เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด : EGCO Group ชวนเด็ก ๆ ปล่อยไอเดียยื้อโลกเดือดใน “มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 67”
Better Living

เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด : EGCO Group ชวนเด็ก ๆ ปล่อยไอเดียยื้อโลกเดือดใน “มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 67”

Focus
  • EGCO Group โดย ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ยกโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำลำแรกและลำเดียวของไทย จาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช มาเปิดป๊อปอัพกันที่งาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567
  • นิทรรศการ “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด” หนึ่งในไฮไลท์ของมหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 2567 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 25 สิงหาคม 2567 ณ อาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

เมื่อเชื่อว่า “ต้นทางดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี” บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group โดย ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม จึงไม่รอช้า ยกโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำลำแรกและลำเดียวของไทย จาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช มาเปิดป๊อปอัพกันที่งาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 พร้อมชวนเยาวชนมาเปล่งแสง  ยื้อโลกเดือดผ่านการเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงาน และจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ในการลดโลกร้อน ซึ่งแม้หลายคนอาจจะมองว่าเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานดูเป็นเรื่องยากและไกลตัวสำหรับเด็ก ๆ แต่ EGCO Group กลับคิดต่าง เพราะมีฐานความเชื่อที่ว่า “เด็กทุกคนมีแสง มีศักยภาพในตัวเอง” เหลือก็เพียงการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสในการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้ถ่ายทอดศักยภาพหรือ “เปล่งแสง” ของแต่ละคนออกมา และนั่นจึงเป็นที่มาของ นิทรรศการ “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด” หนึ่งในไฮไลท์ของ มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 2567 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 25 สิงหาคม 2567 ณ อาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

เด็กเปล่งแสง
เด็กเปล่งแสง
(ซ้าย) ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group

ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย EGCO Group ได้ส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงานในกลุ่มเยาวชน ผ่านการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นประจำทุกปี และยังได้รับเกียรติจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้เข้าร่วมจัดบูธนิทรรศการในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ศูนย์เรียนรู้ฯ จะได้ใช้ศักยภาพด้านการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตไฟฟ้า พลังงาน และการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างมากขึ้น ที่สำคัญคือการสร้างประสบการณ์ จุดประกายไอเดีย และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนได้คิดค้นพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และร่วมกัน “เปล่งแสง” อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเติบโตและมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำต่อไป”

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group กล่าวถึงบทบาทการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงานในกลุ่มเยาวชนของ EGCO Group ผ่านศูนย์เรียนรู้ฯ

เด็กเปล่งแสง
เด็กเปล่งแสง

ในขณะที่ พินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมองค์กรและสังคม ฝ่ายสื่อสารองค์กร EGCO Group ย้อนเล่าถึงการเข้าร่วมจัดบูธนิทรรศการในมหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ครั้งแรกในปี 2566 ที่ EGCO Group ได้ยกศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม จำลองโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำมาให้ได้ชมกันที่กรุงเทพฯ  พร้อมนิทรรศการเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และอนาคตที่มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

สำหรับการจัดบูธนิทรรศการต่อเนื่องในปีที่ 2 นั้น EGCO Group มุ่งเน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ได้มาร่วมเปล่งแสงที่มีอยู่ในตัว ร่วมหาวิธีและเทคโนโลยีในการลดโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ต้องเผชิญและร่วมกันแก้ไข

มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ
พินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ ผู้จัดการส่วนกิจกรรมองค์กรและสังคม ฝ่ายสื่อสารองค์กร EGCO Group

นิทรรศการ “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด” ในงานมหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 2567แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน เริ่มจากโซนแรก EGCO Energy for Life ป่านวัตกรรมลดโลกเดือด Climate Tech – Brighten Up the World ชวนเด็ก ๆ มาสวมหมวกวิศวกรตัวน้อยออกสำรวจป่านวัตกรรมพลังงานที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โซนนี้เด็ก ๆ จะได้สนุกไปกับฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีพลังงาน อย่างเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) เทคโนโลยีไฮโดรเจน พระเอกที่กำลังมาแรงในฝั่งพลังงานสะอาด และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ ซึ่งการเรียนรู้เทคโนโลยีทั้ง 3 ชนิดนี้มาในรูปแบบเกมและกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ทดลองเล่น สัมผัสกันจริง ๆ เพื่อเปลี่ยนความรู้ด้านพลังงานที่อาจจะดูยากสำหรับเด็ก ๆ ให้เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้

มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ

ต่อด้วยโซนที่ 2 Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด พาเด็กๆ ลงใต้ ล่องโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำแห่งแรกของไทยที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ย้อนเวลาไปหาสาเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ผ่านโรงภาพยนตร์ Immersive Theater ที่จำลองบรรยากาศภายในโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำมาไว้กลางกรุง และพาไปรอบโลกเพื่อรู้จักเพื่อนๆ นวัตกรน้อยทั่วทุกมุมโลก ที่มาร่วมส่งต่อไอเดียการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการลดโลกเดือด

มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ

ปิดท้ายโซนที่ 3 Climate Tech Innovation for Better Life นวัตกรรมวิทย์ลดโลกเดือด ชวนเด็ก ๆ มาร่วมส่งต่อไอเดียลดโลกเดือดผ่าน Giant Art Wall รวมทั้งการวาดภาพด้วย AI ที่ช่วยเปลี่ยนไอเดียลดโลกเดือดของเด็ก ๆ ให้ออกมาเป็นผลงานศิลปะที่สะกิดใจผู้ใหญ่

มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ
มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 67
ภาพ AI ที่เด็กๆ ร่วมกันสร้างขึ้นภายในงาน

“ที่เราใช้คำว่า เด็กเปล่งแสง ในธีมนิทรรศการครั้งนี้ เพราะ EGCO Group เชื่อว่าเด็ก ๆ ทุกคนมีแสงในตัวเอง ส่วนผู้ใหญ่อย่างเราก็มีบทบาทช่วยจัดการให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่เปล่งแสงนั้นออกมา รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจ เพราะแรงบันดาลใจคือจุดกำเนิดและสิ่งที่จะกระตุ้นให้เด็ก ๆ อยากจะค้นคว้า ศึกษาต่อ และเดินตามฝันของเขาต่อไปในอนาคต”

พินทุ์สุดา เปี่ยมปิติ ย้ำถึงศักยภาพของ เด็กเปล่งแสง ที่จะกลายมาเป็นแสงนำทางในการลดโลกเดือดในอนาคตต่อไป

Fact File

  • มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 2567 จัดขึ้นในวันที่ 16 – 25 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างอาคาร 9-12 เข้าชมฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยนิทรรศการของศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมตั้งอยู่ที่อาคาร 12
  • หลังจบมหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 2567 ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมจะยกนิทรรศการ “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด” ไปจัดแสดงต่อที่งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567 ของศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อจุดประกายไอเดียและส่งต่อแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมพลังงานและการหยุดยั้งปัญหาโลกเดือดให้เยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ