Inspired by Nature หยอดเมล็ดพันธุ์ ‘ความรักษ์’ ในหัวใจ กับค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า รุ่นที่ 58
- โครงการ ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า จัดโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ร่วมกับ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย EGCO Group
- ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 58
- ภารกิจของค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าคือการส่งต่อแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนสู่น้อง ๆ เยาวชนไทย
“ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า เป็นค่ายสิ่งแวดล้อมครั้งแรกในชีวิต ผมอาจจะไม่ได้เข้าใจธรรมชาติมากนัก แต่หลังจาก 7 วัน 6 คืน ที่มาเข้าค่ายฯ ที่ดอยอินทนนท์ สิ่งที่ผมได้รับก็คือ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะเปลี่ยนแปลงธรรมชาติให้ดีขึ้นมากกว่านี้”
นี่คือเสียงสะท้อนเล็ก ๆ จาก อิทธิชัย โชสนับ จากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี 1 ใน 64 เยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศ ที่ออกเดินทางมุ่งหน้าตามหาแรงบันดาลใจจากผืนป่าต้นน้ำ ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ในโครงการ ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า จัดโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ร่วมกับ มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย EGCO Group เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ และ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2567 กับภารกิจในการส่งต่อแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนสู่น้อง ๆ เยาวชนไทย ซึ่งค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 58 โดยนำความเชื่อที่ว่า “ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” มาเป็นหัวใจในการออกแบบค่ายสิ่งแวดล้อม ให้เด็ก ๆ ได้นำความรู้สึกไปห่อหุ้มความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ให้เมล็ดพันธุ์แห่งความรัก ความหวงแหน อยากที่จะปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ถูกหยอดลงไปในหัวใจของเยาวชนไทย
“EGCO Group เชื่อว่า ‘ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี’ คำว่า ‘ต้นทาง’ ในที่นี้หมายถึงพลังของป่าต้นน้ำที่สูงที่สุดในประเทศอย่างดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำ พลังงาน และความหลากหลายทางชีวภาพ และ ‘ต้นทาง’ ที่ 2 หมายถึง เยาวชน ซึ่งเป็นวัยต้นทางแห่งการเรียนรู้และจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ จุดเริ่มต้นของค่ายจึงเป็นการทำให้ต้นทางทั้งสองมาบรรจบกัน ด้วยการพาเยาวชนไปสัมผัสป่าต้นน้ำ ซึ่งเราเชื่อว่าจะสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างให้เกิดขึ้นได้ ถ้าเด็ก ๆ ได้ออกไปสัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง”
มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ย้อนเล่าถึงเหตุผลในการก่อตั้งโครงการค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าที่เริ่มขึ้นเมื่อราว 27 ปีก่อน ซึ่งในขณะนั้นสังคมวงกว้างยังไม่ได้ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากนักและค่ายสิ่งแวดล้อมสำหรับเยาวชนก็ยังมีไม่มาก โดยแก่นของค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า คือ การเปิดโอกาสให้เยาวชนเดินทางเข้าไป “สัมผัสตรง” กับป่าต้นน้ำ รวมถึงอยู่ในค่ายฯ ที่แวดล้อมไปด้วยผู้คนรุ่นเดียวกันและคนที่สนใจงานอนุรักษ์ ซึ่งจะสร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการเอาความรู้สึกมาหุ้มความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในกิจกรรมต่าง ๆ
“ค่ายเราอาจจะไม่ใช่ค่ายที่เน้นวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมมาก ๆ แต่เราเน้นไปที่ความรู้สึกที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ซึมซับกับธรรมชาติ จุดประกายให้เขาสนใจที่อยากจะกลับไปสืบค้น ค้นคว้าต่อ ตัวกิจกรรมในค่ายจึงแบ่งเป็นเนื้อหาวิชาการประมาณ 30 เปอร์เซนต์ ความรู้สึกและการสร้างแรงบันดาลใจจากการได้รู้จักและสัมผัสธรรมชาติโดยตรงประมาณ 40-50 เปอร์เซนต์ ที่เหลือจะเป็นการลงมือปฏิบัติ เพราะเราเชื่อว่าเวลาเราจะรักอะไร เราจะต้องรู้จักสิ่งนั้นก่อน รู้เพื่อจะรักอย่างเข้าใจ เรื่องธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน” เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ขยายคอนเซ็ปต์ของค่ายที่นำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่ไม่ได้มุ่งไปที่ด้านทฤษฎีเท่านั้น แต่เน้นจุดประกายให้เยาวชนเกิดความรักและอยากจะอนุรักษ์ผืนป่าแม้จะจบค่ายไปแล้ว
“เป็นครั้งแรกที่ได้มาค่ายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก่อนมาค่ายหนูก็รู้อยู่แล้วว่าป่ามันสำคัญ แต่ไม่ได้นึกถึงว่าจะสำคัญขนาดนี้ จากที่ไม่เคยรู้ว่าป่าต้นน้ำคืออะไร ก็ได้รู้ว่าป่าต้นน้ำสำคัญอย่างไร เราทุกคนเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง แต่ป่าไม่มีสิทธิ์เรียกร้องอะไรของเขาเลย หนูก็เลยอยากเอาความรู้สึก ความรู้ที่ได้จากพี่ ๆ ในค่ายไปบอกต่อน้อง ๆ ในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้ร่วมกันดูแลธรรมชาติและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน” อรปรียา พิมพ์ศรี สมาชิกค่ายจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม บอกเล่าถึงความรู้สึกหลังจบค่าย ซึ่ง อรปรียา บอกว่าแม้นี่จะเป็นค่ายสิ่งแวดล้อมค่ายแรกของเธอ แต่กลับจุดประกายให้เธออยากกลับไปทำโครงการจัดการขยะในโรงเรียนและเอาความสำคัญของผืนป่าไปบอกต่อ
ด้าน กุลภรณ์ รัตนจรัสโรจน์ นักเรียนจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต กรุงเทพฯ เล่าว่านี่เป็นการเข้าค่ายสิ่งแวดล้อมครั้งแรกของเธอเช่นกัน กุลภรณ์ย้อนเล่าว่า กิจกรรมต้นไม้เพื่อนรัก เป็นกิจกรรมที่ทำให้เธอได้เปิดใจกับธรรมชาติมากที่สุด “การที่เราจะได้รักและเข้าใจใครสักคนเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะกับธรรมชาติ หลายคนคงสงสัยว่าเขาพูดไม่ได้ เราจะไปเป็นเพื่อนกับเขาได้ยังไง แต่กิจกรรมนี้ทำได้เราเป็นเพื่อนกับต้นไม้ได้ กิจกรรมนี้ทำให้เข้าใจ สัมผัสกับเพื่อนที่มีความจริงใจและให้ทุกอย่างกับเราตลอดมา หลายคนก็คงจะรู้อยู่แล้วว่า ทุกวันนี้ทรัพยากรธรรมชาติกำลังลดลงเรื่อย ๆ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามันลดลงเยอะแค่ไหน แล้วจะปล่อยให้มันลดลงแบบนี้ต่อไปอีกนานเท่าไร”
สำหรับ ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า ได้สร้างเครือข่ายเยาวชนรักษ์ป่าทั่วประเทศกว่า 3,400 คน และสำหรับในรุ่นที่ 58 นี้ มีเยาวชนที่เดินทางไกลมาจากพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อที่ต้องการจะเห็นว่าป่าต้นน้ำในดินแดนเหนือสุดต่างกับป่าในดินแดนใต้สุดอย่างไร
“เหตุผลแรกที่สมัครมาค่าย เพราะผมอยากไปดูว่าธรรมชาติของภาคเหนือกับภาคใต้มันต่างกันอย่างไร แล้วตอนนี้ผมก็ได้คำตอบนั้นแล้วว่า ภาคเหนือกับภาคใต้มีธรรมชาติที่เหมือนกันมาก”
มูฮามัดรอฟัด เฮงดาดา จากโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา เล่าถึงเหตุผลที่ตัดสินใจสมัครมาค่าย ซึ่งนอกจากความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกสิ่งที่มูฮามัดรอฟัดประทับใจคือการได้ความมั่นใจกลับไปด้วย เพราะสำหรับเขาแล้ว โอกาสที่เด็กชายจากจังหวัดใต้สุดจะได้เจอเพื่อนจากหลากหลายภูมิภาคไม่ใช่เรื่องง่าย และนั่นก็ทำให้เขาได้ความกล้าที่จะเข้าไปเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมและรู้จักผู้คนที่แตกต่างหลากหลายมากขึ้น และเมื่อถามต่อถึงสิ่งที่อยากจะทำหลังกลับจากค่าย มูฮามัดรอฟัด ตอบว่าเขาอยากสร้างเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านของเขาที่มีธรรมชาติที่สวยงามมาก ๆ
“หมู่บ้านของผมมีธรรมชาติที่สวยงามอยู่แล้ว แต่ผมอยากให้ทุกคนช่วยดูแล ผมอยากจะเอาความรู้ในค่ายนี้ไปสานต่อ คือที่หมู่บ้านมีธรรมชาติ ลำธาร ลำคลองที่สวยมาก แต่สิ่งเหล่านั้นไม่มีใครดูแล ผมคิดว่าเราจะทำเป็นทีม เอาผู้ใหญ่สัก 10 คน คนวัยกลาง 10 คน คนประถม 10 คน มาร่วมมือกันให้เขาเห็นว่าธรรมชาติคือสิ่งที่สำคัญ ซึ่งผมทำคนเดียวไม่ได้ เหมือนกับว่าผมเป็นแค่ไฟเทียนเล็ก ๆ แต่ถ้าผมไปมอบไฟให้คนอื่นต่อ แล้วมอบต่อ ๆ กันไป เราสามารถเป็นกองไฟได้ ถ้าไฟเทียนนี้สามารถไปจุดไฟให้คนอื่นได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดีมาก”
แม้ ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่า จะเป็นค่ายสิ่งแวดล้อมที่มีระยะเวลาเพียง 7 วัน 6 คืน แต่ มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า เชื่อมั่นว่า ค่ายนี้จะเป็นหนึ่งในต้นทางที่จะหยอดความรู้สึกในการรักษ์ผืนป่าลงไปในใจเยาวชนได้
“ค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่าอาจเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิตของเด็ก ๆ แต่ความประทับใจ ประสบการณ์จากค่ายจะไปอยู่ในความทรงจำ ที่เวลาย้อนนึกถึงจะเกิดความสะเทือนในบางเรื่อง ค่ายจึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เด็ก ๆ จะไปต่อยอด เป็นการหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปในใจ มันก็อาจจะต้องใช้การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดินเพิ่มเติมในโอกาสต่อ ๆ ไป แต่เราก็เชื่อว่าค่ายจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหย่อนเมล็ดพันธุ์ลงไปในใจ ในความรู้สึก เด็ก ๆ อาจจะไม่รู้ตัวว่าได้อะไร แต่เวลาเขาจะทำอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ เขาก็จะกลับมานึกถึงค่ายนี้ที่เขาเคยได้ซึมซับถึงคุณค่าและ ‘ความรักษ์’ ที่มีต่อธรรมชาติ”
Fact File
- ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับค่ายเยาวชนเอ็กโกไทยรักษ์ป่ารุ่นต่อไปได้ที่เฟซบุ๊ก “มูลนิธิไทยรักษ์ป่า” www.facebook.com/thairakpaofficial