ถอดรหัส เหรียญรางวัล พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020
- พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม – 5 กันยายน 2564 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
- โตเกียวถือว่าเป็นเมืองแรกในโลกที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับโลก พาราลิมปิกเกมส์ เป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกตรงกับ ค.ศ.1964
- ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การแข่งขันพาราลิมปิกที่มีการดีไซน์เหรียญรางวัลโดยคำนึงถึงนักกีฬาผู้พิการทางสายตา
ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นอีกประเทศที่ออกแบบการใช้ชีวิตโดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะที่ค่อนข้างเอื้ออำนวยต่อทุกคน ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุ และในการกลับมาเป็นเจ้าภาพ พาราลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น เรื่องที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย หรือเป็นเพียงชิ้นเล็กๆ อย่าง เหรียญรางวัล พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ทางเจ้าภาพจึงใส่รายละเอียดที่ดูเหมือนจะเล็กน้อย ทว่าตอบโจทย์ในการเห็นคุณค่าของความต่างอันเป็นหัวใจของพาราลิมปิกเกมส์อย่างมาก
สำหรับเหรียญรางวัล พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากพัดญี่ปุ่นโบราณเพื่อเปรียบว่า พาราลิมปิกเป็นดั่งสายลมที่นำพาความสดชื่นมาสู่โลก ส่วนจุดแกนกลางซึ่งเชื่อมโยงส่วนต่างๆของพัดเข้าด้วยกันเปรียบเสมือนการรวมตัวกันของนักกีฬาพาราลิมปิกจากหลากหลายเชื้อชาติ ด้านลวดลายบนด้ามพัดสื่อถึงจิตใจที่เปี่ยมพลังของมนุษยชาติ และยังแทรกความหมายเรื่องความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของคนญี่ปุ่นผ่านลวดลายของก้อนหิน ป่าไม้ ดอกไม้ ใบไม้ และสายน้ำ ซึ่งเรื่องธรรมชาติก็เป็นคีย์หลักที่มีการใส่ไว้ใน มาสคอตพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ด้วยเช่นกัน
คำว่า Tokyo 2020 บนเหรียญพาราลิมปิก 2020 ยังมีความพิเศษด้วยการเพิ่มตัวอักษรเบรลล์ซึ่งปรากฏอยู่ด้านหน้าของเหรียญ ส่วนด้านข้างของเหรียญจะมีจุดวงกลมที่แตกต่างกันบอกความหมายของรางวัล โดย 1 จุดสำหรับเหรียญทอง 2 จุดสำหรับเหรียญเงิน และ 3 จุดสำหรับเหรียญทองแดง ซึ่งเมื่อผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสเหรียญ จะสามารถแยกความแตกต่างของเหรียญแต่ละชนิดได้ทันที และนับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ที่มีการดีไซน์เหรียญโดยคำนึงถึงนักกีฬาผู้พิการทางสายตา
ผู้ออกแบบ เหรียญรางวัล พาราลิมปิกเกมส์ คือ ซากิโกะ มัตสึโมโตะ (Sakiko Matsumoto) ดีไซเนอร์สาวผู้ชนะในการแข่งขันออกแบบเหรียญรางวัล และเช่นเดียวกับการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก 2020 เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงในการแข่งขันพาราลิมปิกทำมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กที่รวบรวมจาก 1,621 ชุมชนหรือคิดเป็น 90% ของชุมชนทั้งหมดของญี่ปุ่นได้เกือบ 79,000 ตัน และโทรศัพท์มือถือเก่าจำนวน 6.21 ล้านเครื่องจากร้าน NTT Docomo ทั่วประเทศ โดยใช้เวลารวบรวมกว่า 2 ปี ขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้เมื่อนำมารีไซเคิลได้ทองราว 32 กิโลกรัม เงิน 3,500 กิโลกรัม และทองแดง 2,200 กิโลกรัม
สายริบบิ้น สำหรับห้อยเหรียญรางวัลออกแบบให้มีลวดลายที่ลดทอนและร่วมสมัยโดยเป็นการผสมผสานระหว่างลายโบราณของญี่ปุ่นรูปตารางหมากรุกที่เรียกว่า ichimatsu moyo และลายที่มาจากเทคนิคการซ้อนทับผ้าและเฉดสีหลายชั้นในการตัดเย็บชุดกิโมโนที่เรียกว่า Kasane no irome นอกจากนี้ยังมีการใช้วัสดุที่เรียกว่า silicone convex ทำเป็นจุดนูนบนสายริบบิ้นเพื่อแยกเหรียญแต่ละชนิดได้ทันทีเมื่อสัมผัสโดย 1 จุดสำหรับเหรียญทอง 2 จุดสำหรับเหรียญเงิน และ 3 จุดสำหรับเหรียญทองแดง
นอกจากนี้ยังมีกล่องสำหรับใส่เหรียญรางวัลโดยออกแบบให้เป็นรูปทรงกลมสีครามทำจากไม้แอชและเป็นงานแฮนด์เมดโดยช่างฝีมืองานไม้ ฝาปิดเป็นแม่เหล็กและมีตราสัญลักษณ์พาราลิมปิกเกมส์ 2020 ประดับอยู่
อ้างอิง