เกาะติดความคืบหน้า วัคซีน ChulaCov19 ทดลองในมนุษย์ครั้งแรก
- นอกจากวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาจากใบยาสูบแล้ว วัคซีนChulaCov19 เป็นอีกชนิดวัคซีนที่ถูกพัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทยจากโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
- 14 มิถุนายน 2564 ได้ทำการทดสอบการฉีด วัคซีน ChulaCov19 ให้กับอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดีระยะที่ 1 และต่อเนื่องในระยะที่ 2 เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน
ก้าวหน้าไปอีกขั้นสำหรับการ วัคซีน ChulaCov19 (จุ-ฬา-คอฟ-ไนน์-ทีน) วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA (เอ็มอาร์เอ็นเอ) เช่นเดียวกับ วัคซีนไฟซอร์ ( Pfizer-BioNtech ) และโมเดอร์นา ( Moderna) ของสหรัฐอเมริกา แต่ วัคซีน ChulaCov19 นั้นพัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา วัคซีน ChulaCov19 ได้ทำการทดสอบการฉีดวัคซีนให้กับอาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดีระยะที่ 1 และต่อเนื่องในระยะที่ 2 เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน ณ อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการทดลองวัคซีนชนิดนี้ในสัตว์ทดลองทั้งลิง และหนู ปรากฎว่าได้ผลดี สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จากนั้นจึงนำมาสู่การผลิตและทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 เพื่อทดลองในมนุษย์ ซึ่งแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่มอายุ รวมทั้งหมดจำนวน 72 คน ได้แก่ อาสาสมัครอายุ 18-55 ปี และอาสาสมัครอายุ 65-75 ปี
ทั้งนี้ในแต่ละกลุ่มของอาสาสมัคร จะมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเพื่อฉีดวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน คือ 10 ไมโครกรัม 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม เพื่อทดสอบหาปริมาณวัคซีนที่เหมาะสมที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการฉีด ซึ่งถ้าเทียบกับวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกันนี้ โมเดอร์นาใช้วัคซีนในปริมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ในปริมาณ 30 ไมโครกรัม และหลังจากทดลองหาปริมาณที่เหมาะสมได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปทางทีมวิจัยก็จะเริ่มการทดสอบในระยะที่ 2 กับอาสาสมัครจำนวน 150-300 คน คาดว่าเริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2564
“การทดสอบวัคซีนนั้นเราคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของอาสาสมัคร ต้องใช้ระยะเวลาและทยอยฉีดตามลำดับ โดยใช้หลักการเหมือนกันทั่วประเทศถึงจะทราบข้อมูลจากผลการศึกษาว่าสามารถป้องกันการเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้จริงหรือไม่ หากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่า วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิเท่าไร ก็จะช่วยลดขั้นตอนได้ สมมุติว่า เกณฑ์วัคซีนโควิด-19 ที่ดีต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า 80 IU (International Unit) ถ้าหาก วัคซีน ChulaCov19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าค่านี้ แสดงว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ก็สามารถยกเว้นการทำทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ได้ และอาจได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อใช้ในคนจำนวนมากได้ภายในก่อนกลางปีหน้า”
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าครั้งนี้
แม้ ChulaCov19 จะใช้เทคโนโลยี mRNA เดียวกับวัคซีนไฟซอร์ และโมเดอร์นา แต่ก็มีการนำมาพัฒนาให้มีความแตกต่าง สำหรับจุดเด่นของ วัคซีน ChulaCov19 ได้แก่
- จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้องที่อุณหภูมิราว 25 องศาเซลเซียส ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น
- สำหรับผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก พบว่าสามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรค และยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า และเมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 ภายใน 3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เป็นจำนวนมาก
- คุณสมบัติเฉพาะของการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีชนิด mRNA คือความรวดเร็ว เพราะไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างเทคโนโลยีเดิม สำหรับวัคซีนชนิด mRNA นั้นเพียงแค่รู้สายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ก็สามารถนำไปออกแบบวัคซีน และ สังเคราะห์ในหลอดทดลองในระยะเวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ ก็สามารถนำวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ ซึ่งการที่สามารถผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ ที่สำคัญเมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนมาใช้ได้อย่างรวดเร็
แม้วัคซีน ChulaCov19 รุ่นที่หนึ่งจะทดลองในมนุษย์เรียบร้อยแล้ว แต่งานของทางทีมนักวิจัยไทยยังไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ ล่าสุดทางศูนย์วิจัยได้ทำการเตรียมความพร้อมพัฒนาทดลองวัคซีนรุ่นที่ 2 กับสัตว์ทดลอง เป็นการทำงานควบคู่กันเพื่อรองรับเชื้อดื้อยา หรือหากมีเชื้อกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ฯลฯ ก็สามารถปรับแผนการผลิตวัคซีนได้ทันท่วงที
อ้างอิง : https://www.chula.ac.th/news/47758/