสำรวจจึงตั้งใจออกแบบให้เป็นเส้นทางที่เดินง่ายสำหรับทุกคน โดยมีการทำขั้นบันไดที่ไม่ชันมาก สลับกับทางเดินพื้นราบ ไม่ว่าใครก็สามารถสัมผัสธรรมชาติได้ และสามารถยกก๊วนครอบครัวมาเรียนรู้ธรรมชาติป่าอีสานได้พร้อม ๆ กัน
ห้องเรียนธรรมชาติ “ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ” ตลอดเส้นทาง
นอกจากทางเดินศึกษาธรรมชาติที่สามารถเดินท่องเที่ยวได้ง่ายด้วยตัวเองแล้ว ตลอดระยะทาง 2.66 กิโลเมตร ยังมี ป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ ที่คอยเล่าเรื่องผืนป่าแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธรณีวิทยา พืชพรรณท้องถิ่นที่น่าสนใจ ระบบนิเวศเฉพาะพลาญหินทราย รวมแล้ว 14 จุด พร้อมป้ายให้ความรู้เรื่องพืชพรรณ 5 จุด ทำให้เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” เป็นเหมือนห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่อัดแน่นความรู้เรื่องธรณีวิทยาและความโดดเด่นของป่าอีสาน
“พลาญหิน” สังคมพืชกลางป่าหินทราย
ลานหินทรายขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “พลาญหิน” ถือเป็นไฮไลต์ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติผาหัวนาค กับลานหินที่โอบล้อมด้วยผืนป่าเต็งรังกลายเป็นภูมิประเทศที่ดูแปลกตา บนลานหินยังพบดอกไม้ประจำฤดูกาลและพืชพรรณขนาดเล็กที่พยามปรับตัวในภูมิประเทศที่มีน้ำน้อยและเติบโตตามรอยแตกของหิน และถ้ามาในช่วงปลายฝนต้นหนาว ต้นไม้เล็ก ๆ เหล่านี้ก็จะผลิดอกเป็นทุ่งดอกไม้กลางลานหินที่มีเฉพาะป่าถิ่นอีสาน ไม่ว่าจะเป็น ม้าวิ่ง เอื้องคำหิน และกล้วยไม้ดิน เป็นต้น
เรียนรู้ระบบนิเวศ “พืชอิงอาศัย”
มากกว่าลานหิน ตลอดเส้นทางยังจะได้พบ “พืชอิงอาศัย” ไม่ว่าจะเป็นไลเคน มอสส์ เฟิร์น และกล้วยไม้ ที่ไม่ได้อิงอาศัยอยู่แค่บนต้นไม้ แต่ยังใช้แผ่นหินเป็นที่อิงอาศัย โดยเฉพาะ “ไลเคน” นั้นถือเป็นสุดยอดพืชอิงอาศัยที่พึ่งพาระหว่างราและสาหร่าย ทั้งยังทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดี ดังนั้น การเดินป่าเส้นทางนี้จึงไม่ได้มีแค่ภาพผืนป่าขนาดใหญ่ให้ได้ชม แต่การเดินเพื่อสังเกตสิ่งมีชีวิตและพืชพรรณขนาดเล็กก็เป็นความเพลิดเพลิน ฟีลได้ดูชิ้นงานศิลปะจากธรรมชาติอย่างไรอย่างนั้น
จุดชมวิวพระอาทิตย์ตก “ระเบียงหม่องเบิ่งตะเว็น”
เพื่อไม่ให้การเดินป่าอีสานร้อนเกินไปจนหมดสนุก แนะนำว่าถ้าไม่ออกเดินตอนเช้า ก็เป็นช่วงบ่ายที่แดดอ่อนแรง ก่อนที่จะมาพบความสวยงามที่ปลายทางนั่นก็คือจุดชมพระอาทิตย์ตก “ระเบียงหม่องเบิ่งตะเว็น” ที่สร้างขึ้นมาใหม่ทดแทนจุดชมวิวเดิม สามารถมองเห็นภูเขียว และแอ่งที่ราบเกษตรสมบูรณ์เบื้องหน้าได้ชัดเจนแบบไม่มีอะไรมาบดบัง แถมทุ่งดอกหญ้าสีขาวขนาดใหญ่ ก็ทำให้ที่นี่เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยเบอร์ต้นของแดนอีสาน และในบางวันเราอาจจะได้เห็นพระจันทร์ขึ้นอีกฝั่งของภูเขา พร้อมแสงสุดท้ายของวันที่กำลังลาลับขอบฟ้าอีกฟากไปพร้อม ๆ กัน
Fact File
- เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ผาหัวนาค” ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
- เปิดให้ท่องเที่ยวทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 16.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โทร. 093-093-9193