สะสางบ้านฉบับมาริเอะ มินิมัลลิสต์ และการจัดบ้านราวกับจะไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป
- ในยามที่ต้องออกจากบ้านไปทำงาน เราอาจไม่มีเวลาได้จัดระเบียบสิ่งของภายในบ้านกันสักเท่าไหร่ ซึ่งช่วง Social Distancing นี้ถือเป็นโอกาสที่เราจะลุกขึ้นมาเคลียร์บ้าน จัดระเบียบให้ดูสะอาดตาและสร้างบรรยากาศ Work From Home ให้ดีขึ้น
- นอกจากทฤษฎีคมมาริ ของ มาริเอะ คนโด แล้วก็ยังมี หลักมินิมัลลิสต์ โปรเจกต์ 333 และศิลปะอันอ่อนโยนในการจัดบ้านราวกับคุณจะไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป ที่จะช่วยให้เราเห็นความสำคัญต่อการเก็บสิ่งของแต่ละชิ้นในบ้านมากขึ้น
สถานการณ์ โควิด-19 ที่ดูยังไม่คลี่คลาย ทำให้การ Social Distancing และการกักตัวยังเป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเพื่อบรรเทาการแพร่เชื้อกันต่อไป จุดนี้หลายคนอาจจะเหงาหรือเกิดอาการเฉาอยู่บ้าง แต่ข้อดีคือนี่เป็นโอกาสที่เราได้มีเวลาอยู่กับตัวเองและสะสางสิ่งต่างๆ เช่น การจัดบ้าน กิจกรรมที่ดูใกล้ตัวที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ในยามที่ต้องออกจากบ้านไปทำงานทุกวัน อาจทำให้ไม่มีเวลาได้จัดบ้านก่อนหน้านี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการจัดระเบียบให้บ้านเราดูสะอาดตาน่าอยู่ขึ้นแล้ว ยังทำให้บรรยากาศในการ work from home ของเราดีขึ้นด้วย
สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มจากจุดไหนก่อนดี Sarakadee Lite ขอรวบตึงรวมทริกที่น่าจะช่วยให้การเริ่มต้นจัดบ้านของผู้อ่านง่ายขึ้นมาฝากกัน
จัดบ้านให้เกิด Spark Joy!
ตำราฉบับแรกคงเป็นของใครไปไม่ได้หากไม่ใช่ มาริเอะ คนโด กับเทคนิคการจัดบ้านแบบ คมมาริ (Konmari) ที่เราน่าจะคุ้นหูคุ้นตากันดีกับคำว่า Spark Joy! หรือประกายแห่งความสุข! ทฤษฎีของ มาริเอะ จะให้ความสำคัญกับการเก็บกวาดตามสิ่งของ ที่แบ่งได้เป็น 5 หมวดหมู่และจะจัดตามลำดับ
หมวดที่ 1 : เสื้อผ้า
หมวดที่ 2 : หนังสือ
หมวดที่ 3 : เอกสาร
หมวดที่ 4 : โคโมโนะ (ห้องครัว ห้องน้ำ โรงรถและของจิปาถะทุกอย่าง)
หมวดที่ 5 : ของที่มีค่าต่อจิตใจ
ขั้นตอนแรกของแต่ละหมวดคือการนำของทั้งหมดมากองรวมกัน เพื่อให้เห็นว่าเรามีของมากมายแค่ไหนและเพื่อเห็นค่าของสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งหัวใจสำคัญของทฤษฎีคมมาริ คือการเลือกและตัดใจจากของที่เราหยิบขึ้นมาสัมผัสแต่ละชิ้นแล้วถามตัวเอง หากสิ่งไหนยังทำหน้าที่เป็นประกายแห่งความสุข เป็นความรู้สึกเชิงบวกของเราให้เก็บไว้ สิ่งไหนถึงเวลาต้องปล่อยให้กล่าวขอบคุณแล้วทิ้งไป
วิธีนี้อาจจะดูโหดร้ายไปนิด แต่เธอว่าของเหล่านั้นจะทำให้เราเรียนรู้ว่าสิ่งไหน รูปแบบไหนที่เราชอบหรือต้องการจริงๆ เทคนิคเพิ่มความง่ายในแต่ละหมวดคือการเริ่มจากของที่เราไม่ต้องการแน่ๆ ก่อน คัดแยกไปทีละชิ้น ซึ่งหากมีของที่มีค่าทางจิตใจโผล่มาให้เก็บไว้จัดการทีหลังเพราะเมื่อเราจัดไปเรื่อยๆ ความไวต่อประกายแห่งความสุขจะถูกขัดเกลาและรู้ได้ว่าสิ่งไหนคือสิ่งที่ต้องการ
สิ่งที่ทฤษฎีคมมาริให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ขั้นตอนการเก็บ มาริเอะ จะเก็บของทุกชิ้นให้มองเห็นได้ เช่น การพับเสื้อผ้าหรือเรียงของในแนวตั้ง เพื่อให้เห็นทุกชิ้นในคราวเดียวซึ่งจะช่วยให้เราไม่ลืมชิ้นใดชิ้นหนึ่งไป อีกเคล็ดลับคือการกำหนดที่สำหรับของสิ่งนั้นอย่างชัดเจน เช่น ของจิปาถะชิ้นเล็กก็จะใช้กล่องเล็กๆ ในการจัดเก็บให้เป็นสัดส่วนไม่ปนกัน ตามขนาดหรือการใช้งาน
เมื่อเราเห็นของทุกชิ้นที่มีก็จะป้องกันการซื้อซ้ำได้ ใครที่มีเอกสารที่ต้องเก็บเยอะ มาริเอะ แนะนำให้แยกออกเป็น 3 กอง คือ เอกสารรอดำเนินการ (เช่น จดหมาย ใบเรียกเก็บเงิน) เอกสารสำคัญที่ต้องเก็บไว้ถาวร จำพวกสัญญา และเอกสารที่เราอ้างถึงบ่อยๆ เช่น สูตรอาหาร หรือ เอกสารสัมมนาที่ยังต้องกลับมาอ่าน วิธีนี้จะทำให้การหาเอกสารทำได้ง่ายขึ้น
มินิมัลลิสต์ และการจัดบ้านราวกับจะไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป
ข้างต้นคือทริกที่ได้จากการชม Tidying up with Marie Kondo จัดบ้านเปลี่ยนชีวิตกับมาริเอะ คนโด ซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์ ความยาว 8 ตอนที่มาริเอะเดินทางไปให้คำปรึกษาเรื่องการจัดบ้านแก่ครอบครัวชาวอเมริกา แต่ยังมีภาพยนตร์สารคดีอีกเรื่องที่ส่งแรงบันดาลใจให้เห็นความสำคัญของสิ่งที่เรามีในทำนองเดียวกัน คือ Minimalism: a Documentary about the Important Things ซึ่งอาจไม่ได้กล่าวถึงการจัดบ้านอย่างตรงตัว แต่ชวนให้เราตั้งคำถามถึงวิธีการบริโภคของตัวเอง กระแสสังคมและของที่ครอบครองอยู่
ไม่ว่าจะด้วยการอุดช่องโหว่อันว่างเปล่าในหัวใจด้วยการจับจ่าย หรือการครอบครองของที่หาซื้อมาเพื่อนิยามตัวเอง สิ่งเหล่านั้นสามารถเติมเต็มความสุขและเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆ หรือเปล่า ไรอัน นิโคเดมัส (Ryan Nicodemus) และ โจชัว ฟิลด์ส มิลล์เบิร์น (Joshua Fields Millburn) สองคู่หูมินิมัลลิสต์กำลังถามเราแบบนั้น ซึ่งโจชัวย้ำว่าการบริโภคไม่ใช่สิ่งที่ผิด หากเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ซึ่งเขาเองก็เคยครอบครองของจำนวนมากไว้ในชีวิต ก่อนจะพบหลักมินิมัลลิสต์
“ผมเริ่มรู้สึกไม่ผูกมัด มีความสุขมากขึ้น เบาขึ้น ตอนนี้ในฐานะของมินิมัลลิสต์ ทุกอย่างที่ผมครอบครอง มีจุดมุ่งหมายและสร้างความสุขได้”
“มินิมัลลิสต์ไม่ใช่วิถีชีวิตที่สุดโต่ง ผมเชื่อสนิทใจว่าคุณภาพต้องมาก่อนปริมาณ ผมขอมีสเวตเตอร์ดีๆ สักตัว ดีกว่าสเวตเตอร์ตลกๆ ที่ผมไม่อยากใส่อยู่เต็มตู้ ตอนนี้ผมไม่ค่อยมีเสื้อผ้าแล้ว แต่ทุกชิ้นที่มีเป็นชิ้นโปรดทั้งนั้น” โจชัวขยายความ
นอกจาก ไรอัน-โจชัว คู่หูตัวหลักที่ผลักดันมินิมัลลิสต์ผ่านหนังสือ Everything that Remains, Minimalism และ Essentials รวมถึงพอดแคสต์และเว็บไซต์ theminimalists.com แล้ว เรื่องนี้ยังมีชาวมินิมัลลิสต์อีกกว่า 20 ชีวิตมาบอกเล่าประสบการณ์ หนึ่งในเรื่องเล่าที่น่าสนใจคือ คอร์ตนีย์ คาร์เนอร์ (Courtney Carner) ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ bemorewithless.com และเป็นผู้ริเริ่ม โปรเจกต์ 333 ที่เราว่าเป็นชาเลนจ์ที่จะช่วยให้การจัดบ้านสนุกขึ้น
โปรเจกต์ 333 ที่ว่าคือการจัดการกับตู้เสื้อผ้า หนึ่งในส่วนที่ตัดใจยากที่สุดโดยเฉพาะสาวๆ ซึ่งหัวใจสำคัญของชาเลนจ์ด้านแฟชั่นที่ว่านี้คือ การใช้ของน้อยกว่าที่เป็นอยู่ ด้วยการสวมใส่ของเพียง 33 ชิ้น (เสื้อผ้า รวมทั้งเครื่องประดับ กระเป๋าและรองเท้า) ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งคอร์ตนีย์กล่าวว่านี่เป็นวิธีการที่ช่วยให้เห็นว่าเธอต้องการอะไร เธอใช้อะไรจริงๆ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่เธอทำงานสายโฆษณาและต้องพบปะผู้คน ไม่มีใครสังเกตเห็นว่าเธอแต่งกายด้วยของเพียง 33 ชิ้นเท่านั้น จนมีคนทดลองทำตามจำนวนมาก บางรายสามารถลดขนาดตู้เสื้อผ้าที่ใหญ่โต ให้กลายเป็นส่วนที่จัดระเบียบง่ายและหมดความกังวลเลยว่าเช้านี้จะใส่อะไรดี
อีกหนึ่งหลักการจัดบ้านที่อ่านพบในนิตยสารสารคดี เป็นของ มาร์กาเรตา แมกนุสซัน (Margareta Magnusson) นักเขียนและศิลปินชาวสวีเดน เจ้าของหนังสือ The Gentle Art of Swedish Death Cleaning หรือ ศิลปะอันอ่อนโยนในการจัดบ้านราวกับคุณจะไม่มีชีวิตอยู่อีกต่อไป ซึ่งการจัดของตามหลักการนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความตายตามชื่อ แต่เป็นการย้อนกลับไปมองถึงสิ่งที่ผ่านมา
มาร์กาเรตาใช้หลักแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการตั้งปณิธานว่าจะเริ่มจัดของเพื่อเตรียมตัวตายเมื่อก้าวสู่วัย 50 ปี โดยเป้าหมายไม่ใช่การทำเสร็จภายในเดือนเดียวหรือวันเดียว จุดนี้จะทำให้เราได้มองย้อนกลับไปถึงที่มาของสิ่งของ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ระลึกและสานต่อสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับของสิ่งนั้น หรือบางชิ้นที่เราไม่ต้องการแล้ว เราอาจจะอยากมอบให้ใครสักคน ซึ่งเขาคนนั้นยังสามารถกล่าวขอบคุณและขอโทษได้
“การจัดของก่อนตาย ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับความตาย แต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตคุณเองทั้งดีและร้าย เรื่องที่ดีก็เก็บไว้ เรื่องร้ายก็ขว้างทิ้งไป”
มาร์กาเรตากล่าวไว้และน่าจะพอสรุปหลักการนี้ได้ สิ่งหนึ่งที่เธอย้ำคือจัดของเสร็จแล้วก็อย่าลืมที่จะให้รางวัลตัวเองด้วย
ว่าแล้วก็มาจัดการของในบ้านกันดีกว่า หนึ่ง สอง สาม เริ่ม!
อ้างอิง
- ซีรีส์ Tidying up with Marie Kondo จัดบ้านเปลี่ยนชีวิตกับมาริเอะ คนโด
- ภาพยนตร์สารคดี Minimalism: a Documentary about the Important Things
- นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 394 เดือนธันวาคม พ.ศ.2560
ภาพ