ฝึกฟังเสียงกลิ่นผ่าน พิธีโคโด การละเล่นทายกลิ่นที่มีมานานร่วม 700 ปี
Better Living

ฝึกฟังเสียงกลิ่นผ่าน พิธีโคโด การละเล่นทายกลิ่นที่มีมานานร่วม 700 ปี

Focus
  • พิธีโคโด เป็นการละเล่นทายกลิ่นของญี่ปุ่นที่มีมานานร่วม 700 ปี จากพิธีในศาสนาก็กลายมาเป็นการละเล่นของชนชั้นสูง
  • พิธีโคโดนี้เรียกอีกชื่อว่า การฟังเสียงกลิ่น เพราะเราต้องใช้สมาธิอย่างมากในการดมเพื่อจำแนกกลิ่นออกมา ซึ่งนอกจากความสนุก ยังทำให้เกิดสมาธิและความสงบ

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลิ่นช่วยรีทรีตจิตใจ เช่นเดียวกับ พิธีโคโด การละเล่นทายกลิ่นของญี่ปุ่นที่มีมานานเกือบ 700 ปี หนึ่งในสามศิลปะชั้นสูงของญี่ปุ่น (พิธีอิเคะบะนะ จัดดอกไม้ / พิธีชาโด ชงชา / พิธีโคโด ดมกลิ่น) เป็นการละเล่นที่ไม่ได้เพียงเพื่อความสนุก มุ่งหวังชนะหรือแพ้ แต่พิธีโคโด เป็นการละเล่นที่ผู้เล่นต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อรับฟังเสียงของกลิ่นที่มีความแตกต่างกันไป นั่นจึงทำให้พิธีโคโดนี้เรียกอีกชื่อว่า การฟังเสียงกลิ่น เพราะเราต้องใช้สมาธิอย่างมากในการดมเพื่อจำแนกกลิ่นออกมา ซึ่งนอกจากความสนุก ยังทำให้เกิดสมาธิ ความสงบ และกลิ่นหอมยังช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายไปด้วย 

พิธีโคโด
ขั้นตอนการเตรียมกลิ่นไม้หอมก่อนทาย (ภาพ : Nippon Kodo)

ย้อนกลับไปที่จุดกำเนิด พิธีโคโด เกิดขึ้นในสมัยมุโระมะชิ (ค.ศ.1336-1573) โดยยุคแรกนิยมใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเพื่อความสุนทรียะทางจิตใจ ซึ่งต่อมาพิธีโคโดได้กลายเป็นการละเล่นตั้งแต่สมัยของโชกุนโยะชิมะซะ อะชิกะงะ (ค.ศ.1435-1490) เมื่อท่านโชกุนมอบหมายให้ที่ปรึกษา ซะเนะทะกะ ซังโจะนิชิ ซึ่งเป็นทั้งบัณฑิตและกวี จำแนกกลิ่นชนิดต่าง ๆ ภายหลังพิธีโคโดจึงได้กลายเป็นการละเล่นของกลุ่มชนชั้นสูง จำกัดการละเล่นภายในวังที่มีผู้ร่วมเล่นตั้งแต่ 13-200 คน บ้างเล่นทายกลิ่นประกอบการร้องเพลงหรือกล่าวกวี ภายหลังท่านซังโจะนิชิก็ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาศาสตร์เครื่องหอมของญี่ปุ่นและพิธีโคโด

พิธีโคโด
ภาพ : Nippon Kodo

แม้พิธีโคโดจะเป็นเพียงการละเล่น แต่ทุก ๆ ขั้นตอนต่างเต็มไปด้วยความประณีต ตั้งแต่การปรุงกลิ่นซึ่งกลิ่นหอมพื้นฐานที่ใช้ในพิธีโคโดจะเป็นกลิ่นของไม้หอมที่มาจากสถานที่ต่าง ๆ 6 แห่ง คือ 

  • กลิ่นระโกะกุ (Rakoku) จากประเทศไทยให้กลิ่นหวาน 
  • กลิ่นเคียะระ (Kyara) จากประเทศอินเดียให้กลิ่นขม 
  • กลิ่นมะนะกะ (Manaka) จากประเทศมาเลเซีย ไม่มีกลิ่น 
  • กลิ่นมะนะบัง (Manaban) จากสถานที่ชื่อมะนะบังให้กลิ่นเค็ม 
  • กลิ่นสุโมะตะระ (Sumotara) จากสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียให้กลิ่นเปรี้ยว 
  • กลิ่นซะโซะระ (Sasora) จากพื้นที่แห่งหนึ่งใกล้ประเทศอินเดียให้กลิ่นเผ็ดร้อน 

นอกจากกลิ่นพื้นฐานเหล่านี้แล้วก็ยังมีกลิ่นที่แยกย่อยลงไปอีกมาก

วรรณคดีเก็นจิ

สำหรับในการละเล่นสิ่งที่ใช้ดมกลิ่นเริ่มจากอุ่นถ่านก่อนเล็กให้ร้อน จากนั้นนำไปใส่ในถ้วยกระเบื้องขนาดเล็กพอๆ กับถ้วยดื่มชา จากนั้นกลับด้วยขี้เถ้าแล้วนำชิ้นไม้หอมขนาดเล็กประมาณปลายก้อยไปวางลงด้านบนสุดของขี้เถ้าซึ่งมีการวาดลวดลายลงบนขี้เถ้าอย่างพิถีพิถัน

ในระหว่างการทายกลิ่นนั้นบางครั้งจะมีสิ่งที่เรียกว่า คุมิโก เป็นการใช้จินตนาการเปรียบเทียบกลิ่นกับโคลงหรือฉากตอนของวรรณคดีญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดความเพลินเพลินว่ากลิ่นที่ได้ฟังนั้นตรงกับฉากใด โดยวรรณคดีที่นิยมใช้คือเรื่อง เก็นจิ หรือ เก็นจิโกะ นวนิยายรักโรแมนติกที่เก่าแก่เรื่องหนึ่งของโลก และเป็นสุดยอดวรรณคดีญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ.2008

ในสารคดีพิธีโคโดของช่อง NHK ได้กล่าวถึงพิธิโคโด ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในโคโดไม่เรียกว่า “ดมกลิ่น” แต่ใช้คำว่า “ฟังกลิ่น” ตั้งใจจดจ่อกับกลิ่น และลิ้มรสของมันด้วยหัวใจ ซึ่งนี่คือหัวใจที่แท้จริงของโคโด

“หากคุณตั้งใจใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าของคุณในการรับฟังกลิ่น คุณจะสามารถเปิดโลกของตัวเองในเวลาที่ผ่อนคลายได้”

อ้างอิง

  • นิตยสารสารคดี สิงหาคม 2556

ภาพ : www.nipponkodo.com

Fact File