ไกด์รันเนอร์ นักวิ่งผู้คว้ามิตรภาพระหว่างทางเป็นเส้นชัย
- ไกด์รันเนอร์คือผู้ที่จะคอยวิ่งประกบอยู่เคียงข้างผู้พิการตลอดการวิ่งทำหน้าที่เป็นหู เป็นตา เป็นปาก และเป็นเพื่อนคอยให้กำลังใจ
- กลุ่มวิ่งด้วยกัน (Run2Gether) เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งมา 5 ปี เพื่อให้ทั้งคนพิการและไม่พิการได้ทำกิจกรรมร่วมกันและเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้นผ่านกิจกรรมวิ่ง
- ปัจจุบันมีจำนวนไกด์รันเนอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มวิ่งด้วยกันกว่า 7,000 คน และคนพิการกว่า 5,000 คน และมีกลุ่มเครือข่ายขยายไปยัง 10 จังหวัดทั่วประเทศ
“วิ่ง” กีฬาที่ไม่จำกัดแม้ความพิการ
กระแสการวิ่งในเมืองไทยยังคงแรงต่อเนื่องและประมาณการว่าน่าจะมีรายการวิ่งมากกว่า 1,000 รายการจัดขึ้นทั่วประเทศ แต่เมื่อการวิ่งไม่ใช่แค่การออกกำลัง หรือการพิชิตระยะทางสู่เส้นชัยเพื่อท้าทายศักยภาพของตัวเอง หากเป็นการวิ่งร่วมกันกับผู้พิการในฐานะ ไกด์รันเนอร์ (guide runner) ความหมายของการวิ่งจะครอบคลุมไปถึงการทำหน้าที่เป็นดวงตาคอยมอง เป็นหูคอยฟัง เป็นปากคอยชี้ทาง และเป็นเพื่อนคอยให้กำลังใจ
ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าคำว่า ไกด์รันเนอร์ หรือนักวิ่งนำทาง เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด หรือใครกันที่เป็น ไกด์รันเนอร์ คนแรก แต่การก่อตั้งกลุ่มวิ่งด้วยกัน (Run2Gether) นำโดย ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดเครือข่ายขนาดใหญ่ระหว่างไกด์รันเนอร์จับคู่วิ่งกับผู้พิการ และจากการจัดกิจกรรมวิ่งอย่างต่อเนื่องของกลุ่มมามากกว่า 50 ครั้ง จำนวนไกด์รันเนอร์ที่เข้าร่วมกิจกรรมมีมากถึง 7,000 คน ส่วนคนพิการประมาณ 5,000 คน
ฉัตรชัยเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรมวิ่งด้วยกันว่า เมื่อหลายปีก่อน เขามีโอกาสเข้าไปเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพทำให้ได้ใกล้ชิดกับคนพิการมากขึ้น และสังเกตว่าคนตาบอดมักมีสุขภาพไม่ค่อยดี
“คนตาบอดส่วนใหญ่อ้วนเพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ก็พอจะเข้าใจว่าแค่เดินยังลำบาก จะให้ออกกำลังกายยิ่งยากเข้าไปใหญ่”
ฉัตรชัยกลับมานั่งคิดทบทวนว่าทำอย่างไรคนตาบอดจึงจะออกกำลังกายได้ก่อนจะสรุปได้ว่า “คนตาบอดวิ่งไม่ได้ถ้าวิ่งคนเดียว แต่วิ่งได้ถ้าเราวิ่งด้วยกัน
“หัวใจสำคัญคือการทำกิจกรรมเป็นคู่ คนไม่พิการที่ไม่เคยรู้สึกว่าสังคมเรามีปัญหา ก็ได้มารับรู้ ได้มาทำความเข้าใจ ได้มองเห็นว่าคนพิการก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของเราเหมือนกัน ฝ่ายคนพิการเมื่อได้ออกมาเข้าสังคม ได้ทำกิจกรรมใหม่ๆ เขาก็มีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อได้มาวิ่งก็เริ่มกล้าออกจากบ้านคนเดียว กล้าไปดูหนังคนเดียว มันสร้างความมั่นใจให้ชีวิตเขาได้”
งานวิ่งด้วยกันครั้งทดลองจัดขึ้นที่สวนลุมพินีในเดือนเมษายน 2558 มีคนตาบอดเข้าร่วม 12 คน จับคู่วิ่งกับอาสาสมัครนักวิ่งจำนวนเท่ากันปัจจุบันกลุ่มวิ่งด้วยกันขยายเครือข่ายไปยังอีก 10 จังหวัด เช่น ชลบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ อุดรธานี ราชบุรี เป็นต้น วัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้งคนพิการและไม่พิการได้มีโอกาสออกมาทำกิจกรรมในสังคม ได้ออกกำลังกายร่วมกัน รู้จักกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ที่กรุงเทพฯ กลุ่มวิ่งด้วยกันทั้งไกด์รันเนอร์และผู้พิการจะนัดวิ่งกันเป็นประจำที่สวนลุมพินี ทุกวันเสาร์แรกของเดือน และกิจกรรมวิ่งครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ จะจัดปีละครั้ง ครั้งหน้าในวันที่ 8 มีนาคม 2563
ไกด์รันเนอร์เป็นมากกว่าผู้นำทาง
ไกด์รันเนอร์ คือผู้ที่จะคอยวิ่งประกบอยู่เคียงข้างผู้พิการตลอดการวิ่ง ในกรณีผู้พิการตาบอด ไกด์รันเนอร์จะงอแขนเป็นมุมฉาก ยื่นข้อศอกไปข้างหลังให้คนตาบอดใช้มือจับแล้ววิ่งไปด้วยกันตามวิธีมาตรฐานสำหรับการเดินนำทางคนตาบอด หรือไม่ก็ใช้เชือกเส้นเล็กๆ ร้อยเป็นห่วงให้ไกด์รันเนอร์กับคนตาบอดจับกันคนละข้าง ขนาดและความยาวของเชือกตามความถนัดของแต่ละคู่ บางคู่อาจประยุกต์ใช้ไม้พลอง หรือท่อพีวีซีสร้างวิถีการวิ่งเฉพาะของตนเองขึ้นมา โดยทั้งสองคนจะช่วยกันถือไม้พลองสองด้ามด้วยมือซ้ายและมือขวา ลักษณะคล้ายเด็กๆ เล่นรถไฟ ให้คนตาดีเป็นหัวรถจักร คนตาบอดเป็นตู้โดยสารพ่วงท้ายแล้วออกวิ่งไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการประเภทใดก็สามารถใช้ห่วงเชือกเช่นเดียวกับนักวิ่งตาบอดได้
ส่วนคนพิการหูหนวกและเป็นใบ้ นอกจากภาษามือแล้ว ไกด์รันเนอร์ จะใช้บัตรคำเป็นอุปกรณ์พิเศษช่วยสื่อสาร บนบัตรคำเขียนข้อความกระชับสั้นและรูปภาพประกอบ เช่น หยุด พัก เดิน วิ่ง หิวข้าว เข้าห้องน้ำ ฯลฯ เมื่อต้องการสื่อสารคำว่าอะไรขณะวิ่งก็แค่ชี้ ยังมีอีกหลายวิธีที่คนพิการกับคนไม่พิการสามารถสื่อสารถึงกันได้
จักรพัฒน์ รัตนพลกร ครูฝ่ายกิจการนักเรียน โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ผู้ซึ่งเคยเป็น ไกด์รันเนอร์ วิ่งนำทางเด็กตาบอดมาแล้วหลายครั้ง เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า “เมื่อ 20 ปีก่อนตอนผมเข้ามาเป็นครูโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพใหม่ๆ มีอาจารย์สามารถ รัตนสาคร เป็นผู้ริเริ่มพาเด็กตาบอดออกไปวิ่งตามงานวิ่งของคนทั่วไป ตอนนั้นความรู้เรื่องไกด์รันเนอร์ยังอยู่ในวงแคบๆ เราเป็นไกด์กันเอง ซ้อมกันเอง คิดวิธีกันเอง ส่วนใหญ่จะใช้เชือกจูง เรารวมกลุ่มครูกับลูกศิษย์ออกไปวิ่งด้วยกัน”
ในปี 2539 ครูจักรพัฒน์สามารถจับคู่กับเด็กตาบอดวิ่ง“ฟูลมาราธอน” ระยะ 42.195 กิโลเมตร ได้สำเร็จในงานวิ่งกรุงเทพมาราธอน ตามมาด้วยอีกหลายงาน เช่น จอมบึงมาราธอนที่ราชบุรี และยังพาเด็กตาบอดขึ้นเครื่องบินไปวิ่งมาราธอนไกลถึงสหรัฐอเมริกา ในงานวิ่งระดับโลกที่ชื่อว่านิวยอร์กมาราธอน
นักวิ่งมาราธอน เจส จารุสิริ เป็นไกด์รันเนอร์ครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้วโดยจับคู่วิ่งระยะทาง 8 กิโลเมตรกับ พัชฎา ฮวบนรินทร์ ผู้พิการอัมพาตครึ่งท่อนล่างจากโรงเรียนอาชีวะพระมหาไถ่ พัทยา ในงานวิ่งด้วยกันที่ชลบุรี
“จากที่ปรกติลุยเดี่ยวทุกงาน งานวิ่งด้วยกันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรามาก ในครั้งนั้นเราไม่สนเรื่องสถิติการวิ่ง เมื่อมีเพื่อนใหม่ก็ขอวิ่งไปพร้อมกัน ความเร็วเราต้องเท่าๆ กัน คนหนึ่งร่างกายแข็งแรง อีกคนหนึ่งหัวใจแข็งแรง มาวิ่งด้วยกัน ก็ต้องดีกว่าวิ่งคนเดียวอยู่แล้ว”
เกณฑ์การพิจารณาจับคู่ให้วิ่งด้วยกันดูจากระยะทางที่ทั้งสองต้องการวิ่งเป็นสำคัญ เงื่อนไขนอกจากนั้นคือคนไม่พิการต้องแข็งแรงและวิ่งได้ไกลกว่าผู้พิการด้าน อพัชฎาเล่าว่าก่อนนี้ได้ซ้อมปั่นวีลแชร์มาบ้าง แต่เป็นการซ้อมแบบไม่จับคู่ใคร เธอเล่าด้วยว่าตามปรกติดูแลร่างกายด้วยวิธีโหนบาร์
“เวลาจะออกกำลังกายเราต้องยืนด้วยบาร์เพราะว่าส่วนขาไม่รู้สึก เวลานั่งนานๆ ก็ปวดเหมือนตะคริวขึ้น เอาจริงๆ ก่อนถึงวันวิ่งแทบไม่ได้ซ้อม แต่ก็พอจะมั่นใจ คิดว่าถึงอย่างไรเราก็ปั่นวีลแชร์ทุกวันอยู่แล้ว ไกด์รันเนอร์จะวิ่งไปข้างๆ เรา ให้เขาช่วยเข็นวีลแชร์บ้างโดยเฉพาะช่วงขึ้นเนิน หรือสะพานที่ต้องให้เขาช่วยออกแรงดันหลัง ไกด์บอกว่าผ่านมาราธอนมาแล้ว แสดงว่าแน่น ขอบคุณที่เขาเข้ามาช่วย ถ้าไม่มาเราอาจจะเปลี่ยนไปลง 4 กิโลเมตร แล้ววิ่งคนเดียวก็ได้”
คนพิการผู้ทำสถิติทิ้งไกด์รันเนอร์
นายแพทย์วิฑูรย์ จันทรโรทัย หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลชลบุรี และหนึ่งในไกด์รันเนอร์ ให้ข้อมูลว่า โดยทั่วไปแล้วคนพิการสามารถออกกำลังกายได้ตามปรกติ เพียงแต่ต้องให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
“ยกตัวอย่างคนหูหนวกสามารถออกกำลังกายได้ทุกอย่าง เพียงแค่ต้องระมัดระวังเรื่องรถที่แล่นเข้ามาระหว่างวิ่งหรือออกกำลัง คนตาบอดสภาพร่างกายด้านการเคลื่อนไหวเขาก็ไม่มีปัญหา เวลาวิ่งเขาเพียงแต่ต้องการคนนำทางเพื่อไม่ให้ปะทะสิ่งกีดขวางหรือผู้คน
“คนพิการอีกกลุ่มคือผู้พิการทางสติปัญญา ผู้พิการทางออทิสติก และผู้พิการทางการเรียนรู้ กลุ่มนี้มักจะมีปัญหาการเคลื่อนไหว ส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวช้า วิ่งไม่ค่อยตรงทาง แต่เราก็พาเขาไปได้ ผมคิดว่าเหมาะกับไกด์รันเนอร์ที่ชอบวิ่งออกกำลังกายแบบช้าๆ เบาๆ ไม่วิ่งเร็วนัก”
คุณหมอวิฑูรย์อธิบายต่อว่า นอกจากกลุ่มตัวอย่างข้างต้นแล้วยังมีผู้พิการทางการเคลื่อนไหว หรือทางร่างกายกลุ่มที่ใช้รถเข็น
“กลุ่มมนุษย์ล้อหรือคนที่นั่งวีลแชร์ ถ้าได้รับการฝึกฝนแขนจะแข็งแรงมาก ดีไม่ดีปั่นไปเร็วกว่าไกด์รันเนอร์วิ่งด้วยซ้ำไป”
ฉัตรชัยเล่าเสริมประเด็นนี้ว่า “เมื่อตอนจัดงานวิ่งด้วยกันใหม่ๆ ผมเคยกังวลว่าไกด์รันเนอร์จะไม่ดูแลคนพิการ ทุกครั้งที่เป็นพิธีกรผมจะประกาศว่าไกด์รันเนอร์อย่าทิ้งผู้พิการนะครับ เราต้องวิ่งด้วยกัน เข้าสู่เส้นชัยด้วยกัน มาตอนหลังๆ ผมพบว่ามีคนพิการทิ้งไกด์รันเนอร์ !”
ภัทรา กรังพานิชย์ (เมย์) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสบอุบัติเหตุถูกรถพ่วงทับขาทำให้ต้องตัดขาออกทั้งสองข้างเพื่อรักษาชีวิต แต่ปัจจุบันมนุษย์ล้ออย่างเธอได้รับฉายาว่า “เมย์ฆ่าไกด์ฯ” เพราะรวดเร็วเสียจนใครต่อใครไม่อยากจะจับคู่ด้วย
ปิยวรรณ องค์สุวรรณนักวิ่งฝีเท้าจัดจ้านผู้เคยผ่านการวิ่งมาราธอนมาแล้วหลายครั้งเล่าประสบการณ์การจับคู่กับเมย์เมื่อ 2 ปีที่แล้วในงานวิ่งเมืองไทยมาราธอนว่า
“น้องเขาเป็นนักกีฬา เวลาวิ่งกับเขาเราแทบไม่ต้องช่วยอะไร จะช่วยเข็นบ้างก็ตอนวิ่งขึ้นเนิน คนที่จะวิ่งกับเมย์ได้ต้องแข็งแรงจริงๆ ต้องวิ่งเร็วมากถึงจะตามทัน ตอนนี้เห็นว่านักวิ่งหลายคนพยายามพัฒนาฝีเท้าเพื่อจะมาเป็นไกด์รันเนอร์กับเมย์ให้ได้!”
ในการวิ่งครั้งนั้นทั้งคู่ตกลงกันก่อนวิ่งว่าจะวิ่งตามหลัง “เพเซอร์ 4.3” เพเซอร์ (pacer) หมายถึงนักวิ่งนำทางผู้ถือลูกโป่งติดตัวเลขบอกเวลาวิ่ง ถ้าหากนักวิ่งวิ่งเกาะติดเพเซอร์ 4.3 หมายความว่าเขาหรือเธอควรจะเข้าสู่เส้นชัยด้วยเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที
ช่วงแรกๆ ของการวิ่งผ่านไปด้วยดี แต่แล้วล้อวีลแชร์เกิดปัญหาลูกปืนแตกจำเป็นต้องหยุดให้เจ้าหน้าที่ซ่อมรถเมื่อกลับสู่สนามทั้งคู่เร่งความเร็วไล่กวดเพเซอร์ 4.3 เต็มที่แต่ช่วงเวลา 10 นาทีที่เสียไปกับการซ่อมรถทั้งที่วิ่งมาเต็มฝีเท้า มันไม่ต่างจากการดับเครื่องยนต์สำหรับนักวิ่งอย่างปิยวรรณ เมื่อทั้งสองวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตร 30 เธอจึงบอกให้เมย์มุ่งหน้าไปก่อน เพราะเธอรู้ดีว่าความทรงจำของฟูลมาราธอนครั้งแรกสำหรับเมย์เป็นสิ่งสำคัญ
เมย์เข้าเส้นชัยฟูลมาราธอนแรกด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 23 นาทีส่วนปิยวรรณตามมาห่าง ๆ ด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 47 นาที แม้อาจเทียบไม่ได้กับสถิติที่เธอเคยทำมาก่อนหน้านี้ แต่ปิยวรรณกล่าวว่าเป็นการวิ่งที่เธอประทับใจไม่ลืม
ไกด์รันเนอร์ที่ดีไม่ใช่แค่นักวิ่งที่ดี
มาร์ก คาซิดซิด (Mark Casidsid) ยอดนักวิ่งตาบอดจากฟิลิปปินส์ที่เป็นที่รู้จักในนาม “อะกา” (Aga) ซึ่งตาบอดสนิทมาตั้งแต่อายุ 19 ปีเล่าว่าในช่วงแรก ๆ ที่มองไม่เห็น เขาเศร้าซึมถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย แต่แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่ช่วยรั้งชีวิตของเขาไว้ นั่นคือการวิ่งหนึ่งปีหลังจากออกวิ่งอย่างจริงจัง อะกาก็สามารถใช้เวลา 4 ชั่วโมง 15 นาทีกับการวิ่งมาราธอนแรกในชีวิต
“ผมพบว่าการวิ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมยังทำได้ดี ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆ ที่ออกมาวิ่งจะน่ากลัวมากก็ตาม”
อะกามักจะออกวิ่งโดยมีกาโด เปลิงโง (Gado Pelingo) สถาปนิกและเจ้าของโรงเรียนสอนคนตาบอด รับหน้าที่ ไกด์รันเนอร์ เช่นเดียวกับงาน We Run for the Blind ที่สวนวชิรเบญจทัศในกรุงเทพฯ เมื่อปลายปีที่แล้วที่ทั้งคู่เข้าร่วม
“เวลาวิ่งเราจะเป็นคู่ที่เสียงดังมาก ผมไม่ใช่แค่คอยบอกทาง หรือเล่าบรรยากาศเท่านั้น แต่เราจะตะโกนใส่กัน ผมมักจะตะโกนว่า เฮ้ย ออกซ้ายนะ เฮ้ย ระวังขวา มีสิ่งกีดขวางอยู่ข้างหน้า ตอนนี้ข้างหลังมีคนวิ่งไล่ขึ้นมาแล้ว”
กาโดให้ความเห็นถึงคุณสมบัติของไกด์รันเนอร์ที่ดีว่า “ไกด์รันเนอร์ที่ดีไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนักวิ่งที่ดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นคนเปิดกว้าง มีทัศนคติและมองโลกในด้านบวก สำคัญที่สุดคือต้องเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะเมื่อเป็นผู้ฟังที่ดีก็มีแนวโน้มว่าจะเข้าใจคนพิการ สามารถประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ”
ที่ผ่านมาเขาพบว่า ไกด์รันเนอร์ ที่ไม่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่มีทัศนคติเป็นลบโดยอาจจะอ้างว่าไม่มีเวลาฝึกฝน รวมทั้งคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองว่าจะสามารถเป็น ไกด์รันเนอร์ ที่ดีได้
“ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งเพียงคนเดียว หรือวิ่งกับคนพิการ มันคือ mind game ชัดๆ คือการตระเตรียมการและการแสดงออกซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจ คือการใช้คำพูดให้กำลังใจกันและกัน เพราะอย่างนั้นการอ่านหนังสือดีๆ สักเล่มหนึ่งก็มีความสำคัญสำหรับคนเป็น ไกด์รันเนอร์ ”
อะกายืนยันคำพูดของไกด์รันเนอร์คู่ใจว่าการสื่อสารระหว่างกันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการวิ่งคู่กับคนพิการ
“มันทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รู้จักคำว่ามิตรภาพ ได้เรียนรู้กันจนกลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด”
ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 406 เดือนธันวาคม 2561
Fact File
- กลุ่มวิ่งด้วยกัน (Run2Gether) ทั้งไกด์รันเนอร์และผู้พิการจะนัดวิ่งด้วยกันเป็นประจำที่สวนลุมพินี ทุกวันเสาร์แรกของเดือน
- กิจกรรมวิ่งครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ในชื่อว่า “วิ่งด้วยกัน 123 กรุงเทพฯ” จะจัดปีละครั้ง และครั้งหน้าในวันที่ 8 มีนาคม 2563
- Facebook : วิ่งด้วยกัน