ย้อนรอย เชอร์โนบิล มหันตภัยนิวเคลียร์ระเบิด ที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์
Better Living

ย้อนรอย เชอร์โนบิล มหันตภัยนิวเคลียร์ระเบิด ที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์

Focus
  • 26 เมษายน 2529 โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ เชอร์โนบิล เกิดการระเบิดขึ้น ถือได้ว่าเป็นอุบัติภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ คือ ความรุนแรงระดับ 7 ซึ่งเป็นความรุนแรงสูงสุด
  • โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์เชอร์โนบิล ตั้งอยู่ที่เมืองพรีเพียต ภายใต้การปกครองของประเทศสหภาพโซเวียต ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของประเทศยูเครน ปัจจุบันได้เปลี่ยนสภาพจากเมืองร้างเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง ที่ไม่มีใครการันตีได้ว่าเมื่อกลับออกมาแล้วจะได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสีหรือไม่

26 เมษายน 2529 เป็นอีกวันแสนเศร้าที่โลกต้องจดจำ เพราะวันนี้เมื่อ 34 ปีที่แล้ว โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ เชอร์โนบิล (Chernobyl nuclear power plant) เกิดการระเบิดขึ้น และถือได้ว่าเป็นอุบัติภัยของโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติคือ ความรุนแรงระดับ 7 ซึ่งเป็นความรุนแรงสูงสุด และเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดในรอบ 56 ปีตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาในโลกนี้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ตั้งอยู่ที่เมืองพรีเพียต ภายใต้การปกครองของประเทศสหภาพโซเวียต ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของประเทศยูเครน เหตุการณ์ระเบิดครั้งนั้นเกิดจากเตาปฏิกรณ์ 1 ใน 4 เตาของโรงไฟฟ้าเกิดไฟไหม้นานถึง 9 วัน หลังทดลองเดินเครื่อง มีผู้เสียชีวิตทันที 47 ราย พื้นที่ในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้า เชอร์โนบิล ถูกประกาศให้เป็นเขตอันตราย และต่อมาเพียง 1 ปี มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้เพิ่มเป็น 4,000 คน

เชอร์โนบิล
รูปอดีตและปัจจุบันของเมืองที่ถูกทิ้งร้าง

ความน่ากลัวเกิดขึ้นหลังจากนั้น เพราะการระเบิดได้ปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีมากกว่าระเบิดปรมาณูที่สหรัฐอเมริกาถล่มเมืองฮิโรชิมาและนาซากิ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 100 เท่า (ราว 6 ตัน) ไม่นับรวมคนนับพันที่เป็นมะเร็งและเสียชีวิตในอีกหลายปีต่อมา

การระเบิดครั้งนั้นทำให้เกิดการรั่วไหลของสารซีเซียม-137  ได้ตกค้างอยู่ในระบบนิเวศ  มีรายงานว่าในรัศมี 30 กิโลเมตร ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ราว 5-8 ล้านคน กลายเป็นเขตปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีเข้มข้น และแพร่กระจายไปอีก 14 ประเทศแถบยุโรป ไกลถึง ออสเตรีย สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ซึ่งมีการตรวจพบสารปนเปื้อนทั้งในพืชพรรณ ธรรมชาติ ในเนื้อสัตว์ และนมวัว

ช่วง 3-5 ปีแรก หลังการระเบิด  พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์เนื่องจากได้รับสารปนเปื้อนไอโอดีน-131 ที่แฝงมากับนมวัว จากวัวที่กินหญ้าปนเปื้อนสารดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2535 เด็กๆ ในยูเครนป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์เพิ่มขึ้น 7 เท่า

นิวเคลียร์
พื้นที่ในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลกลายเป็นเมืองร้าง

มีรายงานว่าแม้เหตุการณ์จะผ่านมานานร่วม 30 ปี แต่กัมมันตภาพรังสีของซีเซียม-137 ยังตกค้างอยู่ในปริมาณเกือบจะเท่าเดิม และนั่นก็ได้หักล้างความรู้เดิมที่ระบุว่าครึ่งชีวิตของมันเท่ากับ 30 ปี แต่ความจริงแล้วเมื่อมันถูกปล่อยไปอยู่ในสภาพแวดล้อม ครึ่งชีวิตของมันกลับยาวนานถึง 180 – 320 ปีเลยทีเดียว

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งรัสเซียรายงานว่า นับถึงปี 2553 มีคนอย่างน้อย 140,000 ราย ในยูเครน และเบลารุส รวมทั้งอีก 60,000 รายในรัสเซียเสียชีวิตจากโรคที่เป็นผลพวงจากการได้รับสารปนเปื้อนจากการระเบิดครั้งนี้ และกรีนพีซ องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม เคยออกมาแสดงความเห็นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2553 ว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่คนทั่วโลกรับรู้นั้นอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตเนื่องจากการปนเปื้อนจากสารซีเซียม-137 ธจะยังตกค้างในสิ่งแวดล้อมไปอีก 100 ปีทีเดียว

เหตุการณ์ระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเกือบจะถูกลืมเลือนไปแล้ว แต่คนรุ่นใหม่ได้รู้จักกันอีกครั้งเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2554  เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่น ส่งผลให้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับความเสียหายและมีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา

เชอร์โนบิล
แผนที่ท่องเที่ยวเชอร์โนบิล

แม้ว่าความร้ายแรงและความเข้มข้นของสารซีเซียม-137 ที่ปล่อยออกมานั้นจะรุนแรงน้อยกว่าเหตุการณ์เชอร์โนบิล อันเนื่องจากโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่ชายฝั่งมีกระแสน้ำช่วยพัดลงไปละลายในมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ทำให้สารเจือจางลงไปมากกว่า แต่ยังต้องมีการติดตามและศึกษาเพื่อให้แน่ใจว่ามันรุนแรงน้อยกว่าจริงหรือไม่ เพราะบทเรียนจาก เชอร์โนบิล เห็นได้ชัดเจนว่าผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีไม่ได้ยุติลงหลังจากเหตุการณ์สงบแต่อย่างใด

ปัจจุบัน เชอร์โนบิล ได้เปลี่ยนสภาพจากเมืองร้างเป็นเมืองท่องเที่ยวชื่อดังสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะชาวยูเครนเองรู้ซึ้งกับความเจ็บปวดของสถานที่นี้เป็นอย่างดี ทว่าก็ไม่มีใครการันตีได้ว่าเมื่อกลับออกมาจากเขตเชอร์โนบิลแล้วจะได้รับผลกระทบจากสารกัมมันตภาพรังสีกลับไปด้วยหรือไม่

อ้างอิง

  • นิตยสาร สารคดี ฉบับ พฤษภาคม 2554
  • นิตยสาร สารคดี ฉบับ กันยายน 2553

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป