10 วิธีรับมือเมื่อเกิด แผ่นดินไหว ทำอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งในและนอกอาคาร
Better Living

10 วิธีรับมือเมื่อเกิด แผ่นดินไหว ทำอย่างไรให้ปลอดภัยทั้งในและนอกอาคาร

Focus
  • แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นโดยไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ จึงต้องเตรียมพร้อมเสมอ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อลดการบาดเจ็บขณะเกิดแผ่นดินไหว รวมทั้ง กระเป๋าฉุกเฉิน ที่ช่วยให้มีอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเอาตัวรอดในช่วงเวลาวิกฤติ
  • ธรณีพิบัติภัย “แผ่นดินไหว” ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นผิวโลก เนื่องจากการปลดปล่อยพลังงานที่สะสม ไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลัน เพื่อลดแรงเค้น (Stress) และปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่

เมื่อ แผ่นดินไหว ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป ดังนั้นสิ่งที่คนไทยต้องทำก็คือการเตรียมพร้อมรับมือ แผ่นดินไหว อย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งมีวิธีการปฏิบัติตัวทั้งคนที่อยู่ในบ้าน อาคารสูง ที่โล้งแจ้ง และท้องถนนที่แตกต่างกัน ดังนี้

แผ่นดินไหว

01 ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ถ้าอยู่ในบ้านหรืออาคารก็ให้อยู่ด้านในก่อน ถ้าอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน อย่าเพิ่งวิ่งเข้าไปเอาสิ่งของหรือรีบเอารถออกจากอาคาร เพราะคนส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บระหว่างวิ่งเข้าออกบ้านหรืออาคาร

02 สำหรับคนที่อยู่ในอาคาร หรือในบ้านให้หมอบในจุดที่แข็งแรงจนกว่าจะหยุดสั่น แนะนำให้หมอบหรืออยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรงและไม่มีของที่คาดว่าจะตกลงมาใส่ เช่น ใต้โต๊ะ

03 อยู่ให้ห่างกระจก หน้าต่าง ประตู โคมไฟ ระเบียง เพราะอาจะพังลงมาได้ง่าย

04 ท่องให้ขึ้นใจว่ากรณีที่เกิดแผ่นดินไหว ห้ามใช้ลิฟต์ ห้ามจุดเทียน และเช็ควาวแก๊สว่าต้องปิดสนิท

05 เมื่อมีการหยุดสั่นไหวรอบแรกให้รีบออกจากบ้านหรืออาคาร โดยเฉพาะคนที่อยู่ในอาคารสูง ทั้งนี้ยังคงห้ามใช้ลิฟต์แม้จะหยุดสั่นไหวในรอบแรกแล้วก็ตาม เพราะอาจเกิด aftershock ตามมา ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ใส่รองเท้าหุ้มส้นเพื่อป้องกันเศษแก้ว วัสดุแหลมคม หรือสิ่งหักพังทิ่มแทง และสำหรับคอนโด หรือตึกสูงให้อพยพโดยใช้ทางหนีไฟ

แผ่นดินไหว

06 สำหรับใครที่ขับรถอยู่บนท้องถนนให้หยุดรถ และอยู่ในรถจนกว่าจะหยุดสั่นไหว

07 สำหรับคนที่อยู่ในที่โล่ง ให้อยู่ห่างจากเสาไฟ สิ่งห้อยแขวนนอกอาคารที่อาจจะร่วงหล่นลงมาได้

08 สำหรับผู้ที่ใช้วีลแชร์ให้หยุด ก้มหัว และป้องกันบริเวณท้ายทอยโดยอาจจะใช้มือ กระเป๋าหรือหมอนป้องกันบริเวณท้ายทอย

09 หากเกิด แผ่นดินไหว ขณะอยู่บริเวณชายหาด ให้สังเกตคลื่นทะเล น้ำลงอย่างผิดปกติ หรือรีบหนีห่างจากชายฝั่งไปสู่พื้นที่สูง เพราะอาจเกิดคลื่นยักษ์สึนามิตามมาได้

10 ในแต่ละบ้าน หรือคอนโดควรมีกะเป๋าฉุกเฉินติดไว้เผื่อต้องอพยพเร่งด่วน โดยแนะนำให้วางไว้ยังจุดใกล้ประตูทางออก โดยในกระเป๋าใส่สิ่งของจำเป็นสำหรับการอพยพเตรียมไว้ เช่น ไฟฉายพร้อมถ่ายไฟฉาย แบเตอรีสำรองสำหรับโทรศัพท์มือถือ ยาประจำตัว ยาพื้นฐานสำหรับทำแผลเผื่อกรณีมีอุบัติเหตุ น้ำดื่ม มีดเอนกประสงค์ นกหวีด อาหารแห้งประเภทที่ให้พลังงานสูงเก็บไว้ได้นาน เงินสดเล็กน้อย เป็นต้น

Fact File


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite