อาสานับนกกระเรียน สำรวจประชากร นกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เคยสูญพันธุ์
- นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane) เคยสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยนานกว่า 50 ปี จากการศึกษาพบว่าไม่มีรายงานการพบเห็นนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติมาตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2527
- สวนสัตว์นครราชสีมา ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ได้ลูกนกกระเรียน 2 ตัวแรก และจากนั้นก็เริ่มทำการทดลองปล่อยออกสู่ธรรมชาติ
เมื่อเอ่ยถึง นกกระเรียน ภาพจำของคนส่วนใหญ่จะนึกไปถึงนกกระเรียนในเทพนิยายจีน หรือไม่ก็นกกระเรียนสีขาวกลางหิมะในฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น หรือนกกระเรียนไซบีเรียไปเลย แต่รู้ไหมว่าประเทศไทยก็มี นกกระรียนพันธุ์ไทย ที่ถูกเลี้ยงตามธรรมชาติร่วมกับชุมชนอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และเมื่อได้ข่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรประกาศรับ อาสานับนกกระเรียน เพื่อสำรวจประชากร นกกระเรียนพันธุ์ไทย ในธรรมชาติที่จังหวัดบุรีรัมย์ เราจึงไม่ลังลที่จะสมัครเข้าร่วมเมื่อวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา
ย้อนความสักนิดว่าทำไม อาสานับนกกระเรียน จึงสำคัญ เหตุก็เพราะ นกกระเรียนพันธุ์ไทย (Eastern Sarus Crane) เคยสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยนานกว่า 50 ปี จากการศึกษาพบว่าไม่มีรายงานการพบเห็นนกกระเรียนพันธุ์ไทยในธรรมชาติมาตั้งแต่หลังปี พ.ศ. 2527 จะเหลือเพียงนกกระเรียนพันธุ์ไทยที่ได้รับการอนุรักษ์อยู่ในที่เพาะเลี้ยงขององค์การสวนสัตว์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
กระทั่งต่อมา 20 ปีให้หลัง สวนสัตว์นครราชสีมา ก็ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ได้ลูกนกกระเรียน 2 ตัวแรก และจากนั้นก็เริ่มทำการทดลองปล่อยออกสู่ธรรมชาติมีลูกนกที่ฟักจากไข่ในรังธรรมชาติ ซึ่งกว่าจะสำเร็จก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชนเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เปลี่ยนนาข้าวในถิ่นที่อยู่ขอ งนกกระเรียน ให้เป็นนาอินทรีย์ทั้งหมดเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์แบบยั่งยืน ดังนั้นการร่วมสำรวจประชากรและติดตาม นกกระเรียน ที่ฟักไข่และเติบโตอยู่รอดในธรรมชาติจึงสำคัญอย่างมาก
จากการอนุรักษ์ก็เริ่มขยายสู่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นถึงความสำคัญของนกกระเรียนสายพันธุ์ไทยโดยมี “ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำ และนกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์” เป็นศูนย์กลางที่ให้ความรู้เกี่ยวกับนกกระเรียนพันธุ์ไทย ตัวศูนย์เรียนรู้ฯ ตั้งอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่นี่มีหอสูงสำหรับชมทิวทัศน์ สามารถเฝ้าดูนกน้ำนานาชนิด รวมทั้งสังเกต นกกระเรียน ได้
และสำหรับกิจกรรมอาสานับนกกระเรียนครั้งนี้ จะเริ่มด้วยภาคทฤษฎีในวันแรก จัดเต็มความรู้เรื่องนกกระเรียนพันธุ์ไทย ต่อไปก็เป็นเทคนิคการดูนก การนับนก วิธีการที่จะไม่รบกวนนกกระเรียน จากนั้นแบ่งกลุ่มตามพื้นที่สำรวจ 4 เส้นทาง และมีการทดลองปลูกหญ้าแห้วทรงกระเทียม ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารโปรดของนกกระเรียน
วันที่ 2 และ 3 เป็นภาคสนาม โดยอาสาสมัครจะต้องออกเดินทางกันตั้งแต่ 7โมงเช้า ทีมเราได้สำรวจเส้นทางที่ 2 ในพื้นที่บุรีรัมย์ตอนกลาง บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ได้เจอนกกระเรียนพันธุ์ไทย ทั้งหมด 8 ตัว จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 6 ตัว มี 2 ตัวที่ไม่มีห่วงขาสันนิษฐานได้ว่าเป็นนกกระเรียนที่เกิดจากการขยายพันธุ์ในธรรมชาติ และผลรวมจากการสำรวจทั้ง 4 เส้นทาง พบประชากรนกกระเรียนทั้งหมด 42 ตัว และใครที่อยากรู้จักนกกระเรียนไทยให้มากขึ้นแวะไปได้ที่ ศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำและ นกกระเรียนพันธุ์ไทย จังหวัดบุรีรัมย์
นกกระเรียนพันธุ์ไทย จัดอยู่ในบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวนซึ่งในไทยมี 20 ชนิด ลักษณะเด่นของ นกกระเรียนพันธุ์ไทย คือ ลำตัวและปีกสีเทา คอตอนบนและหัวไม่มีขน มีตุ่มหนังสีส้มหรือสีแดงสด บริเวณกลางกระหม่อมเป็นแผ่นหนังเปลือยสีเทาหรือสีเขียวอ่อน คอยาว ขายาวสีแดงอมชมพู มีแผ่นขนหูสีเทา ม่านตาสีส้มแดง เวลาบินคอและขาจะเหยียดตรง เพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมียขนาดสูงประมาณ 1.5 – 1.8 เมตร หนักประมาณ 5 – 9 กิโลกรัม
นกกระเรียนพันธุ์ไทยมีนิสัยอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์จะจับคู่และแยกออกจากฝูง ส่วนฤดูผสมพันธุ์คือช่วงฤดูฝน วางไข่เฉลี่ยครั้งละ 2 ฟอง ระยะเวลาฟักไข่ประมาณ 30 – 36 วัน ลักษณะของรังค่อนข้างกลมแบนคล้ายกับกระจาด มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางรังประมาณ 1 – 2 เมตร สร้างจากกิ่งไม้ ใบไม้ เศษพืชน้ำ กอกก กอหญ้า ฯลฯ นำวางซ้อนกันบนพื้นตามทุ่งนา และใกล้ริมน้ำ ด้านถิ่นอาศัยของนกกระเรียนคือพื้นที่ลุ่มน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำในเขตสูง พื้นที่เกษตรกรรม และทุ่งนา ดังนั้นเราจึงมักเห็น นกกระเรียนพันธุ์ไทย อยู่ร่วมกับนกกระยางในนาข้าว และอาหารของนกกระเรียน ได้แก่ สัตว์น้ำขนาดเล็ก ปลา หนอน ตัวอ่อนแมลง หัวและหน่อของพืชน้ำ เมล็ดพืช และข้าวเปลือก
Fact File