5 เทคนิคบอกลาสมาธิสั้น ทำอย่างไรให้ชีวิต Productive แม้จะต้อง WFH
Better Living

5 เทคนิคบอกลาสมาธิสั้น ทำอย่างไรให้ชีวิต Productive แม้จะต้อง WFH

Focus
  • Concentration บอกลาสมาธิสั้น หนังสือในหมวดจิตวิทยาพัฒนาตนเองของสำนักพิมพ์ Amarin how-to ของ คาม ไนต์ (Kam Knight) แปลไทยโดย นุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี 
  • คาม ไนต์ นักเขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่งในหมวด Concentration บน Amazon สองปีซ้อน 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ที่สามารถเชื่อมโลกทั้งโลกใบได้แค่ปลายนิ้ว ทำให้มีสิ่งเร้ามากมายที่พร้อมจะทำลายสมาธิได้ทุกเมื่อ เพียงแค่คิดว่าจะต้องจดจ่อกับเนื้อหาที่ในประชุม หรือเนื้อหาที่อาจารย์สอนในห้องเรียนปกติเป็นเวลานาน ๆ ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องยากแล้ว และยิ่งในวิถียุคโควิด-19 ที่ต้องเปลี่ยนระบบมาเรียนออนไลน์ หรือ Work from Home (WFH) ซึ่งต้องทำอะไรอยู่คนเดียวทั้งวันนานนับเดือน ก็ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการจดจ่อหรือ Concentrate ต่อสิ่งที่กำลังทำลดน้อยลงจนไม่สามารถรับข้อมูลต่าง ๆ ได้เต็มที่

Sarakadee Lite ชวนมาบอกลาปัญหา สมาธิสั้น พร้อมเติมความ Productive ให้ชีวิต ผ่าน 5 เคล็ดลับที่ถอดมาจาก Concentration บอกลาสมาธิสั้น หนังสือขายดีอีกเล่มของ คาม ไนต์ (Kam Knight) นักเขียนหนังสือขายดีอันดับหนึ่งในหมวด Concentration บน Amazon สองปีซ้อน ในเล่มได้อธิบายตั้งแต่ความหมายของสมาธิ ตลอดจนวิธีเพิ่มสมาธิ และกำจัดสิ่งรบกวนออกไป พร้อมเทคนิคการอัปความ Productive เพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน และเพิ่มสมาธิที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่าย แต่ก็เป็นเรื่องที่หลายคนหลงลืมไป

1. ฝึกเบสิกการผ่อนคลาย

จะทำให้ร่างกายสงบได้ คุณต้องเริ่มจากการสงบจิตใจโดยสั่งให้ตัวเองผ่อนคลาย ชะลอความคิดไม่ให้วิ่งพล่าน หรืออัดแน่นไปด้วยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และบรรเทาความกลัวหรือวิตก เพื่อให้พร้อมสำหรับการทำงาน

การผ่อนคลายทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่หาที่สงบ ค่อย ๆ หลับตาและหายใจเข้า-ออกช้า ๆ สังเกตตัวเองว่ารู้สึกและคิดอะไรอยู่ ค่อย ๆ ดิ่งลึกลงไปในความคิดต่าง ๆ แล้วจึงเริ่มหายใจให้ลึกขึ้น สังเกตตัวเองอีกรอบ หากมีส่วนไหนที่ปวดตึงแล้วให้ค่อย ๆ ผ่อนคลายส่วนนั้น หลังจากนั้นให้นึกจินตนาการภาพที่มองแล้วรู้สึกสบายใจ ท่องซ้ำ ๆ ว่า “ฉันรู้สึกผ่อนคลาย” พร้อมกับผ่อนคลายส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

Productive

2. ปรับความวอกแวกด้วยการเพิ่มเป้าหมาย

จิตใจของมนุษย์เปรียบเสมือนเครื่องจักรแสวงหาและถูกผลักดันด้วยเป้าหมายและจุดประสงค์ ทันทีที่จุดประสงค์อย่างหนึ่งปรากฏชัด คุณจะไม่วอกแวก พลังทุกรูปแบบ เช่น แรงกระตุ้นและความกระตือรือร้นจะช่วยผลักดันให้คุณหันไปจดจ่อกับเป้าหมายนั้น ๆ แทน และเมื่อเป้าหมายชัดก็จะทำให้คุณเกิดสมาธิในการทำสิ่งนั้น ๆ ขึ้นอย่างอัตโนมัติ

เช่นตอนมัธยมเราอาจจะสนุกกับการไปเที่ยวเตร่ทุกวัน ๆ แต่เมื่อเราตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ เราจะขยัน และอยากอ่านหนังสือเตรียมสอบเอง โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับ  ดังนั้นเมื่อรู้สึกเสียสมาธิ ขอให้นึกถึงเป้าหมายให้แน่ชัดเพื่อปรับกลไกจิตใต้สำนึกให้สอดคล้องกับสิ่งที่ปรารถนา

3. To-do List ที่ไม่ได้แค่ลิสต์อยู่ในหัว

การเช็กลิสต์สิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้แต่ไม่ค่อยมีใครทำ ทุกคนจะบอกคล้าย ๆ กันว่า ฉันรู้อยู่แล้วว่ามีงานมากมายรอฉันอยู่ แต่เวลาที่งานเข้ามาตูมเดียวพร้อม ๆ กันจะทำให้เราเสียสมาธิ วอกแวก ไม่สามารถโฟกัสกับสิ่งที่ทำอยู่ได้จริง ๆ จนทำให้งานแต่ละอย่างเดินช้าและด้อยประสิทธิภาพ เพราะในหัวก็เอาแต่คิดถึงภารกิจอื่น ๆ ที่ต้องทำต่อไป หรือภารกิจที่ยังค้างคาอยู่ 

วิธีแก้ปัญหานี้ก็คือการเขียนทุกอย่างออกมาเป็นรายการที่ต้องทำ หรือ To-do List โดยจัดเรียงลำดับสิ่งที่ต้องทำในวันนั้น ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมงานทั้งหมดได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้นโดยเราต้องหมั่นดูรายการที่จดไว้เรื่อยๆ เพื่อย้ำเตือนตัวเองว่ามีสิ่งไหนที่ทำเสร็จแล้ว ยังไม่ทำ หรือทำค้างไว้อยู่หรือไม่ ให้ขีดฆ่ารายการที่เสร็จแล้ว เพิ่มเติมงานใหม่ ๆ ที่นึกขึ้นได้ และควรบันทึกรวมทุกอย่างไว้ในที่เดียวกัน

Productive

4. เพิ่มความสร้างสรรค์ด้วยพลัง Deadline

นโปเลียน ฮิล ผู้เขียนหนังสือ Think and Grow Rich กล่าวว่า “นิสัยผัดวันประกันพรุ่งคือนิสัยแย่ ๆ ที่ชอบผัดผ่อนสิ่งที่ควรทำเมื่อวานซืนเอาไว้ไปทำวันมะรืน” บ่อยครั้ง แรงผลักดันมักเริ่มทำงานเมื่อใกล้ถึงเดดไลน์ (deadline) หรือ กำหนดส่งงาน และคงไม่มีอะไรปลุกเร้าสมาธิได้เท่ากับการเผชิญหน้ากับเดดไลน์อีกแล้ว ดังนั้น เราจึงควรใช้ประโยชน์จากตรงนี้มาสร้าง “กรอบเวลา” ให้แก่งานต่าง ๆ

การวางกรอบเวลา หรือ Timeboxing คือการวางแผนโดยกำหนดเวลาในการทำงานแต่ละชิ้นเอาไว้ให้แน่นอน เช่นกำหนด 2 ชั่วโมงในการทบทวนบทเรียนตามที่อาจารย์สั่ง หรือกำหนดว่าทุก ๆ วันเสาร์จะต้องเขียนนิยายให้ได้ 5,000 คำ เป็นต้น

การวางกรอบเวลาเป็นเทคนิคที่ได้ผลดี เพราะช่วยให้เราเปลี่ยนโฟกัสจากตัวกิจกรรมไปเป็นเวลา กระตุ้นให้ตัวเองรู้สึกตื่นตัว แต่ก็ต้องอย่าลืมที่จะกำหนดกรอบเวลาให้สมเหตุสมผลกับงานที่ทำ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่เกิดประโยชน์

5. คิดจะพัก ให้พัก

การทำงานติดต่อกันหลายๆ ชั่วโมง เป็นสิ่งที่ทำลายพลัง แรงผลักดัน แรงจูงใจ และทำลายสมาธิ ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดข้อผิดพลาด หรือมองข้ามบางอย่างไป ดังนั้นการถอยห่างจากงานหรือกิจกรรมสักอย่างให้ร่างกายและจิตใจได้พักตามเวลาที่เหมาะสม จะทำให้เราสามารถกลับมาทำงานอีกครั้งได้เต็มสมรรถภาพ ซึ่งการหยุดพักหมายถึงเราจะทำอะไรก็ได้ยกเว้นงานที่ทำอยู่ สามารถออกไปชงกาแฟ ไปเล่นกับสุนัข หรือแม้แต่การงีบก็นับว่าเป็นการหยุดพักเช่นเดียวกัน

Fact File

  • Concentration บอกลาสมาธิสั้น หนังสือในหมวดจิตวิทยาพัฒนาตนเองของสำนักพิมพ์ Amarin how-to ของ คาม ไนต์ (Kam Knight) แปลไทยโดย นุชนาฏ เนตรประเสริฐศรี ราคา 295 บาท

Author

วิวิศนา อับดุลราฮิม
Introvert ผู้เสพติดการอ่านนิยายดราม่า ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตไปกับการติ่ง k-pop และ c-pop