เปรียบเทียบ 7 วัคซีนโควิด ตั้งแต่ประสิทธิภาพ ความเสี่ยง ถึงผลลัพธ์ข้างเคียง
Better Living

เปรียบเทียบ 7 วัคซีนโควิด ตั้งแต่ประสิทธิภาพ ความเสี่ยง ถึงผลลัพธ์ข้างเคียง

Focus
  • รู้ลึกข้อมูลวัคซีนแต่ละชนิดของ 7 บริษัทวิจัยและพัฒนาระดับโลกที่ได้มีการฉีดให้ประชากรทั่วโลกกันแล้ว
  • การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ทุบสถิติการคิดค้นวัคซีนเชื้ออีโบลา (Ebola) เรียบร้อย
  • วัคซีน BNT162b2 ของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทคถือได้ว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีสุด ณ ตอนนี้คือ 95% (อัปเดตข้อมูล มีนาคม 2564)

ขณะนี้ (มีนาคม พ.ศ. 2564) หลายบริษัทในต่างประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิต วัคซีนโควิด ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาวัคซีนที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ อีกทั้งยังเป็นการนำเทคโนโลยีวัคซีน mRNA หมายถึง การใช้สารพันธุกรรมสังเคราะห์ที่จำลองมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส แทนการใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัสมาใช้จริงในมนุษย์เป็นครั้งแรก นับเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์ ที่ทั่วโลกต่างร่วมมือกันนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อกรกับไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันได้เริ่มมีการนำ วัคซีนโควิด มาฉีดให้แก่ประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากหลายบริษัทวิจัยพัฒนา ซึ่งสำหรับคนที่ไม่ใช่นักวิจัยโดยตรงอาจจะเกิดความสับสนได้ไม่มากก็น้อย ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เชิงลึก เกี่ยวกับหลักฐานต่าง ๆ ที่มีการรายงานถึงวัคซีนแต่ละตัวของ 7 บริษัทผลิตวัคซีนว่ามีผลอัปเดตล่าสุดเป็นอย่างไร (อัปเดตข้อมูลต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564)

ทั้งนี้ ผู้เขียนคาดว่าอีกไม่นานหลังจากนี้วัคซีนจากอีกหลายบริษัทคงทยอยขึ้นทะเบียนอนุมัติให้ฉีดในอีกหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย หากใครที่ตัดสินใจว่าจะรับวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 ผู้เขียนก็ขอแนะนำให้ทุกคนประเมินความพร้อมของตนเองและทำความเข้าใจหลักการและข้อจำกัดของวัคซีนที่ตนเองกำลังจะได้รับอย่างถี่ถ้วนเช่น อาจจะไม่ควรฉีดถ้ามีประวัติอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีนสาร PEG หรือสาร Polysorbate หรือมีอาการแพ้รุนแรงต่อเข็มแรก และไม่ควรฉีดหากมีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ณ ขณะนั้น แต่ควรจะรอให้หายป่วย ร่างกายกลับมาเป็นปกติก่อนจึงจะฉีดวัคซีนได้

อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังคงสรุปไม่ได้แน่นอนว่าภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัสโควิด-19 จากการได้รับวัคซีนจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด ซึ่งแต่ละบริษัทวิจัยกำลังอยู่ในขั้นตอนการติดตามจากกลุ่มอาสาสมัครทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในระยะยาว

วัคซีนโควิด

1. บริษัท ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค

ชื่อวัคซีน : BNT162b2

ชนิดวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)

การเก็บรักษา : -80 ถึง -60 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6 เดือน หรือ -25 ถึง -15องศาเซลเซียส มีอายุ2สัปดาห์

วิธีการทำงานของวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ สอนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนหนามที่มาจากเปลือกหุ้มของไวรัสโควิด-19  จากนั้นโปรตีนหนามจะถูกส่งไปที่ผิวของเซลล์แล้วไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ต่อต้านเชื้อไวรัส

จำนวนโดส : 2 โดส ห่างกัน 3 สัปดาห์

อายุที่สามารถฉีดได้ : 16 ปีขึ้นไป

ประสิทธิภาพ : 95% (ตรวจเมื่อ 7 วัน หลังจากได้รับโดสที่ 2)

กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 4 หมื่นคน จากกลุ่มเชื้อชาติ อายุ และอาชีพที่หลากหลาย

ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด : ปวด บวม แดง / ผลต่อร่างกายโดยรวม : หนาวสั่น ปวดหัว อ่อนเพลีย

อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : ในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเพียง 4.7 คนเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการแพ้วัคซีนในสหรัฐอเมริกา

ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน สาร PEG หรือ สาร Polysorbate หรือ มีอาการแพ้รุนแรงเมื่อฉีดเข็มแรก

ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 20 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 600บาท)

คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 7 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2

สถานะการอนุมัติ : ผ่านการอนุมัติในบางประเทศ อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ บราซิลซาอุดิอาระเบีย และผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลากหลายประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา แคนาดา ประเทศในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อิสราเอลเป็นต้น

สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน : ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใดและยังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส (อยู่ในขั้นตอนการศึกษา)

วัคซีนโควิด

2. บริษัท โมเดอร์นา

ชื่อวัคซีน : mRNA-1273

ชนิดวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)

การเก็บรักษา : -25 ถึง -15 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6 เดือน หรือ ในอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป เก็บได้ 30 วัน

วิธีการทำงานของวัคซีน : เอ็มอาร์เอ็นเอ สอนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนหนามที่มาจากเปลือกหุ้มของไวรัสโควิด-19 จากนั้นโปรตีนหนามจะถูกส่งไปที่ผิวของเซลล์แล้วไปกระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวให้ต่อต้านเชื้อไวรัส

จำนวนโดส : 2 โดส ห่างกัน 4 สัปดาห์

อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป

ประสิทธิภาพ : 94% (ตรวจเมื่อ 14 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2)

กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครจากสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 3 หมื่นคน จากกลุ่มเชื้อชาติ อายุ และอาชีพที่หลากหลาย

ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด : ปวด บวม แดง / ผลต่อร่างกายโดยรวม : หนาวสั่น ปวดหัว อ่อนเพลีย

อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : ในจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนของโมเดอร์นา 1 ล้านคน มีโอกาสพบผู้ที่แพ้วัคซีนอย่างรุนแรงเพียง 2.5 คนเท่านั้น และยังไม่พบผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการแพ้วัคซีนในสหรัฐอเมริกา

ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน สาร PEG หรือ สาร Polysorbate หรือมีอาการแพ้รุนแรงเมื่อฉีดเข็มแรก

ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 15-25 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 450-750 บาท)

คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 14 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2

สถานะการอนุมัติ : ผ่านการอนุมัติในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ประเทศในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อิสราเอล เป็นต้น

สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน : ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด และยังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส (อยู่ในขั้นตอนการศึกษา)

วัคซีนโควิด

3. บริษัท ซิโนแวค

ชื่อวัคซีน : CoronaVac

ชนิดวัคซีน : วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated virus)

การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเก็บได้เป็นเวลา 3 ปี

วิธีการทำงานของวัคซีน : เชื้อไวรัสถูกทำให้อ่อนแรง และหมดคุณสมบัติในการแบ่งตัวด้วยสารเคมี วัคซีนมีส่วนผสมของสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Adjuvant) เพื่อกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวตอบสนองต่อวัคซีนได้ดียิ่งขึ้น

จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 2 สัปดาห์

อายุที่สามารถฉีดได้ : 18-59 ปี

ประสิทธิภาพ : 50.7 % (ตรวจเมื่อ 14 วัน หลังจากได้รับโดสที่ 2)

กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครประเทศบราซิล (เจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลุ่มเสี่ยงสูง) ตรุกี และอินโดนีเซีย หากมีการติดเชื้อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงของโรคได้ โดยสามารถป้องกันการต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 100%

ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด : ปวด / ผลต่อร่างกายโดยรวม : ปวดหัว

อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้นไม่มีการรายงานว่าพบผู้มีอาการข้างเคียงร้ายแรงอันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน

ใครไม่ควรฉีด :ไม่ควรฉีดถ้าขณะนั้นมีการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19

ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 15-30 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 450-900 บาท)

คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 14 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2

สถานะการอนุมัติ : ผ่านการอนุมัติในประเทศจีน และผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลากหลายประเทศ เช่น บราซิล ตรุกี อินโดนีเซีย ชิลี โคลัมเบีย เป็นต้น

สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน : ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด (อยู่ในขั้นตอนการติดตามเป็นเวลา1ปี)

วัคซีนโควิด

4. บริษัท แอสตราเซเนกา

ชื่อวัคซีน : ChAdOx1 nCoV-19

ชนิดวัคซีน : ไวรัสเวกเตอร์ (Virus vector)

การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเก็บได้เป็นเวลา 6 เดือน

วิธีการทำงานของวัคซีน : ใช้ไวรัสเวกเตอร์ชื่อ ChAdOx1 นำเอารหัสสารพันธุกรรมส่วนโปรตีนหนามเข้าสู่เซลล์และเมื่อเข้าสู่เซลล์แล้วจะเกิดการแปลงรหัสสารพันธุกรรมกลายเป็นโปรตีนหนามเพื่อกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามต่อไป

จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 4-12 สัปดาห์

อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป (บางประเทศห้ามผู้ที่อายุเกิน 65 ปีฉีด)

ประสิทธิภาพ : อาจสูงถึง 82.4% ในเคสที่ฉีดห่างกัน 12 สัปดาห์

กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครประชากรประเทศอังกฤษและบราซิล และเมื่อทำการติดตามปริมาณเชื้อไวรัสในโพรงจมูกของผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้วพบว่า อัตราการตรวจเจอเชื้อในโพรงจมูกลดลงถึง 67% ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นมาจะสามารถช่วยลดอัตราการแพร่ระบาดของไวรัสได้ และพบว่าหากจัดการการฉีดวัคซีนระหว่างเข็มแรกกับเข็มที่สองให้ห่างกัน 12 สัปดาห์ จะมีประสิทธิภาพดีกว่าได้รับห่างกัน 6 สัปดาห์ ซึ่งล่าสุดทางผู้ผลิตได้ดำเนินการพัฒนาวัคซีนให้สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่พบในประเทศแถบแอฟริกาใต้อีกด้วย

ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด: ปวด / ผลต่อร่างกายโดยรวม : ปวดหัวอ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อไข้สูงหนาวสั่นปวดตามข้อคลื่นไส้ (ล่าสุด 11 มีนาคม 2564 ที่เดนมาร์ก ออสเตรีย และบางประเทศในยุโรป ได้ชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาออกไป เนื่องจากพบว่ามีผลข้างเคียงในผู้ได้รับวัคซีนบางรายคือเกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือดดำ)

อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : จากศึกษาระยะที่ 3 จากผู้ทดลอง 12,021 คนพบว่า 79 คน ที่ได้รับวัคซีนมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับรุนแรงหนึ่งในนั้นมีไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส และมี 1 รายที่มีการวินิจฉัยว่าเป็นไขสันหลังอักเสบหลังได้รับวัคซีนเข็มที่สองไปแล้ว14 วัน แต่ยังไม่พบรายงานอาการข้างเคียงที่ร้ายแรงอันถึงแก่ชีวิต

ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีนหรือกำลังมีไข้สูง

ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 4 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 120 บาท)

คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 15 วันหลังจากได้รับโดสที่ 2

สถานะการอนุมัติ: ผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในประเทศอังกฤษ อาร์เจนตินา อินเดีย ออสเตรเลีย แคนาดา ไทย เป็นต้น และมีการอนุมัติฉุกเฉินจาก World Health Organization แนะนำให้ใช้ในกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป

สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน : ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใด (อยู่ในขั้นตอนการศึกษา)

5. บริษัท จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

ชื่อวัคซีน : JNJ-78436735

ชนิดวัคซีน : ไวรัสเวกเตอร์ (Virus vector)

การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเป็นเวลา 3 เดือน

วิธีการทำงานของวัคซีน : ใช้ไวรัสเวกเตอร์ชื่อ Ad26 ส่งรหัสพันธุกรรมของโปรตีนหนามเข้าไปสั่งการเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้ผลิตโปรตีนชนิดนี้จากนั้นโปรตีนหนามไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อต้านเชื้อไวรัส

จำนวนโดส : 1โดส

อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป

ประสิทธิภาพ : 66.9% (ตรวจเมื่อ 14 วันหลังจากได้รับวัคซีน)

กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มประชากรสหรัฐอเมริกาแอฟริกาใต้และอเมริกาใต้ พบว่าหลังจากที่ได้รับวัคซีนเข็มเดียวไป 28 วัน วัคซีนสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงจากโรคโควิด-19 ได้ 85% อีกทั้งสามารถป้องกันการเสียชีวิตจากโรคได้ถึง 100% และที่หลังรับวัคซีนเข็มเดียวไป 49 วัน ไม่พบอาสาสมัครป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตเลย ตอนนี้ทางผู้ผลิตกำลังรวบรวมผลการทดลองระยะที่ 3 ที่มีการจัดการฉีดแบบ 2 เข็ม คาดว่าจะได้ผลภายในเดือนเมษายน 2564 ที่จะถึงนี้รวมไปถึงได้เริ่มทำการทดลองในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์อีกด้วย

ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด : ปวด / ผลต่อร่างกายโดยรวม : ปวดหัวไข้สูงปวดกล้ามเนื้ออ่อนเพลียคลื่นไส้

อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้นไม่มีการรายงานว่าพบผู้มีอาการข้างเคียงร้ายแรงอันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน

ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน

ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 10 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 300 บาท)

คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 14 วันหลังจากได้รับวัคซีน

สถานะการอนุมัติ : ผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกาและบาห์เรน

สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน : ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใดและยังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส (อยู่ในขั้นตอนการศึกษา)

6. บริษัท โนวาแวกซ์

ชื่อวัคซีน : NVX-CoV2373

ชนิดวัคซีน : โปรตีน (Recombinant protein)

การเก็บรักษา : ตู้เย็นทั่วไปเก็บได้นาน 6เดือน

วิธีการทำงานของวัคซีน : โปรตีนหนามที่ผลิตจากเซลล์แมลงได้ถูกผสมเข้ากับสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Adjuvant) ให้เม็ดเลือดขาวตอบสนองต่อตัวโปรตีนหนามได้ดียิ่งขึ้นโดยวัคซีนตัวนี้ไม่ต้องพึ่งเซลล์ของร่างกายเราในการผลิตโปรตีนหนามเหมือนวัคซีนชนิดอื่นๆ

จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 3 สัปดาห์

อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป

ประสิทธิภาพ : 89.3% (ตรวจเมื่อ 7 วันหลังจากได้รับวัคซีน)

กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครประชากรประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแหล่งชุกของสายพันธุ์กลายพันธุ์ N501Y.V1 ที่พบในอังกฤษ ส่วนผลการทดลองระยะที่ 2 ในกลุ่มอาสาสมัครในแอฟริกาใต้ ที่เป็นแหล่งชุกของสายพันธุ์กลายพันธุ์ N501Y.V2 พบว่าประสิทธิภาพอยู่ที่ 49.4% นับได้ว่าสายพันธุ์กลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้อาจเป็นสายพันธุ์ที่สามารถหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างจากวัคซีนได้ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ที่ 95.6%

ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด: ปวด / ผลต่อร่างกายโดยรวม: บางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโตตัวร้อน

อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้นไม่มีการรายงานว่าพบผู้มีอาการข้างเคียงร้ายแรงอันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน

ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน

ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 16 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 480 บาท)

คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 7 วันหลังจากได้รับวัคซีน

สถานะการอนุมัติ : อยู่ในขั้นตอนดำเนินการขออนุมัติขึ้นทะเบียนฉุกเฉิน

สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน : ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใดและยังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส (อยู่ในขั้นตอนการศึกษา)

7. บริษัท สปุตนิกวี

ชื่อวัคซีน : Sputnik V

ชนิดวัคซีน : ไวรัสเวกเตอร์ (Virus vector)

การเก็บรักษา : -18 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 6 เดือน หรือในอุณหภูมิตู้เย็นทั่วไป เก็บได้นาน 3 เดือน

วิธีการทำงานของวัคซีน : หลักการเช่นเดียวกับไวรัสเวกเตอร์อื่นๆ โดยใช้ไวรัสที่ชื่อว่า Ad26 เป็นพาหะนำรหัสพันธุกรรมส่วนโปรตีนหนามเข้าไปในเข็มแรก และจะใช้ไวรัส Ad5 เป็นพาหะนำวัคซีนเข้าไปในเข็มที่สอง

จำนวนโดส : 2 โดสห่างกัน 3 สัปดาห์

อายุที่สามารถฉีดได้ : 18 ปีขึ้นไป

ประสิทธิภาพ : 91.1% (ตรวจเมื่อ 7 วันหลังจากได้รับวัคซีน)

กลุ่มประชากรที่ศึกษา : กลุ่มอาสาสมัครประชากรประเทศรัสเซียและในกลุ่มคนอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 91.8% โดยพบว่าวัคซีนสามารถช่วยลดการป่วยรุนแรงจากโรคโควิด-19 ได้ 100% ตั้งแต่หลังได้รับเข็มแรก 21 วัน และเมื่อผ่านไป 42 วัน พบว่าระดับภูมิคุ้มกันที่สร้างจากวัคซีนขึ้นสูงกว่าก่อนฉีดถึง 4 เท่า

ผลข้างเคียง : บริเวณที่ฉีด: ปวดบวมแดง/ ผลต่อร่างกายโดยรวม: ปวดหัวอ่อนเพลีย

อาการข้างเคียงขั้นรุนแรงที่พบ : จากการศึกษาในระยะที่ 3 ขั้นต้นไม่มีการรายงานว่าพบผู้มีอาการข้างเคียงร้ายแรงอันเนื่องมาจากการได้รับวัคซีน

ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน

ราคาต่อโดส (เปลี่ยนแปลงตามตลาด) : 10-13 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 300-390 บาท)

คาดว่าการป้องกันของวัคซีนจะเริ่มต้นเมื่อ : 14 วันหลังจากได้รับเข็มที่ 2

สถานะการอนุมัติ (มีนาคม 2564) : ผ่านการอนุมัติในประเทศรัสเซียและผ่านการอนุมัติใช้เป็นกรณีฉุกเฉินในหลากหลายประเทศเช่นมองโกเลียอิหร่านปากีสถานเมียนมา

สิ่งที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับวัคซีน : ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจะอยู่ในร่างกายเรานานเพียงใดและยังไม่ทราบประสิทธิภาพในการยับยั้งการติดไวรัส (อยู่ในขั้นตอนการศึกษา)

อ่านบทความ วัคซีนโควิด ที่น่าสนใจ

อ้างอิง

https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html

https://www.forbes.com/sites/joewalsh/2021/02/25/pfizers-covid-vaccine-doesnt-need-ultra-cold-storage-fda-says/?sh=7efe0a21226e

https://www.businessinsider.com/covid-vaccines-compared-vaccine-pfizer-oxford-moderna-astrazeneca-side-effects-2021-2

https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2035389

https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2034577

https://www.wsj.com/articles/covid-19-vaccine-trial-volunteers-note-occasional-harsh-side-effects-11608114601

http://www.sinovac.com/?optionid=754&auto_id=922

https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2020.07.31.20161216v1.full.pdf

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-indonesia-vaccine/sinovac-launches-phase-3-trial-for-covid-19-vaccine-in-indonesia-reports-phase-2-details-idUSKCN2570E9

https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)32661-1/fulltext

https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=3777268

https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2034201?fbclid=IwAR38xnZnWLgwPuEc4ulwQycXX6rBv2Vt-kXS-gBIkHXAKbN_zE6SPoKuLok

https://www.jnj.com/johnson-johnson-covid-19-vaccine-authorized-by-u-s-fda-for-emergency-usefirst-single-shot-vaccine-in-fight-against-global-pandemic

https://www.novavax.com/sites/default/files/2020-11/2019nCoV302Phase3UKVersion2FinalCleanRedacted.pdf

https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)00234-8/fulltext

Contributor

  • ดร.กรวิทย์ กาญจนะ

จบปริญาญาเอกสาขาพยาธิวิทยาคลินิกจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลปัจจุบันเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกสาขาอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่มณโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด(Harvard Medical School) โดยได้รับทุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) สหรัฐอเมริกาสนใจศึกษาวิจัยด้านโรคติดเชื้อโรคภูมิคุ้มกันต่อตนเองและโรคภูมิแพ้

  • ดร.ศิริรักษ์ ช้างรบ

จบการศึกษาปริญญาเอกจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อมาลาเรียในกลุ่มประชากรไทยซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโกสหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยเน้นทางด้านศึกษาระบบภูมิคุ้มกันในเชิงลึก และการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี เพื่อนำไปต่อยอดในพัฒนาวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19

  • ดร.พิเชฐ ประเวศโชตินันท์

จบการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้านวิศวกรรมชีวภาพโดยเน้นงานวิจัยด้านชีวสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ในแบคทีเรียโปรไบโอติกส์เพื่อนำไปใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังปัจจุบันเป็นนักวิจัยในบริษัท Ginkgo Bioworks บริษัทชั้นนำในด้านชีวสังเคราะห์รัฐแมสซาชูเซตส์สหรัฐอเมริกา

  • ดร.ชณัท อ้นบางเขน

นักเรียนทุนรัฐบาลไทย (พสวท.) สนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จบการศึกษาด้านเคมีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) เคยทำงานเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สหรัฐอเมริกา ศึกษากลไกการทำงานของเซลล์มนุษย์ในระดับโมเลกุลและโปรตีโอมิกส์ (chemical and molecular cell biologyand proteomics) ที่เกี่ยวกับความผิดปกติในโรคต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย