เรียนออนไลน์ อาจไม่ตอบโจทย์ เด็กกว่า 168 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้ไปโรงเรียนกว่า 1 ปี
- องค์การยูนิเซฟ ได้เปิดเผยตัวเลขผลการสำรวจใน พ.ศ. 2563 พบว่าโรงเรียนทั่วโลกได้หยุดสอนเฉลี่ยเป็นเวลา 79 วัน โดยมีเด็กนักเรียนมากถึง 168 ล้านคน ที่ไม่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ชีวิตในโรงเรียน
- ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทยไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์ โดยร้อยละ 51 ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือ แท็บเบล็ตที่บ้าน
เป็นอีกเรื่องที่น่ากังวลหลังจากที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า โควิด-19 กำลังทำให้เด็กไทยหลายคนต้องหลุดจากระบบการศึกษา อันเนื่องมาจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดความยากจนเฉียบพลัน คาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 65,000 คน และไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยล่าสุด องค์การยูนิเซฟ ได้ออกมาให้ความคิดเห็นถึงระบบการศึกษาทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน เพราะไม่ใช่นักเรียนทุกคน และทุกวัยจะสามารถ เรียนออนไลน์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
องค์การยูนิเซฟ ได้เปิดเผยตัวเลขผลการสำรวจใน พ.ศ. 2563 พบว่าโรงเรียนทั่วโลกได้หยุดสอนเฉลี่ยเป็นเวลา 79 วัน โดยมีเด็กนักเรียนมากถึง 168 ล้านคน ที่ไม่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ชีวิตในโรงเรียน เพราะโรงเรียนของพวกเขาปิดเกือบตลอดทั้งปีนับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด ส่งผลให้การเรียนของเด็กๆ จำนวนมากต้องหยุดชะงักลงเป็นปีที่สองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการศึกษาของโลก ซึ่งการปิดเรียนดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการการเรียนรู้ที่หยุดชะงัก ความเครียด ตลอดจนการหลุดออกจากระบบการศึกษา
เฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า “วันแรกของการไปโรงเรียนถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับเด็กทุกคน เพราะมันคือจุดเริ่มต้นที่พาพวกเขาก้าวเข้าสู่โลกของการเรียนรู้และการเติบโต พวกเราหลายคนอาจยังจดจำรายละเอียดของการไปโรงเรียนวันแรกได้ดี ไม่ว่าจะเป็นชุดที่เราใส่ไปโรงเรียน ชื่อคุณครู เพื่อนคนที่นั่งติดกัน แต่สำหรับเด็กนับล้านคนในเวลานี้ การไปโรงเรียนวันแรกของพวกเขากลับถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โรงเรียนในหลายประเทศกำลังเริ่มกลับมาเปิดเรียนอีกครั้ง และเด็กประถม 1 หลายล้านคนต่างเฝ้าคอยที่จะเข้าไปนั่งในห้องเรียนวันแรก แต่ขณะเดียวกัน ยังมีเด็กอีกหลายล้านคนที่อาจจะไม่ได้ไปโรงเรียนเลยตลอดภาคการศึกษานี้ และสำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง ความเสี่ยงที่พวกเขาจะไม่ได้เข้าเรียนอีกเลยยิ่งมีมากเป็นทวีคูณ”
นอกจากนี้ในการสำรวจเด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทยโดยยูนิเซฟใน พ.ศ. 2563 พบว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนมากกว่า 7 ใน 10 คนมีความเครียด วิตกกังวล และเบื่อหน่าย อีกทั้งมาตรการปิดโรงเรียนทำให้เด็กและเยาวชนเกินครึ่งรู้สึกกังวลด้านการเรียน การสอบ รวมทั้งโอกาสในการศึกษาต่อ และการจ้างงานในอนาคต
ทั้งนี้จากการสำรวจ “ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติใน พ.ศ. 2563 พบว่า ครอบครัวเกือบครึ่งหนึ่งในประเทศไทยไม่พร้อมที่จะให้ลูกเรียนออนไลน์ โดยร้อยละ 51 ไม่มีคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค หรือ แท็บเบล็ตที่บ้าน อีกร้อยละ 26 ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ต้องใช้สำหรับ เรียนออนไลน์ ในขณะที่อีกร้อยละ 40 บอกว่าผู้ปกครองไม่มีเวลาคอยช่วยลูกให้เรียนออนไลน์ได้
ทั้งนี้รายงานด้านการศึกษาหลายฉบับพบข้อมูลที่น่าสนใจตรงกันว่า ประสบการณ์เชิงบวกในโรงเรียนของช่วงเปลี่ยนผ่านในวัยเด็กจะเป็นตัวบ่งชี้อนาคตด้านสังคม อารมณ์ และการศึกษาของเด็กแต่ละคน ในขณะเดียวกัน เด็กที่ขาดการเรียนรู้และพัฒนาในช่วงปีแรกมักจะรั้งท้ายตลอดช่วงการศึกษา และช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างเด็กสองกลุ่มนี้ก็จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าระดับการศึกษาของเด็กต่างก็มีผลต่อรายได้ในอนาคตของพวกเขาอีกเช่นกัน
ล่าสุด องค์การยูนิเซฟ ได้ออกข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศเร่งเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้กลับไปเรียนโดยเร็วที่สุด พร้อมเตรียมแผนฟื้นฟูการเรียนรู้ของเด็ก ยูนิเซฟร่วมกับธนาคารโลกและยูเนสโกขอเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการเรียนการสอนในโรงเรียน ดังต่อไปนี้
- จัดทำโครงการที่จะนำเด็กและวัยรุ่นทุกคนกลับสู่ระบบการเรียนในโรงเรียน ซึ่งควรให้บริการการเรียนรู้ ด้านสุขภาพกายและจิต และความต้องการด้านอื่น ๆ ตรงความต้องการของเด็กรายบุคคล
- จัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเพื่อช่วยทดแทนการเรียนรู้ที่ขาดหายไปในช่วงที่ผ่านมา
- สนับสนุนครูในการแก้ปัญหาการเรียนรู้ที่ขาดหายไป พร้อมกับนำเทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการสอน
“วันแรกของการไปโรงเรียน คือ วันแห่งความหวังและความเป็นไปได้ มันคือจุดแห่งการเริ่มต้นที่ดี แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีโอกาสเริ่มต้นที่ดีในแบบเดียวกัน เด็กบางคนยังไม่มีโอกาสได้เริ่มต้นเสียด้วยซ้ำไป เราต้องกลับมาเปิดโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้นั่งเรียนในชั้นเรียนโดยเร็วที่สุด และเราต้องแก้ปัญหาช่องว่างทางการเรียนรู้ที่เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดครั้งนี้หากเราไม่ลงมือแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เด็กจำนวนมากจะไม่มีวันตามทัน” ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การยูนิเซฟ กล่าวทิ้งท้าย
ภาพ : องค์การยูนิเซฟ