วิถีชีวิตแบบฝรั่งเศสที่เปลี่ยนไป ในยามที่ต้องเผชิญกับ COVID-19
Better Living

วิถีชีวิตแบบฝรั่งเศสที่เปลี่ยนไป ในยามที่ต้องเผชิญกับ COVID-19

Focus
  • วิถีชีวิตแบบฝรั่งเศสที่คุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นการนั่งจิบกาแฟตามคาเฟ่ที่ตั้งโต๊ะบนทางเท้า การสวมกอด การเอาแก้มแนบแก้ม ล้วนเป็นสิ่งต้องห้ามตามมาตรการของรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อชะลอและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19
  • ชาวฝรั่งเศสถูกจำกัดการออกนอกบริเวณที่พัก และหากไม่พกบัตรประจำตัวและหนังสือรับรองวัตถุประสงค์ของการออกนอกเคหะสถานจะมีโทษปรับตั้งแต่ 135 ยูโร ถึง 3,700 ยูโร และอาจมีโทษจำคุกถึง 6 เดือน
  • ระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1 เมตรที่ชาวฝรั่งเศสต้องพยายามรักษาเมื่อออกมานอกบ้านหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ข้างนอก

COVID-19 ชื่อนี้กำลังสร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลก และอีกประเทศที่กำลังถูกจับตามองในเรื่องการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วก็คือ ฝรั่งเศส

นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ประชาชนใน ฝรั่งเศส ทุกคนต่างต้องยอมรับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่เคยชิน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปนั่งจิบกาแฟตามคาเฟ่ที่นิยมเอาโต๊ะเก้าอี้ออกมาตั้งบนทางเท้า การทักทายแบบเดิม ๆ ด้วยการสวมกอด เอาแก้มชนแก้ม หรือ การจับมือทักทาย ว่าเป็นสิ่งต้องห้ามไปอีกอย่างน้อย 15 วัน ตามมาตรการของรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อชะลอและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ถือเป็นภัยคุกคามทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

COVID-19
ทหาร ตำรวจ เดินตรวจตราเพื่อคุมเข้มการจำกัดบริเวณ

การจำกัดบริเวณ (Le confinement: เลอ ก็องฟินม็องท์) ถือเป็นคำที่สำคัญที่สุดและเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของชาวฝรั่งเศสไปอย่างสิ้นเชิง การออกจากที่พักหรือบ้านของตัวเองนั้นไม่สามารถทำได้อย่างที่ใจหวังอีกต่อไปแล้ว พวกเขาจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น และจะต้องพกเอกสารสำคัญที่คล้าย ๆ กับหนังสือรับรองวัตถุประสงค์ของการออกนอกเคหะสถานอย่างที่ภาษาฝรั่งเศส เรียกว่า อัตเตสตาซิยง เดอ เดปลาสม็องท์ เดโครกาตัวร์ (Attestation de DéplacementDérogatoire) และบัตรประจำตัว รวมถึงจะต้องระบุวัตถุประสงค์และความจำเป็นในการออกนอกบ้านของตัวเองที่กำหนดไว้เพียงแค่ 4 กรณีเท่านั้น

  1. เพื่อการเดินทางไปทำงานหรือประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำงานทางไกลจากที่บ้านได้ ในการนี้ต้องมีใบรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดมาแสดงด้วย
  2. เพื่อออกไปจับจ่ายสินค้าบริโภคและอุปโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการได้ เช่น ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ ร้านขายเนื้อสัตว์ ร้านขายผักผลไม้ ร้านขายขนมปัง ร้านขายอาหารทะเล ร้านขายอาหารแช่แข็ง ร้านขายเครื่องดื่ม ร้านอาหารที่จะเปิดให้บริการเฉพาะซื้อกลับบ้าน (Take away) ตลาดสด เป็นต้น
  3. เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพเช่น การไปร้านขายยา และคลินิกหรือสถานที่เพื่อเข้ารับบริการด้านการรักษาพยาบาล
  4. เพื่อวัตถุประสงค์ทางครอบครัวเช่นเพื่อให้ความช่วยเหลือคนในครอบครัวที่มีความเสี่ยงและเพื่อการดูแลบุตรหลานในกรณีที่พ่อแม่หย่าร้างหรือแยกกันอยู่ การออกนอกบ้านในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน1 ชั่วโมง เพื่อออกกำลังยืดเส้นยืดสาย แต่ต้องไม่ใช่การออกกำลังเป็นหมู่คณะ และนำสัตว์เลี้ยงในบ้านออกไปเดินเล่นข้างนอก ทั้งนี้ทั้งนั้น ระยะทางของสถานที่เหล่านั้น ยกเว้นสถานที่ทำงาน ต้องไม่ไกลและต้องไม่ห่างจากบริเวณที่พักอาศัยประมาณ 1 หรือ 2 กิโลเมตรเท่านั้น และระยะเวลาประมาณ 40 นาทีเป็นอย่างมาก
COVID-19
เมืองท่องเที่ยว Strasbourg ที่แทบจะร้างผู้คน

หากใครฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบมีโทษปรับตั้งแต่ 135 ยูโร และหากมีการทำผิดซ้ำอีกภายในระยะเวลา 15 วันหลังจากครั้งแรกค่าปรับจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ยูโร และภายใน 30 วันหากทำผิดถึง 4 ครั้งค่าปรับจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,700 ยูโรและมีโทษจำคุกอีก 6 เดือน ตามคำให้สัมภาษณ์ของ นายอะแล็ง ติคริยง (Alain Thirion) ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยพลเรือนและด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับภาวะวิกฤติให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งนับตั้งแต่รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มใช้มาตรการนี้มีรายงานว่ามีผู้ฝ่าผืนกฎทั้งหมดถึง 91,824 รายด้วยกัน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2563) ทั้งนี้สถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก โรงเรียนทุกระดับ และมหาวิทยาลัยทุกแห่งถูกสั่งปิดตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563 อย่างไม่มีกำหนด

ฝรั่งเศส
ภาพ : ดรุณี คำสุข

สำหรับ ระยะห่างทางสังคม (La distanciationsociale: ลา ติสสต็องซิอาซิยง โซซิอาล) ทางการ ฝรั่งเศส กำหนดว่าเมื่อออกนอกบริเวณที่พักแล้วไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามดังที่กำหนดไว้ในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัส COVID-19 ชาวฝรั่งเศสจะต้องเว้นและรักษาระยะห่างจากคนอื่น 1 เมตรเป็นอย่างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าแถวเพื่อเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ หรือร้านขายอาหาร ร้านขายขนมปังต่าง ๆ ตลาดสด หรือแม้กระทั่งเข้าไปรับบริการจากที่ต่าง ๆ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ คลินิกทางการแพทย์ เป็นต้น รัฐบาลห้ามการทักทายกันด้วยการกอด แก้มแนบแก้ม หรือจับมือทักทายตามวิถีดั้งเดิมและธรรมเนียมในการทักทายของชาวฝรั่งเศส

หากจะไล่เรียงมาก็คงจะต้องบอกว่ามาตรการทั้งหลายทั้งปวงนั้น เริ่มต้นมาจากแถลงการณ์ฉบับแรกของประธานาธิบดีแอมานุแอล มาครง (Emmanuel Macron) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 ใจความสำคัญ ๆ ของแถลงการณ์ฉบับนี้ คือ การประกาศภาวะเร่งด่วนที่จะป้องกันและปกป้องผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรค และเพื่อการชะลอการแพร่เชื้อ หรือการระบาดของไวรัส COVID-19 ให้เป็นไปอย่างเชื่องช้าและน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

ฝรั่งเศส
ภาพ : ดรุณี คำสุข

ในแถลงการณ์ครั้งแรก ร้านค้า ร้านอาหาร ผับ และบาร์ ยังไม่ได้สั่งให้ปิดกิจการชั่วคราวจึงยังคลาคล่ำไปด้วยผู้ใช้บริการ หลายคนยังไปปิกนิกตามสวนสาธารณะ แต่เริ่มมีการกักตุนอาหาร สปาเกตตีพาสต้า ข้าว อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง กระดาษทิชชู่ กระดาษเช็ดมือ แทบจะไม่เหลือติดชั้นวางของเลย นี่ยังไม่นับรวมเจลล้างมือ แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อ หน้ากากอนามัยที่ขาดตลาดไปก่อนหน้านี้แล้ว

แถลงการณ์ฉบับที่สองตามมาเมื่อวันที่16 มีนาคม พ.ศ. 2563 โดยระบุว่า ฝรั่งเศส ในขณะนี้กำลังเผชิญกับภาวะสงครามทางด้านอนามัยและสาธารณสุขซึ่งส่งผลให้เกิดมาตรการที่เข้มงวดดังกล่าวข้างต้น เช่น การจำกัดบริเวณ และการเว้นระยะห่างทางสังคม

COVID-19
(ผู้คนเริ่มออกมากักตุนสินค้า ภาพ : ดรุณี คำสุข)

นับตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นมาประเทศฝรั่งเศสได้ปิดพรมแดนด้านที่ติดกับประเทศสหภาพยุโรปและพรมแดนระหว่างประเทศที่อยู่ในโซนแชงเก้น (Schengen) เป็นระยะเวลาประมาณ 30 วัน หากชาวฝรั่งเศสที่อาศัยหรือยังติดค้างอยู่นอกประเทศ มีความประสงค์จะเดินทางกลับให้ติดต่อกับสถานทูตและสถานกงสุลฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ในแต่ละประเทศได้ และถ้าหากมีความจำเป็นจะมีการจัดตั้งแผนการส่งกลับ

ในด้านของเศรษฐกิจรัฐบาลประกาศว่าจะไม่ปล่อยให้มีบริษัท หรือผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและใหญ่ มีความเสี่ยงต่อการเลิกกิจการ เลิกจ้าง หรือการล้มละลาย รวมถึงชาวฝรั่งเศสที่ทำงานทุกคนจะไม่ถูกปล่อยให้ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และรัฐบาลจะจัดสรรวงเงินจำนวน 3 แสนล้านยูโร เพื่อเป็นเงินประกันกรณีที่มีการเลื่อนจ่ายภาษีและเงินสมทบประกันสังคมของสถานประกอบการ บริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ส่วนสถานประกอบการหรือธุรกิจขนาดเล็กหากประสบปัญหาก็สามารถระงับการจ่ายเงินสมทบและภาษีดังกล่าวออกไปก่อน รวมถึงการจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส และค่าเช่าด้วย

ฝรั่งเศส
ภาพ : ดรุณี คำสุข

ขณะนี้ประเทศฝรั่งเศสมีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่ได้รับการยืนยันมากกว่า 20,000 ราย และเสียชีวิตทะลุ 1,000 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563) เฉพาะวันที่ 25 มีนาคม 2563 วันเดียวมีรายงานผู้เสียชีวิตมากถึง 240 คนภายในเวลา 24 ชั่วโมง นั่นทำให้การล็อคดาวน์เมืองได้ขยายเวลาออกไปอีกอย่างน้อย 6 สัปดาห์ หมายถึงวิถีชีวิตของชาวฝรั่งเศสที่กำลังเปลี่ยนไป

อ้างอิง


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง