ชีวิตจะดีขึ้นแน่ แค่ต้อง ฟัง กับเทคนิคการฟังอย่างไรให้ชีวิตดีและใจไม่พัง
- ฟัง เป็นพื้นฐานของความเข้าใจ เพราะการฟังหมายถึงการรับรู้ความรู้สึก และความต้องการของอีกฝ่ายที่กำลังพูด ชีวิตจะดีหรือจะพังก็ขึ้นอยู่กับการฟังเป็นสำคัญ
- การฟังเพื่อเข้าใจเริ่มได้ง่าย เพียงแค่ผู้ฟังต้องไม่ใช้ประสบการณ์ของตัวเองตัดสินความรู้สึกและความต้องการของผู้เล่า ทั้งสองอย่าง เป็นประสบการณ์เฉพาะและโลกภายในของแต่ละคน ในเหตุการณ์เดียวกันแต่ละคนอาจรู้สึกไม่เหมือนกัน คุณอาจจะเคยฟันธงว่าคนพูดต้องการและรู้สึกแบบนี้นะ แต่เป็นความเข้าใจผิดไปอีก
การฟังเป็นทักษะแรกในกระบวนการสื่อสารเมื่อลืมตาดูโลก ทารกน้อยจะเปล่งเสียงอุแว้ แต่ไม่ใช่ภาษาพูด และช่วงวัยเกือบขวบปีที่เราทุกคนจะ ฟัง เสียงต่างๆ ก่อนจะหัดพูด และอ่าน ต่อด้วยการเขียน พัฒนาการตามลำดับที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์
การฟังเป็นพื้นฐานของการให้ความเข้าใจ (empathy) เพราะการฟังหมายถึงการรับรู้ความรู้สึก และความต้องการของอีกฝ่าย การฟังจึงเป็นจุดเริ่มของการให้ความรักและความเมตตาอย่างเป็นรูปธรรม การตั้งใจฟังมีหลายระดับ แต่การจะฟังให้เข้าใจกันนั้น มีวิธี ฟังนะจ๊ะ ว่าต้องทำอย่างไร
01 ตาดูพร้อมหูฟัง
แม้เรากำลังฟังด้วยหูแต่ตาและใจก็ต้องไม่ลืมดู “ภาษากาย” ของผู้เล่าด้วย เพราะคุณจะได้เห็นและเข้าใจว่า ถ้าหน้าสุข ใบหน้าคนพูดมีรอยยิ้ม แสดงว่าเขากำลังเล่าเรื่องที่มีความสุข แต่ถ้าหน้าทุกข์ ถ้าเขาถอนใจ กะพริบตาถี่ น้ำตาคลอ และมือกำแน่น หนึ่งในกิริยาเหล่านี้แสดงว่าเขากำลังเล่าเรื่องทุกข์
02 เรียนรู้เป็นคนช่างเลือก (ฟัง)
ระหว่างการฟังต้องไม่ลืมมองหา คำสำคัญ หรือคีย์เวิร์ด ซึ่งจะเป็นใจความสำคัญของเรื่องที่เขาเล่า คีย์เวิร์ดนั้นไม่ใช่รหัสลับแค่เราตั้งใจฟังคำที่คนเล่ามัก พูดซ้ำๆ เราก็จะรู้ว่าเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไร และถ้าสังเกตให้ลึกลงไปอีกจะพบว่าคำไหนที่สำคัญ มักจะถูกเอ่ยด้วยน้ำเสียงและท่าทีต่างไปจากคำอื่น เช่น เสียงเล่าจะเบาลง หรือเสียงหนักขึ้น หรือพูดแล้วสีหน้าเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อๆ หรือซีดจาง
03 ฟังแล้วขอร้องว่าอย่าฟันธง
การฟังเพื่อเข้าใจ เริ่มได้ง่ายเพียงแค่ผู้ฟังต้องไม่ใช้ประสบการณ์ของตัวเองตัดสินความรู้สึกและความต้องการของผู้เล่า เพราะ ความรู้สึก เช่น รัก โกรธ เกลียด หงุดหงิด รำคาญ เหนื่อย ฯลฯ หรือ ความต้องการ เช่น ความรัก ความช่วยเหลือ ความร่วมมือ การยอมรับ ความเข้าใจ การรับฟัง การรับรู้ ฯลฯ ทั้งสองอย่าง เป็นประสบการณ์เฉพาะ และโลกภายในของแต่ละคน ในเหตุการณ์เดียวกันแต่ละคนอาจรู้สึกไม่เหมือนกัน คุณอาจจะเคยฟันธงว่าคนพูดต้องการและรู้สึกแบบนี้นะ แต่เป็นความเข้าใจผิดไปอีก
04 ฟังจบแต่ความคิดไม่จบ
นี่คือขั้นตอนที่จะได้แลกเปลี่ยนกันระหว่างคนฟังและคนพูด เมื่ออีกฝ่ายเล่าจบ ฝ่ายที่ฟังควรสะท้อนให้คนเล่าว่าภาษากายที่คุณสังเกตได้จาก ข้อ 1 ถึงข้อ 3 มันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ คำสำคัญ ที่คุณเห็นมันใช่สำหรับเขาไหม ความรู้สึก ที่เราคิดว่าเป็น เขารู้สึกเช่นนั้นจริงหรือเปล่า ความต้องการ ที่เราคิดว่าเขาสะท้อนมาเป็นแบบนี้ มันตรงหรือไม่
ในกระบวนการฟังอย่างตั้งใจ ใส่ใจ วิเคราะห์และสะท้อนกลับนี้ จะช่วยสร้างภาวะของความรู้สึกการเป็น “เพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมสุข” ได้ แต่ถ้าทั้งหมดนี้กลับกลายเป็นชนวนพิพาทบาดหมางไป ต้องเริ่มฟังกันใหม่นะ บกพร่องข้อไหนก็มาฟังกัน
ต้นเรื่อง: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 406 เดือนธันวาคม 2561