จุฬาฯ เปิด คลินิกสุขภาพเพศ ตอบทุกโจทย์สุขภาพ สำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิด คลินิกสุขภาพเพศ สำหรับคนข้ามเพศโดยเฉพาะ
- คลินิกสุขภาพเพศ ของจุฬาฯ ให้บริการแบบครบวงจร ไม่ว่าจะด้านสุขภาพจิต ฮอร์โมน การผ่าตัดแปลงเพศ
แม้ประเทศไทยจะเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ปัญหาหนึ่งที่พบคือ คลินิกสุขภาพที่ให้คำปริกษาเกี่ยวกับกลุ่มทรานส์เจนเดอร์ในไทยยังมีไม่มาก หรือมีแค่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่เป็นในลักษณะของการให้บริการผ่าตัดใหญ่ไปเลย นั่นจึงเป็นที่มาของ คลินิกสุขภาพเพศ โดยความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมองว่าการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพเพื่อคนข้ามเพศควรได้รับการออกแบบโดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสังคมปัจจุบัน
ความต่างของ คลินิกสุขภาพเพศ แห่งนี้คือการให้บริการแบบครบวงจร ไม่ว่าจะด้านสุขภาพจิต หรือเรื่องที่ใครๆ ก็คิดว่าเล็กน้อยอย่างฮอร์โมน ไปจนถึงเรื่องการผ่าตัดแปลงเพศ ที่สำคัญคลินิกแห่งนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เฉพาะทางให้แก่แพทย์ นักเรียนแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจ รวมทั้งเป็นศูนย์วิจัยระดับนานาชาติด้านสุขภาพของคนข้ามเพศร่วมกับ Center of Excellence in Transgender Health (CETH) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย
“การจัดตั้ง คลินิกสุขภาพเพศ เกิดขึ้นเพื่อบริการทางการแพทย์ให้แก่คนข้ามเพศโดยเฉพาะ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีคลินิกเฉพาะทางด้านนี้ ทำให้คนไข้ใช้ยาฮอร์โมนอย่างไม่มีมาตรฐาน ฉีดฮอร์โมนกันเอง ไม่ก็กินยาคุมกำเนิด กินยาฮอร์โมนตามเพื่อนซึ่งเป็นการใช้ยาที่ผิดวิธี บางรายไปใช้บริการคลินิกใต้ดินที่ไม่ได้รักษาโดยแพทย์เฉพาะทางยิ่งเสี่ยงอันตราย”
รศ.นพ.กระเษียร ปัญญาคำเลิศ หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ก่อตั้งคลินิกสุขภาพเพศ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการตั้งคลินิกที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ภายใต้การกำกับดูแลของคณาจารย์แพทย์ จุฬาฯ ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิ คลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ คลินิกบูรณาการสุขภาพวัยรุ่น เป็นต้น
ด้าน อ.นพ.ธนภพ บำเพ็ญเกียรติกุล อาจารย์พิเศษสาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกสุขภาพเพศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การให้คำปรึกษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับผู้รับบริการแต่ละคนซึ่งมีความต้องการแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนอยากปรับเปลี่ยนร่างกายของตนเองอย่างไร เพื่อผลลัพธ์คือการรู้สึกดีกับร่างกายของตนเอง
“เราจะคอยให้ข้อมูลว่าสิ่งที่เขาอยากจะเป็นต้องทำอย่างไร จึงจะเป็นได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด คนข้ามเพศมีความต้องการที่หลากหลาย อย่างผู้ชายข้ามเพศส่วนใหญ่ที่มาตัดมดลูกรังไข่ก็เพราะเขาอยากกำจัดสิ่งที่ไม่ใช่ของผู้ชายทิ้งให้หมด มันไม่ใช่ของเขา ในขณะที่บางคนกลับไม่คิดมากกับเรื่องนี้ ปล่อยให้อยู่ในร่างกายของเขาต่อ หรือบางคนอยากตั้งท้อง หรือมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด เขาก็ไม่ตัดมดลูก ช่องคลอดหรือรังไข่ออก ขณะที่มีชายข้ามเพศเพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์ของชายข้ามเพศทั้งหมดทั่วโลกเท่านั้นที่ผ่าตัดเพื่อสร้างอวัยวะเพศชายใหม่ ความต้องการของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน”
อ.นพ.ธนภพ ยังเสริมว่าสำหรับคนข้ามเพศบางคน การได้แสดงพฤติกรรมเป็นเพศที่ตนเองต้องการ เช่น การสวมเสื้อผ้า การใช้สรรพนาม การรัดหรือเสริมหน้าอก ก็สามารถทำให้ตนเองพอใจและมีความสุขโดยที่ไม่ต้องเข้ารับยาฮอร์โมน หรือผ่าตัดแปลงเพศ แต่ในขณะบางคนพอใจแค่การได้รับยาฮอร์โมนโดยที่ไม่ต้องผ่าตัดแปลงเพศ หรือแม้แต่คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ แต่ละคนก็พึงพอใจส่วนที่เข้ารับการผ่าตัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องมีคลีนิกเฉพาะทางที่ให้ทุกคนสามารถเดินเข้ามารับคำปรึกษาได้ทุกปัญหาสุขภาพ
นอกจากนี้ อ.นพ.อัมรินทร์ สุวรรณ สาขาเวชศาสตร์ทางเพศและวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกสุขภาพเพศ ยังได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีกลุ่มคนข้ามเพศบางกลุ่มเลือกที่จะใช้ยาฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ เพื่อการเปลี่ยนสรีระให้มีลักษณะแบบเพศที่ตนต้องการ ปัญหาที่พบคือคนจำนวนมากใช้โดยไม่ปรึกษาแพทย์เนื่องจากไม่ตระหนักถึงอันตรายที่ตามมาโดยเฉพาะภัยจาก ยาคุมกำเนิด ซึ่งการใช้ยาฮอร์โมนในปริมาณมากเพื่อเร่งผล หรือใช้ผิดประเภทหรือผิดขนาด อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด สาเหตุของการเสียชีวิตซึ่งพบมากในกลุ่มคนข้ามเพศ
“ร่างกายของคนข้ามเพศแต่ละคนไม่เหมือนกัน ยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนจึงต่างกัน บางคนเหมาะที่จะรับยากิน บางคนได้ยาทา หรืออาจได้ยาแบบเดียวกันแต่ต่างโดส ซึ่งแพทย์จะแนะนำได้ดีที่สุด” อ.นพ.อัมรินทร์ กล่าว
ปัจจุบัน คลินิกสุขภาพเพศ ของจุฬาฯ เปิดให้บริการผ่าตัดแปลงเพศสำหรับชายและหญิงข้ามเพศ โดยทำงานร่วมกับคลินิกศัลยกรรมเพื่อการข้ามเพศ จำแนกรูปแบบการผ่าตัดเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. การผ่าตัดหน้าอก (Top Surgery) ประกอบด้วยการตัดหน้าอกและการเพิ่มขนาดของหน้าอก
2. การผ่าตัดอวัยวะเพศ (Bottom Surgery) ประกอบด้วยการตัดมดลูกและรังไข่ การสร้างอวัยวะเพศชายใหม่ การสร้างช่องคลอดใหม่และการตัดอัณฑะ
3. การผ่าตัดอื่น ๆ หมายถึงการเสริมสะโพก การเหลาลูกกระเดือก การเหลากราม การเปลี่ยนโครงหน้าให้เป็นหญิงหรือชาย
ทั้งนี้ผู้เข้ารับบริการเพื่อการข้ามเพศทุกคนจะได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ก่อนเสมอ ซึ่ง รศ.นพ.กระเษียร กล่าวว่าที่ผ่านมาคนจำนวนมากมักเข้าใจผิดคิดว่าการพบจิตแพทย์นัยว่ามีความผิดปกติทางจิต แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ จิตแพทย์เพียงต้องการความมั่นใจว่าผู้เข้ารับบริการแน่วแน่ในเจตจำนงของตนโดยจะไม่เสียใจภายหลัง และไม่ใช่ความสับสนอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับคนไข้จิตเภทที่มีอาการหลงคิดว่าตนอยากแปลงเพศ อยากเป็นคนข้ามเพศ มีปัญหาบุคลิกภาพ หรือเป็นผู้ที่มีความสุขทางเพศจากการแต่งกายเป็นเพศตรงข้ามเท่านั้น
“คนที่อยากมีชีวิตอยู่กับเพศเดียวกัน ครองรักเป็นคู่ชีวิตก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติอะไร และตำราแพทย์ปัจจุบัน คนที่ต้องการข้ามเพศก็กำลังจะไม่ถูกจัดเป็นกลุ่มสุขภาพจิต (Mental Health) แล้ว หากแต่อยู่ในกลุ่มสุขภาพเพศ (Sexual Health) เพราะการแพทย์เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนที่ผิดปกติทางจิต เพียงแต่ต้องการมีชีวิตอีกเพศเท่านั้นเอง” รศ.นพ.กระเษียร กล่าว
ในส่วนของอายุผู้ที่จะมารับบริการนั้น ตามหลักการคือไม่มีการระบุว่าอายุที่เหมาะสมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนั้นคือกี่ปี แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับบริการเป็นสำคัญ เนื่องจากบางคนอาจต้องการข้ามเพศในวัยรุ่น อีกคนกลับต้องการหลังอายุ 40 ปีแล้ว แต่เงื่อนไขหนึ่งคือ ผู้รับบริการที่มีอายุ 18-20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองก่อนเสมอ ตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมเรื่องเกณฑ์การรักษาเพื่อแปลงเพศ พ.ศ.2552 ดังนั้นคลินิกสุขภาพเพศ จะดูแลเฉพาะคนไข้วัยผู้ใหญ่เป็นหลัก ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับการรักษาโดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป ซึ่งทางคลินิกเองมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อ และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น จากคลินิกบูรณาการสุขภาพวัยรุ่น ให้บริการร่วมด้วย
นอกจากเรื่องฮอร์โมน สุขภาพจิตของผู้ที่ต้องการข้ามเพศ และการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ทางคลินิกสุขภาพเพศยังเพิ่มเติมบริการให้คำปรึกษาแก้ปัญหาสุขภาพทางเพศในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น ปัญหาจากวัยหมดระดู ปัญหาช่องคลอดแห้ง โรคทางต่อมไร้ท่อเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ และผลพวงจากเพศสัมพันธ์ไม่ราบรื่น อย่าง ขาดอารมณ์ทางเพศ อาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยสามารถทำการนัดหมายเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ล่วงหน้า
Fact File
คลินิกสุขภาพเพศ เปิดบริการทุกวันจันทร์ เวลา 13.00 – 15.30 น. โทร 02-256-5286 และ 02-256-5298 หรือ www.facebook.com/KCMHCMG