Computer Vision Syndrome ภัยเงียบของมนุษย์ออฟฟิศที่ทำร้ายดวงตา
- อีกหนึ่งอวัยวะที่มนุษย์ออฟฟิศไม่ควรหลงลืมดูแลก็คือ ดวงตา เพราะการนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบมาราธอนทั้งวันทำให้เกิด คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม
- ปวดเมื่อยตา ตาล้า ไม่ค่อยอยากลืมตา ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด โฟกัสได้ช้าลง เหล่านี้คืออาการเบื้องต้นของคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม
นอกจากอาการปวดหลังที่ถาโถมสู่หนุ่มสาววัยทำงานจนต้องมองหาอุปกรณ์เพื่อ #Saveหลัง หรือพยายามจัดหาท่านั่งที่เหมาะสมไม่ให้เพิ่มความโอดโอยไปมากกว่าเก่า อีกหนึ่งอวัยวะที่มนุษย์ออฟฟิศวัยทำงานไม่ควรหลงลืมดูแลก็คือ ดวงตา เพราะการนั่งทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์แบบมาราธอนทั้งวัน ส่วนเวลาพักก็ยังโยกย้ายไปเช็กความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟนอย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมที่ไม่อ่อนโยนต่อดวงตาเหล่านี้อาจนำไปสู่โรคทางตาที่เรียกว่า คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม ( Computer Vision Syndrome ) หรือย่อสั้น ๆ คือ CVS ขึ้นมาได้
ยิ่งการใช้ชีวิตในตอนนี้ที่ทำให้เราต้องอยู่ติดกับหน้าจออย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะแทบทุกกิจกรรมไม่ว่าจะการเรียนออนไลน์ Work from Home หรือการประชุมก็ตาม หน้าจอกลับกลายเป็นอาวุธคู่กายที่จำเป็นต้องมีและเอาไว้ใกล้ตัวไปเสียแล้ว นั่นทำให้เรายิ่งต้องหันมาสังเกตและเอาใจใส่เพื่อชะลอเวลาไม่ให้โรคคอมพิวเตอร์วิชันซินโดรมถามหาดวงตาของเรา
อาการแบบไหนที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome
- ตาแห้ง แสบและเคืองตา
- ปวดเมื่อยตา ตาล้า ไม่ค่อยอยากลืมตา
- ตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัด โฟกัสได้ช้าลง
- เวลากะพริบตาอาจมีน้ำตาไหลออกมา
- ปวดบริเวณกระบอกตา รวมไปถึงปวดศีรษะ หลัง ไหล่ หรือปวดต้นคอ เป็นอาการที่เรียกว่าออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome)
ทำอย่างไรไม่ให้การงานทำร้ายดวงตา
- จัดคอมพิวเตอร์และแป้นพิมพ์ให้อยู่ในระดับและมีความห่างจากตัวที่พอดี สามารถใช้งานได้สบาย ๆ ไม่ต้องเหยียดหรืองอจนเกินไป
- ปรับระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีมุมของระดับสายตาที่เหมาะสม โดยให้จอคว่ำลงประมาณ 15องศา
- ควรเว้นระยะห่างของคอมพิวเตอร์จนถึงระยะสายตาประมาณ 80-100 เซนติเมตร
- ขนาดตัวหนังสือที่ใช้ต้องมีความสบายตา ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป
- ปรับสีของตัวหนังสือ รวมถึงพื้นหลังให้เหมาะสม ไม่จ้าจนเกินไป เพื่อให้สามารถมองได้อย่างสบายตา
- ปรับความสว่างในห้องทำงาน และอุปกรณ์ที่ใช้งานให้เหมาะสม เพื่อลดแสงสะท้อนจากหน้าจอหรือแสงที่ทำให้ภาพที่มองไม่คมชัด จนทำให้ต้องเพ่งสายตามากขึ้น
- หมั่นกะพริบตาให้ถี่ขึ้น เพราะการจ้องหน้าจอนาน ๆ อาจทำให้เรากะพริบตาน้อยลงและอาจเกิดอาการตาแห้งได้
- คอมพิวเตอร์วิชันซินโดรม มีความสัมพันธ์โดยตรงกับระยะเวลาที่เราอยู่หน้าจอ จึงควรมีการพักสายตาระหว่างการทำงาน ตามหลัก 20 : 20 : 20 คือ ทุก 20 นาที พักสายตาจากหน้าจอ และมองออกไปไกลระยะ 20 ฟุต เป็นเวลา 20 วินาทีต่อครั้ง
- วางแก้วน้ำที่ใส่น้ำ 1 แก้วไว้ข้าง ๆ เพื่อให้มีน้ำระเหยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตามากขึ้น
อ้างอิง
- คำแนะนำในการดูแลสุขภาพดวงตาจาก รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์เลเซอร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย