7 ประเด็นประเมินความเสี่ยงต้องรู้ ก่อนพาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีนโควิด-19
Better Living

7 ประเด็นประเมินความเสี่ยงต้องรู้ ก่อนพาเด็กๆ ไปฉีดวัคซีนโควิด-19

Focus
  • ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในทวีปเอเชียรองจากสิงคโปร์ ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม สูตรสำหรับเด็ก
  • สำหรับผลข้างเคียงทั่วไปของการฉีดไฟเซอร์ในเด็กอายุ 5-11 ปี ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เจ็บในบริเวณที่ฉีด ส่วนอาการรุนแรงที่ต้อเฝ้าระวัง คือ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ปวดหัวรุนแรง ใจสั่น อาเจียน หมดสติ ซึ่งพบได้น้อยในประเทศไทย

หลังจากที่หน่วยงานสาธารณะสุขไทยมีมติอนุมัติการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ (Pfizer) สูตรสำหรับเด็ก ฝาสีส้ม ในกลุ่มเด็กอายุ 5 – 11 ปี และเริ่มทยอยฉีดไปเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็มีการประกาศอนุมัติให้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ในเด็กอายุ 5-17 ปีตามมา เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ปกครองในการเลือกสูตรวัคซีนที่เหมาะสมแก่บุตรหลาน ซึ่งสิ่งนี้อาจจะทำให้ผู้ปกครองหลายคนเกิดความสับสน ว่าวัคซีนสูตรไหนที่เหมาะสมกับเด็กไทยและลูกหลานของตนเอง Sarakadee Lite ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถึงประเด็นการประเมินความเสี่ยงที่ผู้ปกครองควรรู้ ก่อนพาบุตรหลานไปฉีด วัคซีนโควิด-19

วัคซีนโควิด-19

1. จากการศึกษาวิจัยพบว่าเด็กอายุระหว่าง 5 – 11 ปี ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไฟเซอร์ มีอาการแพ้วัคซีน หรืออาการข้างเคียงจากการฉีด วัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ในส่วนของข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น จากรายงานผลการวิจัยในต่างประเทศ พบผลข้างเคียงภาวะหัวใจอักเสบในเด็กอายุ 12 – 18 ปี แต่ยังพบน้อยในไทย ซึ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่เป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนก็มีทั้งที่หายเอง และอาการหนักต้องพบแพทย์ ทว่า รศ.นพ.ชิษณุ ย้ำว่าพบน้อยในไทย

2. ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กมีทั้งที่เป็นอาการเฉียบพลันเกิดขึ้นทันทีภายในระยะเวลา 30 นาทีหลังฉีด และอาการข้างเคียงทั่วไปที่ค่อยๆ เกิดภายหลัง ในส่วนของอาการเฉียบพลันที่เกิดขึ้นได้ทันทีหลังฉีดวัคซีนไปประมาณ 15-30 นาที เช่น ผื่นลมพิษ ส่วนอาการข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้อาเจียน โดยอาการเหล่านี้อาจพบได้หลังจากกลับบ้านไปแล้ว และอาจจะไม่ได้เกิดทันทีในวันที่ไปฉีดวัคซีน แต่อาจจะเกิดขึ้นอยู่ในช่วงราว 2 สัปดาห์หลังวันที่ไปฉีด แต่เป็นอาการที่ไม่น่าวิตกมากนัก เพราะเด็กสามารถกินยารักษาตามอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ปกครองควรสังเกตอาการเด็กอย่างใกล้ชิด และหากเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงควรเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทันที  

3. รศ.นพ.ชิษณุ ให้ความเห็นถึงการฉีดวัคซีนเชื้อตายหรือสูตรไขว้ในเด็กว่า ไม่สามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เด็กต้องฉีดวัคซีนชนิด mRNA เพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็กฝาสีส้มที่ได้รับการอนุมัติเข้ามาฉีดให้เด็กไทย ทั้งนี้จากการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนพบว่า วัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก สามารถช่วยป้องกันความรุนแรงจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น    

4. รศ.นพ.ชิษณุ ให้ความเห็นในส่วนของการฉีดวัคซีนให้เด็กหลากหลายสูตรในไทยว่า ควรให้เด็กไทยฉีดวัคซีนชนิด mRNA ไฟเซอร์ฝาส้ม 2 เข็ม ไม่ควรเพิ่มสูตรไขว้อื่นๆ ที่ยังไม่มีผลการศึกษาเรื่องการป้องกันความรุนแรงจากโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่มากพอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผู้ปกครองต้องการให้เด็กฉีดสูตรไขว้ 2 เข็ม แนะนำว่าควรมีสักเข็มเป็นวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งก็คือไฟเซอร์ฝาส้ม ที่มีการศึกษาในต่างประเทศแล้วว่าช่วยป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ดี

5. สำหรับเด็กที่มีอาการแพ้วัคซีนไฟเซอร์ขั้นรุนแรง สามารถสังเกตได้ทันทีหลังฉีด เพราะในรายที่แพ้อย่างรุนแรงจนแพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถฉีดเข็มต่อไปได้ มักจะมีอาการเกิดขึ้นหลังฉีดไปแล้ว 15 – 30 นาที โดยบางรายอาจมีอาการช็อค หรือลมพิษขั้นรุนแรง หรือแน่นหน้าอก แต่ถ้าในเด็กที่มีอาการแค่มีไข้ ปวดหัว ท้องเสีย ถือเป็นอาการข้างเคียงปกติที่พบได้ในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก ฝาสีส้ม และสำหรับผู้ปกครองหลายคนที่กำลังกังวลว่าเด็กๆ จะมีภาวะแทรกซ้อนในลักษณะของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตามผลวิจัยในต่างประเทศพบว่าภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนี้พบได้ในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง และพบในการฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 แต่พบน้อยมากในไทย

6. สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ และโรคเรื้อรังอย่าง โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ฯลฯ ควรรีบมาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงมากกว่าเด็กที่มีร่างกายแข็งแรง เนื่องจากเด็กที่มีโรคประจำตัวเมื่อติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะมีความเสี่ยงของภาวะเชื้อลงปอด ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ง่ายกว่า และสิ่งสำคัญคือเมื่อเด็กฉีดวัคซีนไปแล้วผู้ปกครองจะต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น ซึ่งอาจพบได้ใน 3 – 5 วันแรกหลังฉีดวัคซีน และถ้าหากมีอาการร้ายแรงควรต้องรีบนำตัวไปพบแพทย์โดยทันที

7. ในอนาคตคาดว่าจะมีการอนุมัติฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากขึ้น เพราะตอนนี้ในการศึกษาวิจัยได้ผลชัดเจนแล้วว่าถ้าฉีดวัคซีนในเด็ก 5 – 11 ปี ต้องใช้วัคซีนในปริมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ ซึ่งหากมีการวิจัยค้นพบปริมาณที่เหมาะสมและผลข้างเคียงต่อเด็กเล็กในผลกระทบที่ยอมรับได้ ประเทศแถบยุโรปน่าจะมีการนำร่องอนุมัติให้ใช้ก่อน จากนั้นไม่นานประเทศไทยก็คงตามมา

อ้างอิง

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite