How to ทิ้งหน้ากากอนามัยและ ATK ให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ลดการติดเชื้อ
Better Living

How to ทิ้งหน้ากากอนามัยและ ATK ให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม ลดการติดเชื้อ

Focus
  • ในขั้นตอนของการกำจัดขยะติดเชื้อต้องผ่านการเผา 2 ขั้นตอนด้วยกัน โดยเริ่มที่เตาเผาแรกที่อุณหภูมิอย่างน้อย 760 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วต่อด้วยเตาเผาที่สองเพื่อกำจัดมลพิษที่เกิดจากเตาเผาแรก
  • เชื้อโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีนที่เป็นส่วนประกอบของหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable mask) ได้นานถึง 7 วัน

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่หน้ากากอนามัยได้กลายมาเป็นสิ่งของจำเป็นที่ต้องมีติดกระเป๋า ติดบ้าน และต้องใช้กันทุกวันไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ชิ้นนับตั้งแต่มีสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เฉพาะประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าจะมีหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่ถูกทิ้งเป็นขยะราว 1.5 ถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน ไม่นับรวมชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน ATK (Antigen Test Kit) ที่ได้กลายมาเป็นขยะติดเชื้อประจำบ้านและออฟฟิศไปแล้วเช่นกัน ซึ่งทั้งหน้ากากอนามัยและชุดตรวจ ATK ต่างก็ถือเป็นขยะติดเชื้อที่ต้องมีการแยกทิ้งและกำจัดอย่างถูกวิธี หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเชื้อโควิด-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพลาสติกประเภท พอลิเอทิลีน ที่เป็นส่วนประกอบของหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้ง (Disposable mask) ได้นานถึง 7 วัน อีกทั้งเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าสารคัดหลั่งที่ติดบนหน้ากากอนามัยมีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนมาหรือไม่ ทำให้เราต้องประเมินไว้ก่อนว่าหน้ากากอนามัยที่ผ่านการใช้แล้วเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ Sarakadee Lite จึงขอชวนไปเปิดขั้นตอน How to ทิ้งหน้ากากอนามัย และชุดตรวจ ATK ให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และลดการติดเชื้อ

ทิ้งหน้ากากอนามัย

1. พับหน้ากากก่อนทิ้ง

ควรพับหน้ากากที่ใช้แล้วก่อนทิ้งเสมอ เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อโรคให้ผู้อื่น โดยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องทิ้งในถังขยะมูลฝอยทั่วไปที่อาจจะไม่มีฝาปิดมิดชิด การพับหน้ากากที่ใช้แล้วก่อนทิ้งจะช่วยลดโอกาสที่หน้ากากจะปลิวไปตกที่อื่นพร้อมนำเชื่อไปกระจายต่อได้อีก

2. ห้ามทิ้งใส่ขวดพลาสติก

หลายคนแยกหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วก็จริง แต่แยกใส่ในขวดพลาสติก เพราะคิดว่าเมื่อมีการปิดขวดพลาสติกเรียบร้อยก็จะเป็นการลดการกระจายของเชื้อ แถมถ้าฝนตก ขยะหน้ากากอนามัยเหล่านั้นก็ไม่เปียก ซึ่งนี่คือวิธีการทิ้งที่ผิดและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลเพราะหากเป็นขวดพลาสติกประเภท PET สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่เมื่อนำมาใส่ขยะติดเชื้อก็จะทำให้ขวดพลาสติกนั้นๆ กลายเป็นขยะติดเชื้อและต้องถูกกำจัดแบบขยะติดเชื้อ ไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ เพราะการกำจัดขยะติดเชื้อต้องใช้วิธีการเผา เมื่อต้องกำจัดขยะขวดพลาสติกติดเชื้อก็ต้องกำจัดด้วยการเผาเช่นกัน แต่การเผาขวดพลาสติกเท่ากับสร้างมลพิษเพิ่มมากขึ้น และในบางกรณีผู้คัดแยกขยะก็ต้องการนำขวดพลาสติกเหล่านั้นไปขาย ทำให้ต้องนำหน้ากากอนามัยใช้แล้วออกจากขวดก่อน ซึ่งถือเป็นการกระจายเชื้อโควิด-19 ได้อีกทาง

3. คัดแยกขยะติดเชื้อจากขยะมูลฝอยในบ้าน

ข้อสำคัญสุดในการจัดการขยะติดเชื้อไม่ให้เพิ่มการกระจายเชื้อคือ ต้องคัดแยกออกจากขยะมูลฝอยประเภทอื่นๆ เพราะการ ทิ้งหน้ากากอนามัย หรือทิ้งชุดตรวจ ATK ที่ใช้แล้วลงไปกับขยะทั่วไปจะทำให้ขยะทั่วไปกลายเป็นขยะติดเชื้อทันที ซึ่งถือเป็นการเพิ่มปริมาณขยะติดเชื้อให้มากยิ่งขึ้น และก็ต้องกำจัดโดยวิธีกำจัดขยะติดเชื้อแทนการกำจัดขยะแบบปกติ ทางที่ดีแนะนำให้แยกขยะติดเชื้อใส่ถุงสีแดงซึ่งตอนนี้เป็นได้กลายเป็นสีสากลของถุงขยะติดเชื้อในยุคโควิด-19 แล้วและก็สามารถซื้อได้ตามร้านทั่วไป หรือถ้าไม่มีถุงแดงก็แยกถุงขยะติดเชื้อด้วยตัวเองและติดป้ายเขียนให้ชัดเจน เพื่อให้พนักงานกำจัดขยะ นำขยะติดเชื้อสู่กระบวนการกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

ทิ้งหน้ากากอนามัย

4. แยกชุดตรวจ ATK ก่อนทิ้ง

แม้ชุดตรวจ ATK ที่ใช้แล้วจะเป็นขยะติดเชื้อที่มีความเสี่ยงต่อการกระจายเชื้อต่ออย่างมาก แต่ก่อนทิ้งแนะนำให้คัดแยกขยะเสียก่อน เพราะมีขยะไม่ติดเชื้อ เช่น กล่องกระดาษใส่ชุดตรวจ หลอดน้ำยาที่บรรจุน้ำยาชุดตรวจ ซึ่งสามารถกำจัดได้เหมือนขยะมูลฝอยทั่วไป และส่วนใหญ่จะเป็นขยะรีไซเคิล แต่ในส่วนที่เป็นขยะติดเชื้อ ได้แก่ ไม้สำลีปั่น หลอดผสมน้ำยา และแถบวัดผล เมื่อใช้แล้วให้แยกใส่ถุงพลาสติกจากนั้นถ้าทำได้ให้ใส่น้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาฆ่าเชื้อลงไป เพื่อทำการฆ่าเชื้อ จากนั้นปิดซองหรือถุงให้สนิทก่อนทิ้ง ซึ่งถ้าทำได้ก็ให้แยกทิ้งในถังขยะติดเชื้อ

5. อย่าเผาขยะติดเชื้อด้วยตัวเอง

ในขั้นตอนของการกำจัดขยะติดเชื้อต้องผ่านการเผา 2 ขั้นตอนด้วยกัน โดยเริ่มที่เตาเผาแรกที่อุณหภูมิอย่างน้อย 760 องศาเซลเซียสเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วต่อด้วยเตาเผาที่สองเพื่อกำจัดมลพิษที่เกิดจากเตาเผาแรก นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังให้ความเห็นว่า การจัดการขยะติดเชื้ออย่างครบวงจรยังมีเรื่องการกำจัดเถ้าหนัก เถ้าลอย ที่เกิดจากการเผาไหม้ทั้งสองเตาเผา โดยเถ้าหนักก็ใช้วิธีกลบฝัง ส่วนเถ้าลอยก็สามารถนำไปใช้ทำเป็นอิฐมวลเบาได้ 

อ้างอิง

ข้อมูลจาก ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite