แจก Playlist “5 เวิร์กช็อป” ขยายพื้นที่หัวใจ ให้ใส่ใจโลกยิ่งขึ้น
- แจกพิกัด เวิร์กช็อปสายกรีน ชวนออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ที่จะขยายพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ในหัวใจให้พองโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ทำของเล่น หรือดองดอกไม้
- เวิร์กช็อปสายกรีน ไม่ได้มีแต่กิจกรรมเชิงวิชาการหรือพาไปปลูกป่าเพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่กิจกรรมสนุกๆ อย่างการทำพิซซ่าจากผักพื้นบ้านก็ทำให้เราได้รู้จักและมองเห็นธรรมชาติรอบกายมากขึ้นแล้ว
มองหาเวิร์กช็อปสนุกๆ อยู่หรือเปล่า Sarakadee Lite ชวนคนรักเวิร์กช็อปออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ เป็นเวิร์กช็อปที่จะขยายพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ในหัวใจให้พองโตขึ้น มองเห็นธรรมชาติรอบกายให้มากขึ้น เพื่อที่จะเข้าใจโลกและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น แต่ขึ้นชื่อว่า เวิร์กช็อปสายกรีน ก็อย่าเพิ่งเครียดว่าจะมีแต่เชิงวิชาการหรือพาไปปลูกป่าเพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่การทำอาหาร ทำของเล่น หรือดองดอกไม้ ก็จะทำให้เราเข้าใจโลกได้เช่นกัน ถ้าพร้อมแล้ว กดเซฟ Playlist ได้เลย
“Malibarn” จัดดอกไม้สไตล์นักพฤกษศาสตร์
ร้านดอกไม้ที่ไม่ได้มีแค่ดอกไม้สีสวย แต่ยังเต็มไปด้วยความรู้ทางพฤกษศาสตร์ฉบับเข้าถึงง่ายพร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้ร้านดอกไม้สายอีโค่ Malibarn คือผลผลิตจากความตั้งใจของ มะลิ-กมลรัตน์ ชยามฤต และหุ้นส่วนทางความคิดอีกสามคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือธุรกิจนี้ต้องไม่เพิ่มภาระให้โลกและพาให้คนใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Malibarn เลือกใช้ดอกไม้ไทยตามฤดูกาลจากแหล่งปลูกในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ระยอง หรือแพร่ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ใช้ในร้านสามารถย่อยสลายได้ เป็นการเปลี่ยนมุมมองการจัดดอกไม้ว่าสามารถเป็นมิตรกับโลกได้มากกว่าที่คิด
นอกจากจะเป็นร้านจัดดอกไม้แล้ว Malibarn ยังมีหอพรรณไม้ขนาดย่อมเป็นของตัวเองและปล่อยเวิร์กช็อปเกี่ยวกับดอกไม้ที่ทำให้คนที่ไม่ใช่สายจัดดอกไม้ยังสนใจ แต่ก่อนจะเวิร์กช็อป ทางร้านจะชวนสังเกตความหลากหลายของดอกไม้ไทยผ่านโซน “หอพรรณไม้” ที่เก็บรักษาดอกไม้ใกล้รั้วบ้านตามวิธีของ “นักพฤกษศาสตร์” ซึ่งเป็นอาชีพที่เจ้าของร้านคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก โซนนี้เราจะได้เห็นการเก็บตัวอย่างพรรณไม้ดองในแอลกอฮอล์เพื่อรักษาอวัยวะของดอกไม้ให้อยู่ครบ การดองใน Mineral Oil เพื่อรักษาสีและความสวยของดอกไม้ให้อยู่คงนาน การเก็บตัวอย่างแบบ Herbarium Sheet หรือภาพสเกตช์ที่ทำให้เห็นโครงสร้างของดอกไม้แบบที่เราไม่ค่อยได้สังเกต บอกเลยว่าไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถมีส่วนร่วมและตื่นตาตื่นใจได้ โดยเฉพาะตู้ Terrarium ขนาดใหญ่ที่มีสัตว์ตัวจิ๋วอาศัยอยู่และมาตามธรรมชาติจริงๆ หากอยากลงมือทำที่นี่ก็มีเวิร์กช็อปเป็นประจำทุกเดือนให้ทุกคนได้มาฝึกทักษะการจัดดอกไม้สไตล์ Minimalist โดยไม่ใช้พลาสติกและโฟมโอเอซิส ตลอดจนความละเมียดละไมที่ส่งตรงจากช่างฝีมือในวังหญิงอย่างการร้อยมาลัยดอกไม้ไทยที่เรียกได้ว่าเป็นคลาสที่ฮอตที่สุดของ Malibarn
Workshop : เมื่อตื่นตากับหอพรรณไม้ขนาดย่อมในร้านดอกไม้เล็กๆ แห่งนี้แล้ว ก็มาถึงไฮไลต์เวิร์กช็อปกันบ้าง ในแต่ละเดือนทางร้านจะหมุนเวียนงานเวิร์กช็อปแตกต่างกัน เช่น การร้อยมาลัยและจัดดอกไม้ไทยที่ลงลึกไปถึงการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อโลก หรือการนำดอกไม้ไทยใกล้ตัวตามฤดูมาสร้างสรรค์เป็นงานดอกไม้และมาลัย หรือจะเป็นการทำ Herbarium Bottle การจัดถนอมดอกไม้ในน้ำมันที่จะทำให้ได้ของแต่งบ้านสวยๆ และได้นั่งสังเกตความสวยงามของดอกไม้ใกล้ตัว หรือใครอยากเพิ่มสกิลการเป็นนักพฤกษศาสตร์ ก็มีการฝึกทำ Herbarium Sheet ด้วย ซึ่งทุกเวิร์กช็อปจะได้เยี่ยมชมหอพรรณไม้ขนาดย่อมเหมือนย่อพิพิธภัณฑ์พฤกษศาสตร์มาไว้ในร้านเลย
Location : โครงการ Slowcombo ซ.จุฬาลงกรณ์ 50 สามย่าน
Contact : www.facebook.com/profile.php?id=100054395744929 หรือ โทร. 061-958-0801
“TAM:DA” เปลี่ยนขยะให้เป็นของเล่น
จะว่า TAM:DA เป็นเจ้าโปรเจกต์ก็คงไม่ผิดนัก เพราะ TAM:DA แปลตรงๆ ว่า “ทำดะ” แปลว่าทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่มีขอบเขต โดยมี เป๋-ธนวัต มณีนาวา นักสร้างสรรค์ที่อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์สนุกๆ อย่างการหยิบจับของเหลือใช้ที่ดูธรรมดามาแปลงร่างให้กลายเป็นสิ่งใหม่ที่หลายทีมองดูแล้วเราก็แอบประหลาดใจว่า กะละมัง ถัง หม้อ ที่หมดอายุการใช้งาน สามารถกลายไปเป็นของเล่นชิ้นใหม่หน้าตาสุดสนุกแบบนั้นได้อย่างไร
แต่นอกจากการเป็นนักคิด TAM:DA ยังเป็นนักเดินสายที่มักไปปรากฏตัวตามนิทรรศการและอีเวนต์ตามโอกาส พร้อมหอบหิ้วแนวคิดที่เชื่อในจินตนาการและความสนุกเป็นพื้นฐานติดไปด้วย เมื่อไรที่เปิดคลาสเขาเลยมักปล่อยให้ทุกคนลงมือกับวัสดุตรงหน้า โดยมีเขาเป็นคนซัปพอร์ตเสียมากกว่า อยู่ที่ว่าผู้เข้าคลาสจะมองเห็นวัสดุนั้นเป็นอะไร บางทีขวดพลาสติกจับคู่กับไม้แขวนเสื้ออาจรวมร่างกลายเป็นหุ่นยนต์ก็ย่อมได้ ก่อนจะทิ้งอะไรไปเราเลยได้ฉุกคิดกันอีกสักหน่อยว่า ของชิ้นนั้นมองดูดีๆ อาจสามารถใช้งานในด้านอื่นหรือสามารถดัดแปลงให้เกิดประโยชน์ได้อีกหรือเปล่า
Workshop : หากใครผ่านไปที่ Ecotopia ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี จะเห็นว่ามีมุมเวิร์กช็อป Upcycling Playground ที่มีสเตชันของเล่น ของตกแต่ง และวัสดุเหลือใช้จาก TAM:DA อยู่ ซึ่งโซนนี้นอกจาก TAM:DA จะชวนทุกคนมาเล่นสนุกด้วยการใช้จินตนาการประกอบร่างเป็นของเล่น เหล่าครีเอเตอร์สายกรีนก็มักแวะเวียนไปจัดเวิร์กช็อปกันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักปลอดสารพิษแบบไมโครกรีน การแปรรูป Plastic Upcycling หรือการดีไซน์ถาดจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่าง Jesmonite ที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี
Location : Ecotopia ชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี
Contact : www.facebook.com/TamdaDesign หรือ www.facebook.com/EcotopiaTH
“ในสวนศรี” มารู้จักของดีพัทลุงบ้านฉัน
ศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตรที่เกิดจากความตั้งใจของ ศรีปิง-จันทร์จิรา แก้วบัว อดีตวิศวกรที่อยากกลับไปพัฒนาบ้านเกิดจังหวัดพัทลุง จากแนวคิดดูแลสุขภาพและชื่นชอบทำกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อผ่อนคลายจากการทำงาน ศรีปิงเลยอยากทำให้ ในสวนศรี เป็นแหล่งเรียนรู้จากการลงมือทำโดยเฉพาะสำหรับเด็กๆ ที่อาจไม่ได้มีพื้นที่ใกล้ชิดให้เรียนรู้เกี่ยวกับวัตถุดิบพื้นบ้านมากนัก
ในสวนศรีเลยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วน คือ ทัศนศึกษาสำหรับเด็กในวันจันทร์ถึงศุกร์ที่ต้องจองไปก่อนล่วงหน้า และวันเสาร์อาทิตย์ที่เปิดให้วอล์กอินสำหรับนักท่องเที่ยว รูปแบบกิจกรรมของที่นี่เน้นไปที่การนำเสนอวัตถุดิบท้องถิ่นแบบเข้าใจง่ายและร่วมสมัย ที่มีหัวใจสำคัญคือการเปิดใจและเกิดทัศนคติที่ดีขึ้นต่อพืชผักพื้นบ้านที่หลายคนอาจไม่ค่อยพบเจอในชีวิตประจำวัน ทำให้เด็กๆ และนักท่องเที่ยวได้รู้จักหน้าตา รสสัมผัส และประโยชน์ของผักพื้นบ้านจากกิจกรรมที่ได้ลงมือทำ ทำให้กล้าที่จะลองกินมากขึ้นในอนาคต อย่างการทำพิซซ่าที่เลือกใช้ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงมาทำเป็นแป้งโด ตกแต่งหน้าด้วยเห็ดและผักปลอดสารจากในสวน รวมถึงรับซื้อจากชาวบ้านชุมชนลำสิงห์ซึ่งอยู่โดยรอบ เป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับชุมชนและลดปริมาณการขนส่งไปในคราวเดียวกัน
นอกจากกิจกรรมหลัก ศรีปิงยังชวนชาวบ้านมาเป็นวิทยากรพิเศษสอนทำขนมไทย ไม่ว่าจะเป็นขนมจากแป้งข้าวเหนียวดำหรือแป้งสาคูจากต้นสาคู ทั้งกิจกรรมของที่นี่ยังเป็นแบบทำเอง-กินเอง-เก็บเอง ซึ่งมีส่วนจัดการขยะแบบบอกปลายทางว่าส่วนนี้สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยและอีกส่วนนำไปสู่ขั้นตอนจัดการขยะต่อไป ในอนาคตศรีปิงตั้งใจว่าจะทำแผนที่ท่องเที่ยวแนะนำสถานที่ใกล้เคียงเพื่อให้คนที่มาเยือนแวะไปเที่ยวหมุดหมายในชุมชนได้ต่อ ซึ่งตอนนี้ในสวนศรีเองก็มีส่วนของร้านอาหารและคาเฟ่ที่นำผักพื้นบ้านมาแปลงเป็นเมนูร่วมสมัยอย่างเจลาโต้จำปาดะ หรือเมนูยอดฮิตอย่างบุษบาห่มผ้า สลัดโรลที่นำดอกไม้กินได้มาเป็นวัตถุดิบหลัก
Workshop : เรียนรู้ผักพื้นบ้านและวัตถุดิบในท้องถิ่นจากกิจกรรมทำพิซซ่าเตาถ่านแป้งข้าวสังข์หยด เปิดให้จองล่วงหน้าเป็นกิจกรรมทัศนศึกษาสำหรับเด็กและกลุ่มนักเรียนทุกวันจันทร์-ศุกร์ และรับวอล์กอินสำหรับนักท่องเที่ยวในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งการที่เราได้รู้จัก เห็นประโยชน์ของวัตถุดิบใกล้ตัวตามฤดูกาลในชุมชนเรามากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้เราลดคาร์บอนจากการนำเข้าวัตถุดิบต่างถิ่นมากยิ่งขึ้น นี่แหละหัวใจของเวิร์กช็อปแบบกรีนๆ ที่ซ่อนไว้
Location : วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรเชิงสร้างสรรค์ ม.8 ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง
Contact : www.facebook.com/NaiSuanSri2560 หรือโทร. 08-2782-3551
“กลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี” ฟังเสียงธรรมชาติ ฟังเสียงใจตัวเอง
หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “ถ้าเราเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า” เพราะธรรมชาติมักช่วยเยียวยา มอบความสุขและความผ่อนคลายแก่เราได้เสมอ แต่มากกว่าการเดินทางเพื่อไปเปลี่ยนบรรยากาศในฉากสีเขียว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า การอาบป่า กิจกรรมที่จะชวนทุกคนปลดสัมภาระอันหนักอึ้งแล้วหันมาเปิดประสาทสัมผัสทั้งห้าไปกับธรรมชาติที่อยู่เบื้องหน้า อย่างการดมกลิ่นใบไม้ โอบกอดต้นไม้แล้วฟังเสียง ซึ่งการซึมซับธรรมชาติอย่างช้าๆ จะช่วยให้ผู้คนรู้สึกกลมกลืนกับธรรมชาติแล้วค่อยๆ วางสิ่งที่อยู่ในใจลงได้ชั่วขณะ
กลุ่มอาบป่ากาญจนบุรี เรียกได้ว่าเป็นแห่งแรกๆ ที่เริ่มต้นนำกระบวนการนี้เข้ามาใช้ในพื้นที่ จากประสบการณ์ของ แอ๊ด-ทิพวัน ถือคำ ตัวแทนกลุ่มอาบป่าที่ได้ศึกษาและเดินทางไปสัมผัสศาสตร์นี้ถึงประเทศต้นกำเนิดอย่างญี่ปุ่น ซึ่งที่นั่นได้รับความนิยมและเรียกกันว่าชินริน-โยกุ หรือ Forest Bathing ตามแบบยุโรป หลังจากกลับมาเธอชวนคนมาทำกิจกรรมนี้ด้วยกันที่ บ้านกลางป่า จ.กาญจนบุรี โฮมสเตย์ที่เธอเองเป็นผู้ก่อตั้ง ก่อนที่จะได้รับความสนใจและเป็นโอกาสได้เริ่มต้นสร้างเครือข่ายกับพื้นที่อื่นๆ ตามมา เกิดเป็นกลุ่มอาบป่ากาญจนบุรีที่คอยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างคนหลากหลายวัย ซึ่งสำหรับเธอเองแล้วการอาบป่าไม่ใช่แค่กระบวนการฟื้นฟูที่ผู้ร่วมกิจกรรมได้รับเท่านั้น แต่การได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติยังทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจและสามารถแปรเปลี่ยนเป็นแนวคิดอนุรักษ์ส่งกลับไปยังผืนป่าได้อีกทางหนึ่ง
Workshop : อาบป่า หรือกระบวนการเข้าไปสัมผัสโอบกอดธรรมชาติ คือกิจกรรมเวิร์กช็อปหลักของบ้านกลางป่า แนะนำให้ติดต่อจองกิจกรรมล่วงหน้าตามตารางกิจกรรมของชุมชน
Location : บ้านกลางป่า อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี
Contact : www.facebook.com/KanchanaburiForestBathing
“โรงเรียนนักเดินป่า” สร้างวัฒนธรรมการเดินป่าอย่างยั่งยืน
“โรงเรียนนักเดินป่าอาจไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือผู้คน” ผู้ช่วยใหญ่-ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา กล่าวถึงหัวใจของการก่อตั้ง โรงเรียนนักเดินป่า โรงเรียนเดินป่าแห่งแรกของไทยที่เชื่อว่าวัฒนธรรมการเดินป่าที่ดีสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างความสุขของคนเดินทางและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ เส้นทางเดินป่าสู่ยอดภูพันเจ็ด ระยะทาง 2 กิโลเมตร ความสูงราว 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคาจึงเกิดขึ้น ซึ่งพื้นที่นี้เป็นป่าดิบเขาที่สมบูรณ์เหมาะแก่การเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติในเลเวลเริ่มต้น โดยเฉพาะสำหรับคนที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์เพราะเดินทางไม่ยากจนเกินไป
หลักสูตรของโรงเรียนนักเดินป่าเริ่มต้นตั้งแต่ภาคทฤษฎีที่ผู้ร่วมกิจกรรมต้องได้รับใบ Certificate จากการเรียนรู้ข้อปฏิบัติและการเตรียมตัวที่ถูกต้องในระบบออนไลน์มาก่อน แต่สิ่งที่สำคัญคือประสบการณ์ระหว่างเส้นทาง 2 วัน 1 คืน ที่เจ้าหน้าที่จะคอยสื่อความหมายถึงความสำคัญของผืนป่า สิ่งมีชีวิตและแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารไปตลอดเส้นทาง ผสานกับกิจกรรมที่ช่วยให้นักเดินป่าเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้มากขึ้น เช่นฐานที่ชื่อว่า Noise and Sound เจ้าหน้าที่จะชวนทุกคนหลับตาเพื่อหยุดฟังเปรียบเทียบเสียงธรรมชาติและเสียงรบกวน ชวนคิดถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสัตว์ป่า หากเราเข้าไปส่งเสียงดังโดยไม่เคารพพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ เหล่านี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่หากจบกิจกรรมกลับไปแล้วได้เรียนรู้สิ่งที่ถูกต้อง โรงเรียนนักเดินป่าเชื่อว่าจะเกิดวัฒนธรรมการเดินป่าที่ดีขึ้นได้ และผู้ร่วมกิจกรรมก็สามารถกลายไปเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพกับพื้นที่อื่นๆ รวมถึงกลับมาเป็นอาสาสมัครส่งต่อแรงบันดาลใจนี้ต่อไปอีกได้เช่นกัน
Workshop : หลังจากการเรียนทฤษฎีจบ นักเรียนก็จะได้ออกไปเดินป่าในเส้นทางศึกษาธรรมชาติของจริง พร้อมเรียนรู้และสร้างวัฒนธรรมการเดินป่าที่ดีแบบยั่งยืน โดยจะเปิดรับสมัครช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี
Location : อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อ.ปัว จ.น่าน
Contact : https://www.facebook.com/profile.php?id=100077537556647