สยามพิวรรธน์ ตอกย้ำองค์กรต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้เป็น “แฟชั่นรักษ์โลก”
- สยามพิวรรธน์ จัดงาน Citizen of Earth by Siam Piwat Presents The Celebration : Love Earth เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้เป็น “แฟชั่นรักษ์โลก” ชวนมามองแฟชั่นในมุมใหม่ที่เริ่มต้นได้จาก “ขยะ” ผ่านการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าบนรันเวย์แฟชั่นโชว์
- จรัญ คงมั่น ดีไซเนอร์ชาว LGBTQIAN+ และ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่มุ่งทำงานด้านสิ่งแวดล้อม มาร่วมดีไซน์ชุดจากขยะและวัสดุเหลือใช้ให้เหล่าทูตนฤมิต จากกลุ่มบางกอกไพรด์ สวมใส่อวดไอเดียแฟชั่นรักษ์โลกบนรันเวย์
5 มิถุนายนของทุกปีตรงกับสิ่งแวดล้อมโลก เป็นวันที่ทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่างก็ออกมารณรงค์ให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นภารกิจเร่งด่วนของทุกฝ่าย และสำหรับ สยามพิวรรธน์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจค้าปลีก เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพ ได้เดินหน้าตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบด้านสิ่งแวดล้อมผนึกกำลังพันธมิตรBangkok Pride Festival 2024 โดย บางกอกไพรด์ และกรุงเทพมหานคร จัดงานแฟชั่นโชว์ภายใต้คอนเซ็ปต์ Citizen of Earth by Siam Piwat Presents The Celebration: Love Earth เปลี่ยนวัสดุเหลือใช้เป็น “แฟชั่นรักษ์โลก” ชวนมามองแฟชั่นในมุมใหม่ที่เริ่มต้นได้จาก “ขยะ” ผ่านการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าบนรันเวย์แฟชั่นโชว์
นำทีมสร้างสรรค์โดย จรัญ คงมั่น ดีไซเนอร์ชาว LGBTQIAN+ และวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินที่มุ่งทำงานด้านสิ่งแวดล้อม มาร่วมดีไซน์ชุดจากขยะและวัสดุเหลือใช้ให้เหล่าทูตนฤมิต จากกลุ่มบางกอกไพรด์ สวมใส่อวดไอเดียแฟชั่นรักษ์โลกบนรันเวย์เฉพาะกิจพร้อมชูจุดเด่นด้านวัสดุด้วยการการนำกระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM มาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ ปิดท้ายด้วยเวทีเสวนาเรื่องสิ่งแวดล้อม “The Celebration: Love Earth ถักทอความรักให้โลกของเรา” ในหัวข้อ “แฟชั่น = ขยะ = โลกรวน” ณ SCBX Next Tech ชั้น 4 สยามพารากอน เมื่อบ่ายวันที่ 4 มิถุนายน 2567
“ขยะ” สามารถสร้างมูลค่าได้ด้วยงานสร้างสรรค์
“เราทำลายโลกไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว” นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวย้ำถึงเหตุผลที่ สยามพิวรรธน์ ยังคงเดินหน้าเต็มร้อยในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยสยามพิวรรธน์เองได้บรรจุงานด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจในทุกพื้นที่ ทั้งยังมุ่งเน้นการบริหารจัดการขยะทั้งห่วงโซ่ด้วยแนวคิด “เลือก ใช้ แยก สร้าง” ผ่าน Recycle Collection Center หรือ RCC ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา RCC สามารถนำขยะไปรีไซเคิลและสร้างมูลค่าเพิ่มได้กว่า 4,000 กิโลกรัม คิดเป็นคาร์บอนเครดิต หรือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการนำขยะกลับไปรีไซเคิล 8,000กิโลคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าปลูกต้นไม้ 800 ต้น
นอกจากการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมภายในกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์แล้วในปีนี้ทาง สยามพิวรรธน์ยังขยายพันธมิตรรักษ์โลกออกไปสู่มิติทางสังคม นำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมไปร่วมกับกลุ่มบางกอกไพรด์ ผู้จัดงาน Bangkok Pride ซึ่งให้ความสำคัญกับการมี “ส่วนร่วม” ในทุกมิติ ทั้งสังคม สิทธิ และสิ่งแวดล้อม โดย วาดดาว –อรรณว์ ชุมาพร ผู้ก่อตั้งและประธานบางกอกไพรด์ และผู้จัดงาน Bangkok Pride Parade ชี้ว่าอันที่จริงแล้วนฤมิตไพรด์ไม่ได้ทำงานเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ยังทำงานเรื่องการมีอยู่และมีส่วนร่วมในสังคมรวมทั้งเป็นผู้รับผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงด้วย การทำงานสิ่งแวดล้อมจึงเป็นส่วนหนึ่งของการโอบอุ้มคนและโลกไปด้วยกัน การลงมือทำทั้งในสำนักงานและการบริหารงาน Bangkok Pride ล้วนมีการแยกขยะและกระบวนการที่ส่งเสริมวิถีรักษ์โลกอย่างจริงจัง
เมื่อ “ขยะไม่ใช่ผู้ร้าย” แต่กลายเป็นแฟชั่นที่สวมใส่ได้จริง
สำหรับงานงานแฟชั่นโชว์รักษ์โลก Citizen of Earth by Siam Piwat Presents The Celebration: Love Earth นำเสนอแฟชั่นโชว์รียูสรีไซเคิลกว่า 10 ชุด เน้นวัสดุเหลือใช้ที่มีน้ำหนักเบา นำทีมสร้างสรรค์โดย จรัญ คงมั่น ดีไซเนอร์ชาว LGBTQIAN+ และวิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินนักออกแบบที่ทำงานด้านขยะละจุดประกายประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด
“ชุมชนแห่งความหลากหลายกลุ่มคนกลุ่มนี้มีพลังมากมายเหลือเกิน และถือว่าสยามพิวรรธน์มี DNA เดียวกัน อย่างสยามเซนเตอร์เองก็เป็นจุดเริ่มต้นงานแฟชั่นของดีไซเนอร์ไทยมากมาย เมื่อเราทำงานด้านการบริหารจัดการขยะ เราก็คิดว่าถ้าเราได้พลังของคนกลุ่มนี้มาสร้างสรรค์แฟชั่นร่วมกันจะทรงพลังขนาดไหน ถือว่างานนี้เป็นอีพีแรกที่เรียกว่าเป็น Transformer การสร้างสรรค์เปลี่ยนขยะให้เป็นแฟชั่นสวยงามและสร้างมูลค่าเพิ่มได้จริง” นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวก่อนบรรดานางแบบนายแบบจากกลุ่มนฤมิตไพรด์จะพาเหรดบนรันเวย์ ในชุดแฟชั่นดีไซน์ที่ใช้วัสดุอลูมิเนียม จากกระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM ของสยามพิวรรธน์เป็นวัสดุหลัก ร่วมกับวัสดุอื่นๆที่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้
จรัญ คงมั่น แฟชั่นดีไซเนอร์ชาว LGBTQIN+ ได้กล่าวถึงผลงานและแรงบันดาลใจในการออกแบบครั้งนี้ไว้ว่าไม่ได้มีแค่เรื่องความสวยงามแต่ยังส่งเสริมทั้งมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน “ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นอันดับต้นๆ ที่สร้างขยะ แต่ชาว LGBTQIN+หยุดแฟชั่นไม่ได้ แฟชั่นเป็นเครื่องแสดงตัวตนว่าฉันมีตัวตนอยู่บนโลกนี้ LGBTQIN+เป็นส่วนหนึ่งของโลกแต่เราจะใช้ความสร้างสรรค์ของเรานี่แหละ มาต่อยอดการรียูสการนำขยะกลับมาใช้ซ้ำอย่างสวยงาม”
ในขณะที่ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ศิลปินผู้สร้างศิลปะจากขยะได้เผยแนวคิดการนำขยะมาสร้างงานแฟชั่นครั้งนี้ไว้ว่า “สวยได้ รักษ์โลกได้ และสามารถนำกลับมาใช้ได้” โดยวิชชุลดาได้ฝากไฮไลต์ของโชว์ครั้งนี้ไว้ในการออกแบบชุดฟินาเล่ที่ทำจากกระป๋องน้ำดื่ม ONESIAM ผสานด้วยผ้ามือสองในคอนเซ็ปต์ “A Post-Apocalyptic” นำแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของความบิดเบี้ยวและผิดเพี้ยนของธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่โลกถูกทำลาย ใช้เวลาตรียมงานกว่า 2 เดือน สวมใส่โดย ณัฐ-นิสามณี เลิศวรพงศ์ มิสแกรนด์ไทยแลนด์และนางแบบทรานส์เจนเดอร์ ซึ่งนิสามณีได้กล่าวเสริมว่า
“ความหมายของขยะจะเปลี่ยนไป เมื่อคนเห็นชุดนี้ ขยะไม่ได้แปลว่าของไม่มีค่า แต่ขึ้นอยู่กับมุมมองของการครีเอทีฟ”
จริงหรือที่ “แฟชั่น=ขยะ=โลกรวน”
นอกจากแฟชั่นโชว์รักษ์โลกแล้วในงานยังมีไฮไลต์เป็นเสวนาด้านสิ่งแวดล้อม “The Celebration: Love Earth ถักทอความรักให้โลกของเรา” ในหัวข้อ แฟชั่น=ขยะ=โลกรวน ร่วมเสวนาโดยตัวแทนจาก ศิลปิน ดีไซเนอร์ นักวิชาการ นักรณรงค์ นักธุรกิจ และสายแฟชั่นจากชุมชนหลากหลายเพศ LGBTQIN+ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดของการใช้ชีวิตในวิถีรักษ์โลกในหลากหลายมิติ โดยมี อาร์ต-อารยา อินทรา อาจารย์คณะ มัณฑนศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้บุกเบิกแฟชั่นยั่งยืน มาแชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมออกแบบผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแบบยั่งยืน การใช้วัสดุและการย้อมสีธรรมชาติ สร้างงานให้กับชุมชนไปพร้อมๆ กับการการรียูสผ้าสต็อกที่เหลือใช้จากอุตสาหกรรมแฟชั่น
ขณะที่ เซนดี มอลลี (Cendie Moly) Chief Executive Officerat Blue Renaissance และนักเก็บขยะเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แง่คิดเกี่ยวกับขยะว่า “ขยะแต่ละชิ้นเราสามารถรีไซเคิลไปเป็นสินค้า สามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้จริง” ร่วมด้วย ศิริพร ศรีอร่าม นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมด้าน climate change และโครงการ 30x 30Global Coalition in Thailandได้เชื่อมโยงให้เห็นในประเด็นที่ว่าแฟชั่นกับสิ่งแวดล้อมมักเดินไปคู่กัน หลายครั้งที่แฟชั่นได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ดังนั้นการให้ความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเป็นทางรอดที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหนก็ต้องร่วมมือกันด้านภาคธุรกิจอย่าง จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ผู้ผลิตแบรนด์สิ่งทอแฟชั่น SC Grand ได้มาแชร์เรื่องการเดินหน้าทำธุรกิจ Textile Waste รีไซเคิลขวดพลาสติกมาเป็นผ้าสำหรับกลุ่มแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นแฟชั่นรักษ์โลกได้เช่นกัน
นอกจากการรียูสและรีไซเคิลในอุตสาหกรรมแฟชั่นแล้ว ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหารบริษัท สถานี รีไชเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด เจ้าของ waste buy delivery กล่าวว่าคนทั่วไปก็มีส่วนร่วมในการจัดการขยะในชีวิตประจำวันได้ อย่าง waste buy delivery ซึ่งรับซื้อขยะสะอาดถึงหน้าบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ เปิดข้อมูลให้เห็นว่าการแยกขยะแห้งจากครัวเรือน สามารถนำขยะเข้าสู่กระบวนรีไซเคิลได้ง่าย และขยะก็สามารถกลายเป็นเงินมหาศาลสร้างภาคเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน และนั่นนจึงแปลว่าเรื่องเล็กน้อยอย่าง “การแยกขยะ” จึงมีความสำคัญมาก ดังที่ นราทิพย์ รัตตประดิษฐ์ ประธานบริหารสายงานปฏิบัติการ (Chief Operating Officer) บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวย้ำทิ้งท้ายไว้ว่า
“ขยะไม่ใช่ผู้ร้าย เลือกอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สิ่งสกปรกไม่มีค่าแต่แยกขยะเป็นขยะสะอาด จะสามารถส่งต่อไปคัดแยกได้ง่ายขึ้น และจะทำให้ขยะจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาทันที”
Fact File
สยามพิวรรธน์ เปิดจุด Recycle Center หรือ RCC(อาร์ซีซี) ที่ตั้งจุดรับขยะสะอาดคัดแยกแล้ว สามารถนำมาดรอปไว้ได้ ณ จุดรับในศูนย์การค้าในเครือสยามพิวรรธน์กรุ๊ป จากนั้นสะสมขยะเป็น Siam Coin เพื่อแลกรางวัลหรือชอปปิงได้อีกด้วย