10 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ วัคซีนโควิดชนิด mRNA ที่ถูกใช้ครั้งแรกของโลก
- จุดเริ่มต้นของ วัคซีนโควิดชนิด mRNA เริ่มจากการศึกษาวิจัยกว่า 10 ปีของนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวฮังการี ดร.เคทลิน คาริโก (Dr. Katalin Kariko)
- ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNtech) และ บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA มาใช้ในการผลิตวัคซีน
วัคซีนโควิดชนิด mRNA (เอ็มอาร์เอ็นเอ) ได้กลายมาเป็นอีกคำค้นหาที่ติดท็อปของโลกมาตั้งแต่ปลายปี 2020 ที่ผ่านมา เพราะการเกิดขึ้นของ โควิด-19 นอกจากจะเป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์พัฒนาวัคซีนได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว นี่ยังเป็นครั้งแรกของวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่มีการนำเทคโนโลยี mRNA มาใช้ในการผลิตวัคซีน เป็นการใช้สารพันธุกรรมสังเคราะห์ที่จำลองมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส แทนการใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัสในการผลิตวัคซีนแบบเดิม
Sarakadee Lite ชวนไปทำความเข้าใจและรู้จักกับ เทคโนโลยี mRNA อีกครั้ง เพราะนอกจากวัคซีนโควิด-19 แล้ว ในตอนนี้ mRNA กำลังถูกนำมาศึกษาเพื่อรักษา HIV และ มะเร็ง รวมทั้งสร้างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และไวรัสซิก้าอีกด้วย
1. จุดเริ่มต้นของวัคซีนโควิดชนิด mRNA มาจากความเชื่อและความฝันของนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวฮังการี ดร.เคทลิน คาริโก (Dr. Katalin Kariko) เธอเชื่อมาตลอดว่า mRNA ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมอีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือจากดีเอ็นเอ (DNA) จะสามารถนำมาใช้ในการสร้างยาและวัคซีนในมนุษย์ได้ และเธอก็เริ่มศึกษา ทดลอง วิจัยเกี่ยวกับ mRNA มาร่วม 20 ปี
2. โดยทั่วไปแล้วการฉีดวัคซีนเป็นการจำลองสถานการณ์การติดเชื้อครั้งแรกขึ้นในร่างกาย เป็นการฉีดองค์ประกอบบางส่วนของไวรัส หรือใช้เชื้อไวรัสที่ตายแล้ว หรือไวรัสที่อ่อนกำลังจนไม่สามารถก่อโรคได้เข้าสู่ร่างกาย ส่วนวิธีการทำงานของ mRNA เป็นวิธีการใหม่ที่พัฒนาไปถึงระดับโมเลกุล แทนที่จะใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัส ก็เปลี่ยนมาเป็นการสอนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนหนามที่มาจากเปลือกหุ้มของไวรัสโควิด-19
3. วัคซีนโควิดชนิด mRNA ใช้สารพันธุกรรมสังเคราะห์ที่จำลองมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส แทนการใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัสมาใช้จริงในมนุษย์เป็นครั้งแรกของโลก จากนั้นเมื่อฉีดกระตุ้นเข้าไปในเซลล์ร่างกายก็จะไปบอกให้เซลล์สร้าง S-protein ที่หน้าตาเหมือนกับ S-protein ของไวรัส โดยไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ร่างกายมนุษย์ จากนั้น เซลล์ APC หรือทหารแนวหน้าของเราจะนำ S-protein (ที่เปรียบเสมือนข้าศึกจำลอง) ไปให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเดียวกันในการสร้างแอนติบอดี
4. นอกจากวัคซีนโควิด-19 แล้วตอนนี้มีวัคซีนต้านเชื้อไวรัสอีกหลายชนิดที่หันมาใช้เทคโนโลยี mRNA ซึ่งกำลังเข้าสู่ขั้นทดลองทางคลินิก (clinical trials) เป็นการทดลองใช้ในมนุษย์ซึ่งจะใช้เวลารวบรวมข้อมูลประมาณ 4-7 ปี เช่น วัคซีนต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) และไวรัสซิก้า (Zika)
5. หลายคนอาจสงสัยว่าการที่ให้เซลล์ของมนุษย์เราสร้าง S-protein ขึ้นมาเองนั้นจะทำให้เซลล์มนุษย์กลายพันธุ์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เนื่องจาก mRNA ไม่สามารถเข้าสู่นิวเคลียสหรือแหล่งเก็บสารพันธุกรรมของเซลล์มนุษย์ได้ จึงไม่มีผลต่อดีเอ็นเอ (DNA) ของมนุษย์
6. ข้อดีอย่างหนึ่งของเทคโนโลยี mRNA คือ หากในกรณีที่ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหน้าตาของ S-protein ไปจนถึงขั้นที่แอนติบอดีในร่างกายเราไม่สามารถเข้าไปจับทำลายได้ การแก้ไขรหัสพันธุกรรมบน mRNA ที่จะใช้ในการผลิตวัคซีนตัวใหม่ จะสามารถทำได้โดยง่ายและสามารถปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของวัคซีนได้อย่างทันท่วงทีสำหรับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์
7. วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNtech) และบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA มาใช้ในการผลิตวัคซีน ปัจจุบันได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก
8. บริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNtech) ได้ทำการศึกษา วัคซีนโควิดชนิด mRNA กับกลุ่มอาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 4 หมื่นคน โดยเป็นกลุ่มเชื้อชาติ อายุ และอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเพียง 4.7 คนเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการแพ้วัคซีนในสหรัฐอเมริกา ส่วนบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ได้ทำการศึกษากับกลุ่มอาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 3 หมื่นคน จากกลุ่มเชื้อชาติ อายุ และอาชีพที่หลากหลาย ในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนของโมเดอร์นา 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเพียง 2.5 คนเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการแพ้วัคซีนในสหรัฐอเมริกา
9. สำหรับทั้ง 2 วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNtech) และ บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA มาใช้ในการผลิตนั้นพบว่า คนส่วนใหญ่เจอผลข้างเคียงไม่ร้ายแรง เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด และผลต่อร่างกายโดยรวมอาจจะหนาวสั่น ปวดหัว อ่อนเพลีย (อัปเดทข้อมูล มีนาคม 2564) ส่วนกรณีพบคนชราเสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในนอร์เวย์นั้น รองศาสตราจารย์ ดร. นาธาน บาร์ตเลตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (University of Newcastle) ของออสเตรเลีย ได้แสดงความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว ในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์วิชาการ The Conversation ไว้ว่า “ในกรณีของคนชราที่เสียชีวิตที่นอร์เวย์ มีรายงานแจ้งว่าหลังรับวัคซีนแล้วพวกเขามีไข้ คลื่นไส้อาเจียน และท้องเสีย ซึ่งเป็นปฏิกิริยาหลังการรับวัคซีนในระดับค่อนข้างรุนแรง แต่คนส่วนใหญ่สามารถจะทนต่ออาการเหล่านี้ได้และไม่เสียชีวิตไปก่อน ภาวะอักเสบในร่างกายดังกล่าว เป็นตัวบ่งชี้ว่าวัคซีนทำงานได้ผลและมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น แต่ในขณะเดียวกันต้องระวังว่าวัคซีนจะไม่ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านที่รุนแรงเกินไป จนเป็นอันตรายต่อผู้รับวัคซีนที่อ่อนแออย่างกลุ่มคนชราได้”*
10. สิ่งที่ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเกี่ยวกับ วัคซีนชนิด mRNA คือ เรายังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด และยังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส ซึ่งคำตอบนั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา (อัปเดทข้อมูล เมษายน 2564)
*หมายเหตุ : อ้างอิงจาก www.bbc.com
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีน