Dine in the Dark ประสบการณ์กินอาหารในโลกมืดที่มีเพียงผู้พิการทางสายตาเป็นแสงนำทาง
Better Living

Dine in the Dark ประสบการณ์กินอาหารในโลกมืดที่มีเพียงผู้พิการทางสายตาเป็นแสงนำทาง

Focus
  • ร้านอาหาร Dine in the Dark โรงแรมเชอราตันแกรนด์สุขุมวิท เป็นร้านที่เปิดประสบการณ์การรับประทานอาหารในร้านที่มืดสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์ และได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า6 ปี
  • พนักงานเสิร์ฟในร้านทั้งหมดเป็นผู้พิการทางสายตาเพื่อเป็นแสงนำทางให้คนสายตาปกติและพิสูจน์ศักยภาพว่าพวกเขาทำได้มากกว่าอาชีพขายลอตเตอรี่หรือพนักงานนวด
  • อาหารเสิร์ฟเป็นเซตเมนู 4 คอร์สและโรงแรมจะบริจาค 50 บาทต่อ 1 ที่ให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอด

หากเกณฑ์ในการเลือกร้านอาหารสักร้าน คือต้องเป็นร้านที่ตกแต่งสวยงาม มีมุมให้ถ่ายรูปชิคๆ และอาหารจัดจานแปลกตาเหมาะกับการแชะและแชร์ ร้าน Dine in the Dark (ไดน์ อิน เดอะ ดาร์ค) ที่ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ล้วนไม่เข้ากฎเกณฑ์ใดๆ ตามสมัยนิยม เพราะนอกจากร้านจะมืดสนิทร้อยเปอร์เซ็นต์จนทำให้เราไม่เห็นทั้งบรรยากาศการตกแต่งร้านและหน้าตาอาหารที่เสิร์ฟ และก็ลืมไปได้เลยว่าจะหยิบโทรศัพท์มือถือมาเปิดโหมดไฟฉายเพื่อเก็บภาพเพราะอุปกรณ์ถ่ายภาพรวมถึงเครื่องประดับเรืองแสงทุกชนิดไม่อนุญาตให้นำติดตัวเข้าไปด้วย

คอนเซ็ปต์ของร้านคือให้ลูกค้าลองสัมผัสประสบการณ์อยู่ในโลกมืดของผู้พิการทางสายตา และเปิดประสาทการรับรสให้เต็มที่โดยปราศจากสิ่งเร้าจากภายนอก พนักงานเสิร์ฟคัดเฉพาะผู้พิการทางสายตาเพื่อเป็นแสงนำทางให้คนสายตาปกติ และพิสูจน์ศักยภาพของพวกเขาว่าทำได้มากกว่าอาชีพขายลอตเตอรี่หรือพนักงานนวดอย่างที่หลายคนมักตีกรอบไว้ให้

Dine in the Dark

เปิดประสบการณ์การกินอาหารในโลกมืด

ค่ำวันศุกร์หนึ่งเราจึงถือโอกาสลองเปิดประสบการณ์ดูบ้างตามที่ โรเบิร์ต วิทท์บรูด (Robert Wittebrood) ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหารของโรงแรม กล่าวไว้ว่า “นอกจากประสบการณ์ใหม่แล้ว คุณอาจจะพบว่าเมื่อไม่สามารถมองเห็น เราใส่ใจกับอาหารที่เรากินและเครื่องดื่มที่เราดื่มมากขึ้นเช่น เรามีไวน์เทสติ้ง 4-5 แก้ว เป็นไวน์แบบเดียวกันต่างกันแค่ปีที่ผลิต เมื่อดื่มเสร็จเราลองถามลูกค้าว่าเขาชอบแก้วไหนมากที่สุด หลายคนตอบว่าแก้วสุดท้ายทั้งที่เป็นไวน์ราคาถูกที่สุดของที่เราเสิร์ฟ ถ้าให้เลือกดื่มส่วนใหญ่อาจจะเลือกตามสลากของไวน์”

โรเบิร์ต วิทท์บรูด (Robert Wittebrood) ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายบริหารของโรงแรม

พนักงานเสิร์ฟประจำที่เป็นผู้พิการทางสายตามีจำนวน 4 คน และแต่ละคนรับรองแขกไม่เกินคนละ 3 โต๊ะ โต๊ะละประมาณ 2-4 คน หากมีลูกค้าจองมามากกว่าที่พนักงานประจำจะรับได้ ทางร้านมีพนักงานพาร์ตไทม์คอยเสริม สูงสุดเคยมีพนักงานเสิร์ฟถึง 12คนต่อคืน

ร้านอยู่ภายในบริเวณเดียวกับบาร์ชื่อ BarSu (บาร์สุ) ซึ่งใช้เป็นส่วนต้อนรับลูกค้า อาหารที่เสิร์ฟเป็นเซตเมนู 4 คอร์ส มีให้เลือก 4 แบบคือ อาหารแบบตะวันตก แบบมังสวิรัต แบบเอเชีย และแบบเซอร์ไพรส์ ราคา1,450 บาท++ ต่อคน สำหรับอาหารเท่านั้น และโรงแรมจะบริจาค 50 บาทต่อ 1 ที่ให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอดเมนูอาหารมีการปรับเปลี่ยนทุก 4 เดือนและมีเมนูพิเศษในเทศกาลสำคัญๆ

“เราต้องจำชื่อและที่นั่งของลูกค้าแต่ละคนให้ถูกต้อง เพราะแต่ละคนเลือกอาหารต่างกันและบางคนแพ้อาหารบางอย่าง เราต้องไม่เสิร์ฟอาหารผิดจาน เราต้องจำบล็อกบล็อกกิ้งที่นั่งด้วย เพราะการเซตโต๊ะอาหารเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนของลูกค้าในแต่ละวัน” หมู-วาริน ไตรสนาคม กล่าวถึงงานประจำที่เธอทำตั้งแต่ร้านเปิดให้บริการเมื่อ 6 ปีที่แล้ว

Dine in th Dark

ผู้พิการทางสายตาที่เป็นแสงนำทางในความมืด

พนักงานที่ทำหน้าที่เป็น “ตา” ให้เราในวันนั้น แนะนำตัวเองว่าให้เรียกชื่อเธอง่ายๆ ว่า กันนี่ ก่อนจะเข้าไปในร้านเธอจะนำทางโดยให้เราแตะบ่าและค่อยๆก้าวเท้าตาม กันนี่จะคอยบอกให้ระวังขั้นบันไดและค่อยๆพาเรามายังที่นั่ง แนะนำอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารว่าด้านซ้ายขวาคืออะไรบ้างและคอยบอกตลอดว่าเธอกำลังทำอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟอาหาร เก็บจาน หรือขอเวลาสักครู่ไปรับลูกค้าท่านอื่น

“หากรู้สึกกลัวหรือต้องการอะไรเรียกกันนี่ได้ตลอด กันนี่อยู่ตรงนี้ตลอดค่ะ เคยมีลูกค้าบางคนไม่รู้ว่าตัวเองกลัวความมืดมากจนไม่สามารถอยู่ที่นี่ได้ พนักงานเราพูดได้หลายภาษาค่ะทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน กันนี่เองก็พูดภาษาญี่ปุ่นได้โดยเรียนจาก YouTube” เธอกล่าวและชวนคุยเรื่อยๆก่อนจะขอตัวสักครู่ไปต้อนรับลูกค้าชาวญี่ปุ่น

เหมือนอย่างที่กันนี่เพิ่งเล่าให้ฟัง ลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งเข้ามาไม่ถึง 5 นาที เรียกชื่อกันนี่เสียงดังและพูดเป็นภาษาอังกฤษแปลได้ว่า “ฉันว่าฉันไม่ไหว มันน่ากลัวไป” จนกันนี่พาเธอออกไปนอกร้านและกลับมาบริการเราต่อและเล่าว่า “บางคนไม่ไหวจริงๆเราก็ต้องพาเขาออกมา เราก็เสิร์ฟอาหารที่ BarSu แทน”

Dine in the Dark
หลังจากเข้าไปในห้องอาหาร ผู้พิการทางสายตาจะเป็นผู้นำทางของทุกคน

“หน้าที่เราคือเป็นตาให้เขา ในงานบริการเราจึงต้องพูดคุยให้ลูกค้าผ่อนคลาย ให้เขาไว้ใจเราว่าเขาจะปลอดภัย เคยมีบางคนขอออกไปตั้งหลักก่อนแล้วค่อยเข้ามาใหม่ เวลาเสิร์ฟอาหารเราจะบอกให้เขาลองสัมผัสจานอาหารเพื่อให้คุ้นชินว่าเราเสิร์ฟอาหารปกติไม่ต่างจากที่อื่น อุปกรณ์บนโต๊ะมีอะไรบ้างอยู่ตรงตำแหน่งไหน เชพของเราเป็นคนสายตาปกติและรับรองว่าคุณภาพมาตรฐานอาหารเราเป็นระดับ โรงแรม สิ่งสำคัญที่เราเน้นย้ำคือห้ามแชร์อาหารกัน เพราะแต่ละคนแพ้อาหารต่างกัน” หมูกล่าวเสริม

กันนี่จะคอยบอกก่อนเสิร์ฟอาหารแต่ละจาน เช่น appetizer แนะนำให้ลองกินจากซ้ายไปขวา ต่อไปเป็นซุปร้อนให้ระวังขณะสัมผัสภาชนะ ตามด้วยอาหารจานหลักและของหวานตามลำดับ สิ่งที่สนุกคือทำให้เราค่อยๆละเมียดในแต่ละคำที่กินและคิดว่ารสชาติและรสสัมผัสแบบนี้น่าจะเป็นอะไร บทเฉลยจะปรากฏเมื่อเรารับประทานเสร็จและออกมาด้านนอกจะมีแบบสอบถามความพึงพอใจในการบริการและรสชาติของอาหาร และพนักงานจะเฉลยว่าอาหารแต่ละจานคืออะไรเป็นรูปภาพบนจอแท็บเล็ต

Dine in the Dark
หมู-วาริน ระหว่างเล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ Dine in the Dark

ฟังและสังเกตมากขึ้นเมื่อตามองไม่เห็น

ริชาร์ด แชปแมน (Richard Chapman) ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท ให้ข้อมูลว่าประสบการณ์การรับประทานอาหารแบบ Dine in the Dark มาจากคำว่า Dans le Noir ในภาษาฝรั่งเศส และเริ่มต้นที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยชายชาวสวิสที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ในปี ค.ศ. 1999 เริ่มแรกเขาได้เชิญเพื่อนของเขาที่มีสายตาปกติมากินอาหาร ประสบการณ์ในค่ำคืนนั้นก่อให้เกิดความตื่นเต้นและประสบการณ์ครั้งใหม่ของการสนทนา การกิน การดื่ม ทั้งหมดในห้องที่มืดสนิท และในปีเดียวกันการรับประทานอาหารรูปแบบนี้ได้แพร่หลายไปตามร้านอาหารและคลับต่างๆ จากนั้นคอนเซ็ปต์ Dine in the Dark หรือ DID ได้แผ่ขยายไปหลายประเทศเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และไทย

ริชาร์ด แชปแมน (Richard Chapman) ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

Julien Wallet-Houget ลูกครึ่งสวิส-ฝรั่งเศส เริ่มนำคอนเซ็ปต์นี้เข้ามาในเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากเปิดเป็นโปรเจกต์ระยะสั้นๆ ส่วนหนึ่งของเทศกาล La Fêteที่โรงแรมคิงพาวเวอร์ ซอยรางน้ำ และเปิดเป็นร้าน Dine in the Dark ที่โรงแรมแอสคอทถนนสาทรเมื่อ พ.ศ.2555 ก่อนที่จะย้ายมาที่โรงแรมเชอร์ราตันแกรนด์สุขุมวิท ในปี พ.ศ. 2557

“ผมจำได้ว่าพบคุณ Julien ขณะนั้นผมเป็น F&B Manager และกำลังดูแลความเรียบร้อยที่ BarSuเราคุยกันถึงความเป็นไปได้ที่จะเปิด Dine in the Dark ที่โรงแรม ผมคิดว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจมาก นอกจากสร้างประสบการณ์แปลกใหม่แล้ว ยังท้าทายจินตนาการให้คนคาดเดาและให้เรารู้จักฟังสิ่งรอบข้างมากขึ้นเมื่อตามองอะไรไม่เห็น เมื่อมองไม่เห็นเราก็จะเริ่มใช้มือคลำไปรอบๆว่ามีอะไรบ้าง พนักงานจึงต้องคอยบอกว่าอะไรอยู่ตรงไหนบ้าง พนักงานเองก็ต้องคอยฟังเสียงลูกค้าว่าต้องการอะไร กลัวหรือหวาดวิตกหรือเปล่าและต้องให้ลูกค้ามั่นใจว่าเขาอยู่ข้างๆเสมอ และเมื่อเริ่มปรับตัวคุ้นชินกับสิ่งแวดล้อมใหม่ การคาดเดาว่าอาหารคืออะไรจากการดม จับ และค่อยๆรับประทานก็กลายเป็นเรื่องสนุกและเป็นหัวข้อสนทนาบนโต๊ะอาหาร” โรเบิร์ตกล่าว

ถึงแม้แชปแมนยอมรับว่าการโปรโมตหรือการให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ 6 ปีที่เปิดให้บริการมาและมีลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแวะเวียนมาอยู่เสมอนับเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม

“เราอยากให้เห็นว่าคนตาบอดทำได้มากกว่า นวด ร้องเพลง และขายลอตเตอรี่ ร้านอาหารแบบนี้ช่วยสร้างโอกาสทางอาชีพให้พวกเรา เราดีใจที่ได้เจอคนที่มีทัศนคติที่ดีกับเราและกับร้าน และยิ่งประทับใจเมื่อเขาพาเพื่อน พาคนในครอบครัวกลับมากินอาหารกับเราอีก” หมูซึ่งสายตาเห็นเพียงแค่แสงเลือนรางกล่าวด้วยรอยยิ้ม

Fact File

  • ร้านอาหาร Dine in the Dark (DID) เปิดให้บริการที่ BarSu ชั้น G ของโรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิทในวันจันทร์-วันเสาร์ เวลา 18.30 น. เป็นต้นไป (รับออเดอร์สุดท้ายเวลา 21.30 น.)
  • อาหารเสิร์ฟเป็นเซตเมนู 4 คอร์สราคา1,450 บาท++ ต่อคน สำหรับอาหารเท่านั้น และโรงแรมจะบริจาค 50 บาทต่อ 1 ที่ให้กับมูลนิธิช่วยคนตาบอด
  • รายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2649-8358 หรืออีเมล :bkklcdining@marriott.com หรือเว็บไซต์ www.dineinthedarkbangkok.com

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว