Mukbang วัฒนธรรมการกินถ่ายทอดสดฉบับเกาหลี ที่ใช้เสียงเคี้ยวสร้างสุข
- เชื่อว่าทุกคนคงได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ กันว่า การเคี้ยวอาหารเสียงดังเป็นเรื่องที่เสียมารยาท แต่เทรนด์ยุคนี้ผู้คนกลับนิยมรับชมการกินอาหารถ่ายทอดสด หรือที่เรียกกันว่า “ม็อกบัง” (Mukbang) ซึ่งมีจุดกำเนิดที่เกาหลี
- การถ่ายทอดสดระหว่างการกินอาหาร ไม่ได้มาเพียงภาพ แต่เริ่มใช้ “เสียง” หรือ ASMR (Autonomous Sensory Meridian Response) เข้ามาสร้างความน่าสนใจ ทั้งยังมีความเชื่อว่าเสียงต่างๆ ของอาหาร ไปจนถึงเสียงเคี้ยวจะช่วยให้ผ่อนคลายและทำให้มีสมาธิ
- ใช่ว่าคนทุกคนจะชอบเสียงระหว่างกิน หลายคนเกิดภาวะ “มิโซโฟเนีย” (Misophonia) หรือ“โรคเกลียดเสียง” และจะรู้สึกโกรธเกรี้ยวทันทีที่ได้ยินเสียง บางคนก็ร้องไห้โดยไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความสุขกับการกิน Mukbang อาจเป็นหนึ่งในวิถีความสุขของคุณ…
หลายคนคงได้รับการบอกมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยกันว่า การเคี้ยวอาหารเสียงดังเป็นเรื่องเสียมารยาทและเป็นสิ่งที่ไม่น่าดู หรือแม้แต่ในภาพยนตร์ไปจนถึงละคร ถ้าใครมีมารยาทไม่ดีบนโต๊ะอาหาร อย่างเช่น เคี้ยวอาหารเสียงดัง ทำอุปกรณ์ตกหล่น ก็จะถูกปรายตามองทันที แต่ตอนนี้คลิปวิดีโอที่นำเสนอเรื่องราวดังกล่าวกลับเป็นที่ชื่นชอบ และมีคนติดตามผู้ผลิตงานเหล่านี้เป็นหลักหลายล้าน และถ้าใครสังเกตให้ดีขึ้นอีกก็จะเห็นว่าเสียงของอาหารในสื่อต่างๆ กำลังถูกนำเสนอให้ดังขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเสียงที่ว่าก็คือเสียงความสุขจาก MukBang
Mukbang จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการกินอาหารถ่ายทอดสด
ถ้าถามว่าใครคือผู้ปลุกกระแสวัฒนธรรมนี้ คงต้องตอบว่าจุดเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2009 จาก “อาฟรีคาทีวี” (AfreecaTV) ผู้ให้บริการสตรีมมิ่งแบบเรียลไทม์สัญชาติเกาหลีที่คนจะนิยมมาไลฟ์สดกันที่นี่ โดยคนแรกๆ ที่ทำวิดีโอสายกินแบบนี้มีชื่อว่า แบนจือ (Banzz – 밴쯔) ที่ตอนนี้เขามีช่องทางการติดตามในยูทูบและมียอดผู้ติดตามมากถึง 2.4 ล้านคน
แรกเริ่มเดิมทีคนที่ผลิตรายการในช่องทางเหล่านี้จะถูกเรียกกันว่า “บีเจ” BJ ซึ่งย่อมาจากคำว่า Broadcasting Jokey หมายถึง ผู้ดำเนินรายการ แต่เมื่อรูปแบบรายการมีความชัดเจนขึ้น บีเจที่ผลิตรายการไลฟ์รายการที่เน้นนั่งกินถ่ายทอดสดเป็นหลักก็มีชื่อใหม่ว่า “ม็อกบัง” (Mukbang – 방송) อันมาจากคำย่อของคำว่า “ม็อกนึน” (Meongneun – 먹는) ที่แปลว่า “กำลังกิน” ผสมกับคำว่า “บังซง” (Bangsong – 방송) ที่แปลว่า “ถ่ายทอดสด” ดังนั้น ม็อกบังจึงหมายถึงการกินอาหารถ่ายทอดสด
เวลาต่อมาคำคำนี้ไม่ได้เป็นที่รู้จักแค่ในเกาหลีเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นเพียงแค่ 5 ปี ม็อกบังชาวอเมริกันก็ได้ถือกำเนิดขึ้นบ้าง หลังจากมีชาวอเมริกันเปิดไลฟ์วิจารณ์ม็อกบังชาวเกาหลีที่กำลังนั่งกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยกันอีกทอดหนึ่ง ก่อนจะพบว่าชาวเมืองลุงแซมก็ชอบอะไรแบบนี้เหมือนกัน จากนั้นวงการม็อกบังก็เป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นยิ่งขึ้นด้วยการหาภารกิจมาท้าทายการกินของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การตามล่าหาไอเทมของกินที่ใหม่ที่สุด การกินอาหารจานยักษ์ การกินอาหารตามสี หรือแล้วแต่จะรังสรรค์ธีมสร้างอุปกรณ์ขึ้นมาเพื่อเรียกคะแนนนิยมและค่าโฆษณาที่จะได้รับ เช่นเดียวกับช่องทางการเข้าถึงที่จะย้ายมาอยู่บนแพลตฟอร์มยูทูบกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นช่องทางที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้มากกว่านั่นเอง
สาเหตุที่ทำให้ม็อกบังชาวเกาหลีโด่งดังขึ้นมานั้น ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความน่ากินของอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ม็อกบังเสมือนเป็นมิติใหม่ที่ช่วยเติมเต็มความเหงาของคนรุ่นใหม่ที่ต้องย้ายมาอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเอเชียที่นิยมอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ไม่คุ้นชินดังเช่นชาวตะวันตก ด้วยเหตุนี้ ม็อกบังจึงกลายเป็นเพื่อนกินข้าวของตัวเอง อีกทั้งถ้าใครเคยได้ดูซีรีส์เกาหลีก็คงเห็นถึงมารยาทความเคร่งครัดบนโต๊ะอาหารกันมาบ้าง เมื่อบนโต๊ะอาหารชาวเกาหลีต้องมาคอยกังวลความเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย ผู้น้อยต้องคอยรินเหล้า ต้องรับของด้วยสองมือ และรักษามารยาทถึงขีดสุด
การนั่งดูม็อกบังนั่งกินอาหารระหว่างที่พวกเขานั่งกินอาหารไปด้วยก็นับว่าเป็นการตัดปัญหานี้ไปได้อย่างตรงจุด
ASMR นำเสียงใส่ลงในอาหาร
แม้การใช้หลัก ASMR (Autonomous Sensory Meridian Response) หรือที่แปลได้อย่างยาวเหยียดไม่แพ้กันว่า “การตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ” ใส่ลงไปในรายการอาหารนั้นดูเหมือนโด่งดังในหมู่ม็อกบังชาวเกาหลี แต่ความจริงแล้วกลับมีต้นกำเนิดจากทางฝั่งอังกฤษ ฟินแลนด์ และอเมริกา
การใช้กลวิธีเพิ่มเสียง ASMR ในรายการอาหารของทางฝั่งอเมริกาเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 เมื่อช่องรายการทำอาหารชื่อดังอย่างฟู้ดเน็ตเวิร์ก (Food Network) ได้ริเริ่มทำรายการอาหารแล้วบันทึกเสียงวิธีการทำอาหารอย่างใกล้ๆ ซึ่งบางงานก็ต้องบันทึกเสียงอาหารแยกหลายครั้ง เพื่อให้ผู้ชมที่ดูผ่านโทรทัศน์ได้ซึมซับความน่ากินได้ชัดเจนยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการชมผ่านทางสายตา แต่จะว่าไปเสียงของการทำอาหารยังเป็นเรื่องที่น่าเข้าใจว่าคนดูน่าจะชื่นชอบ แต่เสียงเคี้ยวอาหาร ทำไมถึงกลายเป็นเสียงที่น่าฟังไปได้
เสียงที่เข้าข่ายความเป็น ASMR ได้นั้นก็คือ เสียงในชีวิตประจำวันที่เราพบเจอเป็นปกติ เช่น เสียงไดร์เป่าผม เสียงรถราบนท้องถนน เสียงฝนตกปรอยๆ เสียงกระซิบ เสียงพูดคุย ไปจนถึงเสียงเคี้ยวอาหาร ซึ่งเสียงปกติเหล่านี้นี่เองถ้าถูกทำให้ยาวพอก็มีหลายคนเชื่อกันว่าเสียงเหล่านี้จะช่วยสร้างความสงบผ่อนคลายและทำให้คนฟังสามารถมีสมาธิและจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น บางคนก็บอกว่าเสียงเหล่านี้ช่วยให้นอนหลับสบาย หรือสำหรับบางคนที่ตอบสนองต่อเสียงเหล่านี้ได้ดีพวกเขาก็จะรู้สึกมีความสุขเลยก็มี
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ยังไม่มีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า เสียงเหล่านั้นจะสามารถทำให้จิตใจเราสงบได้จริงและมีผลต่อสมองโดยตรง แต่การใช้ ASMR ได้กลายเป็นวัฒนธรรมออนไลน์ที่ใครๆ ก็ทำกันไปแล้ว โดยเฉพาะเหล่าม็อกบัง พวกเขาต่างก็เอาไมโครโฟนจ่อเข้าไปที่อาหารของตัวเอง พร้อมกับให้ผู้ชมเปิดหูฟังเพื่อฟังเสียงความอร่อยกันชัดๆ
ที่สำคัญ ASMR ไม่เพียงถูกใช้ในการถ่ายทอดสดการกินอาหารเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงงานโฆษณาที่เราจะได้ยินเสียงกรุบกรอบของไก่ทอด มันฝรั่ง ไปจนถึงช็อกโกแลตที่เคลือบบนไอศกรีม นอกจากนี้ การใช้เสียงดังกล่าวยังแจ้งเกิดในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี เพื่อเปิดประสบการณ์และการรับรู้ของผู้ชมให้ตื่นตัวยิ่งขึ้น
มิโซโฟเนีย โรคเกลียดเสียงที่ทำให้ความอร่อยลดลง
ในขณะที่กระแสของ ASMR โด่งดังเป็นพลุแตก แต่เอาเข้าจริงใช่ว่าคนทุกคนจะชอบเสียงแบบนี้กันเสียหมด เพราะมีหลายคนที่เกิดภาวะ “มิโซโฟเนีย” (Misophonia) หรือสรุปให้เข้าใจได้ง่ายๆ ในชื่อ “โรคเกลียดเสียง” ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นจะเป็นขั้นกว่าของความรู้สึกรำคาญ เมื่อคนที่มีอาการของภาวะนี้จะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้เลย
ทั้งนี้ เนื่องจากสมองส่วนที่เชื่อมระหว่างประสาทสัมผัสกับอารมณ์ หรือที่เรียกว่า “แอนเทอเรีย อินซูลาร์ คอร์เท็กซ์” (Anterior Insular Cortex) จะมีความไวเป็นพิเศษ เสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากธรรมชาติ หรือเสียงจากมนุษย์ก็ล้วนเข้าไปกระตุ้นอารมณ์ของผู้ที่เกิดภาวะนี้โดยตรง อีกทั้งเสียงแต่ละแบบก็ส่งผลต่ออารมณ์และแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางคนรู้สึกทนไม่ได้จนต้องร้องไห้ออกมาเมื่อได้ยินเสียงหายใจ หรือเสียงเคี้ยวอาหารก็ทำให้บางคนรู้สึกโกรธจนแทบอยากวิ่งหนีออกมา
ถ้าเป็นความรำคาญเหมือนที่หลายคนเป็นก็อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากนัก แต่สำหรับมิโซโฟเนียก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้เลย แม้กระทั่งจะอยู่กับครอบครัวก็ไม่สามารถทำได้ เพราะทนไม่ได้กับเสียงที่เกิดขึ้น หลายคนก็แก้ปัญหาโดยการใส่หูฟังเพื่อฟังเพลงวนๆ ไปในการหลีกเลี่ยงเสียงต่างๆ ที่อาจมีผลต่ออารมณ์ของพวกเขา ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้อย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่ทำได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงภาพและเสียงต่างๆ ที่มีผลต่ออารมณ์ อย่างเช่น เวลานั่งกินข้าวก็ให้เลือกนั่งข้างๆ ถัดไปดีกว่าการนั่งตรงข้ามกัน
นอกจากภาวะของโรคนี้แล้ว การทำ ASMR ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกครั้ง เพราะยังมีปัจจัยอยู่ที่อุปกรณ์รับสัญญาณอีกด้วย หากจะพูดให้เห็นภาพก็คือ ถ้าเสียงดีแต่ลำโพงแตก เสียงที่ได้รับก็ไม่ต่างอะไรจากเสียงที่น่ารำคาญนั่นเอง
เมื่อวัฒนธรรมการกินอาหารถ่ายทอดสดกลายเป็นสาเหตุของโรคอ้วน
จริงอยู่ที่ “ม็อกบัง” ได้สร้างชื่อเสียงให้กับเกาหลี จนคนทั่วโลกใช้คำนี้เรียกขานจนติดปาก ทว่ากระทรวงสาธารณสุขเกาหลีก็มีความกังวลใจถึงไวรัลม็อกบังเช่นเดียวกัน เมื่อทางรัฐบาลพยายามที่ลดอัตราการเกิดโรคอ้วนของประชากรตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ถึงปี ค.ศ.2022 ให้อยู่ที่ 34.8 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าไม่ควบคุมแล้วล่ะก็ อัตราการเป็นโรคอ้วนของประชากรเกาหลีอาจจะพุ่งสูงถึง 41.4 เปอร์เซ็นต์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า และสาเหตุหลักที่รัฐบาลเล็งเห็นก็คือ วิดีโอม็อกบัง
เพียงแค่รัฐบาลเกาหลีเอ่ยว่าจะมีมาตรมาการควบคุมวิดีโอม็อกบัง ประชาชนเกาหลีล้วนแสดงความไม่พอใจ เพราะราวกับว่ารัฐบาลกำลังเข้ามาก้าวก่ายและจำกัดสิทธิของพวกเขา ซึ่งก็ไม่ต่างจากแฟนคลับของบรรดาม็อกบังที่ออกมาปกป้องนักกินคนโปรด นอกจากนี้ยังมีเหล่าพยาบาลที่ออกมาอธิบายว่าคลิปกินอาหารเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เสียทีเดียว เพราะผู้ป่วยหนักหลายคนที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เองก็ได้ม็อกบังนี่แหละช่วยเยียวยาจิตใจ ซึ่งนั่นยังรวมไปถึงคนที่ลดน้ำหนักหรือสตรีมีครรภ์ที่ไม่สามารถกินอาหารได้มากก็บอกว่าบางครั้งการดูวิดีโอม็อกบังก็ทำให้อิ่ม หรือบางครั้งก็ดูจนเบื่อและไม่อยากกินอะไรอีกแล้ว
หากทว่าผลการสำรวจกลับแสดงในทิศทางที่ต่างออกไป เมื่อ ยุนยองโฮ (Yoon Yeong Ho) ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University College of Medicine) ได้ทำผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน เพื่อหาว่าปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชน ซึ่งในกลุ่มสำรวจกว่า 64.2 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าวิดีโอม็อกบังมีผลต่อสุขภาพและการกินของพวกเขา
เช่นเดียวกับผลสำรวจของมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (University of Liverpool) ที่พบว่าม็อกบังทำให้เด็กๆ เลือกกินขนมและอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ด้วยการให้เด็ก 176 คนแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ก่อนจะพบว่าเด็กที่ดูวิดีโอม็อกบังในยูทูบกินอาหารเฉลี่ยถึง 448 แคลอรี ในขณะกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ดูจะเลือกกินเพียงแค่ 357 แคลอรีเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือวิดีโอม็อกบังได้สร้างความอยากอาหารให้กับเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ศาสตราจารย์ เอมมานูเอล แพสเทรช (Emanuel Pastreich) แห่งสถาบัน Earth Management Institute ให้ความเห็นเกี่ยวกับวัฒนธรรมการกินถ่ายทอดสดแบบนี้ว่า แท้จริงแล้ว ที่คนเราต้องบริโภคกันมากมายแบบนี้และดูคนอื่นนั่งกินแบบนี้ก็เป็นเพียงแค่การเติมเต็มความว่างเปล่าทางจิตใจ แต่สิ่งที่ไม่ดีก็คือพวกเรากำลังทำร้ายอาหารด้วยการบริโภคอย่างไร้ความหมาย และเกินความจำเป็น…ในขณะที่ที่หลายพื้นที่ของโลกใบนี้ยังมีผู้คนที่กำลังอยู่ในภาวะขาดอาหาร
Fact File
- สำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้สามารถอ่านบทความวิจัยเรื่อง The Psychology of Mukbang Watching: A Scoping Review of the Academic and Non-academic Literature ได้ที่ https://link.springer.com/article/10.1007/s11469-019-00211-0
- ช่องยูทูบของ Banzz: https://www.youtube.com/user/eodyd188
อ้างอิง
- https://www.bbcgoodfood.com/howto/guide/what-misophonia
- https://www.bbc.com/thai/features-50438225
- https://www.eater.com/2017/4/19/15349568/mukbang-videos-korean-youtube
- https://www.eater.com/pop-culture/2019/12/4/20984564/misophonia-sound-of-people-eating-on-tv-movies-asmr
- https://www.foodrepublic.com/2017/09/11/whats-deal-asmr-food-videos/
- https://koreajoongangdaily.joins.com/news/article/article.aspx?aid=3055454&ref=mobile
- https://www.today.com/food/what-mukbang-inside-viral-korean-food-phenomenon-t123251
- https://www.vox.com/2015/7/15/8965393/asmr-video-youtube-autonomous-sensory-meridian-response
- https://ที่เกาหลีมีอะไร.blogspot.com/2018/03/blog-post_21.html