วัคซีนใบยาสูบ ก้าวแรกที่ต้องเริ่มในการสู้โควิด-19 โดยทีมนักวิจัยไทย
Better Living

วัคซีนใบยาสูบ ก้าวแรกที่ต้องเริ่มในการสู้โควิด-19 โดยทีมนักวิจัยไทย

Focus
  • บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านBioTech ก่อตั้งโดยอาจารย์ประจำ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ. ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ
  • วัคซีนโควิด-19 จากใบยาสูบ คืองานเร่งด่วนที่ทีมนักวิจัยไทยกว่า 100 ชีวิตในใบยา ไฟโตฟาร์ม กำลังเร่งพัฒนา

ผ่านมา 1 ปี สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 คำถามหนึ่งที่คนไทยอยากรู้ก็คือ การผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยทีมวิจัยไทยไปถึงไหน มีความเป็นไปได้แค่ไหน และจะสำเร็จเมื่อไร ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นเสมือนแรงผลักดันที่ทำให้ทีมวิจัยไทยกว่า 100 ชีวิต พยายามเร่งมือ ทดลองคิดค้นวัคซีนจาก ใบพืชตระกูลยาสูบ หรือที่ใครๆ เรียกว่า วัคซีนใบยาสูบ โดยตอนนี้ (อัปเดตต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564) อยู่ในขั้นตอนทดลองกับสัตว์จนได้ผลตอบสนองดี ส่วนในเฟสถัดไปที่จะทดลองกับมนุษย์ถือเป็นความท้าทาย ซึ่งอาจจะเป็นก้าวเล็กๆ ของคนไทยถ้าเทียบกับห้องวิจัยพัฒนาบนเวทีโลก แต่ถือเป็นก้าวแรกที่ต้องเริ่ม และเป็นก้าวสำคัญสำหรับการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ภายในประเทศนี้

แยกต้นอ่อนใบยาสูบเพื่อนำไปปลูกต่อ

พัฒนาวัคซีนเพื่อคนไทย

ท่ามกลางกระแสข่าวการเลื่อนส่งมอบวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากผู้ผลิตต่างประเทศให้ไทยแต่ในมุมหนึ่งของตึก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทีมวิจัยไทยกำลังเร่งมือพัฒนา วัคซีนใบยาสูบ เพื่อเตรียมพร้อมในการทดลองเฟสถัดไป ที่เข้าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ

“ถึงตอนนี้จะมีการคิดค้นวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ได้สำเร็จในต่างประเทศ แต่เรายังต้องวิจัยต่อไป เพราะถ้าทิ้งไป เราจะไม่รู้เส้นทางที่เดินไปให้ถึงนวัตกรรม ยิ่งถ้าเกิดการระบาดในอนาคต ไทยจะเจอกับปัญหาแบบเดิม และก้าวไปช้ากว่าหลายประเทศอย่างที่เป็นอยู่”

รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ ประธานบริหารฝ่ายวิทยาศาสตร์และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เล่าถึงเป้าหมาย เพราะโดยปกติแล้วการวิจัยเพื่อให้ได้วัคซีนมาใช้งาน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี แต่การผลิตวัคซีนโควิด-19 ในต่างประเทศใช้เวลา 1 ปี ขณะที่ของไทยคาดว่าต้องใช้เวลา 2 ปี ซึ่งในการวิจัยวัคซีนโควิด เบื้องต้นต้องหาว่าการผลิตในรูปแบบไหนได้ประสิทธิภาพดีที่สุด ด้วยการทำการทดลองในห้องแล็บ จากนั้นจึงมาทดลองในสัตว์ทดลอง โดยจะต้องหาว่าควรจะฉีดประมาณกี่โดสถึงจะให้ประสิทธิภาพมากที่สุด และใช้เวลาประมาณ 2 เดือน กว่าจะรู้ผลแน่ชัดในสัตว์ทดลอง และค่อยก้าวสู่การทดลองในคน

และหลังทดลองในคนจนรู้ว่ามีประสิทธิภาพแล้ว ต้องมาทดลองเพื่อออกแบบให้วัคซีนสามารถอยู่ได้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม เพื่อเหมาะกับพื้นที่ประเทศ และง่ายในการเก็บรักษา เพราะตอนนี้วัคซีนป้องกันโควิดที่คิดค้นขึ้นในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิ -20 ถึง -80 องศา ซึ่งไม่เหมาะกับไทยที่มีอากาศร้อน

สำหรับวัคซีนที่ทางทีมทำการทดลองจะใช้ ใบยาสูบจากออสเตรเลีย ที่มีการทำวิจัยเก็บข้อมูลรองรับไว้แล้ว ถือเป็นแพลตฟอร์มที่ผลิตโปรตีน โดยจะต้องผลิตชิ้นส่วนของโครงสร้างที่เหมือนกับไวรัส พอฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์จะสร้างภูมิคุ้มกัน และเมื่อได้รับไวรัสจริงเข้าไปร่างกายจะสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านไวรัสได้เร็วขึ้น

“ตอนนี้ทีมวิจัยทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 การขอรับบริจาคเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเพื่อสร้างกระบวนการทำงานการผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ยิ่งในอนาคตถ้าไวรัสมีการกลายพันธุ์แบบเฉพาะในพื้นที่ไทยและประเทศรอบข้าง เราจะออกแบบวัคซีนที่ต่อต้านไวรัสที่กลายพันธุ์ได้ดีขึ้น เช่น ตอนอังกฤษมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์แพร่กระจาย มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ก็เร่งทำการวิจัยและทำวัคซีนที่เหมาะสมกับเชื้อที่กลายพันธุ์ออกมา ดังนั้นถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในไทย แล้วเรายังไม่สามารถผลิตวัคซีนได้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะให้ประเทศที่ผลิตวัคซีนหันมาสนใจช่วยเหลือ” รศ. ดร.วรัญญู กล่าวเพิ่มเติม

อบความร้อนทั้งต้นเพื่อนำเมล็ดมาปลูกต่อ

ยุคนี้ด้วยความที่เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในด้านการวิจัยวัคซีน จึงทำให้ไม่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะถ้ามองในตอนนี้เทคโนโลยีที่ผลิตวัคซีนมาต่อต้านโควิดได้จะผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ทั้งหมด

“การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีวัคซีนที่รวดเร็ว แม้นักวิจัยไทยมีการคิดค้นเทคโนโลยี mRNA เร็วพอๆ กับนักวิจัยต่างประเทศ แต่พอเราคิดค้นแล้วก็ตีพิมพ์วางไว้บนหิ้ง ไม่ได้รับการผลักดันให้ไปใช้จริง ซึ่งพอถึงเวลาฉุกเฉินที่โควิดมา เราต้องใช้เวลานานกว่าประเทศอื่น เพราะถ้าเทียบกับโมเดอร์นา ทำเทคโนโลยี mRNA มาเป็น 10 ปีในรูปแบบสตาร์ตอัปและมีบริษัทที่พยายามพัฒนาให้ขายได้ในเชิงพาณิชย์ซึ่งกว่า 10 ปี ที่ไม่มีรายได้ แต่บุคลากรฝึกฝนมาตลอด แม้ยังใช้งานไม่ได้แต่รัฐบาลยังสนับสนุน และเมื่อเกิดวิกฤต ประเทศเหล่านี้ก็ผลิตได้ทันที ผิดจากเราที่ไม่ได้ฝึกฝนอยู่ตลอด แต่พอเกิดวิกฤตขึ้นต้องเร่งทำ เหมือนกำลังเดินไปโดยไม่รู้เส้นทาง ขณะที่ประเทศที่ผลิตได้รู้เส้นทางแล้ว นี่จึงเป็นเหตุที่วัคซีนของไทยต้องใช้เวลานานกว่าในการพัฒนา แต่ไม่ได้หมายความว่าอนาคตเราจะช้าอย่างนี้ตลอดไป ดังนั้นจึงจะต้องค่อยๆ สร้างระบบเพื่อรองรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย”

วัคซีนใบยาสูบ
แยกเมล็ดใบยาสูบและนำลงในถาดเพาะเลี้ยง

บทเรียนท้าทาย “ทีมไทยแลนด์”

หลังมีการขอรับบริจาคในโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” ของ มูลนิธิ ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รับบริจาคทุนวิจัย 500 บาท จากคนไทย 1 ล้านคน เพื่อเร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 และมีหลายกระแสที่ถาโถมเข้ามายังทีมวิจัย แต่ ผศ.ภญ. ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัดกลับมองเห็นโอกาสท่ามกลางวิกฤตว่า

การแพร่ระบาดของโควิดทำให้ประชาชนเริ่มเห็นความสำคัญของการพัฒนาวัคซีนภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งหลายคนไม่เคยรู้ว่า กว่าจะผลิตวัคซีนออกมาได้ต้องใช้บุคลากรและทุนทรัพย์ในการวิจัยมาก โดยเฉพาะการนำวัคซีนไปทดสอบในสัตว์ ต้องมีการทดสอบซ้ำๆ เพื่อให้เกิดความแน่ใจ แม้วันนี้ทีมใบยาจะทดสอบกับสัตว์แล้วว่าได้ผลดี แต่ยังต้องกลับไปฉีดในสัตว์ทดลองอีก เพื่อให้เกิดความแน่ใจ ก่อนจะนำไปทดลองฉีดในคน

ที่ผ่านมาไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ดังนั้นการพัฒนาในครั้งนี้จึงพยายามรวบรวมหน่วยงานที่มีความรู้เฉพาะในแต่ละด้านมาทำงานร่วมกัน โดยเรียกทีมทำงานครั้งนี้ว่า “ทีมไทยแลนด์”

วัคซีนใบยาสูบ
ชุดทดลองในห้องวิจัย

เพราะหลังจากทีมใบยาทำการวิจัยแล้ว จะส่งวัคซีนไปให้โรงงานต้นแบบชีววัตถุแห่งชาติ เพื่อทำวัคซีนให้มีความบริสุทธิ์ และส่งต่อไปยังองค์การเภสัชกรรมที่มีความเชี่ยวชาญการแบ่งบรรจุ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้ “ทีมไทยแลนด์” จากหน่วยงานต่างๆ กว่า 100 คน มาช่วยกันทำงาน ซึ่งในประเทศที่ผลิตวัคซีนได้จะมีบุคลากรแต่ละด้านอยู่ในพื้นที่ทำงานเดียวกัน แต่ไทยยังไม่มีแพลตฟอร์มการผลิตนี้ในประเทศ จึงต้องประสานความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันแบบเฉพาะกิจ

เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนยุคใหม่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการวิจัยภายในมหาวิทยาลัย แต่ประเทศไทยยังไม่มีรูปแบบการพัฒนาที่ชัดเจน ที่จะนำผลงานวิจัยไปพัฒนาเป็นนวัตกรรม ซึ่งจะต้องมีรูปแบบการส่งเสริมที่ช่วยให้นวัตกรรมสามารถนำไปใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ เพราะหลายประเทศมีการพัฒนาในรูปแบบนี้ เช่น วัคซีนของโมเดอร์นา และไฟเซอร์

สำหรับการวิจัยวัคซีนในไทยก่อนหน้านี้ไม่ได้มีเงินทุนเยอะ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น แต่การเปลี่ยนจากการผลิตวัคซีนด้วยเทคโนโลยีแบบเก่าให้เป็นเทคโนโลยีใหม่ได้ต้องใช้ทุนทรัพย์เยอะ และใช้เวลาในการพัฒนาค่อนข้างมาก เพราะการพัฒนาวัคซีนต่อต้านโควิดได้ในหลายประเทศตอนนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ประเทศเหล่านั้นมีโครงสร้างพื้นฐานอยู่เดิม

เพราะการทำวัคซีน 1 ตัว ไม่ใช่แค่การทำงานในห้องแล็บเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยเช่นการทำงานของใบยา ต้องมีห้องที่ควบคุมอุณหภูมิเพื่อให้ใบยาเติบโตได้ดี และต้องมาดูว่าต้นไหนให้ประสิทธิภาพสูงในการผลิตวัคซีน ส่วนการจะผลิตได้ในระบบอุตสาหกรรมเพื่อจำหน่าย จะต้องนำวัคซีนไปแบ่งบรรจุให้มีมาตรฐาน โดยทุกหลอดจะต้องมีคุณภาพเหมือนกัน ดังนั้นการผลิตวัคซีนขึ้นทีละมากๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่การผลิตวัคซีนได้คือหลักประกันสำคัญของคนทั้งประเทศ เช่น โรคอีโบลา ที่ตอนนี้ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ในแอฟริกา แต่บริษัทที่ผลิตยาในยุโรปไม่ได้ผลิตวัคซีนให้ เพราะกำลังเร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 ประกอบกับประเทศในแอฟริกาไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อวัคซีนจำนวนมาก ดังนั้นถ้าเกิดโรคระบาดในอนาคต หากไทยคิดค้นวัคซีนด้วยตัวเองไม่ได้ จะไม่ต่างจากแอฟริกา

“วันนี้เราไม่ได้มองแค่ความสำเร็จ แต่อยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ซึ่งถ้าการวิจัยครั้งนี้สำเร็จ เราจะสามารถปักธงไทยได้ในฐานะผู้ผลิตวัคซีนให้แก่โลกนี้ และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้คนตัวเล็กๆ อีกหลายคนทั่วโลก ได้ลุกมาทำอะไร เพื่อคนอื่น” ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ทิ้งท้ายถึงก้าวต่อไป

การวิจัยของ “ทีมไทยแลนด์” ครั้งนี้ นอกจากจะต้องทุ่มเททั้งกำลังความคิด การทำงานท่ามกลางการแพร่กระจายของโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์แพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว แต่ทุกคนยังเชื่อว่า วัคซีนของคนไทยจะต้องเกิดขึ้นได้ในไม่ช้า

วัคซีนใบยาสูบ
จากซ้าย : รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ. ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ

Fact File

ขั้นตอนและช่องทางการรับบริจาคโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย”

1. สแกน QR CODE เพื่อลงทะเบียนและรับสิทธิในการบริจาคที่ www.CUEnterprise.co.th

2. สามารถเลือกช่องทางการบริจาคได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

2.1 ใช้ Mobile Banking Application ของธนาคารใดก็ได้สแกน QR CODE เพื่อบริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี มูลนิธิ ซียู เอ็นเทอร์ไพรส์ เมื่อเสร็จสิ้นการทำรายการจะได้รับ Bill Payment เป็นหลักฐาน

2.2 ทำรายการที่หน้าเคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทยได้ทุกสาขาทั่วประเทศ เพียงยื่นบัตรประชาชนและแจ้งว่าบริจาคให้โครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” จะได้ Pay-in Slip เป็นหลักฐาน

โดยรับบริจาคท่านละ 500 บาท จำนวน 1 ล้านสิทธิ (จำกัด 1 คนต่อ 1 สิทธิ)โครงการวัคซีนเพื่อคนไทยขอตอบแทนน้ำใจผู้บริจาคดังนี้

1. สิทธิส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยประเภทบุคคล เช่น สุขภาพ รถยนต์ อัคคีภัย ฯลฯ สำหรับกรมธรรม์ฉบับใหม่จากบริษัทประกันที่เข้าร่วมโครงการ เช่น บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยส่วนลด 12%-23%

2.ในกรณีผลิตวัคซีนสำเร็จและพร้อมให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ผู้บริจาคจะมีสิทธิจองซื้อวัคซีนได้ก่อนบุคคลทั่วไป แต่จะได้สิทธิ “หลังจาก” การให้ การจำหน่าย หรือการใช้วัคซีนให้แก่บุคคลอื่นใด ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายหรือรัฐบาลกำหนด (หากมี)

สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-576-5500


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ