พลิก วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ส่งตรงผัก ผลไม้สดจากเกษตรกรถึงบ้าน ไม่ต้องตุน
Better Living

พลิก วิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ส่งตรงผัก ผลไม้สดจากเกษตรกรถึงบ้าน ไม่ต้องตุน

Focus
  • การเชื่อมโยงพื้นที่อาหารกับเมืองถูกหยิบยกขึ้นมาพูดอีกครั้งในช่วงการแพร่ระบาดของ โควิด-19เห็นได้ชัดว่าคนส่วนใหญ่ ไม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการเพาะปลูกเพื่อจะเป็นแหล่งอาหารของตัวเอง
  • แท้ที่จริงแล้วพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ ยังคงเป็นพื้นที่ด้านการเกษตรที่พอหล่อเลี้ยงคนในเมืองหลวง อีกทั้งการขนส่งยังไม่ได้ไกลมาก ทำให้ผลผลิตยังมีความสดใหม่ แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตก็ยังสามารถกินอาหารดีๆ สดใหม่ได้

วิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายคนแห่กักตุนอาหาร แต่สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นคือการระบาดของ โควิด-19 ทำให้เห็นเราเริ่มถึงช่องว่างของคนเมืองในประเด็นความมั่นคงอาหาร โดยเฉพาะเรื่องการสร้าง สวนผักคนเมือง แต่ในวิกฤตนี้ย่อมมีโอกาส ที่สามารถสร้างการเติมเต็มบนห่วงโซ่อาหาร เพื่อเชื่อมโยงผลผลิตจากเกษตรกรสู่คนในเมืองโดยไม่ต้องแย่งกันกักตุนอย่างที่เป็นอยู่

เชื่อมโยงความมั่นคงทางอาหาร

วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เล่าถึงสภาวะวิกฤตตอนนี้ที่เห็นชัดว่าคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ไม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการเพาะปลูกเพื่อจะเป็นแหล่งอาหารของตัวเอง หลายคนต้องไปซื้อของในห้างโมเดิร์นเทรนด์มากักตุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ดังนั้นทางที่ดีที่สุดที่จะได้เข้าถึงแหล่งอาหารที่สดใหม่ คือ การเชื่อมโยงพื้นที่อาหารกับเมือง เพื่อให้เป็นทางเลือกที่จะทำให้ผู้บริโภคในเมืองเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรได้โดยตรง

อย่าลืมว่าแท้ที่จริงแล้วพื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ ยังคงเป็นพื้นที่ด้านการเกษตรที่พอหล่อเลี้ยงคนในเมืองหลวง อีกทั้งการขนส่งยังไม่ได้ไกลมาก ทำให้ผลผลิตยังคงมีความสดใหม่ แม้จะอยู่ในช่วงวิกฤตก็ยังสามารถกินอาหารดีๆ สดใหม่ได้ และหากมีการวางแผนที่ดีเรื่องการเชื่อมโยงพื้นที่อาหารกับเมือง ในอนาคตหากเกิดวิกฤตอีกครั้ง แทนที่เราจะไปแย่งกันซื้อสินค้าในห้าง รูปแบบก็อาจจะเปลี่ยนมาเป็นการรวมกลุ่มกันในพื้นที่ ติดต่อกับเกษตรกรโดยตรง เพื่อให้เกษตรกรสามารถส่งผลผลิตทีละมากๆ เป็นการประหยัดค่าขนส่งไปได้อีกทาง

วิกฤตโควิด-19

“ตอนนี้อาหารสดไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ข้าว ผักสด หรือปลาจากชาวประมงพื้นบ้าน มีความพร้อมที่จะส่งตรงมาให้กับผู้บริโภคในเมือง ซึ่งการมีพื้นที่กลางเพื่อเชื่อมโยงวัตถุดิบเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้ามีการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ผู้บริโภคอาจจะมารับสินค้าสัปดาห์ละครั้ง ทำให้ไม่ต้องกักตุนอาหารไว้ที่บ้านมากๆ แถมยังได้อาหารที่สดใหม่”

วรางคนางค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ทำให้เห็นว่า เราควรให้ความสำคัญกับตลาดสีเขียวมากขึ้น ไม่ใช่แค่ตลาดทางเลือกเหมือนแต่ก่อน เพราะที่ผ่านมาคนเมืองมักคิดว่าไม่มีวันที่อาหารจะขาดแคลน เลยไม่เคยได้รู้จักกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตต้นทางจริงๆ ด้วยหวังพึ่งพิงกับแหล่งอาหารที่มาจากห้างสรรสินค้า แต่ถ้าเมื่อใดเรารู้จักกับผู้ผลิตอาหาร เราสามารถตรวจสอบได้ว่า เขาทำการเกษตรที่ปลอดสารเคมีจริงๆ หรือไม่ และสุดท้ายก็เป็นผลดีในด้านสุขภาพของผู้บริโภค

วิกฤตโควิด-19

2-3 ปี ที่ผ่านมา เกษตรกรที่ทำตลาดสีเขียว โดยการขายผลิตผลผ่านออนไลน์มีเยอะมากขึ้น เพราะการขนส่งที่พัฒนาและถูกลง เพียงแต่ยังไม่มีตัวกลางที่รวบรวมข้อมูลว่า ถ้าต้องการเนื้อสัตว์สามารถสั่งได้ที่ไหนบ้าง ทั้งที่จริงมีกลุ่มที่เป็นตัวกลาง 20-30 กลุ่ม กระจายอยู่รอบกรุงเทพฯ โดยทางกลุ่มมีการทำงานในการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในเมือง ผลผลิตส่วนหนึ่งได้เปิดจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ มีการเชื่อมโยงกับกลุ่มเกษตรกรที่อยู่ในรอยต่อของเมือง ในการจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรตามฤดูกาล

ตอนนี้ที่เปิดจำหน่ายมีข้าวจากพื้นที่ภาคกลางและอีสาน เช่น ข้าวหอมมะลิจากร้อยเอ็ด หรือกะหล่ำปลีม่วง และมันหวาน จากแม่ทาออร์แกนิค จังหวัดเชียงใหม่ส่วนผักมีกว่า 20-30 ชนิด จากเกษตรกรในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ขณะที่ไข่ไก่ เนื้อไก่ จากแทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม สามารถสั่งได้ง่ายทางออนไลน์และหากผู้บริโภครู้สึกชอบ ก็สามารถติดต่อเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง เพื่อที่ครั้งต่อไปจะสามารถส่งผลผลิตให้ได้โดยตรง แต่ในระยะแรกอาจจะสั่งผ่านโครงการที่เป็นตัวกลางให้ก่อน ผ่านไลน์ @cityfarm

สำหรับการจัดส่งสินค้าส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 วันหลังจากสั่งของ โดยผู้บริโภคอาจนัดสถานที่รับสินค้า หรือจะมารับยังที่ทำการมูลนิธิ แต่ถ้าไม่สะดวกจะมีการจัดส่งผ่านบริษัทเอกชน ที่ตอนนี้ค่อนข้างสะดวกมากขึ้น

สวนผักคนเมือง

สร้างสวนผักคนเมือง แม้อยู่คอนโดก็ปลูกผักได้

สำหรับการปลูกผักกินเอง ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ที่ไม่รู้ว่าจะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่ คนเมืองควรเริ่มเตรียมพร้อมปลูกพืชที่ใช้วัสดุในการปลูกไม่มาก และพืชต้องมีอายุสั้น เช่น ถั่วงอก ซึ่งเพียง 3 วันก็กินได้ โดยวิธีการก็ง่ายมาก เพียงไปซื้อถั่วเขียวมาเพาะ ซึ่งเมล็ดถั่วเขียว 1 ขีด จะได้ถั่วงอก 3 – 4 ขีด โดยไม่ต้องใช้พื้นที่มาก มีแค่กระป๋องใส่แล้วรดน้ำไม่นาน ถั่วงอกก็จะให้ผลผลิต แต่ถ้ามีพื้นที่ในการเพาะปลูก มีดิน และขุยมะพร้าว สามารถปลูกต้นอ่อนไมโครกรีน ใช้เวลาเพียง 5-7 วันก็กินได้

เมล็ดพันธุ์ต่างๆ สามารถหาได้จากร้านค้าทั่วไป หรือซื้อผักมา แล้วมีหัวเหลือก็นำมาปักลงดินได้ แต่ถ้าใครสนใจเมล็ดพันธุ์ผักออร์แกนิกสามารถติดต่อผ่าน “กรีนเนท ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ออร์แกนิค” หรือติดต่อมูลนิธิ ผ่านไลน์ @cityfarm ที่มีเมล็ดพันธุ์ผักจำหน่าย เช่น ผักบุ้ง ผักชี กวางตุ้ง คะน้า ผักสลัด และยังมีดินจากเกษตรกรเครือข่ายจำหน่ายอีกด้วย

ด้วยความที่ทางกลุ่มทำโครงการเกี่ยวกับการปลูกผักให้คนเมืองมานาน ทำให้เห็นว่าเมื่อเกิดแต่ละครั้ง การพึ่งพาตัวเองในด้านแหล่งอาหารถือเป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 มีผลกระทบเป็นวงกว้างด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะแรงงาน ที่ต้องหยุดงาน หรือบางคนตกงานจนขาดรายได้ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงอาหารได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากร้านอาหารข้างทางบางส่วนต้องปิดชั่วคราว

สวนผักคนเมือง
ถั่วงอกปลูกง่าย ไม่กี่วันก็ได้กิน
วิกฤตโควิด-19
ตะไคร้จากตลาดแช่น้ำไว้ให้รากงอกก็ปลูกใหม่ได้

ดังนั้นพื้นที่ในมูลนิธิ จะเป็นพื้นที่การเกษตรที่จะสนับสนุนอาหารให้กับแรงงานที่ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานด้วยในระยะเวลา 3 เดือนที่เกิดวิกฤตนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีบางเครือข่ายที่เข้าไปสนับสนุนในการพลิกฟื้นพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นแปลงผัก เช่น เครือข่ายแรงงานนอกระบบเครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ตอนนี้ผักที่ปลูกไว้สามารถหล่อเลี้ยงสมาชิกได้แม้จะเกิดวิกฤตซึ่งกรุงเทพฯ ตอนนี้มีพื้นที่ว่างเปล่าเยอะมาก ถ้าหากหน่วยงานรัฐมีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นแปลงผักในภาวะวิกฤตนี้ จะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ สามารถช่วยเหลือประชากรในสังคมเมืองได้มากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้

วิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายคนกลับมาวิเคราะห์ช่องว่างในเรื่องของการผลิตอาหารมากขึ้น เพราะแต่ก่อนไม่เกิดวิกฤตก็จะรู้สึกว่าไม่มีปัญหาในเรื่องแหล่งอาหาร แต่พอเกิดวิกฤตขึ้น จะรู้ว่าจริงๆ พื้นที่แหล่งอาหาร มันไม่มีความสมดุลอย่างที่หลายคนคิด เนื่องจาก เมืองไม่สามารถผลิตอาหารกินเองได้ ดังนั้นในวิกฤตครั้งนี้ นอกจากคนเมืองจะได้เรียนรู้และเติมเต็มในเรื่องช่องว่างของอาหารแล้ว การทดลองปลูกผักกินเองในพื้นที่มุมเล็กๆ ของบ้าน ก็เป็นอีกกิจกรรมที่น่าสนใจ

สวนผักคนเมือง
วรางคนางค์ นิ้มหัตถา หัวหน้าโครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)

Fact File

โครงการสวนผักคนเมือง


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ