เล่าเรื่องเมืองขนอมผ่านประวัติศาสตร์ “โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ” ลำแรกในไทยที่ ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม
- ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม เป็นโครงการที่ก่อตั้งขึ้นในโอกาสครบรอบ 25 ปี ของ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เมื่อปี พ.ศ.2560 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับเยาวชน ชุมชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้ามาทำความรู้จักกับชุมชนขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราชให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
- ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ถือเป็นศูนย์เรียนรู้แห่งเดียวในไทยที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จริงของโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ ซึ่งเดินทางจากญี่ปุ่นมาไทยเมื่อ 40 ปีก่อน โดยผู้ชมสามารถเดินชมได้เกือบทุกห้องปฏิบัติการจริงที่เล่าเรื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้า
ย้อนไปเมื่อ พ.ศ.2523 ครั้งที่ภาคใต้ของไทยประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าใช้ในขั้นวิกฤต การเดินทางมาถึงของโรงไฟฟ้าในรูปแบบ‘เรือลอยน้ำ’จากท่าเรือประเทศญี่ปุ่น ข้ามมหาสุมทรแปซิฟิกสู่ทะเลจีนใต้ เข้ามาเทียบท่ายังชายฝั่งอ่าวไทยที่อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2523 กลายเป็นความหวังครั้งใหม่ในการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานแต่คำถามที่ตามมา ณ เวลานั้นคือ โรงไฟฟ้าบนเรือจะสามารถส่งแสงสว่างไปยังพื้นที่ปักษ์ใต้ได้ไกลแค่ไหน และโรงไฟฟ้าบนเรือสามารถเข้ามาเทียบท่าเริ่มต้นผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร ส่วนคำตอบทั้งหมดมีให้ค้นหาที่ ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ศูนย์เรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าหนึ่งเดียวในไทยที่เปลี่ยนโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ ให้เป็นนิรรศการที่ไม่ได้บอกเล่าเพียงประวัติศาสตร์พลังงานไฟฟ้า แต่ยังครอบคลุมถึงวิถีชีวิตของชุมชนขนอม และสิ่งแวดล้อมที่สามารถอยู่ร่วมกับการกำเนิดพลังงานไฟฟ้าได้อย่างยั่งยืน
นิทรรศการใจกลาง ‘โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ’
“คำถามหนึ่งที่หลายคนถามมาตลอดคือ โรงไฟฟ้าลอยน้ำเป็นอย่างไร ระบบการทำงานเป็นแบบไหน ที่สำคัญเลยคือ โรงไฟฟ้าลอยน้ำเดินทางจากญี่ปุ่นเข้ามาติดตั้งที่ขนอมได้อย่างไร ซึ่งในศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมมีการจัดแสดงให้เห็นชัดเจนย้อนไปตั้งแต่วันแรกที่มีการลากจูงโรงไฟฟ้าข้ามมหาสมุทร ต่อด้วยการติดตั้งเรือเข้ากับแผ่นดินขนอม แล้วก็เริ่มต้นวันแรกของการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่นั่นเป็นเพียงแค่นิทรรศการส่วนหนึ่ง อีกส่วนที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าได้อย่างดีก็คือการจำลองเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ เป็นเหตุการณ์วิกฤตไฟฟ้าดับทั่วพื้นที่ภาคใต้ หรือที่เรียกกันว่า Blackout Day โดยผู้ชมจะได้เข้าไปอยู่ในห้อง Control Room ที่เป็นหัวใจของโรงไฟฟ้า และเปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการใหญ่ที่ควบคุมระบบการเดินเครื่องทั้งโรงไฟฟ้า เห็นการแก้ไขปัญหาในจุดต่างๆ เห็นถึงความยากในกระบวนการกู้วิกฤตการณ์ตรงนั้น ซึ่งการได้ชมนิทรรศการในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าจริงแบบนี้จะทำให้เราสนุกและเข้าใจเรื่องไฟฟ้าได้มากขึ้น”
คุณโกศล ศิริวาลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด ในกลุ่มเอ็กโก เล่าถึงส่วนหนึ่งของความสนุกในศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งพาผู้ชมย้อนไปเมื่อ 40 ปีก่อนตอนเริ่มสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้อยู่บนบก แต่ลอยอยู่บนเรือ พิเศษกับการเปิดพื้นที่ทุกห้องสำคัญของโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำลำแรกของไทยให้ได้เข้าไปชมของจริง ในพื้นที่จริง ชนิดที่เห็นแม้แต่ภายใน Boiler หรือหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งปกติจะมีผนังปิดไว้ก็เป็นที่เดียวที่เปิดให้สามารถชมได้อย่างใกล้ชิด
“ทางเอ็กโก กรุ๊ป เราเห็นตรงกันว่าคุณค่าของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ก็คือ ตัวโรงไฟฟ้าเองที่เป็นแบบลอยน้ำลำแรกในไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างแบบเรือลอยน้ำ เทคโนโลยีการสร้างโรงไฟฟ้าที่เร็วกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าบนฝั่งถึง 2 ปี อีกทั้งเรื่องราวการใช้ชีวิตของเจ้าหน้าที่ไฟฟ้าที่อยู่ที่นี่ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ด้านพลังงานด้วย แม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการเปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืดใช้ระหว่างล่องเรือมาก็ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นด้วยตัวสถานที่ที่มีคุณค่าของเขาอยู่แล้ว การปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้เป็นศูนย์เรียนรู้จึงมุ่งให้ตัวสถานที่เป็นตัวเอกในการเล่าเรื่องราว เปลี่ยนความเป็นตัวเขาให้น้อยที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องหาจุดเชื่อมระหว่างพลังงานไฟฟ้ากับชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพราะโรงไฟฟ้าจะยั่งยืนได้ก็ต้องอยู่ร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าได้ การมาเที่ยวที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้จึงไม่ได้มีแค่ความรู้เกี่ยวกับพลังงานกลับไป แต่ที่นี่คืออีกจุดเช็กอินที่จะทำให้รู้จักวิถีของชาวชุมชนขนอม และสิ่งแวดล้อมในชุมชนมากยิ่งขึ้นด้วย”
คุณพินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมองค์กรและสังคม เอ็กโก กรุ๊ป ให้เหตุผลถึงการที่ทางเอ็กโก กรุ๊ป เลือกที่จะรักษาโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไว้ เพราะนี่คือหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย เพราะทุกเหตุการณ์บนเรือโรงไฟฟ้าแห่งนี้คือหัวใจความสว่างไสวของภาคใต้ทั้งหมด
สัมผัส ทดลองแล้วจึงจะเข้าใจ
แน่นอนว่าไฟฟ้าเป็นสาขาหนึ่งของหมวดวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ต้องกังวลว่าคนที่บอกตัวเองว่าเป็นสายศิลป์ ไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์จะไม่สนุกกับพื้นที่แห่งนี้ เพราะนิทรรศการทั้ง 7 โซนเน้นการสัมผัส จับต้อง ทดลอง เดินเข้าไปในห้องทำงานจริง ถ่ายรูปได้ เล่นได้อย่างไม่จำกัด
เริ่มจาก โซน 1 ค้นพบเปลี่ยนโลก สนุกกับประวัติศาสตร์โลกด้านการกำเนิดพลังงานไฟฟ้า ต่อด้วย โซน 2 ย้อนอดีตโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 1 กลับไปสู่วันแรกที่มีการเดินทางของเรือโรงไฟฟ้าลอยน้ำ โดยในโซนนี้จะได้เห็นภาพจริงของเรือโรงไฟฟ้าที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร พร้อมภาพมัลติมีเดียที่ค่อยๆ เห็นการเทียบท่าเข้ามาปักหมุดอย่างถาวรบนแผ่นดินขนอม และตื่นเต้นยิ่งกว่าไปกับบรรยากาศวัน Blackout Day กู้วิกฤตในวันที่ไฟดับทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ของไทย ซึ่งบอกเลยว่าลุ้นไปกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ในทุกวินาทีจริงๆ
ไฮไลต์อยู่ที่ โซน 3 เราผลิตไฟฟ้าได้อย่างไร ซึ่งเป็นเหมือนเซอร์ไพรส์ที่เปิดให้ผู้เข้าชมได้เห็นภาพของเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำขนาดใหญ่ยักษ์ ส่วนสำคัญของโรงไฟฟ้าขนอม หน่วยที่ 1 ในห้องนี้แม้จะเล่าเรื่องในเชิงเทคนิคถึงการทำงานของGenerator สีขาวขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ปั่นไฟ แต่รับรองได้ว่าเข้าใจง่ายด้วยเทคโนโลยี โปรเจคชัน แมปปิ้ง (Projection Mapping) ที่ผ่ากลางเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำให้ได้เห็นทุกขั้นตอนการทำงานด้วยภาพเคลื่อนไหวอย่างสมจริง ไม่เพียงแต่เด็ก แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ตื่นเต้นมากๆ กับการได้เห็นความลับของเจ้าเครื่องผลิตไฟฟ้ากังหันไอน้ำนี้
“ต้นทางดี…จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี”
อย่างที่เกริ่นไว้ว่าที่นี่เน้นให้ตัวสถานที่คือ โรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ เป็นพระเอกในการเล่าเรื่อง ดังนั้นเส้นทางจากโซนหนึ่งไปโซนหนึ่งจึงต้องผ่านทั้งห้องเครื่อง ห้องควบคุม แผงไฟฟ้า เดินลงไปใต้ท้องเรือชั้นล่างสุด และกลับออกมายังพื้นที่ดาดฟ้าเรือ ซึ่งทำให้ผู้ชมลุ้นในทุกตอนว่าก้าวต่อไปจะได้เจออะไร เช่นเดียวกับ โซน 4 ป่า เขา ทะเล คือเสน่ห์ของขนอม ที่พาเราทะลุจากหม้อไอน้ำมาสู่ดาดฟ้าเรือที่มีภาพของวิถีประมงพื้นบ้านบริเวณปากอ่าวขนอม รวมทั้งภูเขาที่โอบล้อมโรงไฟฟ้าเป็นเซอร์ไพรส์ และหากโชคดีคุณจะไม่ได้เจอเพียงนกออกเจ้าถิ่น แต่ยังจะได้เจอโลมาสีชมพูเป็นของที่ระลึกสุดพิเศษที่ธรรมชาติมอบให้อีกด้วย
ลัดเลาะใต้ท้องเรือกันต่อกับ โซน 5 รักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นมากกว่าหน้าที่ ซึ่งขยายภาพชัดเจนถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าที่ย้ำว่าสิ่งแวดล้อมรอบโรงไฟฟ้าต้องยั่งยืน ต่อด้วย โซน 6 บ้านของเราซึ่งเป็นเหมือนไกด์ท้องถิ่นพาไปเที่ยวชุมชนขนอมโดยข้อมูลชุดบ้านของเรานี้มาจากการลงพื้นที่ของทีมงานโรงไฟฟ้าขนอมที่ส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานของชุมชน ดังนั้นหลายสถานที่ หลายเรื่องราววัฒนธรรม ไม่ปรากฏอยู่บนแผนที่เที่ยวมาตรฐานของนครศรีธรรมราช แต่สามารถพบเจอได้เฉพาะที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้
โซน 7 แหล่งเรียนรู้อำเภอขนอมโซนนี้เป็นโซนที่เราเทใจให้รัวๆ เพราะไม่ใช่แค่การรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวมาปักหมุดไว้ แต่เบื้องหลังหมุดหมายของแหล่งเรียนรู้เหล่านี้คือการทำงานร่วมกับคนในชุมชน เยาวชน เริ่มจากการให้คนในชุมชนขนอมช่วยกันคัดเลือกแหล่งเรียนรู้ที่พวกเขาภาคภูมิใจ ต่อด้วยการออกแบบสัญลักษณ์ของหมุดหมายต่างๆที่น้องๆ เยาวชนขนอมคิดและวาดขึ้นเอง ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่กินความหมายมาก เพราะเมื่อใดก็ตามที่แหล่งเรียนรู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่ชุมชนเลือก นั่นแปลได้ว่าพวกเขาเลือกจากความภาคภูมิใจ และเมื่อเกิดจากความภาคภูมิใจพวกเขาจะรัก หวงแหน และอยากจะพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้คงอยู่คู่ชุมชนต่อไป เช่นเดียวกับพนักงานในศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ที่เกือบทั้งหมดเป็นลูกหลานของชาวชุมชนขนอม และเมื่อเขาได้มีโอกาสเข้ามาบอกเล่าเรื่องราวของบ้านเกิดพวกเขาแล้ว นั่นจึงทำให้ตลอดเส้นทางการเรียนรู้มีเสน่ห์และทำให้แขกผู้มาเยือนตกหลุมรักได้ไม่ยาก
ส่งท้ายกันที่นิทรรศการหมุนเวียน ‘Journey to the Stars ส่องไฟ มองฟ้า ค้นหาดาว’ ซึ่งเป็นนิทรรศการต่อเนื่องจากสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ประจำปี 2563 Journey to the Stars จะพาผู้ชมถือไฟฉายเดินข้ามสะพานบางแพงไปส่องหาดวงดาวกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มดาวที่อิงกับความเชื่อพื้นบ้านในภาคใต้ ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สำคัญของโลก และการเข้าสู่ท้องฟ้าจำลองฉบับมินิที่ส่งตรงจากอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสนับสนุนโดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)ยกมาไว้ในภาคใต้ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
“มาที่นี่แล้วไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเข้าใจเรื่องระบบการทำงานของไฟฟ้า หรือได้ข้อมูลเรื่องการกำเนิดโรงไฟฟ้ากลับไป การที่คนคนหนึ่งได้เข้ามาเห็นของจริงที่ปกติแทบจะไม่มีที่ไหนเปิดให้เข้าชมแบบนี้ ได้เห็นอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อน ได้เห็นสภาพของตัวโรงไฟฟ้าจริง ๆ ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง ผมว่าสิ่งที่เขาจะได้กลับไปคือการจุดประกายในเรื่องของการเรียนรู้ ยิ่งเป็นเด็กที่เรียนด้านไฟฟ้าหรือวิศวะ เด็กนักเรียนสายอาชีวะ สายช่างที่เรียนเกี่ยวกับเครื่องกล หรือไฟฟ้า เขาก็ยิ่งได้เปิดโลก ในสายอาชีพนี้ ได้เห็นของจริงว่าสายงานของเขาสามารถเติบโตไปได้อย่างไร เหมือนกับที่เอ็กโก กรุ๊ป เราพูดอยู่เสมอ ต้นทางดี…จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี นี่คือจุดประสงค์ของศูนย์เรียนรู้แห่งนี้”คุณโกศล กล่าวทิ้งท้าย
Fact File
- ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม เปิดบริการวันอังคาร-เสาร์ เวลา 9.00-16.00 น. ติดต่อเพื่อสำรองรอบเข้าชมล่วงหน้าโดยมีเจ้าหน้าที่นำชมได้ที่ egco.com/th/khanom-learningcenter เฟซบุ๊ก Khanom Learning Center โทร. 075-466-062
- นิทรรศการหมุนเวียน ‘Journey to the Stars ส่องไฟ มองฟ้า ค้นหาดาว’ จัดแสดงถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2563