
พลิกตำราแพทย์แผนโบราณ พัฒนา “ลำไยสกัดเข้มข้น” อีกวิธีป้องกันการติดเชื้อ โควิด-19
- จากการศึกษาวิจัยสารสกัดลำไยพบว่า สามารถลดการยึดเกาะเชื้อไวรัสและมีฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสแทบทุกชนิด
- คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พลิกตำราแพทย์แผนโบราณ พัฒนาอีกวิธีในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 นั่นก็คือการใช้ ลำไย
การวิจัยและพัฒนาที่มาพร้อมกับการระบาดของ โควิด-19 ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของวัคซีนเท่านั้น ล่าสุด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พลิกตำราแพทย์แผนโบราณ พัฒนาอีกวิธีในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยผลไม้พื้นถิ่นของไทยนั่นก็คือ “ลำไย”
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ ภาควิชาเภสัชกรรมปฎิบัติ ได้ร่วมมือกับ University of Innsbruck และ ADSI ประเทศออสเตรีย ทำการศึกษาวิจัยนำ ลำไยสกัดเข้มข้น ด้วยกรรมวิธีพิเศษมาพัฒนาต่อยอดเป็นสูตรตำรับสมุนไพรพ่นลำคอและจมูก ซึ่งผลปรากฏว่าสามารถลดปริมาณไวรัสที่เกาะติดเยื่อบุและลดปริมาณไวรัสที่อาจเข้าสู่ร่างกายได้ เหมาะสำหรับการนำมาใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสทุกชนิดรวมทั้งไวรัสโควิด-19

สำหรับลำไยสกัดเข้มข้นด้วยกรรมวิธีพิเศษ (P80) นี้ได้ผ่านการทดสอบแล้วว่าสามารถลดการยึดเกาะของเชื้อไวรัสที่เยื่อบุอ่อน ไม่ว่าจะเป็นที่โพรงจมูกและลำคอ อีกทั้งยังสามารถลดการสร้าง complementary C3a ซึ่งเป็นสารก่อการอักเสบที่รุนแรงในปอด นับเป็นสมุนไพรตัวแรกที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการลดการติดเชื้อที่โพรงจมูกและลำคอได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง ซึ่งผลการศึกษาล่าสุดพบว่าฤทธิ์ดังกล่าวสามารถอยู่ได้นานถึง 2 วัน และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาประสิทธิภาพในผู้ป่วยจริงทางคลินิก โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ศ.ภญ.ดร.พรอนงค์ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่สนใจนำสารสกัดลำไยมาพัฒนาเป็นสูตรตำรับสมุนไพรว่า “เนื่องจากลำไยเป็นผลไม้ที่เรานำมารับประทานเป็นอาหารอยู่แล้วจึงมีความปลอดภัยสูง เมื่อศึกษาตำราแพทย์แผนโบราณระบุว่าลำไยสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ จึงได้ศึกษาวิจัยสารสกัดลำไยจนพบว่าสามารถลดการยึดเกาะเชื้อไวรัสและมีฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัสแทบทุกชนิด โดยได้ทำการทดสอบไปแล้วกับเชื้อไวรัสหลายประเภท เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคเริม ซึ่งได้ผลมีประสิทธิภาพดีกับเชื้อไวรัสทุกชนิดที่ทำการทดสอบ”

ทั้งนี้งานวิจัยชิ้นนี้ได้เริ่มต้นขึ้นประมาณ 1 ปีครึ่งตั้งแต่ยังไม่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้ทำการทดสอบกับเชื้อไวรัสอื่น เมื่อมีการระบาดของเชื้อโรคนี้ จึงเริ่มนำมาทดสอบกับเชื้อโควิด ขณะนี้ (อัพเดทข้อมูลเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2564) อยู่ในระหว่างการทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครจำนวน 62 ราย โดยมีความร่วมมือทางวิชาการกับโรงพยาบาลวิภารามชัยปราการ และคาดว่าอีก 3 เดือนหลังจากนี้ (พฤษภาคม 2564) ผลิตภัณฑ์น่าจะออกสู่ท้องตลาด
