8 ข้อต้องรู้ เมื่อตัวเลข เด็กติดโควิด-19 ในไทยเพิ่มสูงจนน่ากังวล
Better Living

8 ข้อต้องรู้ เมื่อตัวเลข เด็กติดโควิด-19 ในไทยเพิ่มสูงจนน่ากังวล

Focus
  • เดือนสิงหาคม 2564 ประเทศไทยมีคนไข้ เด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ติดโควิดทั่วประเทศ 16,202 คน  และถ้าย้อนดูสถิติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 4 สิงหาคม 2564 พบว่าเด็กไทยติดโควิดสะสม 65,086 คน
  • เด็กที่ติดโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยแสดงอาการ ทำให้กระบวนการรักษาค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการวินิจฉัยโรค

หากย้อนไปดูสถิติผู้ป่วยติดโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้จะพบข้อมูลที่น่าสนใจและน่ากังวลว่า ตัวเลข เด็กติดโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตัวเลขในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สถานการณ์การติดโควิด-19 ยกครอบครัวเพิ่มสูงขึ้น บวกกับเด็กๆ เองยังไม่ได้รับวัคซีน เด็กเล็กไม่มีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อได้เท่าผู้ใหญ่ อีกทั้งเมื่อติดเชื้อแล้วก็มักไม่แสดงอาการ ทำให้เด็กนำเชื้อไปแพร่กระจายในกลุ่มเด็กๆ ด้วยกัน หรือสมาชิกในบ้านได้ง่าย Sarakadee Lite จึงขอพาทุกครอบครัวไปทำความเข้าใจถึงอาการ และการหาแนวทางป้องกันเด็กๆ จากโควิด-19

1. จากสถิติการติดเชื้อโควิด-19 ใประเทศไทย เฉพาะเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 พบคนไข้ เด็กแรกเกิดถึงอายุ 12 ปี ติดโควิดทั่วประเทศ 16,202 คน  และถ้าย้อนดูสถิติตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึง 4 สิงหาคม พ.ศ. 2564 พบว่ามี เด็กติดโควิด-19 สะสม 65,086 คน สะท้อนถึงปัญหาการระบาดในกลุ่มเด็กเล็กที่ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะยากจนที่ไม่สามารถดูแลเด็กเล็กได้ตลอด รวมทั้งครอบครัวที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อ

2. ผู้ป่วยเด็กที่ติดโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ไม่ค่อยแสดงอาการ ทำให้กระบวนการรักษาค่อนข้างยาก โดยเฉพาะการวินิจฉัยโรค เพราะในยามปกติเด็กๆ มักเป็นไข้หวัดธรรมดาได้ง่ายอยู่แล้ว แต่ในภาวะนี้อาการไข้หวัดอาจเป็นข้อบ่งชี้ถึงอาการของโควิด-19 ซึ่งบางครอบครัวยังคงมองว่าการที่เด็กเป็นไข้หวัดคือเรื่องธรรมดา ไม่ต้องพาเด็กไปโรงพยาบาลหรือพบแพทย์ ดังนั้นการป้องกันอย่างหนึ่งที่จะไม่ให้เด็กๆ นำเชื้อโควิด-19 ไปแพร่กระจายสู่เด็กๆ ด้วยกัน หรือคนในครอบครัว คือ การรีบตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์คิต (Antigen Test Kit) แบบ Home Use ให้กับเด็กทันทีที่พบว่าเด็กๆ มีอาการของไข้หวัด

3. จากการศึกษาวิจัยในประเทศอังกฤษ ในกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่เด็กแรกเกิดถึงช่วงอายุ 17 ปี ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1,734 คน พบว่า เมื่อเด็กติดเชื้อโควิด-19 มักไม่แสดงอาการ แต่อาการที่เจอบ่อยคือ ปวดหัว และมีอาการอ่อนเพลีย ส่วนอาการไข้ หรือไอมักพบได้น้อย ขณะที่เด็กเล็กมักมีอาการของโรคน้อยกว่าเด็กโต เนื่องจากตัวรับไวรัสในร่างกายมีน้อยกว่า โดยเด็กอายุ 12 – 17 ปี มีอาการเฉลี่ยประมาณ 7 วัน ส่วนเด็กเล็กอายุ 5 – 11 ปี มีอาการเฉลี่ยประมาณ 5 วัน แต่บางราย เมื่อตรวจเชื้อไปเรื่อยๆ อาจมีอาการได้นานถึง 28 วัน

4. จากการวิจัยในประเทศอังกฤษพบสิ่งที่น่ากังวลในผู้ป่วยกลุ่ม เด็กติดโควิด-19 คือ เมื่อเด็กเหล่านี้หายจากโควิด-19 แล้ว อาจมีโรคเรื้อรังตามมา เช่น โรคปอด หายใจลำบาก สมองหรือเส้นประสาทเสื่อม อาการนี้แม้ยังพบไม่เยอะมากในผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเด็ก แต่ก็เป็นสิ่งที่จะประมาทไม่ได้ และควรระวังอาการเหล่านี้ในระยะยาว

5. ด้วยความที่เด็กอ่อนยังสื่อสารอาการป่วยของตัวเองไม่ได้ ผู้ปกครองจึงควรต้องหมั่นสังเกตว่า เด็กมีอาการซึม ไม่ดื่มนม ไม่กินอาหาร มีไข้ หรือร้องไห้งอแงไม่หยุดหรือไม่ ยิ่งถ้าเด็กคนไหนที่เคยดิ้นหรือคลานบ่อยๆ แต่กลับพบว่าซึมลงไม่สดชื่น หรือเด็กบางคนมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ควรทำการตรวจโควิด-19 ด้วย แอนติเจน เทสต์คิต (Antigen Test Kit) ในทันทีเพื่อนำเข้าระบบการรักษาต่อไป

6. สำหรับตอนนี้การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จะใช้รูปแบบเดียวกับผู้ใหญ่ เช่นที่ประเทศอังกฤษ ถ้าเด็กติดโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ แนวทางการรักษาจะให้ผู้ปกครองดูแลรักษาเด็กๆ อยู่ที่บ้าน แต่ถ้าเด็กมีอาการเหนื่อย หอบ ปอดบวม มีไข้สูง กินอาหารไม่ได้ ท้องเสียรุนแรง จะต้องนำเด็กไปรักษาที่โรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ครอบครัวสามารถสังเกตอาการเด็กที่มีภาวะวิกฤติได้จากการหายใจ ถ้ามีอาการหายใจที่ลำบาก อาจสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากปอดเกิดการอักเสบจนทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้ บางรายมีโรคอื่นๆ สอดแทรกผ่านเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อรา ทำให้มีอาการหนัก และเข้าไปยังกระแสเลือดจนทำให้ระบบการทำงานของตับและไตผิดปกติ

7. ตอนนี้ความปลอดภัยในการใช้ยารักษาโควิด-19 ในเด็กเล็กมีข้อมูลงานวิจัยที่น้อยมาก โดยเฉพาะการประเมินผลในเด็กเล็กที่ยังสื่อสารกันไม่เข้าใจ ขณะที่ไอซียูสำหรับเด็กในไทยก็ยังมีน้อย จึงน่าเป็นห่วงว่าถ้าปล่อยให้จำนวนตัวเลข เด็กติดโควิด-19 เยอะมากกว่านี้ การหาห้องไอซียูสำหรับเด็กจะยิ่งยาก และหมอเด็กที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในประเทศไทยเองก็มีน้อยเช่นกัน ดังนั้นถ้าไม่รีบหามาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ในเด็ก อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเด็กอาจมีสูงขึ้นกว่าตอนนี้ โดยเฉพาะในเด็กอ่อนที่ยังหายใจเองไม่เป็น ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะสวมใส่หน้ากากอนามัย

8. รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ที่ปรึกษาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน แนะนำว่าการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ให้กับเด็กนั้นควรทำควบคู่กับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ซึ่งตอนนี้หลายประเทศเริ่มมีการอนุมัติฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับเด็ก เช่นในอเมริกามีการอนุมัติฉีดวัคซีนโมเดอร์นาและไฟเซอร์ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนในจีน มีการอนุมัติให้ฉีดซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ในกลุ่มเด็กแม้มีผลวิจัยมารองรับไม่มากก็ตาม แต่ต้องฉีดป้องกันไว้ก่อนสำหรับครอบครัวหรือเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ในแต่ละครอบครัวต้องเริ่มมีการฝึกให้เด็กๆ รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ กินร้อนช้อนกลางทุกครั้งให้กลายเป็นทักษะใหม่ของชีวิต นอกจากนี้วัคซีนทางใจก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรฝึกเด็กให้มีจิตใจที่เข้มแข็งในภาวะวิกฤติเช่นนี้

อ้างอิง

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ แพทย์ที่ปรึกษาโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

Fact File

  • อ่านเพิ่มเติมแนวทางการดูแลเด็กและครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด-19 https://bit.ly/3xQgDlz

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite