ทำไมต้องเปิด Isolation Unit สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19
- โรงแรมโอโซน สามย่าน (OZONE Hotel Samyan) ได้ปรับธุรกิจเปลี่ยนโรงแรมเป็น Isolation Unit สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม เป็นต้นมา
- ผศ.พญ.ยุวรีย์ พิชิตโชค รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กรและทรัพยากรบุคคล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดและโครงการ สถานที่พักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์
สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 หรือ Isolation Unit ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อเป็นอีกแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ทำไม โรงพยาบาลต้องไม่ล้น แล้วคนป่วยจะรอด Sarakadee Lite ขอชวนไปหาคำตอบจากบทสนทนาของ ผศ.พญ.ยุวรีย์ พิชิตโชค รองผู้อำนวยการ ฝ่ายยุทธศาสตร์องค์กรและทรัพยากรบุคคล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้ริเริ่มแนวคิดโครงการ สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 นอกโรงพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังทำงานหนักในช่วงวิกฤติโควิด-19 เช่นนี้
สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 คืออะไร
สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 หรือ Isolation Unit เป็นสถานที่สำหรับพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการดีขึ้น สามารถดูแลตัวเองได้ แต่ยังกลับบ้านไม่ได้ ยังคงต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์จนกกว่าแพทย์จะอนุญาตให้กลับไปใช้ชีวิตปกติ ที่เพิ่งเปิดตัวไปคือ โรงแรมโอโซน สามย่าน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ (PMCU) และ โรงแรมโอโซน สามย่าน
สำหรับวัตถุประสงค์ของ สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 ก็เพื่อแบ่งเบาภาระและลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยได้เริ่มเปิดบริการห้องพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงแรมโอโซน สามย่านแห่งนี้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา โดยทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ส่งทีมแพทย์ พยาบาลบางส่วนดูแลอย่างใกล้ชิด ร่วมกับการทำงานของพนักงานของโรงแรมที่ผ่านการอบรมเรื่องวิธีจัดการการป้องกันเชื้อไวรัสอย่างถูกสุขอนามัย
ทำไมต้องมีการย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ที่ช่วยเหลือตัวเองได้มายังสถานพักฟื้น
เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคที่แพร่เชื้อได้ง่าย แม้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น หรือช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจก็ยังต้องถูกกักตัวแยกไว้ในโรงพยาบาล แต่ที่ผ่านมาเราพบว่าผู้ป่วยต้องใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลนานมาก เราก็เลยเริ่มมองหาสถานที่ถ่ายเทคน สำหรับเคสที่อาการไม่หนัก สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่อย่างนั้นเตียงในโรงพยาบาลจะเต็ม
เราต้องเก็บทรัพยากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะบุคลากรการแพทย์ไว้สำหรับเคสที่หนัก เช่น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ก็เลยต้องมองหาสถานที่พักฟื้น และในช่วงนี้โรงแรมก็เริ่มมีห้องพักว่างมากขึ้น เลยมองหาว่าพอจะมีโรงแรมไหนที่สามารถร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาฯ ใช้เป็นสถานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาการเบาไปจนอาการเริ่มทุเลาและกลับบ้านได้ โดยเรามองว่าคนไข้กลุ่มนี้ ไม่ต้องแอดมิดอยู่โรงพยาบาลแล้ว แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์และพยาบาล ดังนั้นเราจึงต้องหาสถานที่ให้เขาอยู่แทนที่จะกลับไปอยู่บ้าน
ผู้ป่วยโรคโควิด-19 หนึ่งคนต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์กี่คน
เนื่องจากโควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นโรคเกิดใหม่ จึงต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์และทรัพยากรในโรงพยาบาลจำนวนมาก คนไข้โควิด-19 ที่ป่วยหนักต้องเข้าไอซียูจำเป็นต้องใช้พยาบาล 3 คน ต่อคนไข้ 1 คน เทียบกับผู้ป่วยไอซียูทั่วไปคือใช้พยาบาลแค่ 1 คน ต่อคนไข้ 1เตียง แต่ ณ วันนี้เราต้องใช้ถึง 3 คนประกบ และต้องใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันเชื้อ ซึ่งทำให้ทำงานได้ไม่ถนัดเท่าเดิม
หมวก มาสก์ ชุด PPE หลายชั้นมันไม่สะดวกสบาย การจะพลิกตัวทำหัตถการให้คนไข้จึงต้องใช้พยาบาลเยอะ นี่ยังไม่รวมหมอ ซึ่งที่จุฬาฯ ใช้ทีมหมอเยอะมาก ทั้งหมอเฉพาะทางเชื้อไวรัส หมอโรคปอด หมอวิสัญญี (วางยาสลบ) ต้องใส่ท่อ (tube) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก เราแยกหมอวิสัญญีที่ใส่เฉพาะท่อ วางยาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเดียวทุกวัน
มีหมอเฉพาะทางดูแลผู้ป่วยวิกฤติ มีทีมอาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่เข้ามาเป็นทีม ยังไม่รวมบุคลากรอีกมหาศาล คนที่คอยซัพพอร์ตทุกสิ่งอย่าง ต้องใช้ทีมเยอะเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง เพราะอาการคนไข้เปลี่ยนตลอดเวลา ต้องดูแลใกล้ชิด มอนิเตอร์ตลอดเวลา รวมถึงโรคแทรกซ้อนต่างๆ มีความไวของการเปลี่ยนของโรค ถ้าเราจะดูให้ดีต้องใช้ทีมใหญ่ อุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ก็เป็นส่วนหนึ่ง มีคนถามว่าเครื่องช่วยหายใจเราพอไหมตอนนี้ ต้องบอกว่าพอ แต่ปัญหาคือคนดูแลเครื่องช่วยหายใจต่างหากที่สำคัญ มันไม่ได้เรียนกันในวันเดียว
การมี สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งเบาภาระโรงพยาบาลได้แค่ไหน
ถ้าอยู่ในโรงพยาบาล 24 ผลัด ผลัดหนึ่งอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 10 คน เมื่อย้ายผู้ป่วยโควิดมายังสถานพักฟื้น (ที่โรงแรมโอโซน สามย่าน) จะเหลือพยาบาลดูแลแค่ 2 คน 2 ผลัด เพราะเราได้แยกมาแต่แรกแล้วว่า ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถดูแลตัวเองได้ ผู้พักฟื้นก็จะอยู่ในห้องของตัวเองตลอด ส่วนพยาบาลก็มีมอนิเตอร์จากห้องพัก และทำงานชั่วคราวภายในโรงแรมได้เลย
อย่างที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เรามีเคสหนักก็จริง แต่การตายที่โรงพยาบาลจุฬาคือเป็นศูนย์ แต่เราใช้บุคลากรดูแลเยอะมาก ทั้งทีมแพทย์ ทีมพยาบาล อุปกรณ์ต่างๆ อีกสารพัดที่ทำให้คนป่วยดีขึ้น และก็เพราะจำนวนเคสไม่เยอะจึงทำได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เคสมันเกินกำลังที่เราจะดูได้ อัตราการตายเพิ่มขึ้นแน่ๆ เพราะเราดูไม่ทัน
เราจะต้องอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ไปอีกนานแค่ไหน และชีวิตจะต้องอยู่อย่างไร
เราจะอยู่ด้วย new normal ไปอย่างน้อยก็ 1 ปี เราหวังแค่ว่าจะไม่มีพีคหนักๆ แบบที่ผ่านมาก ไม่มี super spreader แบบสนามมวยลุมพินี อันนั้นถือว่าหนักมาก เราจึงต้องมีสติ วินัย และอดทนที่จะอยู่แบบนี้ไปจนกว่าจะมีวัคซีน อย่างน้อยคือ 8 เดือนตามที่ทุกคนพูด
ทุกคนต้องปรับตัวใหม่หมด แม้กระทั่งในโรงพยาบาล ในส่วนที่ต้องดูแลผู้ป่วยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 ก็ต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่าง เพราะโควิด-19 เป็นเคสที่มีมากขึ้น เราไม่รู้ว่าใครติดเชื้อหรือใครไม่ติดเชื้อ ระบบการนัดตรวจ ตารางการผ่าตัด มันจะมีวิถีใหม่ (new normal) มาตรฐานใหม่ (new standard) ขึ้นมาใหม่หมดเลย ตอนนี้ทางโรงพยาบาลจุฬาฯ เองก็เตรียมการหลายๆ สิ่งเพื่อรองรับ new normal ที่จะเกิดขึ้น
ถึงประเทศเราสงบแต่อย่าลืมว่าโลกยังไม่สงบ ถ้าเราไม่ป้องกันในจุดต่างๆ มันจะกลับเข้ามาระบาดอีกแน่นอน ที่สำคัญคือ วินัยของประชาชน อย่าการ์ดตก เพราะเห็นตัวเลขคนเสียชีวิตน้อย
Fact File
- โรงแรมโอโซน สามย่าน (OZONE Hotel Samyan) ได้ปรับธุรกิจเปลี่ยนโรงแรมเป็น Isolation Unit สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม เป็นต้นมา โดยทางรพ.จุฬาฯ ส่งทีมแพทย์พยาบาลบางส่วนดูแลอย่างใกล้ชิด ร่วมกับการทำงานของพนักงานของโรงแรมที่ผ่านการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการจัดการป้องกันเชื้อไวรัสอย่างถูกสุขอนามัย