จากสนามโปโลสู่ DO Farm แปลงผัก นาข้าวบนผืนทราย ของ ดุสิตธานี หัวหิน
Better Living

จากสนามโปโลสู่ DO Farm แปลงผัก นาข้าวบนผืนทราย ของ ดุสิตธานี หัวหิน

Focus
  • ดุสิตธานี หัวหิน เปิดตัวใน ค.ศ. 1990 ด้วยชื่อ ดุสิต รีสอร์ท แอนด์ โปโลคลับ (Dusit Resort & Polo Club) โรงแรมขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ที่เกิดขึ้นริมชายหาดหัวหินและเป็นโรงแรมที่มีการแข่งโปโลม้า และมีคอกม้า
  • DO Farm มาจากคำว่า Dusit Organic Farm ฟาร์มที่เกิดจากการชุบพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนของคอกม้า ลานวิ่งของม้า ให้กลับมาดูมีชีวิตด้วยพืชผักผลไม้ออร์แกนิก

ถือเป็นอีกช่วงที่เราเห็นคนไปทะเลกันรัว ๆ ไม่ว่าจะเป็นการไปทำกิจกรรมทางน้ำยอดฮิตอย่างการพายซับบอร์ดหรือพักผ่อนริมทะเลกันชิล ๆ ไม่นานมานี้หลังหย่อนกายลงบนรถไฟมาเกือบ 5 ชั่วโมงจากสถานีรถไฟหัวลำโพง เราก็ถึงที่หมาย ดุสิตธานี หัวหิน โรงแรมในเครือดุสิตที่อยู่คู่อำเภอหัวหินมาจนปีนี้อายุครบ 30 ปีแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในเดือนมิถุนายนก็ต้องมีการปรับตัวหลังจากเจอวิกฤติโควิด-19 เข้าให้เหมือนกัน และทันทีที่เดินทางไปถึงเวลคัมดริงก์ซึ่งเป็นน้ำสับปะรดคั้นผสานกับกลิ่นของดอกมะลิก็ออกมาเสิร์ฟเป็นการต้อนรับ ก่อนที่ พิพัฒน์ พัฒนานุสรณ์ ผู้จัดการทั่วไป จะเล่าถึงต้นทางของมะลิหนึ่งในส่วนประกอบว่ามาจาก DO Farm โปรเจกต์ใหม่ในพื้นที่เก่าของดุสิตธานี หัวหินให้เราฟัง

DO Farm

DO Farm มาจากคำว่า Dusit Organic Farm ฟาร์มที่เกิดจากการชุบพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นส่วนของคอกม้า ลานวิ่งของม้า ให้กลับมาดูมีชีวิตด้วยพืชผักผลไม้ออร์แกนิก อย่างที่ทราบกันว่าในยุคแรกของการก่อตั้งโรงแรม ดุสิตธานี หัวหิน เปิดตัวมาด้วยชื่อ ดุสิต รีสอร์ท แอนด์ โปโลคลับ (Dusit Resort & Polo Club) โรงแรมขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ที่เกิดขึ้นริมชายหาดหัวหิน สถานที่ตากอากาศซึ่งมาพร้อมกับความคลาสสิกของกีฬาโปโล แต่ด้วยความนิยมที่ลดน้อยลงและการดูแลม้าที่ค่อนข้างยาก พื้นที่ราว 7 ไร่ของสนามที่จัดไว้สำหรับกิจกรรมเกี่ยวกับม้าโดยเฉพาะเลยกลายเป็นพื้นที่รกร้างมาเกือบ 10 ปี

“ความคิดที่จะมาทำตรงนี้ เกิดมาจากการวิ่งของผมเลย ผมวิ่งผ่านพื้นที่ตรงนั้นแล้วก็มอง ด้านหลังก็จะเป็นบ้านพักของพนักงานซึ่งเวลาไปทำงานเขาก็ต้องเดินไปเดินกลับ ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะปรับภูมิทัศน์ให้ดีขึ้น และก็ปรับพื้นที่ที่เคยเป็นหนึ่งในตำนานของโรงแรมให้กลับมามีชีวิตชีวา” พิพัฒน์เล่าถึงจุดเริ่มต้น

DO Farm

หลังปักหลักเคาะโปรเจกต์กรีน ๆ นี้ขึ้นมาด้วยการปลูกผักสลัด 3-4 แปลงสำหรับพนักงาน ก็เริ่มขยับขยายปลูกพืชผักสวนครัวไม่ว่าจะกะเพรา โหระพา พริก มะลิ กล้วยหอมทอง และทำซุ้มต้นไม้สำหรับปลูกพืชไม้เลื้อยอย่างฟักและน้ำเต้า ซึ่งก็มีทีท่าว่าจะขยับขยายออกไปเรื่อย ๆ เห็นได้จากการปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งไปทำนาและคอกควายที่กำลังคิดสร้างขึ้น

“เราอยากจะทำเป็นสวนผลไม้ที่ครอบครัวพ่อแม่ลูกสามารถมาเด็ดแล้วกินได้เลย เช่น ลองกอง ชมพู่เพชร หรืออะไรก็แล้วแต่ที่สามารถเด็ดกินได้ ตอนนี้ก็ทำนา หว่านข้าวไว้เรียบร้อย และที่กำลังทำอยู่คือการสร้างคอกควาย เราพยายามติดต่อควายจากโครงการไถ่วัวกระบือ จังหวัดราชบุรี ผมอยากจะช่วยควายสัก 2 ตัวมาที่นี่ด้วย”

DO Farm
นาข้าวที่เพิ่งหว่าน

ซึ่งกว่าจะสามารถปลูกพืชผักออร์แกนิกเป็น DO Farm ได้แบบที่เห็น ก็ต้องผ่านขั้นตอนของการปรับสภาพดินมามาก เช่น บริเวณที่นาซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพื้นทรายสำหรับให้ม้าวิ่งที่มีความแน่นก็ต้องนำขี้วัวและน้ำพด.1 หรือจุลินทรีย์ย่อยสลายมาปรับสภาพ ก่อนจะทำการหว่านปอเทืองเพื่อบำรุงดินต่อ บริเวณแปลงผักซึ่งเดิมทีเคยเป็นสนามฝึกขี่ม้าสำหรับผู้เริ่มต้นก็ต้องปรับดิน ทดสอบดินอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

“เราปรับพื้นที่เยอะมาก เราต้องทำดินเอง ทำอะไรเองค่อนข้างเยอะ เพราะตรงแปลงผักนี้เมื่อก่อนเป็นดินเค็มด้วย เราทดสอบดินกันนานด้วยนะ ส่งไปตรวจด้วย เราได้ทีมของสามพรานโมเดลมาช่วยทำการทดสอบ ซึ่งจะบอกว่าเราเหมาะกับการปลูกพืชแบบไหน ส่วนผักเราจะส่งไปตรวจที่ห้องแล็บว่ามีเชื้อโรคหรือสารตกค้างอะไรหรือเปล่า ผลออกมาก็ไม่มี

“เราไปได้เมล็ดมาจากโครงการช่างหัวมัน ดินเราก็ทำเอง ทำปุ๋ยหมักจากขี้วัวขี้ควายเอง ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ตอนนี้ผักหมุนเวียนอยู่มีประมาณ 20 ชนิด เราปลูกซ้ำไม่ได้ คือถ้าลงแปลงไปแล้วมากที่สุดจะปลูกซ้ำได้แค่ 3 ครั้ง หลังจากนั้นเราต้องทำการพักดินแล้วเปลี่ยนประเภทเพราะสารอาหารเขาจะหมดไป สมมติว่าผักกาดหอมชอบไนโตรเจน ถ้าเราปลูกไปเรื่อย ๆ ไม่ได้มีการหมุนเวียน ไนโตรเจนก็จะหมดไป ต้องเวียนปลูกไปเรื่อย ๆ”

นอกจากแผนกสวนที่ดูแล DO Farm อยู่หลัก ๆ 2 คนแล้ว พิพัฒน์เล่าว่าในช่วงที่หยุดหรือวันว่างพนักงานของดุสิตธานี หัวหินก็จะมาช่วยกันดูแลคนละไม้คนละมือ ซึ่งในส่วนของผลผลิตนอกจากจะนำไปประกอบอาหารสำหรับสตาฟ ทำซอสเพสโตสำหรับเสิร์ฟแล้ว ยังมีการอนุบาลต้นกล้าเพื่อส่งต่อให้กับ ASAI Bangkok Chinatown แบรนด์โรงแรมน้องใหม่ในเครือดุสิตด้วย

“เราส่งผักให้กับ ASAI ด้วย เราปลูกจากตรงนี้คล้าย ๆ กับการอนุบาลให้มีต้นขึ้นประมาณ 10-15 เซนติเมตร แล้วส่งไปให้เขาปลูกต่อ เราส่งลอตละ 2,000 ต้น มี 10 ชนิด เพราะทาง ASAI เขาจะไม่ค่อยสะดวกเรื่องพื้นที่เลยไม่สามารถอนุบาลผักได้ เขาก็จะเอาจากที่นี่ไปปลูกต่อ สำหรับนำไปเสิร์ฟในร้าน”

ไม่เท่านั้น DO Farm ยังมีโปรเจกต์ต่อเนื่องที่พิพัฒน์กล่าวว่าน่าจะได้เห็นกันเร็ว ๆ นี้อย่างการปรับส่วนของคอกม้าเก่าที่ปัจจุบันเป็นห้องเก็บของที่ไม่ได้ใช้ของโรงแรม ให้เป็น Event Venue เพื่อรองรับไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมของกลุ่ม MICE การจัดงานแต่งงานในสวน หรือที่น่าสนใจคือ Weekend Market ตลาดเกษตรอินทรีย์ที่มีแผนจะชวนเกษตรกรท้องถิ่นมาเปิดท้ายขายผลิตผลกัน รวมไปถึงการเปิดพื้นที่สำหรับจิตรกรได้มาโชว์ผลงานกันในอนาคต

ภาพเก่าเมื่อครั้งมีการแข่งขันโปโลม้าในโรงแรมดุสิต ธานี หัวหิน

ไอเดียเรื่อง Weekend Market เป็นส่วนหนึ่งของ Local Experience ที่ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่อยากเพิ่มเข้ามาให้กลุ่มลูกค้าของดุสิตธานี หัวหินได้รับกลับไปมากยิ่งขึ้น เป็นอีกส่วนที่เพิ่มเข้ามาหลังเจอกับวิกฤติโควิด-19 นอกเหนือจากห้องประชุม Virtual Meeting Studio, เมนูอาหารแบบ QR Code, ความยืดหยุ่นของเวลาเช็กอิน-เช็กเอาต์ และการรักษาความสะอาดแบบดีปคลีนแล้ว

“เราพยายามให้คนที่มาพักที่นี่รู้สึกว่าไม่ได้มานอนที่โรงแรมเท่านั้น แต่ได้ประสบการณ์ของหัวหินและบริเวณใกล้ ๆ นี้ อีกอย่างคือที่จริงแล้วทุกคนก็ทราบว่าหัวหินเป็นเมืองของขนม ถ้าเป็นข้าวเหนียวมะม่วงต้องป้าเจือ ขนมเทียนต้องแม่นงนุช ขนมหวานแม่เก็บหรืออาหารพื้นเมืองจากแหล่งท่องเที่ยว โดยที่เราจะมีบริการซื้อให้ได้ คล้าย ๆ กับการเป็น Personal Shopper ทั้งเชิญชวนชาวบ้านที่มีของดี ของฝากว่าเราเป็นคนช่วยนำซื้อได้ เพื่อให้ลูกค้าได้ประสบการณ์ท้องถิ่นกลับไปด้วย ชาวบ้านก็มีรายได้ด้วยเช่นกัน” ศุภจีกล่าวถึงโปรเจกต์ใหม่ที่ดุสิตธานี หัวหินได้ริเริ่มและคาดว่าน่าจะเป็นรูปเป็นร่างให้ได้เห็นกันมากขึ้นเร็ว ๆ นี้

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์