
ตามหา “ความหลากหลาย” ในดอยอินทนนท์ ร่วมบ่มเพาะต้นกล้าแห่งการอนุรักษ์ กับ ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 60
- บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group และ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย EGCO Group ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์จัดค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 60
- ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่ามาอย่างต่อเนื่องถึง 27 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมีความเชื่อที่ว่า “ต้นทางดี จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี”
“ค่ายนี้ใช้หัวข้อว่า ‘ความหลากหลาย’ ซึ่งเป็นหัวข้อที่ลึกซึ้งมาก ทำให้มาคิดต่อว่าความหลากหลายคืออะไร พอไปถึงดอยอินทนนท์ ได้เข้าไปในป่าจริงๆ จึงได้เข้าใจว่าความหลากหลายไม่ได้หมายถึงป่าที่มีสัตว์ป่าอย่างที่เคยเข้าใจ แต่คำนี้ยังชวนให้มองตั้งแต่สภาพแวดล้อม พืชพรรณ ต้นไม้ วิธีที่สิ่งมีชีวิตในป่าอาศัยอยู่ร่วมกัน มอสส์อาศัยอยู่บนต้นไม้ มีไลเคน มีแมลง มีลำธาร ค่อยๆ ประกอบกันเป็นป่า ทุกอย่างเชื่อมโยงกันเป็นเหมือนห่วงโซ่ ถ้าหากขาดอะไรไปก็จะทำให้สายใยนั้นไม่สมบูรณ์ ความหลากหลายที่ได้พบในป่าอินทนนท์ ทำให้รู้ว่าจริงๆ เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนเล็กๆ ในความหลากหลายของธรรมชาตินี้ ผมชอบกิจกรรมแผนที่เสียง เพราะนอกจากจะทำให้ได้อยู่กับตัวเองแล้ว ยังทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากขึ้นด้วย”

เมื่อหัวใจของป่าต้นน้ำคือความหลากหลายทางชีวภาพ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group และ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย EGCO Group ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จึงไม่รอช้าชวนเยาวชนจากทั่วทุกภูมิภาค เก็บกระเป๋าแล้วเดินทางสู่ป่าต้นน้ำดอยอินทนนท์กับ ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 60 ซึ่งปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ตามหา “ความหลากหลาย” ในดอยอินทนนท์” ระหว่างวันที่ 22 – 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยคัดเลือกเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจำนวน 69 คน จากผู้ที่ส่งใบสมัครเข้ามามากกว่า 800 คน ไปร่วมตั้งคำถามว่าอะไรคือความหลากหลายของธรรมชาติ และทำไมธรรมชาติโดยเฉพาะป่าต้นน้ำต้องมีความหลากหลายเป็นหัวใจสำคัญ เช่นเดียวกับที่ กฤติน เวนเต้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย กรุงเทพฯ บอกเล่าไว้ข้างต้นว่าความหลากหลายที่เขาพบเจอในค่ายฯ มีความลึกซึ้งกว่าที่เขาเคยคาดคิด เพราะไม่ได้หมายถึงป่าที่มีสัตว์ป่าเท่านั้น แต่หมายถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหมดที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นห่วงโซ่ในผืนป่า เมื่อได้มาค่ายฯ เขาถึงได้รู้ว่าป่าจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ แม้แต่มอสส์หรือไลเคนเล็กๆ

“สมัยเด็กๆ เราอาจจะเคยได้ยินว่า มีป่า มีน้ำ แต่จริงๆ แล้วการมีป่าที่สมบูรณ์ต้องมีเรื่องความหลากหลายของธรรมชาติด้วย แม้แต่การขาดสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างจุลินทรีย์หรือเห็ดราไปก็ย่อมมีผลกระทบต่อผืนป่า รวมทั้งมนุษย์ไม่มากก็น้อย ระยะเวลา 7 วัน 6 คืนในค่ายฯ ที่เด็กๆ ได้มาร่วมสำรวจป่าต้นน้ำดอยอินทนนท์ เราพยายามเชื่อมโยงให้เห็นถึงผลกระทบว่า ถ้าความหลากหลายของผืนป่าหายไป เช่น นกประจำป่าอินทนนท์ที่หายไป กวางผาที่ลดจำนวนลง แมลง หรือพืชพรรณท้องถิ่นที่เริ่มเห็นได้ยาก สิ่งเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อผืนป่า ซึ่งค่ายฯ เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ให้เด็กๆ ได้เห็นว่าธรรมชาติกับตัวเขาคือสิ่งเดียวกัน”


มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ให้รายละเอียดถึงการออกแบบค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และมีการเปลี่ยนหัวข้อการจัดค่ายฯ ไปทุกปี โดยหัวข้อในปีนี้เน้นเรื่องการตามหาและเรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในป่าต้นน้ำดอยอินทนนท์ กิจกรรมในค่ายฯ ไม่ได้มีแค่การเรียนรู้ทฤษฎีด้านสิ่งแวดล้อม แต่เยาวชนยังได้เดินป่าจริงๆ ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ที่มีความหลากหลายด้านภูมิประเทศและพืชพรรณ พร้อมทั้งสำรวจระบบนิเวศป่าพรุน้ำจืดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาและสัมผัสระบบนิเวศสูงสุดแดนสยามในเส้นทางศึกษาธรรมชาติยอดดอย รวมทั้งเรียนรู้ระบบนิเวศในห้องเรียนธรรมชาติในป่า 6 คนโอบ และได้เรียนรู้ความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีผลต่อความสมบูรณ์ของป่าต้นน้ำ โดยขยายองค์ความรู้มาจากหนังสือภาพถ่าย “ลมหายใจในป่าเมฆ ดอยอินทนนท์” ที่มูลนิธิฯ ได้จัดทำขึ้น เพื่อถ่ายทอดคุณค่าและความสวยงามของป่าต้นน้ำดอยอินทนนท์ ในฐานะบ้านของสัตว์ป่าและพืชพรรณ ตลอดจนความหลากหลายทางชีวภาพสู่สังคมวงกว้าง โดยการนำเยาวชนในค่ายฯ เดินทางเข้าไปสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำของจริงที่จะสร้างแรงกระเพื่อมด้านการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นกับต้นกล้าเยาวชนรุ่นใหม่

“หนูได้เรียนรู้เรื่องความหลากหลายตั้งแต่มาถึงสถานีกรุงเทพอภิวัฒน์เลยค่ะ เพราะได้เจอเพื่อนจากทั่วทุกภูมิภาค พอขึ้นไปบนดอยอินทนนท์ก็มีสภาพภูมิอากาศไม่เหมือนบ้านหนูในจังหวัดสงขลา ภาคใต้ ที่ค่อนข้างร้อน พืชพรรณ ต้นไม้ และป่าก็ไม่เหมือนที่บ้านหนู ก่อนมาค่ายฯ เคยคิดว่าน่าจะได้เรียนรู้ในห้องเรียนมากกว่า แต่เกินคาด เพราะที่นี่ให้เราได้ไปเดินดูธรรมชาติที่เป็นป่าจริงๆ การได้เรียนรู้แบบนี้ทำให้หนูได้เข้าใจว่าความหลากหลายมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และทำให้โลกของเรายังคงเป็นโลกของเราได้ ต้องมีทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ย่อยสลาย ทุกอย่างล้วนมีความสำคัญ มีบทบาท และส่งผลกระทบถึงกัน ไม่สามารถขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปได้”

วิรัลพัชร ด้วงรัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสะเดา “ขรรค์ชัยกัมพลานนท์อนุสรณ์” จังหวัดสงขลา เล่าถึงความหมายของความหลากหลายที่เธอได้พบเจอระหว่างอยู่ในค่ายฯ ซึ่งนี่เป็นค่ายแรกในชีวิตที่เธอสมัครมาด้วยตัวเองและยังบอกว่า นี่คือค่ายที่เปลี่ยนชีวิตและมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมของเธออย่างมาก จนทำให้เธอแทบจะไม่อยากเด็ดใบไม้เลยสักใบ

เยาวชนอีกคนที่ได้เปิดมุมมองเรื่องความหลากหลายคือ อรสา สว่างโศรก นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนหนองขามวิทยา จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมาจากป่าอีสานที่มีความเฉพาะตัว แตกต่างจากป่าเมืองเหนือ “หนูเคยไปค่ายเด็กของมูลนิธิไทยรักษ์ป่าตั้งแต่ตอนประมาณ ป.4 ถึง ป.5 และเข้าร่วมค่ายสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้เห็นความแตกต่างของป่าในชัยภูมิและภาคเหนือ ที่ดอยอินทนนท์มีต้นไม้สูงอยู่บนดอย ส่วนป่าชัยภูมิเป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ หนูเพิ่งรู้ว่าป่าที่อุ้มน้ำต้องมีเฟิร์น พอถึงหน้าร้อนเฟิร์นก็ปล่อยน้ำออกมาเพื่อให้ข้างล่างยังมีน้ำอยู่ นอกจากนี้ยังได้เจอนกกินปลีหางยาวบินมาใกล้ๆ กับดอกกุหลาบพันปี ทำให้หนูเข้าใจเลยว่าความหลากหลายเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าวันหนึ่งเราไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมจนความหลากหลายหายไป ก็อาจจะสายเกินไปแล้ว”

นอกจากเป็นการรวมตัวของต้นกล้าด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่ายังเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เคยผ่านประสบการณ์ในค่ายฯ ได้กลับมาเป็นพี่เลี้ยงส่งต่อแรงบันดาลใจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้รุ่นน้องด้วย และ ชัชวาลป์ จันทะหะ คือหนึ่งในนั้น จากอดีตน้องค่ายฯ รุ่นที่ 56 ได้ต่อยอดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องสู่พี่ค่ายฯ รุ่นที่ 58 และรุ่นที่ 60 รวมทั้งได้เข้าร่วมชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่กำลังศึกษาอยู่ และปัจจุบันยังเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเยาวชนไทยรักษ์ป่า จังหวัดชัยภูมิ
“มาค่ายฯ ครั้งแรกประทับใจกิจกรรมต้นไม้เพื่อนรัก พี่ๆ ในค่ายพูดว่าต้นไม้ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือมากอดเราตรงๆ เหมือนมนุษย์ แต่ต้นไม้ให้หลายอย่างกับเรา ทั้งอากาศ น้ำ ร่มเงา และอาหาร สิ่งที่เราตอบแทนเขาได้คือการอนุรักษ์ธรรมชาติ นอกจากนี้ค่ายฯ ยังทำให้เข้าใจระบบนิเวศในป่า เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานก็จะแตกต่างจากป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังที่บ้านของผมในจังหวัดชัยภูมิ ความแตกต่างและหลากหลายนี้ทำให้เราอยากเข้าใจและอยากรักษาความมหัศจรรย์ของธรรมชาติไว้”

เมื่อถามถึงเหตุผลที่อยากกลับมาเป็นพี่เลี้ยงค่ายและเดินหน้าทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องนั้น ชัชวาลป์ มองว่าธรรมชาติทุกวันนี้เสื่อมโทรมลง การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะทำให้ธรรมชาติกลับมาดีขึ้นอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะกำลังคนไม่เพียงพอ การมาค่ายฯ และร่วมปลูกจิตสำนึกให้กับคนรุ่นใหม่จึงเหมือนกับการเพิ่มกองทัพที่มีอุดมการณ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเหมือนกัน โดยที่เขาก็หวังว่าจะทำให้ธรรมชาติกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

สำหรับค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าได้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เยาวชนมาแล้วถึง 60 รุ่น จำนวนกว่า 3,500 คน และแม้จะเป็นการเปิดโรงเรียนสิ่งแวดล้อมระยะสั้นเพียง 1 สัปดาห์ แต่สำหรับ ณภัทร แสงรัตน์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กลับมองว่าค่าย 7 วัน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับตัวเองได้

“ความจริงผมไม่ค่อยเชื่อคำนี้เท่าไรที่เขาบอกว่า ‘ค่ายสร้างคน’ เพราะผมเคยเข้าค่ายมาเยอะมากและเคยทำค่ายเองด้วย แต่สำหรับค่ายนี้มันเปลี่ยนมุมมองของผมใหม่ กระบวนการของค่ายนี้ไม่ได้เรียนรู้แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เรากำลังเรียนรู้ชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้ฉุกคิดว่าเราจะอยู่โดยรักษาสิ่งที่ก่อกำเนิดเรามาอย่างไร หลายๆ กิจกรรมในค่ายฯ เป็นการได้ส่องกระจกดูตัวเองว่า การกระทำของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ค่ายนี้สอนทั้งการใช้ชีวิตและเรื่องสิ่งแวดล้อม เปิดให้เห็นมุมมองใหม่ มุมมองที่เห็นคุณค่าของสิ่งที่เราอาจจะเคยมองว่าไม่สำคัญ แต่แฝงไปด้วยความสำคัญและสร้างสิ่งสำคัญที่สุดให้กับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ผมได้เห็นว่าความหลากหลายกำลังทำหน้าที่เติมเต็มให้กับสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา ผมอยากบอกคนที่ต้องการสมัครมาค่ายฯ ปีหน้าว่า ค่ายนี้เป็นค่ายที่ไม่ธรรมดากับชีวิตผม ขอพูดในฐานะคนที่ผ่านค่ายมาเยอะมาก ค่ายนี้เป็นค่ายสร้างคนจริงๆ”

และเมื่อถามต่อถึงประเด็น ค่ายสร้างคน กับเลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่าที่สานต่อค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่ามาอย่างต่อเนื่องถึง 27 ปี มานนีย์ พาทยาชีวะ ย้ำว่าเธอเป็นคนหนึ่งที่เชื่อในพลังของค่ายและพลังของเยาวชน
“EGCO Group และมูลนิธิไทยรักษ์ป่า มีความเชื่อว่า “ต้นทางดี จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” ต้นทางของเราคือเยาวชน การทำค่ายเป็นเหมือนการหยอดเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ลงในจิตใจ ให้ค่อยๆ งอกงามและเติบโต แต่ระหว่างทางที่เขาจะเติบโตก็ต้องมีการใส่ปุ๋ยพรวนดิน เยาวชนต้องการโอกาสและพื้นที่ในการเติบโตและแสดงศักยภาพ หลายคนอาจจะมองว่าค่ายฯ เป็นแค่กิจกรรมหนึ่งในช่วงเวลาสั้นๆ แต่กลับกัน ค่ายฯ เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่าง เพราะเยาวชนในวันนี้คือคนที่จะมีบทบาทสําคัญในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในวันข้างหน้า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราตั้งใจทำค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่ามาอย่างต่อเนื่องตลอด 27 ปี”
Fact File
- ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่ารุ่นต่อไปได้ที่เฟซบุ๊ก “มูลนิธิไทยรักษ์ป่า” www.facebook.com/thairakpaofficial
