ไขข้อสงสัย วัคซีนโควิด-19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และผู้มีบุตรยาก
- นอกจากกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงวัยแล้ว หญิงตั้งครรภ์ คืออีกกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหากมีการติดเชื้อโควิด-19 เหตุผลก็ด้วยการลดลงของภูมิคุ้มกันในร่างกาย
- ตอนนี้งานวิจัยด้านวัคซีนโควิด-19 เพิ่งจะเริ่มขยายต่อไปถึงการวิจัยฉีดในคนท้อง
- งานวิจัยล่าสุดรวบรวมคนท้องจำนวน 35,000 คน ติดตาม12 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนโควิด ชนิด mRNA ไม่พบภาวะเเท้ง เด็กพิการ และคลอดก่อนกำหนดในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
นอกจากกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังและผู้สูงวัยแล้ว หญิงตั้งครรภ์ คืออีกกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหากมีการติดเชื้อโควิด-19 เหตุผลก็ด้วยร่างกายในช่วงภาวะตั้งครรภ์เป็นช่วงที่ร่างกายต้องปรับสภาพความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อันส่งผลโดยตรงต่อการลดลงของภูมิคุ้มกันในร่างกายถ้าเทียบกับผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และเมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ก็มีสิทธิ์ที่หญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ได้ง่าย ซึ่งไม่เพียงไวรัสโควิด-19 แม้แต่ไข้หวัดใหญ่ก็สามารถติดได้ง่ายกว่าภาวะร่างกายปกติเช่นกัน
ทั้งนี้ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ระบุว่า แม้ว่าความเสี่ยงโดยรวมของการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิด-19 ของคุณแม่ตั้งครรภ์จะอยู่ในระดับต่ำ แต่คนที่ตั้งครรภ์ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นสำหรับการเจ็บป่วยเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ อีกทั้งยังมีรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 และมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หรือโรคปอด ทำให้โอกาสการเกิดความรุนแรงของโรคสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีโอกาสต้องเข้า ICU หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น ครรภ์เป็นพิษ หรือการคลอดก่อนกำหนดได้ ทำให้คุณแม่อันตรายถึงชีวิต แต่ในเรื่องโควิด-19 กับความพิการของเด็ก ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่พบว่าทำให้เกิดความพิการของทารกมากขึ้น
ทั้งนี้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้สามารถกินได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยถ้าหญิงตั้งครรภ์มีไข้สูงและอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความพิการของเด็กได้ ส่วนอาการของโควิด-19 ที่พบเจอได้คือไข้ ไอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ศีรษะ
แน่นอนว่าการระบาดของโควิด-19 ย่อมทำให้ผู้หญิงหลายคนเกิดคำถามว่าจะมีบุตรในช่วงนี้ดีไหม และถ้าเกิดตั้งครรภ์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 หรือเพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ตอนฉีดวัคซีนจะทำอย่างไร และปลอดภัยหรือไม่ในการฉีด วัคซีนโควิด-19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์
Sarakadee Lite ชวน แพทย์หญิงสิริสุข อุ่ยตระกูล สูตินรีแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลเจตนิน มาถาม-ตอบ ถึงการเตรียมความพร้อมของคุณแม่ตั้งครรภ์ และผู้มีบุตรยากในช่วงการระบาดของโควิด-19 เช่นนี้
Q: คนท้องต้องป้องกันตัวเองเป็นพิเศษอย่างไรในช่วงโควิด-19
การเว้นระยะห่าง 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ ยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการป้องกันตัวเองในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ก็ต้องยอมรับว่าตอนนี้คนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วไม่ค่อยแสดงอาการก็มีอยู่มาก รวมทั้งมีอาการรุนแรงค่อนข้างน้อย อาการที่น่าสงสัยว่าจะติดโควิด-19 หรือเปล่าจึงมักเป็นอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์คนไหนที่รู้ตัวว่าไปอยู่ในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง หากมีอาการไข้ ปวดหัว เบื้องต้นคือให้ประเมินตัวเองว่าเรามีความเสี่ยงสูงไหม ต้องรีบไปรับการตรวจหรือเปล่า ตามปกติแล้วเมื่อหญิงตั้งครรภ์มีไข้สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ได้ แต่ไข้ถ้าสูงมาก ๆ ก็อาจจะหมายถึงความผิดปกติของเด็กในครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากมีไข้สูงกินยาแล้วไข้ไม่ลด ควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ทันที
Q: คนท้องต้องพบแพทย์บ่อย แต่ไม่อยากไปโรงพยาบาล กลัวติดเชื้อ ทำอย่างไร
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์เข้าสู่ไตรมาสที่สอง คือ ช่วงอายุครรภ์ 12-28 สัปดาห์เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์น้อยที่สุด ถ้าไม่มีโรคประจำตัวระหว่างการตั้งครรภ์รุนแรง เช่น โรคเบาหวาน ไทรอยด์ หรือโรคหัวใจ รวมทั้งสามารถนับลูกดิ้นเป็นปกติทุกวันได้ แนะนำให้ลองโทรศัพท์ไปเลื่อนนัดกับแพทย์ผู้ฝากครรภ์ให้นัดห่างขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอด้วยว่าจะแนะนำให้นัดห่างขึ้นไหม เพราะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์บางคน การออกจากบ้านอาจจะทำให้ต้องเจอกับความเสี่ยงที่จะติดโควิด-19 ได้ เช่น อาจจะต้องโดยสารรถสาธารณะที่มีผู้คนแออัด เสี่ยงต่อการเข้าไปอยู่ในชุมชนที่มีคนจำนวนมาก
Q: หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม
ที่ผ่านมาวัคซีนโควิด-19 ในทุกตัวแทบจะไม่มีงานวิจัยในคนท้องเลย หมายถึงว่ามีการฉีดโดยที่ไม่ได้อ้างอิงผลการวิจัยอย่างแท้จริง ไม่มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการมารองรับอย่างชัดเจน ตามปกติแล้วงานวิจัยด้านวัคซีนต้องทดสอบกับบุคคลธรรมดาก่อน เน้นช่วงอายุ 18-59 ปี เป็นผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวเป็นหลัก และเมื่อทดสอบแล้วว่าวัคซีนนั้น ๆ มีประสิทธิภาพดี ป้องกันโรคได้ชัดเจน และปลอดภัยจึงค่อยขยายการทดสอบไปเรื่อย ๆ ในกลุ่มคนที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และกลุ่มคนท้อง หรือคุณแม่ที่ให้นมบุตรก็เป็นหนึ่งในนั้น
แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมามีการระบาดของโควิด-19 มาก และก็มีการประเมินว่าคนท้องบางคนต้องตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ถ้าไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดคนท้องเหล่านั้นอาจมีโอกาสติดโควิด-19 และอาจจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ที่ผ่านมาก็เลยมีคนท้องบางคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปบ้างแล้ว
ส่วนปัจจุบันมีการติดตามข้อมูลคนท้องที่ฉีด วัคซีนโควิด ไปแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เช่น ข้อมูลจาก CDC : Centers for Disease Control and Prevention ที่ติดตามคนท้องที่ฉีดวัคซีนประมาณ 4,000 คน* ซึ่งผลข้างเคียงก็ยังไม่มีปรากฏชัดเจนว่าฉีดแล้วจะเกิดโอกาสแท้ง เกิดความพิการในเด็ก หรือทำให้คลอดก่อนกำหนด ส่วนตอนนี้มีงานวิจัยด้านวัคซีนโควิด-19 ในหลายบริษัทที่เพิ่งจะเริ่มขยายต่อไปถึงการวิจัยฉีดในคนท้อง เช่น ในกลุ่มของวัคซีนที่เป็นเทคโนโลยี mRNA อย่างไฟเซอร์และโมเดอร์นา ก็เริ่มฉีดในคนท้องแล้ว
ส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในคนท้องได้แล้วเช่นกัน และมีงานวิจัยล่าสุดตีพิมพ์ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยการสอบถามและรวบรวมคนท้องจำนวน 35,000 คน ติดตาม 12 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนโควิด ชนิด mRNA ไม่พบภาวะเเท้ง เด็กพิการ และคลอดก่อนกำหนดในกลุ่มที่ได้รับวัคซีน
สำหรับความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 กับการตั้งครรภ์ อยากแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ เพื่อประเมินความเสี่ยง หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นหากติดเชื้อ รวมถึงประเมินผลดี ผลเสีย เปรียบเทียบกับอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรับฉีดวัคซีน หากพิจารณาแล้วพบว่าคนท้องมีความเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 แพทย์อาจลงความเห็นว่าให้ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไว้ก่อน
ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่ให้นมบุตรนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้คำแนะนำว่า เพื่อรอผลศึกษาจากงานวิจัยที่แน่ชัด มารดาที่ให้นมบุตรและไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ควรชะลอการฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะพ้นช่วงให้นมบุตร ส่วนผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรและมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ให้คำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนกับความเสี่ยงของวัคซีน โดยสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้โดยปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนตัดสินใจ
Q: จริงไหมที่ว่าฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA แล้วไม่ควรเสี่ยงตั้งครรภ์
คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว สามารถวางแผนตั้งครรภ์ได้หรือไม่นั้น ตามคำแนะนำของ CDC ระบุว่าไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์หลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน (mRNA) เนื่องจากตามทฤษฎีแล้ว วัคซีนจะไม่ได้เข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ จึงไม่น่าจะมีการกลายพันธุ์ทั้งในตัวคุณแม่และทารกในครรภ์ หากเกิดการตั้งครรภ์ภายหลังได้รับวัคซีน ดังนั้น สำหรับคู่สมรสที่มีแผนตั้งครรภ์หลังจากได้รับวัคซีน ควรเข้ามาพบสูติแพทย์เพื่อปรึกษาและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
Q: จริงหรือที่วัคซีนโควิด-19 ทำให้เป็นหมัน
จากข้อมูลการศึกษาหลักการทำงานและประสิทธิภาพความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มผู้ที่ต้องการมีบุตร ยังไม่พบว่าการรับวัคซีนส่งผลต่อการเจริญพันธุ์ หรือทำให้มีบุตรยากขึ้นอีกทั้งผู้ที่เคยติดไวรัสโควิด-19 แล้วรักษาหายแล้วก็ไม่พบข้อมูลต่อการเจริญพันธุ์เช่นกัน ยังไม่มีงานวิจัยบอกว่าติดโควิด-19 แล้วสเปิร์มจะน้อยลงอย่างชัดเจน ไม่เหมือนโรคคางทูมที่เป็นไวรัสที่ถ้าผู้ชายติดแล้วมีสิทธิ์จะเป็นหมันมากขึ้น
Q: ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนไหม
ไม่จำเป็นต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 และคนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วนั้นCDC (Centers for Disease Control and Prevention ) แนะนำว่าไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน (mRNA)
Q: หากจำเป็นต้องไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาลต้องทำอย่างไร
ถ้ามีความจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลควรไปถึงล่วงหน้าเพียงเล็กน้อยเพื่อลดระยะเวลาของการอยู่ในโรงพยาบาล ขณะอยู่โรงพยาบาลให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากมีความจำเป็นต้องจิบน้ำ ค่อยถอดหน้ากากออก (อย่างถูกวิธี) และเมื่อกลับจากโรงพยาบาลให้ถอดหน้ากากอนามัยทิ้ง (อย่างถูกวิธี) อาบน้ำสระผม เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ทันที
Q: หากอยู่ในภาวะมีบุตรยาก ควรชะลอการมีบุตรหลังสถานการณ์การระบาดดีขึ้นดีไหม
สำหรับคนที่รู้ตัวว่าอยู่ในภาวะมีบุตรยาก ไม่อยากให้วิตกกังวลกับโควิด-19 มากนัก ไม่ควรรอให้สถานการณ์การระบาดดีขึ้นก่อนค่อยมารักษา แต่สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินตัวเองก่อนว่าแต่ละคนมีบุตรยากจากสาเหตุอะไร และควรจะรอหรือไม่ เพราะร่างกายบางคนอาจรอได้ บางคนประเมินตัวเองแล้วว่าอาจจะมีความเสี่ยงการติดโควิด-19 มากกว่าหมอก็อาจจะแนะนำให้รอ แต่ถ้าสมมติว่าบางคนมีโอกาสที่จะมีบุตรยากมากกว่า หรือไข่เราเหลือน้อยมากกว่า เราก็ต้องมาชั่งใจว่าการรักษาสามารถทำควบคู่กับสถานการณ์ขณะนี้ได้หรือไม่ เพราะการหยุดหรือห่างหายไปและกลับมาอีกครั้งอาจจะกลายเป็นเคสที่ยากไปเลยก็มี
*อ้างอิง