
#ParaEmojis2024 มองความต่างให้เป็นปกติกับ อีโมจิ พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024
- #ParaEmojis2024 แคมเปญใหม่หลังปารีสรับไม้ต่อจากโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกเกมส์ 2024
- โลกดิจิทัลมี อีโมจิ (Emoji) มากกว่า 3,000 รูปแบบให้เลือกใช้สำหรับเป็นรูปสัญลักษณ์การสื่อสาร แต่อีโมจิที่เกี่ยวเนื่องกับผู้พิการนั้นยังมีเพียงไม่กี่แบบ
หลังจากที่ฝรั่งเศสรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพ พาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ก็ได้เดินหน้าแคมเปญมองความแตกต่างเป็นเรื่องปกติอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดกับ #ParaEmojis2024 อีโมจิลายพิเศษที่ออกแบบมาสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ
ในปัจจุบันโลกดิจิทัลมี อีโมจิ (Emoji) มากกว่า 3,000 รูปแบบให้เลือกใช้สำหรับเป็นรูปสัญลักษณ์การสื่อสาร แต่อีโมจิที่เกี่ยวเนื่องกับผู้พิการนั้นยังมีเพียงไม่กี่แบบ อาทิ แขนและขาเทียม หูใส่เครื่องช่วยฟัง คนนั่งรถวีลแชร์ ผู้พิการทางสายตาและสุนัขนำทาง และ ผู้พิการทางการได้ยิน ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมความเท่าเทียมและสนับสนุนศักยภาพของผู้พิการจึงได้เสนอให้มีอีโมจิเพิ่มอีก 4 รูปแบบที่เกี่ยวเนื่องกับการแข่งขันกีฬาสำหรับนักกีฬาคนพิการ

อีโมจิพาราเกมส์ 4 แบบ ที่ทางคณะกรรมการจัดการแข่งขันได้ยื่นเสนอต่อ Unicode Consortium (องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการใช้ Unicode Standard เช่น อีโมจิ ให้ได้ค่ามาตรฐาน) คือ ฟุตบอลผู้พิการทางสายตา กรีฑาผู้พิการ ว่ายน้ำผู้พิการ และ วีลแชร์เทนนิส โดยเล็งเห็นว่าการแข่งขันกีฬาเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สามารถแสดงศักยภาพของผู้พิการได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

สำหรับสัดส่วนของประชากรกลุ่มคนพิการมีจำนวน 1.2 พันล้านคนจากทั่วโลกซึ่งนับเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด และเพื่อ “ขับเคลื่อนความต่างให้เป็นหนึ่ง”คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (International Paralympic Committee) ได้มีการเปิดตัวแคมเปญ WeThe15 ในช่วงก่อนการเริ่มต้นพาราลิมปิก 2020 ที่โตเกียวเพื่อขับเคลื่อนการตระหนักรู้ปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนพิการทั่วโลกและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของประชากรกลุ่มนี้อย่างยั่งยืนโดยคณะกรรมการพาราลิมปิกและภาคีเครือข่ายได้กำหนดเป้าหมายการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จภายใน 10 ปี
โตนี่ เอสตองเก่ต์ (Tony Estanguet) ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันปารีส 2024 กล่าวว่า “กีฬาเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเท่าเทียมและการเปิดใจกว้างต่อผู้อื่น นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ความสามารถทางการกีฬาของเหล่าผู้พิการจะได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาสัญลักษณ์สากลและในปารีส 2024 นับเป็นครั้งแรกที่การแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะใช้ตราสัญลักษณ์เดียวกันโดยไม่แบ่งแยก”
นักกีฬาวีลแชร์เทนนิส มิเชล เฌเครมิอาสซ์ (Michael Jérémiasz) เสริมว่า“เราผู้พิการต้องการเล่นกีฬาเหมือนกับคนอื่นๆ เช่นกัน เพราะฉะนั้นร่างกายที่ทุพพลภาพไม่เป็นอุปสรรคกับกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย การเพิ่มอีโมจิเกี่ยวกับพาราเกมส์จะช่วยเพิ่มการยอมรับเรื่องนี้มากขึ้นและให้เห็นว่าความแตกต่างเป็นเรื่องปกติ”
ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมกับแคมเปญนี้ได้โดยติดแฮชแท็ก #ParaEmojis2024 ในโซเชียลมีเดีย
อ้างอิง
https://www.paralympic.org/news/paris-2024-launches-initiative-add-paralympic-sport-emojis
